xs
xsm
sm
md
lg

ออกจากห้องที่เคยปิดตาย

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

ประเด็นร้อนต่อมาของแนวโน้มรัฐธรรมนูญฉบับถาวรก็ได้แก่เรื่องเกี่ยวกับคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีได้แก่ข้อเสนอที่ว่า สภาผู้แทนฯ อาจจะเลือกนายกรัฐมนตรีจากบุคคลที่ไม่ได้เป็น ส.ส. ในสภาฯ ขณะนั้นก็ได้

นับเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปีที่จะมีการปลดล็อกในคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีข้อนี้

ครั้งสุดท้ายที่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่านายกรัฐมนตรีจะต้องมาจาก ส.ส. ในสภาฯ นั้นคือรัฐธรรมนูญปี 2534 ก่อนวิกฤตการเมือง “พฤษภาทมิฬ” ซึ่งจะว่าไป ก็เป็นบทบัญญัติที่ไม่ได้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ รวมถึงรัฐธรรมนูญปี 2520 ที่เปิดทางให้พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ อยู่นานถึง 8 ปี ก่อนที่ท่านจะลงจากเก้าอี้นายกฯ ไปเป็นรัฐบุรุษแห่งชาติ

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬในเดือนพฤษภาคม 2535 เกิดขึ้นเมื่อพล.อ.สุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากการเลือกตั้งในปีเดียวกันนั้น พร้อมกับวาทกรรม “เสียสัตย์เพื่อชาติ” เพราะก่อนหน้านี้ พล.อ.สุจินดาและคณะ รสช.ทั้งหมดได้ออกมาให้สัญญาว่าจะไม่เป็นนายกฯ ไม่รับตำแหน่งทางการเมือง ขอให้ประชาชนยอมรับและไว้ใจว่าทางคณะมาเพื่อแก้ปัญหาชั่วคราวไม่ได้ตั้งใจอยู่ยาว

เมื่อมีการ “เสียสัตย์เพื่อชาติ” จึงกลายเป็นความชัดเจนเล็งเห็นได้ว่าคณะ รสช.จะสืบทอดอำนาจต่อไปผ่านกระบวนการตามรัฐธรรมนูญที่ตัวเองบงการร่างขึ้น ที่มีการเรียกว่าฉบับ “หมกเม็ด” จนทำให้เกิดการเดินขบวนต่อต้าน เริ่มในเดือนเมษายน โดยสถานการณ์มาตึงเครียดขึ้นจนถึงการปะทะกันในวันที่ 17 พฤษภาคม ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม เป็นเหตุการณ์พฤษภาทมิฬที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ดังนั้นข้อเสนอเรื่อง “นายกฯ ที่ไม่ต้องเป็น ส.ส.” จึงถือว่าเป็นบาดแผลสำคัญเรื่องหนึ่งของคนไทยทั้งประเทศ ที่พอมีการเสนอขึ้นมาทีไร ก็มีการยกบทเรียนเรื่องพฤษภาทมิฬขึ้นมาทุกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นี่เป็นการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นภายหลังการทำรัฐประหารด้วย จึงยิ่งน่าเป็นห่วงเข้าไปใหญ่

รวมถึงท่าทีของฝ่าย คสช.ที่ช่วงหลังๆ เริ่มไม่รับปากว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไร และโรดแมปต่างๆ นั้นจะจบลงเมื่อไรอย่างไรแล้ว ประกอบกับความขัดแย้งของคนสองขั้วซึ่งยังดูไม่เจือจางลงไปเท่าที่ควร จึงเข้าใจได้สำหรับฝ่ายที่หวาดระแวงการสืบทอดอำนาจว่า คสช.จะ “ไม่ทำตามสัญญาและใช้เวลาอีกเนิ่นนาน” ความกังวลใจจากฝันร้ายของพฤษภาทมิฬ ทำให้มองว่าการ “ปลดล็อก” เรื่องนายกฯ จาก ส.ส.นี้จะเป็นเรื่องถอยหลังเข้าคลอง

แต่ถ้าพิจารณาในอีกแง่หนึ่งก็จะเห็นว่าการกำหนดบีบกรอบให้นายกฯ จะต้องมาจาก ส.ส. ในสภาฯ ขณะนั้น ก็เป็นหนึ่งในการทำให้การเมืองไทยเข้าสู่ห้องปิดตายที่ออกไม่ได้เข้าก็ไม่ได้ถึงสองครั้ง จนนำไปสู่การรัฐประหารทั้งในปี 2549 และรอบหลังสุดเมื่อปีที่แล้ว

เพราะเมื่อสภาฯ อยู่ในสภาพ “ล้มละลายทางความไว้วางใจ” ต่อประชาชนที่ไม่ไว้ใจใครเลยที่เป็น ส.ส.ในขณะนั้น ทุกคนต่างหมดความชอบธรรมที่จะขึ้นมานำประเทศให้ผ่านวิกฤตไปได้

แม้แต่จะรักษาการเพียงเพื่อให้รอเลือกตั้งใหม่ ก็ยังดูขาดไร้ความชอบธรรม ไม่ได้รับการยอมรับ การยุบสภาก็ยังไม่เป็นที่พอใจของประชาชน

หากว่าในตอนนั้น ย้อนเวลากลับไปก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 หรือแม้แต่ก่อนวันที่ 19 กันยายน 2549 ถ้ารัฐธรรมนูญไม่มีข้อห้ามหรือเงื่อนไขว่านายกฯ จะต้องเป็น ส.ส. และสภาฯ กับทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า สภาวะในตอนนี้ไม่มีใครเลยที่จะได้รับการยอมรับอีกแล้ว จึงเสนอชื่อบุคคลอื่นที่ไม่ได้เป็น ส.ส.ไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียใดๆ กับความขัดแย้งทางการเมือง ได้รับการยอมรับระดับหนึ่งจากประชาชนทุกสีทุกฝ่าย ขึ้นมาเป็นนายกฯ ชั่วคราวเพื่อการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือเพื่อกำกับดูแลไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งล้างไพ่ใหม่ จะดีกว่าหรือไม่

หากเป็นไปได้เช่นนั้นก็อาจจะไม่จำเป็นต้องมีรัฐประหารเพื่อล้างไพ่แก้ไขความขัดแย้งก็ได้ หรือการรัฐประหารถ้ามีก็อาจจะมีปัญหาเรื่องความชอบธรรม ในเมื่อการแก้ไขด้วยทางออกในกระบวนการอันเป็นประชาธิปไตยยังพอทำได้

เพราะนอกจากวิกฤตการเมืองที่ไม่มีทางออกในขณะนั้นจนผลักดันให้ฝ่ายที่มีอำนาจในมือต้องทำรัฐประหารแล้ว ส่วนหนึ่งที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา คือการที่ตัวบทหรือรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของนายกฯ นี่เอง ที่เป็นข้อจำกัดให้เกิดทางตันที่กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง

หากจะชั่งน้ำหนักดู ระหว่างบาดแผลแห่งชาติในครั้งพฤษภาทมิฬ กับวิกฤตการเมืองที่กินเวลายาวนานเกือบ 10 ปี อาจจะต้องมาทบทวนกันดูว่า เราจะยังรักษาหลักการนายกฯ ต้องเป็น ส.ส.นี้ ให้ยังคงเป็นประตูปิดตายอยู่ เพื่อไม่ให้ผีพฤษภาทมิฬอันเป็นเหมือนบาดแผลทางใจในอดีตกลับมาหลอกหลอน หรือจะลองเปิดออกมาใหม่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาใหม่ในอนาคต

เช่นนี้แล้วข้อเสนอ “ปลดล็อก” ที่มาของนายกรัฐมนตรีว่าไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส.ก็ได้ จึงอาจจะเป็นแนวทางที่ไม่ควรรีบปัดทิ้งไปเร็วนัก

เพียงแต่การร่างรัฐธรรมนูญ หากจะปลดล็อกในส่วนนี้จริง จะทำอย่างไรเท่านั้นเองที่ไม่ใช่เปิดช่องให้สภาฯ ไปตามคนนอกมาเป็นนายกฯ พร่ำเพรื่อโดยไม่มีเหตุอันควร หรือเป็นการสืบทอดอำนาจของฝ่ายผู้ยึดอำนาจการปกครอง หรืออาจจะร้ายกาจกว่านั้น คือพรรคการเมืองอาจจะอุบไว้ไม่บอกว่าจะเอาใครมาเป็นนายกฯ แล้วค่อยปล่อยเซอร์ไพรส์ประชาชนเมื่อชนะการเลือกตั้งแล้วค่อยไปจูงมือนายกฯ จากมุมมืดที่ไหนก็ไม่รู้ออกมา

ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งหากจะปลดล็อกในเรื่องนี้ จึงควรกำหนดเงื่อนไขให้ชัดเจน เช่นการเสนอชื่อนายกฯ คนกลางที่ไม่ได้เป็น ส.ส.นั้นต้องกระทำในภาวะฉุกเฉินที่ร้ายแรงอย่างยิ่ง ด้วยมติพิเศษของรัฐสภา รวมถึงคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้เป็น ส.ส.ก็จะต้องมีคุณสมบัติที่มีความเป็นกลางอย่างชัดเจนด้วย

ให้เป็นเหมือนทางเลือก ประตูทางออกสุดท้ายที่ให้การเมืองไปต่อได้ โดยไม่ต้องไปจบลงด้วยรัฐประหารเหมือนสองครั้งที่ผ่านมา.
กำลังโหลดความคิดเห็น