xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ คนนอก-เลือก ส.ว.ทางอ้อม จงใจสร้างเงื่อนไขป่วน!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

แม้ว่ายังไม่ใช่ข้อสรุปสำหรับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่นำโดยบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เพราะยังเหลืออีกบางมาตรา รวมไปถึงบทเฉพาะกาลที่ต้องนำมายกร่างกันต่อในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งการยกร่างกันทั้งฉบับแบบเรียงรายมาตราแบบไม่เป็นทางการเพื่อส่งให้รัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อรับฟังความคิดเห็น เสนอแก้ไขติชมกันก่อนที่จะนำกลับมาแก้ไขตามที่ต้องการ แล้วจัดทำเป็นฉบับเต็มเสนอให้สภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาว่าจะรับรองหรือไม่รับรองต่อไป

ดังนั้น ถ้าพิจารณากันตามความเป็นจริงยังเป็นขั้นตอนของการรับฟังความคิดเห็นในการยกร่างรัฐธรรมนูญแบบรายมาตรา แต่ก็ถือว่าอยู่ในช่วงท้ายๆ แล้ว

อย่างไรก็ดี มีสิ่งที่น่าจับตาก็คือในบางมาตราสำคัญที่กำลังจะกลายเป็นเรื่อง “อ่อนไหว” อาจนำไปสู่การสร้างกระแสขยายผลได้ทุกเมื่อหากไม่รีบเคลียร์ หรือเคลียร์กันไม่ดี ซึ่งก็มีอยู่สองสามประเด็นหลักๆ คือ หนึ่งการเขียนระบุเปิดช่องให้ “นายกฯคนนอก” นั่นคือ นายกฯไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส. หรือจากการลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน โดยคณะกรรมาธิการยกร่างฯให้เหตุผลให้เบื้องต้นว่าเพื่อป้องกันทางตันทางการเมือง ป้องกันวิกฤติ เปรียบเหมือนการสร้างบ้านแล้วก็ต้องทำ “ทางหนีไฟ” เอาไว้ด้วยเผื่อกรณีฉุกเฉินในภายหน้า ซึ่งก็คือป้องกันการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญขึ้นมาอีก อีกทั้งยังอ้างว่า แม้ว่าจะเปิดช่องให้มีนายกฯจากคนนอก แต่ในข้อเท็จจริง ก็มีการโหวตในสภาอย่างเปิดเผย และถึงอย่างไร ส.ส. ก็ต้องโหวตเลือกหัวหน้าพรรคที่ได้เสียงข้างมากเป็นนายกฯ อยู่แล้ว ไม่มีเหตุผลที่จะไปเลือกคนอื่นซึ่งมันก็ใช่ แต่ในสถานการณ์ที่เกิด “ผู้มากบารมี” ที่มีพาวเวอร์จนกดดันพรรคการเมือง และ ส.ส. ในสภาได้ก็มีทางเป็นไปได้เหมือนกันว่าจะโหวตไปอีกแบบหนึ่งได้ เพราะต้องไม่ลืมว่าบ้านเรายังมี “ศรีธนญชัย” จำนวนมาก

ประเด็นถัดมาที่น่าจะเป็นปมร้อนในลำดับต่อไป ก็คือ การยกร่างกำหนดให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมจำนวน 200 คน นั่นคือผ่านการเลือกโดยกลุ่มสาขาอาชีพต่างๆ ที่มีการจดทะเบียนตามกฎหมายที่กำหนด ผ่านการคัดเลือกจากตัวแทนข้าราชการต่างๆ ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร กลุ่มอดีตนายกฯ อดีตประธานสภา มีการคัดเลือกจากคนพวกนี้ ที่สำคัญก็คือตัดสิทธิการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรงอย่างสิ้นเชิง ซึ่งมีการระบุว่าไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน แต่ขณะเดียวกัน กลับให้อำนาจ ส.ว.สามารถถอดถอนนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งได้

นอกเหนือจากนี้ยังมีประเด็น “ผสมโรง” เข้ามาจนอาจกลายเป็นเงื่อนไขในการสร้างกระแสป่วนตามมา ก็คือ การกำหนด “คุณสมบัติต้องห้าม” ของนักการเมืองโดยเฉพาะ ส.ส. ที่ห้ามไม่ให้บุคคลที่เคยตัดสิทธิทางการเมือง เคยต้องคดีเกี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้ง รวมทั้งคดีทุจริตอื่นๆ คนที่เคยต้องคำสั่งจากองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือคำพิพากษา คนที่เคยถูกคำพิพากษาให้จำคุกไม่ต่ำกว่า 2 ปี ซึ่งแน่นอนว่าหากเป็นแบบนี้ก็มีทั้งพวกที่ถูกห้ามลงสนามการเมืองไม่ต่ำกว่า 5 ปี หรือต้องรอให้ครบ 5 ปีก่อน ก็น่าจะเป็นพวกบ้านเลขที่ 111 และ 109 ที่ถูกยุบพรรคและถูกตัดสิทธิ์การเมือง 5 ปี แต่น่าสนใจก็คือ กรณีของ “สองพี่น้อง” ทักษิณ และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่จะต้องโดน “สองเด้ง” นั่นคือ นอกจากโดนตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีแล้ว ยังอาจถูกห้ามลงสนามตลอดชีวิต จากคำพิพากษาจำคุก 2 ปี คดีซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ต้องคดีทุจริตจากกรณีถูกยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาท ขณะที่ยิ่งลักษณ์เพิ่งถูกตัดสิทธิ์ 5 ปี ก็ต้องรอให้ครบก่อน แต่ยังมีอีกคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดในโครงการรับจำนำข้าว อาจเข้าข่ายตีความได้ว่าเป็นคำสั่งขององค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นคุณสมบัติต้องห้ามตลอดชีวิต

จะว่าไปแล้วประเด็นหลังนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยมีการชี้ช่องให้พิจารณามาตั้งแต่ต้นแล้ว จากกรอบของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 มาตรา 35(4) ที่เรียกว่า “บัญญัติ 10 ประการ” ซึ่งหากเคลียร์กันไม่ดีอาจป่วนได้เหมือนกัน เพราะพวกนักการเมือง “โคตรเขี้ยว” พวกนี้เสียประโยชน์โดยตรง เพราะถูกตัดทางทำมากิน ก็ต้องป่วน อ้างว่าถูกลิดรอนสิทธิ์ อะไรประมาณนี้ แต่ถึงอย่างไรมันก็น่าจะเป็นแค่ “ประเด็นผสมโรง” เท่านั้น

แต่ที่น่าจับตาที่ต้องบอกว่าเป็น “ประเด็นอ่อนไหว” จริงๆ ก็น่าจะเป็นสองประเด็นแรกก่อนหน้านี้คือ นายกฯ คนนอกและ ส.ว. “ลากตั้ง” นั่นแหละ เพราะที่ผ่านมาได้เคยมีบทเรียนเกิดขึ้นในกรณีเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” เมื่อปี 35 มาแล้ว และยิ่งมีการสร้างกระแสว่ากำหนดเพื่อรองรับอำนาจในอนาคตของบิ๊กบางคนด้วยแล้ว กระแสมันก็จุดติดไม่ยาก ดังนั้นมันก็ขึ้นอยู่กับการ “เคลียร์” ให้ชัด หยุดเงื่อนไขป่วนโดยเร็วที่สุด เนื่องจากเวลานี้เริ่มมีการเคลื่อนไหวต่อต้านกันแล้วโดยเฉพาะพวกนักการเมืองที่เสียประโยชน์จากคุณสมบัติต้องห้ามที่ผสมโรงแอบแฝงเข้ามา

ดังนั้น ทุกประเด็นอ่อนไหวดังกล่าวมาถือว่าสามารถสกัดให้หยุดอยู่กับที่ได้ หากมีเจตนาบริสุทธิ์ หวังดีเพื่อสร้างระบบการเมืองใหม่จริงๆ ก็ด้วยการ “เคลียร์” อย่างชัดเจนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งคณะกรรมาธิการและกลุ่มบิ๊กที่มีอำนาจในเวลานี้และต่อเนื่องไปในอนาคต เพราะหากไม่เคลียร์หรือทำอ้ำอึ้งมันก็ยิ่งเกิดความระแวงไปได้เช่นกันว่า นี่คือการขยิบตาให้สร้างเงื่อนไขป่วน เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญตกไป เพื่อลากยาวกันไปอีกพักใหญ่!!
กำลังโหลดความคิดเห็น