xs
xsm
sm
md
lg

หรือควรทำประชามติรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: พระบาท นามเมือง

ร่างรัฐธรรมนูญ “ฉบับปฏิรูป” ได้เปิดเผยออกมาต่อสายตาสาธารณชนตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้วหลังสงกรานต์ตามสัญญา

โดยร่างดังกล่าวได้แจกให้ทาง สปช.ไปในวันศุกร์ มีเวลาไปนอนอ่านเล่นสองวันสามคืน ก่อนจะมาถกกันในเช้าวันจันทร์ที่ผ่านมา

แต่เนื้อหาที่ออกมาใหม่นั้น เอาเข้าจริงๆ ก็เป็นไปตามที่แย้มกันออกมาก่อนหน้านี้ทุกประการ ไม่มีพลิกโผใดๆ เว้นแต่พวกรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ และเนื้อหา “ตัวบท” ให้ได้เห็นกันชัดเจนและเชื่อมโยงกันทั้งฉบับ เพื่อให้ต่อภาพได้ออกว่า รัฐธรรมนูญนี้เมื่อใช้บังคับจริงแล้ว จะมีกระบวนการใช้อำนาจ และตรวจสอบอำนาจรัฐอย่างไร

การถกแถลงและการแสดงความเห็นร่างรัฐธรรมนูญ มีประเด็นสำคัญสองเรื่อง ที่ทาง สภาปฏิรูปแห่งชาติแสดงความเห็นกันกว้างขวาง

เรื่องแรก คือเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภาที่มีที่มาจากการเลือกตั้งทางตรงจังหวัดละหนึ่งคน และมาจากการสรรหาหรือเลือกกันเอง ที่เรียกว่า “เลือกตั้งทางอ้อม” อีกจนครบจำนวน 200 คน

ซึ่งที่มาของ ส.ว.นี้ ก็มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอยู่กึ่งๆ กัน แต่ส่วนใหญ่ออกไปทางเห็นด้วยในหลักการ แต่วิธีการยังต้องคุยกัน

ทั้งนี้เพราะ สภาฯ ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีอำนาจกว้างขวางมากมาย ที่สำคัญคือ มีอำนาจในการตรวจสอบรายชื่อของรัฐมนตรีตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอ ก่อนที่จะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นเพื่อตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 174 ประกอบมาตรา 130 ของร่างรัฐธรรมนูญ

แม้จะไม่มีอำนาจในการเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ แต่รายงานการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมดังกล่าว ก็ถือว่าเป็นการกลั่นกรองและให้ความเห็นได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลในการถ่วงดุล

แต่ส่วนที่ออกจะ “เรียกแขก” ที่สุดตามรัฐธรรมนูญนี้ ก็คือ หลักการที่ไม่บังคับว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องมาจาก ส.ส.จะเป็นบุคคลภายนอกก็ได้

แม้ว่าตามเงื่อนไข จะปรากฏว่า การเสนอชื่อคนนอกมาเป็นนายกฯ นี้ จะกระทำได้ก็ต้องด้วยเสียงสองในสามของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถือว่าค่อนข้างเป็นไปได้ยาก

ซึ่งผู้ร่างมองว่า เป็นไปเผื่อใช้ในโอกาสที่เกิดวิกฤต ไม่มีใครในสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับการยอมรับในทางการเมืองเพียงพอที่จะมาเป็นนายกฯ ได้ ก็เปิดช่องให้สภาฯ ส.ส. สามารถที่จะออกเสียงแบบมติพิเศษ เพื่อให้คนนอกมาเป็นนายกฯ ได้เพื่อแก้ไขวิกฤตนั้น

เพื่อไม่ต้องเกิดสภาพ “ปิดตาย” หรือ Dead lock ที่นายกฯ เก่าก็อยู่ไม่ได้ ตั้งนายกฯ ใหม่ก็ไม่ได้ ในที่สุดก็ต้องมีทหารออกมาล้มกระดาน

แต่กระนั้น ก็ปรากฏว่า ยังมีช่องในรัฐธรรมนูญที่เป็นช่องว่างอยู่ว่า ในกรณีที่สภาผู้แทนฯ ไม่สามารถแต่งตั้งนายกฯ ได้จริงๆ ภายใน 30 วัน ตามมาตรา 173 ก็ให้ประธานนำเสนอรายชื่อของคนได้คะแนนเสียงสูงสุดเพื่อให้เป็นนายกฯ ได้ โดยหากเป็นกรณีของนายกฯ คนนอก ก็ไม่ต้องเข้าเงื่อนไขว่าต้องได้เสียงเกินกว่าสองในสามนี้อีก

จึงมองว่าเป็น “ช่องทาง” ที่เป็นเหมือน “ช่องว่าง” ตามรัฐธรรมนูญ ให้เสนอนายกฯ คนนอกนั้นไม่ได้ยากเย็นเหมือนที่คณะกรรมาธิการผู้ยกร่างคิด ซึ่งผู้ค้นพบและติติงช่องว่างตรงนี้ คืออาจารย์สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองของ สปช.

ซึ่งอาจารย์บวรศักดิ์หรือประธานกรรมาธิการยกร่างก็ยอมรับว่าเป็นไปได้จริง และยินดีรับไปแก้ไข แม้จะมองว่า โอกาสที่จะเกิดขึ้นมีต่ำมาก เนื่องจาก ส.ส.ในสภาฯ นั้นส่วนใหญ่เป็นตัวแทนจากพรรคการเมือง ย่อมต้องเสนอชื่อหัวหน้าพรรคการเมืองของตนก็ตาม

ในประเด็นเรื่องนายกฯ คนนอกนี้เป็นเรื่องที่ยังตกลงกันยาก แม้ว่าทางกรรมาธิการจะยอม “ถอยก้าวหนึ่ง” แล้วก็ตาม

เพราะบาดแผลเรื่องพฤษภาทมิฬ ที่เป็นประวัติศาสตร์อันเจ็บปวดของสังคมไทยที่ทหารเข้ามาปฏิวัติแล้ว “หมกเม็ด” สืบทอดอำนาจเอาไว้ ยังเป็นฝันร้ายที่หลอกหลอนคนไทย และผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองอยู่

รวมถึงความไม่มั่นใจกับ “คณะทหาร” ในชุดนี้ว่าจะ “ทำตามสัญญา - ขอเวลาอีกไม่นาน” จริงหรือไม่ เพราะเริ่มมีกระแสไม่ค่อยแน่ใจในเรื่องการสืบทอดอำนาจแล้ว ว่าช่องทางนายกฯ คนนอกนั้นปูไว้ให้ “พี่ใหญ่” บางท่านหรือไม่

ซึ่งอันที่จริง ประเด็นต่างๆ ที่เป็นปัญหานี้ หากรวบรวมมาได้ และเห็นว่าประชาชนควรได้ตัดสินใจ ข้อเสนอว่าให้ลงประชามติ เฉพาะในประเด็นที่มีความเห็นไม่ลงรอยกัน หรืออาจจะกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชนก็ดีไม่น้อย

เพราะในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กำหนดว่า ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปในอนาคต จะต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ และจากนั้นจะต้องได้รับการลงประชามติจากประชาชนก่อนด้วย จึงจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยใช้เป็นรัฐธรรมนูญได้

คือในการ “แก้ไข” ต้องใช้ประชามติ แต่ในการ “กำเนิด” นั้น หากจะเพิ่มกระบวนการเข้าไปอีกนิดหนึ่ง เพื่อมีการให้ประชาชนลงประชามติในประเด็นสำคัญๆ ที่มีผลกระทบต่อประชาชน ก็น่าจะเป็นการดี และเป็นการสร้างความชอบธรรมให้รัฐธรรมนูญด้วย

หรือถ้าให้ประชาชนออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ด้วย ก็จะเท่ากับเป็นการให้ประชาชนให้ “สัตยาบัน” ยอมรับกระบวนการปฏิรูป แม้จะมีที่มาโดยไม่เป็นประชาธิปไตยนักอย่างการปฏิวัติรัฐประหาร แต่ประชาชนก็ได้ให้ความเห็นชอบรับรองแล้ว เท่ากับเป็นการ “ล้างพิษ” ของการทำรัฐประหารไปได้ - เหมือนนิติกรรมอันเป็นโมฆียะที่ผู้มีส่วนได้เสียให้สัตยาบันยอมรับว่าให้มีผลบังคับได้หากจะเปรียบเทียบกัน

ส่วนเรื่องถ้ากลัวว่าการเปิดให้ทำประชามติ ต้องมีการให้ความเห็นอย่างหลากหลาย เกรงว่าจะเปิดช่องให้มี “การป่วน” จากบรรดา “ขาประจำ” ทางการเมืองนั้น ก็อาจจะต้องใช้กระบวนการตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน มาตีกรอบกระบวนการแสดงความคิดเห็นก่อนประชามติก็ได้ ว่าการแสดงความคิดเห็นใดๆ นั้นจะต้องเป็นไปโดยสุจริต และปราศจากการแสดงออกซึ่งความเป็นกลุ่มก้อนหรือตัวแทนของขั้วการเมือง ก็น่าจะกระทำได้

ซึ่งรายชื่อและรูปแบบกิจกรรมของฝ่าย “กลุ่มการเมือง” หรือ “ขั้วกิจกรรมอิงการเมือง” หรือพวก “ขาประจำ” นั้นทาง คสช.ก็คงมีอยู่แล้ว สามารถแยกแยะได้ว่า การแสดงความคิดเห็นนั้นเป็นเรื่องของประชาชนแสดงความเห็นกันโดยสุจริตใจตามประสาพลเมืองที่ประสงค์จะออกสิทธิออกเสียง หรือเป็นเรื่องตัวป่วนขาประจำมาเรียกราคา

เช่นนี้อาจจะเป็นงานยากสักหน่อยของรัฐบาลและผู้มีอำนาจ แต่ถ้าทำได้ ปัญหาเรื่องความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญก็ดี หรือความเห็นอันไม่ลงรอยกันว่าด้วยหลักการบางเรื่องในรัฐธรรมนูญก็ตาม ก็จะถูกแก้ลงได้ด้วยวิธีอันเป็นประชาธิปไตยที่วิญญูชนยอมรับกันได้ในที่สุด.
กำลังโหลดความคิดเห็น