xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

นายกฯ ไม่ได้เป็น ส.ส. ถอยหลังเข้าคลอง หรือออกจากห้องปิดตาย

เผยแพร่:   โดย: ชัยสิริ สมุทวณิช

ประเด็นร้อนก่อนสิ้นปีในเรื่องรัฐธรรมนูญใหม่ เห็นจะเป็นเรื่องข้อเสนอของกรรมาธิการเกี่ยวกับคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี

ส่วนเรื่องที่มานั้นยุติลงระดับหนึ่งแล้วว่า ประเทศไทยคงยังไม่มีนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงแน่นอน โดยจะยังใช้รูปแบบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา คือประชาชนเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. (ซึ่งน่าจะเป็นการเลือกในระบบสัดส่วนแบบเยอรมนี) และ ส.ส.จะไปเลือกนายกรัฐมนตรี โดยอาจจะให้สมาชิกวุฒิสภาหรือ ส.ว.เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วยระดับไหน น่าจะเป็นประเด็นที่จะเห็นชัดเจนต่อไปในชั้นยกร่าง

แต่ปัญหา “คุณสมบัติ” ของนายกฯ ที่ทำให้เป็นประเด็นร้อนขึ้นมา ได้แก่ข้อเสนอที่ว่า สภาผู้แทนฯ อาจจะเลือกนายกรัฐมนตรีจากบุคคลที่ไม่ได้เป็น ส.ส.ก็ได้

ข้อเสนอนี้ถูกนำไปอ้างอิงกับวิกฤตการเมือง “พฤษภาทมิฬ” ทันที

เหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” นั้นเริ่มขึ้นหลังจากการที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช.ได้ยึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับเก่า และร่างรัฐธรรมนูญปี 2534 ฉบับแรกที่ยังไม่มีบทกำหนดว่า ให้นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็น ส.ส.ซึ่งจะว่าไป ก็เป็นบทบัญญัติที่ไม่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ที่เปิดทางให้พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ อยู่นานถึง 8 ปี ก่อนที่ท่านจะลงจากเก้าอี้นายกฯ ไปเป็นรัฐบุรุษแห่งชาติ

หลังจากร่างรัฐธรรมนูญสำเร็จ ก็ได้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 โดยพรรคที่ได้ ส.ส.มากที่สุดคือ พรรคสามัคคีธรรม ที่ถูกครหาว่าเป็น “พรรคทหาร” ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และเตรียมเสนอนายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

แต่กลายเป็นทางการสหรัฐอเมริกาที่ได้ออกมาประกาศว่า นายณรงค์ ว่าที่นายกฯ นั้นติดแบล็กลิสต์ไม่สามารถขอวีซ่าเดินทางเข้าสหรัฐฯ ได้ เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับนักค้ายาเสพติด

ในที่สุด จึงมีการเสนอชื่อ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน พร้อมกับวาทกรรม “เสียสัตย์เพื่อชาติ” เพราะก่อนหน้านี้ พล.อ.สุจินดาและคณะ รสช.ทั้งหมดได้ออกมาให้สัญญาว่าจะไม่เป็นนายกฯ ไม่รับตำแหน่งทางการเมือง ขอให้ประชาชนยอมรับและไว้ใจว่าทางคณะมาเพื่อแก้ปัญหาชั่วคราวไม่ได้ตั้งใจอยู่ยาว

เมื่อมีการ “เสียสัตย์เพื่อชาติ” จึงเกิดความชัดเจนว่าคณะ รสช.จะสืบทอดอำนาจต่อไปผ่านกระบวนการตามรัฐธรรมนูญที่ตัวเองบงการร่างขึ้น จนทำให้เกิดการเดินขบวนต่อต้าน เริ่มในเดือนเมษายน โดยสถานการณ์มาตึงเครียดขึ้นจนถึงการปะทะกันในวันที่ 17 พฤษภาคม ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม

กระทั่งค่ำวันนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี และพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษ นำพล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี และพล.ต.จำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท โอกาสนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระราชดำรัสแก่คณะผู้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย ใจความตอนหนึ่งเป็นที่จดจำของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ที่ความสรุปว่า มีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวว่าชนะ เวลาอยู่บนกองซากปรักหักพัง

หลังจากนั้น พล.อ.สุจินดาได้ลาออก และมีการเลือกตั้งใหม่ มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องได้รับการเสนอชื่อมาจากผู้ที่เป็น ส.ส.ในสภาฯ ในขณะนั้น และยังคงยืนยันหลักการนี้มาจนถึงรัฐธรรมนูญฉบับถาวรล่าสุดก่อนหน้านี้ คือรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550

ข้อเสนอเรื่อง “นายกฯ ที่ไม่ต้องเป็น ส.ส.” จะกล่าวไป ก็อาจจะถือว่าเป็นบาดแผลสำคัญเรื่องหนึ่งของคนไทยทั้งประเทศ ที่ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์อย่างพฤษภาทมิฬขึ้นมาอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นี่เป็นการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นภายหลังการทำรัฐประหารด้วย จึงยิ่งน่าเป็นห่วงเข้าไปใหญ่

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แม้จะมีข้อติติงเพิ่มขึ้นมาตลอดระยะเวลาของการบริหาร แต่หากพูดกันตามเนื้อผ้า แต่ความนิยมหรือความไว้ใจต่อพล.อ.ประยุทธ์ก็ยังสูงกว่านักการเมืองในระบบจากทั้งสองขั้ว ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทยอย่างที่ต้องยอมรับ

จึงเข้าใจได้สำหรับฝ่ายที่หวาดระแวงการสืบทอดอำนาจว่า คสช.จะ “ไม่ทำตามสัญญาและใช้เวลาอีกเนินนาน” และกังวลใจจากฝันร้ายของพฤษภาทมิฬ ที่จะมองว่าการ “ปลดล็อก” เรื่องนายกฯ จาก ส.ส.นี้จะเป็นเรื่องถอยหลังเข้าคลอง

แต่ถ้ามองในอีกแง่หนึ่ง เหตุผลของผู้เสนอให้ปลดล็อกนี้แล้ว ก็จะเห็นว่า การกำหนดให้นายกฯ จะต้องมาจาก ส.ส.ในสภาฯ ขณะนั้น ก็เป็นหนึ่งในการทำให้การเมืองไทยเข้าสู่ห้องปิดตายที่ออกไม่ได้เข้าก็ไม่ได้ถึงสองครั้ง จนนำไปสู่การรัฐประหารทั้งในปี 2549 และรอบหลังสุดเมื่อปีที่แล้ว

เมื่อสภาฯ อยู่ในสภาพ “ล้มละลายทางความไว้วางใจ” ต่อประชาชน ที่ไม่ไว้ใจใครเลยที่เป็น ส.ส.ในขณะนั้น ต่างหมดความชอบธรรมที่จะขึ้นมานำประเทศให้ผ่านวิกฤตไปได้

ก็แม้แต่จะรักษาการเพียงเพื่อให้รอเลือกตั้งใหม่ ก็ยังไม่มีความชอบธรรม ไม่ได้รับการยอมรับเสียขนาดนั้น

หากว่าในตอนนั้น ย้อนเวลากลับไปก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ถ้ารัฐธรรมนูญไม่มีข้อห้ามหรือเงื่อนไขว่านายกฯ จะต้องเป็น ส.ส.และสภาฯ กับทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า สภาวะในตอนนี้ไม่มีใครเลยที่จะได้รับการยอมรับอีกแล้ว จึงเสนอชื่อบุคคลอื่นที่ไม่ได้เป็น ส.ส.ไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียใดๆ กับความขัดแย้งทางการเมือง ขึ้นมาเป็นนายกฯ ชั่วคราวเพื่อการแก้ปัญหา หรือเพื่อกำกับดูแลไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งล้างไพ่ใหม่ จะดีกว่าหรือไม่

หากเป็นไปได้เช่นนี้ ก็อาจจะไม่ต้องมีรัฐประหารก็ได้ หรือการรัฐประหารถ้ามีก็อาจจะมีปัญหาเรื่องความชอบธรรม ในเมื่อการแก้ไขในกระบวนการอันเป็นประชาธิปไตยยังพอทำได้

เพียงแต่การร่างรัฐธรรมนูญ หากจะปลดล็อกในส่วนนี้จริง จะทำอย่างไรเท่านั้นเองที่ไม่ใช่เปิดช่องให้สภาฯ ไปตามคนนอกมาเป็นนายกฯ พร่ำเพรื่อโดยไม่มีเหตุอันควร หรือเป็นการสืบทอดอำนาจของฝ่ายผู้ยึดอำนาจการปกครอง

การกำหนดเงื่อนไขให้ชัดเจน เช่นการเสนอชื่อนายกฯ คนกลางที่ไม่ได้เป็น ส.ส.นั้นต้องกระทำในภาวะฉุกเฉินที่ร้ายแรงอย่างยิ่ง ด้วยมติพิเศษจึงอาจจะเป็นข้อเสนอที่ไม่ควรรีบปัดทิ้งไปเร็วนัก จนกว่าจะเห็นรูปธรรมที่ชัดเจนผ่านตัวบทรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างกันอยู่เสียก่อน.
กำลังโหลดความคิดเห็น