“อภิสิทธิ์” แนะบัญญัติให้ชัดนายกฯ คนนอกต้องใช้ยามวิกฤต ระบุเปิดช่องให้ใช้ยามปกติอันตราย ชี้ กมธ.ยกร่าง รธน. มองไม่ตรงจุดหลายเรื่อง เตรียมชงความเห็นเสนอหลังยกร่าง รธน.เสร็จ ห่วง กกต.งดจ่ายเงินอุดหนุน แต่ให้ กก.บห.บริจาคเข้าพรรคสร้างค่านิยมที่ผิด
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงผลการสำรวจความเห็นของนิด้าโพลล์ระบุประชาชนสนับสนุนให้รัฐธรรมนูญเปิดทาง “นายกฯ คนกลาง” แก้วิกฤตประเทศว่า ประชาชนเข้าใจได้ว่าในภาวะที่เกิดวิกฤตขึ้นมาอาจจำเป็นต้องมีข้อยกเว้น แต่จะนำไปสู่การเขียนในรัฐธรรมนูญว่าให้เอาคนนอกเข้ามาได้เลยในภาวะปกติด้วยนั้น ตนคิดว่าจะเป็นสิ่งที่เป็นอันตราย ซึ่งตอนที่เสนอความเห็นได้ยืนยันแล้วว่า รัฐธรรมนูญใหม่จะต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ยั่งยืน ซึ่งจะยั่งยืนได้ต้องมีประชามติ ต้องแก้ไขปัญหาเดิมๆ และรัฐธรรมนูญต้องไม่ถอยหลัง ดังนั้น หากคิดว่าจำเป็นในภาวะวิกฤตก็ควรระบุมาให้ชัด แต่การจะระบุว่าหากเกิดภาวะวิกฤตจริงๆ ต้องใช้เสียง 3 ใน 4 ของสภาในการให้การสนับสนุนคนนอกนั้น เห็นว่าเป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติ เพราะลำพังเพียงแค่กึ่งหนึ่งยังเป็นเรื่องยาก
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ยังมีหลายเรื่องในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่มีแนวความเชื่อที่มองไม่ตรงจุด เช่น การที่มองว่าพรรคการเมืองเข้มแข็งจะเป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย ซึ่งขอยืนยันว่า การที่พรรคการเมืองเข้มแข็งไม่ใช่ปัญหา หากทำให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมืองอย่างแท้จริงอย่างมีระบบ ไม่ใช่เป็นของกลุ่มบุคคล รวมทั้งไม่เห็นด้วยต่อแนวคิดที่เปิดโอกาสให้ ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคก็ได้ หากลงสมัครในนามพรรคแล้ว ถูกขับออกจากพรรค ก็ไม่ต้องพ้นสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ซึ่งเท่ากับว่าไม่ต้องรับผิดชอบต่อนโยบายที่หาเสียงไว้ในนามพรรค ดังนั้น พรรคจะรอให้ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญส่งตัวโครงร่างที่สรุปให้ชัดเจนก่อนแล้วจะเสนอความเห็นกลับไปอีกครั้ง
“อะไรคือหลักประกันว่านักการเมืองที่ไปหาเสียงกับประชาชน ติดป้ายสังกัดพรรค แต่พอเข้าไปแล้วทำอีกอย่าง ก็ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร และพรรคก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ที่สำคัญก็คือ ถ้าตัวเลขในสภาก้ำกึ่ง เชื่อว่าทุกอย่างจะถูกชี้ขาดด้วยนายทุน จึงอยากให้ระมัดระวัง เพราะไปติดกับความเชื่อซึ่งอาจจะไม่ตรงต่อความเห็นจริงนักว่าที่ผ่านมา เป็นเพราะพรรคการเมืองเข้มแข็ง ซึ่งหากพรรคเข้มแข็งจริง พรรคการเมืองจะสามารถตรวจสอบกันเองได้ แต่ปัญหาที่ผ่านมา ที่เราพูดว่าพรรคเข้มแข็งนั้นเป็นพรรคการเมืองหรือไม่ หรือเป็นเพียงเครื่องมือของกลุ่มบุคคล หรือบุคคลเท่านั้น”
นายอภิสิทธิ์ ยังแสดงความกังวลกรณีที่ กกต. หรือกองทุนพัฒนาการเมืองไม่อนุมัติเงินให้พรรคการเมือง และห้ามรับบริจาคยกเว้นรับจากกรรมการบริหารพรรคว่า เป็นการสร้างค่านิยมที่ผิด และเท่ากับจะทำให้กรรมการบริหารมีหน้าที่ดูแลการเงินของพรรค ในขณะที่พรรคการเมืองที่เป็นระบบ มีสาขาพรรค มีระบบการทำงานที่เป็นรูปแบบองค์กรจริงๆ มีค่าใช้จ่ายประจำ ดังนั้น หากอยากจะทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็ง พรรคการเมืองต้องเข้มแข็ง และทำงานให้เป็นระบบ