xs
xsm
sm
md
lg

“พล.อ.เอกชัย” คาดกรอบเวลา 1 ปีได้แค่ตัวหนังสือในรัฐธรรมนูญ แย้มแนวคิด สปช.คู่ขนานสภาปกติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สปช.จาก ส.พระปกเกล้า เผยสเปกประธาน สปช.ต้องเชี่ยวชาญ เป็นกลาง ไม่อคติ พร้อมรับฟัง ชี้ถ้ารัฐธรรมนูญใหม่ไม่ทำประชามติก็เป็นเวทีสะท้อนสิ่งที่จะเขียน คาด 1 ปีได้แค่รูปแบบตัวหนังสือ ให้ สปช.คู่ขนานกับสภาปกติ ทำให้รัฐธรรมนูญคงทน


วันนี้ (10 ต.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 13.30 น. พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวภายหลังเดินทางเข้ารายงานตัวเป็นสมาชิก สปช.ว่า ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ายังมีกลุ่มที่เห็นต่างยังเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเราได้เข้าไปรับฟังความเห็นของคนกลุ่มเหล่านี้ทั้งระดับกลางและระดับล่างมาแล้วและได้รับการตอบรับอย่างดี สำหรับผู้ที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งประธาน สปช.นั้น ขณะนี้ยังไม่มีในใจ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่มองว่าประธานและรองประธาน สปช.นั้นมีอีกหน้าที่หนึ่งที่สำคัญคือ ต้องเป็นประธานและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วย ดังนั้นจึงต้องมีความเชี่ยวชาญ เป็นกลาง ไม่มีอคติกับใคร และพร้อมรับฟังทุกคน ซึ่งมีสมาชิก สปช.หลายท่านที่มีคุณสมบัติเหล่านี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐธรรมนูญใหม่นั้นต้องมีการทำประชามติหรือไม่ พล.อ.เอกชัยกล่าวว่า ถ้าไม่ทำประชามติก็ควรเปิดเป็นเวทีเพื่อสะท้อนในสิ่งที่เราจะเขียนลงไปเพื่อให้ประชาชนทราบ ซึ่งอาจจะดีกว่าการทำประชามติก็ได้ เพราะข้อท้วงติงและข้อห่วงใยต่างๆ เราสามารถรับมาแก้ไขได้ นี่คือความปรองดองตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องการ

ส่วนหากมีการเปิดเวทีขึ้นจะไม่ทันกับกรอบเวลาที่กำหนดไว้ 1 ปีหรือไม่นั้น พล.อ.เอกชัยกล่าวว่า กรอบเวลานั้นกำหนดไว้ที่ 1 ปีอยู่แล้ว หากเราทำออกมาแล้วไม่ได้รับการยอมรับ สปช.ก็ต้องออกไปทั้งยวงอยู่แล้ว และให้ สปช.ชุดใหม่เข้ามาดำเนินการแทน ทั้งนี้ สำหรับระยะเวลา 1 ปีนั้นเราจะได้เพียงแค่รูปแบบและตัวหนังสือของรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่คงจะยังไม่ได้รูปแบบของความปรองดองอย่างแท้จริง

“รัฐธรรมนูญใหม่อาจจะมีการเขียนบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญเลยก็ได้ว่า หลังจากนี้ไปให้มีสภาปฏิรูปแห่งชาติคู่ขนานไปกับสภาฯ ปกติ เพื่อที่ต่อไปนี้จะได้แก้ไขรัฐธรรมนูญยากขึ้น ถ้าไม่ผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติก็จะแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ ซึ่งตรงนี้จะทำให้รัฐธรรมนูญใหม่นั้นคงทนมากขึ้น เพื่อไม่ให้ใครก็ตามมาล้มรัฐธรรมนูญได้ง่ายๆ โดยจะเขียนไว้ในระหว่างขั้นตอนการเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญภายใน 60 วันนับแต่วันที่มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติครั้งแรก” พล.อ.เอกชัยกล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น