xs
xsm
sm
md
lg

“ไพบูลย์” ซัด “อภิรัฐมนตรี” ประชาชนไม่ยอมรับ - ชี้ “ประชามติ” หลงประเด็น-ไร้ผล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิก สปช. (ภาพจากแฟ้ม)
สปช.แจงแนวคิดตั้ง “อภิรัฐมนตร” อยู่เหนือ 3 อำนาจอธิปไตยไม่เหมาะสม ประชาชนไม่ยอมรับ อีกด้านมองทำประชามติไม่ได้ตอบโจทย์ ชี้สิ่งที่ทำให้รัฐธรรมนูญอยู่ได้คือสาระที่นำมาใช้ หวั่นหลงประเด็นร่างเพื่อให้ผ่านหรือไม่ ชี้ปี 2550 ล้มเหลวมาแล้ว ติง “อภิสิทธิ์” ไม่น่าพูดให้เกี่ยวกับรัฐประหาร แนะใช้ไประยะหนึ่งหากมีปัญหาค่อยทำประชามติแต่ละประเด็น ใครไม่เอาอย่าลงเลือกตั้ง

วันนี้ (9 พ.ย.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงข้อเสนอให้มีการจัดตั้งอภิรัฐมนตรี ให้มีอำนาจเหนือฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ เพื่อช่วยในการแก้ปัญหาเมื่อ 3 อำนาจหลักในอำนาจอธิปไตยมีความขัดแย้งกัน ในเวทีสัมมนาของสถาบันพระปกเกล้า ว่าเป็นไปไม่ได้ เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมและประชาชนอาจจะไม่ยอมรับ ไม่สามารถผลักดันข้อเสนอดังกล่าวได้ ส่วนการจัดทำประชามตินั้นตนไม่เห็นด้วยเพราะไม่ได้ตอบโจทย์ของสิ่งที่กล่าวกันมา เช่น ที่บอกว่าเป็นเกราะคุ้มครองรัฐธรรมนูญให้มีอายุยาวนานนั้นไม่ใช่ เพราะสิ่งที่ทำให้รัฐธรรมนูญอยู่ได้คือสาระการนำไปบังคับใช้ โดยเฉพาะหากจะทำแค่ตั้งคำถามว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ซึ่งไม่เป็นประโยชน์เพราะประชาชนมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รวมถึงยังเสียเวลาและใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก

เมื่อถามว่า แต่การทำประชามติเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการให้ประชาชนมีส่วนร่วม นายไพบูลย์กล่าวว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนที่แท้จริงอยู่ในกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ในการรับฟังความเห็นของประชาชน ต้องสำรวจความเห็นประชาชนในประเด็นต่างๆ สิ่งที่ตนห่วง คือ การหลงประเด็นว่ารัฐธรรมนูญจะร่างออกมาอย่างไรก็ได้ แต่เสร็จแล้วก็ต้องไปทำประชามติเพื่อให้ผ่าน ก็จะกลายเป็นว่าไม่ได้ตั้งใจออกรัฐธรรมนูญที่จะให้มีผลบังคับใช้จริงๆ

เมื่อถามต่อว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอว่าควรทำประชามติเพื่อเป็นเกราะให้กับรัฐธรรมนูญชุดนี้ว่าไม่ได้มาจากการรัฐประหาร นายไพบูลย์กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ไม่น่าพูดให้เกี่ยวกับการรัฐประหาร ควรพูดเพียงว่าจะได้ชอบธรรม แต่หากจะคิดว่าเพื่อไม่ให้เป็นข้อครหาก็คิดได้ อย่างเหตุการณ์ก่อนปี 2550 ที่มีการทำประชามติแล้วแต่ไม่ได้ผล

“ความจริงมันเป็นแค่พิธีกรรมเท่านั้น จะทำให้เสียเวลาเพราะเราต้องการให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว แต่หากมีพรรคการเมืองต้องการก็ไปหาฉันทามติมา หรือถามกับสังคมให้ยอมรับได้เสียก่อนว่า หากมันไม่ผ่านก็การเลือกตั้งก็ต้องยืดออกไปอีก 1 ปี เป็นปี 2560 จากเดิมที่คาดว่ามีขึ้นในต้นปี 2559 แล้ว เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วจะมาหาเป็นแผนการของคณะรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการจะอยู่ในตำแหน่งต่อไปไม่ได้ แตผมเห็นว่าควรใช้รัฐธรรมนูญไประยะหนึ่งก่อน หากมีประเด็นไหนใช้แล้วมีปัญหา ค่อยไปทำประชามติในแต่ละประเด็น แต่สำหรับคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งหมด ก็ไม่ควรมาลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะเชื่อว่าสุดท้าย ส.ส.ที่ออกมาภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะเป็นคนดี” นายไพบูลย์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น