เอเอฟพี - รัฐสภาคองเกรสเปรูมีมติขับนายกรัฐมนตรีเปรู อานา ฮารา (Ana Jara) ในคืนวานนี้(30) หลังพบว่าได้สั่งการให้สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติเปรู หรือ DINI กระทำการดักฟังสมาชิกรัฐสภาเปรู ซึ่งส่วนใหญ่เป็นส.ส.พรรคฝ่ายค้าน นักข่าว นักธุรกิจชั้นแนวหน้า และประชาชนเปรูทั่วไป
โอยานตา อูมาลา (Ollanta Humala)ประธานาธิบดีเปรูที่กุมอำนาจบริหารสูงสุดในเวลานี้ต้องประสบกับวิกฤตการเมืองครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 4 ปีของการดำรงตำแหน่ง ซึ่งพบว่า ถือเป็นครั้งแรกที่สภาคองเกรสเปรูที่ได้มีมติขับนายกรัฐมนตรีของประเทศนับตั้งแต่ปี 1968เป็นต้นมา ซึ่งอูมาลาที่ยังเหลือการทำหน้าที่ในตำแหน่งประธานาธิบดีอีกเพียงแค่ 1 ปี ต้องประกาศชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่ถือเป็นครั้งที่ 7 แล้ว
ทั้งนี้ในการโหวตลงมติไม่ไว้วางใจในตัวอานา ฮารา (Ana Jara) 72 ต่อ 42 เสียง ที่มีงดออกเสียงจำนวน 2 เสียง
โดยก่อนหน้านี้ในวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา นิตยสารคอเรโอ เซมานาล ( Correo Semanal)ของเปรูได้ตีพิมพ์รายชื่อของชาวเปรูที่แอบถูกตรวจสอบอย่างลับๆโดย หน่วยงานสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติเปรู หรือ DINI
ซึ่งรายชื่อบุคคลเหล่านี้นั้นรวมไปถึงนักการเมืองเปรูที่ส่วนใหญ่เป็นฝ่ายค้านและครอบครัว นักข่าว นักธุรกิจ และประชาชนชาวเปรูอีกเป็นจำนวนมาก
โดยเอเอฟพีชี้ว่า หลังจากข่าวนี้ได้ถูกเผยแพร่ออกไป ฮารา ที่เพิ่งครบรอบ 1ปีของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเปรู ถูกเรียกไปให้ข้อมูลกับสภาคองเกรสเปรู ซึ่งนายกรัฐมนตรีหญิงเปรูชี้แจงว่า เธอได้ขอให้ DINI ทำการสอบสวนจริง แต่เธอได้แก้ตัวว่า การสอบสวนข้อมูลบุคคลที่อยู่ในรายชื่อนั้นมีมาตั้งแต่2 รัฐบาลชุดก่อนหน้านี้
“การตรวจสอบนั้นมีขึ้นตั้งแต่ปี 2005 และไม่มีอะไรเกิดขึ้นหลังจากนั้น และเดี่ยวนี้ ผู้คนที่ต้องการจะทำให้เสร็จสมบูรณ์กลับถูกยื่นมติไม่ไว้วางใจ” ส.ส.พรรคแกนนำรัฐบาล วิกเตอร์ ไอส์ลา (Victor Isla) กล่าว
ในช่วงต้นกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐบาลเปรูได้ออกคำสั่งให้ปิดหน่วยงาน DINI ชั่วคราวเป็นเวลา 180 วัน หลังจากหัวหน้าฝ่ายค้านเข้าร้องเรียนว่าถูกสืบข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ของสำนักข่าวกรอง ฮาราระบุว่า ระหว่างที่ปิดทำการ รัฐบาลจะจัดระเบียบโครงสร้างการทำงานของสำนักข่าวกรองใหม่ ตลอดจนจะมีการสืบสวนประวัติการทำงานต่างๆ ในองค์กรด้วย เพื่อปรับให้สำนักข่าวกรองมีความทันสมัยมากขึ้นและปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไป
สำนักข่าวกรองแห่งชาติเปรูอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนหน้านี้ นักการเมืองฝ่ายค้านออกมาเปิดเผยว่า พวกเขาถูกสะกดรอยและสืบความลับจากเจ้าหน้าที่ข่าวกรอง แต่รัฐบาลเปรูปฏิเสธมาโดยตลอด จนกระทั่งสั่งปิดสำนักงานชั่วคราวในที่สุด เหตุการณ์ดังกล่าวยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับอาร์เจนตินา ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคละตินอเมริกา ที่กำลังมีประเด็นอื้อฉาวด้านข่าวกรองเช่นเดียวกัน