xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” เผยปมสัดส่วนสตรีอาจถึงขั้นโหวต เชื่อไม่แตกแยก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คำนูณ สิทธิสมาน (แฟ้มภาพ)
กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เตรียมตัดสินสัดส่วนสตรีวันนี้ หลังแขวนมา 2 รอบ “คำนูณ” เผยอาจถึงขั้นลงมติเป็นครั้งแรกของการประชุม กมธ. ชี้ทางออกอาจยอมสัดส่วนสตรีในสภาท้องถิ่น เฉพาะตอนสมัครต้องมีอย่างน้อย 1 ใน 3 แต่ไม่บังคับประชาชนต้องเลือก ส่วนระบบบัญชีรายชื่อยังปิดตายให้เป็นไปตามธรรมชาติ เชื่อไม่แตกแยก เพราะตกลงกันแล้วให้ยอมรับมติเสียงข้างมาก ไม่กลัวตายตาม สปช.หากร่าง รธน.ถูกคว่ำ

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ประชุมเป็นการภายในเริ่มตั้งแต่เมื่อวานจนถึงวันพฤหัสบดีที่ 2 เม.ย. ถ้ายังไม่เสร็จอาจต่อไปถึงวันอังคารที่ 7-9 เมษายน แต่ถ้าเสร็จภายในวันที่ 2 เม.ย.ได้ก็จะดีเพราะจะได้ทบทวนประเด็นรอการพิจารณา คือ สัดส่วนสตรี วันนี้จะตัดสินใจในช่วงบ่าย จากที่รอการพิจารณาไว้มีการกำหนดสภาท้องถิ่นอย่างน้อย 1 ใน 3 และบัญชีรายชื่อของผู้สมัครที่เป็นหญิงอย่างน้อย 1 ใน 3 โดยความน่าจะเป็นคือในส่วนสภาท้องถิ่นน่าจะมีความเป็นไปได้ แต่ไนส่วน ส.ส.ไม่เห็นด้วยที่จะกำหนดไว้

นายคำนูณอธิบายว่า ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมให้เป็นไปโดยธรรมชาติ แม้ว่าจะมีสิทธิเท่าเทียมกันตามกฎหมาย แต่ความจริงผู้หญิงมีสิทธิเสียงน้อยกว่าตามวัฒนธรรมที่สืบเนื่องยาวนาน หากกำหนดไว้ในท้องถิ่นให้มีสัดส่วนสตรีเข้ามาจะเป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้ผู้หญิงมีบทบาทในการใช้อำนาจรัฐระดับต่างๆ มากขึ้น และถ้าได้การตัดสินใจผู้หญิงมาประกอบการตัดสินใจของท้องถิ่นจะเป็นประโยชน์ แต่บางส่วนยังเห็นว่ามีปัญหาในทางปฏิบัติเพราะเป็นการจำกัดสิทธิคนเลือกหรือไม่ เพราะการเลือกตั้งต้องเป็นสิทธิของผู้มีเลือกตั้งจะเลือกใครก็ได้ แต่มีทางออกว่ากำหนดเฉพาะขาเข้า ไม่บังคับคนเลือกซึ่งคงต้องตัดสินใจในวันนี้

ส่วนสัดส่วนสตรีในระบบบัญชีรายชื่อที่ยังมีเสียงไม่เห็นด้วยนั้น นายคำนูณกล่าวว่า เพราะเป็นการจำกัดสิทธิ เนื่องจากมีความเท่าเทียมกันอยู่แล้ว ทั้งนี้คิดว่าอาจจะต้องลงมติเพราะรอการพิจารณามา 2 ครั้งแล้ว ตอนนี้ถึงเวลาตัดสินใจในทางใดทางหนึ่ง คิดว่าไม่ทำให้แตกแยกในกรรมาธิการยกร่างฯ แม้ก่อนหน้านี้จะมีกรรมาธิการฯลาออกเพราะเหตุนี้ แต่ต้องยอมรับมติเสียงข้างมากเพื่อตัดสินใจเท่าที่คุยกันทุกคนก็พร้อมยอมรับมติ ซึ่งถ้ามีการลงมติจะเป็นครั้งแรกของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

สำหรับประเด็นหลักๆ ที่จะมีการทบทวนเช่น ที่มานายกรัฐมนตรี ที่มาสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งแนวทางที่จะออกมาก็น่าจะเป็นตามที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเคยระบุไว้ คือ กรณีที่มานายกฯ หากมาจากคนนอก อาจกำหนดให้มีวาระสั้นกว่าปกติคือ 2 ปี หรือต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของสภาผู้แทนราษฎร ส่วนกรณีที่มาสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเดิมกำหนดจำนวน 200 คน ให้มาจากการสรรหาของแต่ละสาขาวิชาชีพ อาจมีการปรับเปลี่ยนให้เป็นระบบผสมผสาน คือมาจากการเลือกตั้ง 77 จังหวัด แต่ยังไม่มีการหารือว่าจะยังคงจำนวน ส.ว.ที่ 200 คนหรือไม่ ทั้งนี้หากยึดตามจำนวนเดิมก็จะทำให้มี ส.ว.สรรหามากกว่า ส.ว.เลือกตั้ง 130 คน ซึ่งถือเป็นเสียงข้างมากของวุฒิสภา

นายคำนูณกล่าวว่า ไม่กังวลที่จะต้องชี้แจงต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพราะเป็นการทำงานตามหน้าที่ ถ้ามองอย่างสร้างสรรค์ต่างฝ่ายก็ต่างพยายามโน้มน้าวแสดงเหตุผลว่าทุกประการมีที่มาที่ไป แต่ในส่วนที่เห็นต่างก็ต้องแสดงเหตุผลเช่นเดียวกัน กรรมาธิการฯต้องรับฟังด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง และดูคำขอแก้ไขที่จะเข้ามาหลังวันที่ 26 เม.ย.จาก คสช., ครม. และ สปช.เท่านั้น แต่รับฟังทุกความเห็น ซึ่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว ให้อำนาจกรรมาธิการฯตัดสินใจยิ่งต้องเปิดใจกว้างเพราะไม่ได้ร่างเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง คำวิจารณ์ของสื่อมวลชนและเสียงจากทุกภาคส่วนก็จะเป็นข้อมูลมาประกอบการตกผลึกครั้งสุดท้าย

ส่วนที่นายบวรศักดิ์เรียกร้องให้ สปช.กับกรรมาธิการฯร่วมมือกันสู้กับพรรคการเมือง เพราะเป็นเหมือนแฝดอินจันถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านต้องตายตกไปตามกันนั้น นายคำนูณกล่าวว่า ทั้ง สปช.และกรรมาธิการฯ ต้องทำงานคู่ขนานกันตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดไว้ ถ้ากรรมาธิการฯชี้แจง สปช.ขอแก้ไข แม้กรรมาธิการฯ จะมีสิทธิไม่แก้ไขตามคำแปรญัตติ แต่การตัดสินใจสุดท้ายในการอนุมัติร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอยู่ที่ สปช. แม้จะเป็นแม่น้ำคนละสายแต่ไหลไปด้วยกัน หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านก็ต้องยุติการทำหน้าที่ทั้งคู่ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วไม่กลัวต้องตายตกไปตามกันเหมือนแฝดอินจันตามที่นายบวรศักดิ์ เคยเปรียบเทียบไว้ อีกทั้งยังเร็วเกินไปที่จะประเมินว่าร่างรัฐธรรมนูญ จะถูกคว่ำในการพิจารณาของ สปช. เนื่องจากร่างสุดท้ายยังไม่เสร็จ


กำลังโหลดความคิดเห็น