รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ยืนยันมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว สามารถสั่งในทางสร้างสรรค์ได้ ตามที่ “ประยุทธ์” พูด อย่าเพิ่งคิดว่ามันจะแย่กว่ากฎอัยการศึก แจงอยู่ในระดับเดียวกับ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน - พ.ร.บ.ความมั่นคง” ลั่นไม่หนีเสือปะจระเข้ ด้านโฆษกรัฐบาลแจงเปลี่ยนเพื่อให้สังคมและต่างประเทศสบายใจ ห่วงเรื่องความรู้สึกขัดแย้ง - มีทัศนคติไม่ดีต่อร่างรัฐธรรมนูญ ให้ปรับรูปแบบจากประชาพิจารณ์มาเป็นรับฟังความคิดเห็นของประชาชน อยากได้ - ไม่อยากได้อะไร ไม่อยากให้วิจารณ์ทีละข้อ
วันนี้ (31 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการใช้มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ว่า มาตรา 44 เป็นมาตราที่กว้าง พอถึงเวลาต้องลงไปสั่งอีกทีว่าจะสั่งว่าอะไร สมัยก่อนมีการสั่งยิงเป้า แต่สมัยนี้เป็นการสั่งในทางสร้างสรรค์ได้ เพราะเราเขียนลงไป มาตรา 44 สมัยก่อนเอาใช้ในทางสร้างสรรค์ได้ยาก วันนี้เราเขียนลงไปเลยว่ามาตรา 44 อาจเอามาใช้ 1. เพื่อความปรองดอง 2. ใช้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย 3. ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ในสังคม 4. ใช้เร่งรัดการปฏิรูป 5. เพื่อระงับยับยั้ง ป้องกันปราบปราม ซึ่งตรงนี้เป็นอันเดียวที่ใช้ในสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นการนำมาใช้ตามคำที่นายกฯ พูดว่า เป็นการใช้อย่างสร้างสรรค์
“ขอให้เข้าใจว่า เมื่อคนไม่ค่อยวางใจกฎอัยการศึก ไม่ว่าจะรุนแรงหรือไม่รุนแรง จนกระทั่งนำมาสู่การคิดที่จะต้องทบทวนแล้ว อย่าได้ระแวงต่อไปเลยว่า จะกำหนดมาตราการใหม่ที่แย่ไปกว่ากฎอัยการศึก หรือแย่เท่ากันมาใช้ มันเป็นไปไม่ได้ ไม่อย่างนั้นจะเลิกทำไม เพราะฉะนั้นจะมีมาตรการรองรับที่เบากว่า ปกติถ้าเราไม่คิดอะไรเลย มาตรการที่เบากว่าก็คือมาตรการตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กับกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งบางคนก็บอกว่าทำไมไม่เอาตรงนี้มาใช้ ไปยุ่งอะไรกับมาตรา 44 ขอให้มั่นใจเถอะว่า มาตรการใดที่จะมีขึ้นมารองรับต่อการยกเลิกกฎอัยการศึก ก็อยู่ในระดับเดียวกับกฎหมาย 2 ฉบับนี้ และไม่รุนแรงไปกว่า 2 ฉบับนี้” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนที่บอกว่าทำไมไม่ใช้กฎหมาย 2 ฉบับนี้เลย เพราะมีบางเรื่องที่กฎหมาย 2 ฉบับนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ไม่ครอบคลุม และไม่มีอะไรที่ติ่งไว้ว่าสำหรับเอาอำนาจพิเศษมาเล่นงานประชาชน แต่เราต้องการช่วยเหลือและเยียวประชาชน ซึ่งกฎหมาย 2 ฉบับนี้ไม่มีมาตรการเยียวยา และบรรเทาความเสียหายที่เกิดมาแล้ว โดยมาตรการเยียวยาไม่ต้องไปรอเสนอกฎหมายเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มี พ.ร.บ. ออกมา ซึ่งใช้เวลาหลายเดือน แต่ผนวกเข้าไปเลยในเรื่องเดียวกัน ดังนั้นต้องพึ่งอำนาจพิเศษมาตรา 44
เมื่อถามว่าจะเป็นการหนีเสือปะจระเข้หรือไม่ นายวิษณุ ตอบว่า ไม่หนีเสือปะจระเข้ แต่จะเจอตัวอื่นหรือเปล่าไม่รู้ ไม่ใช่เสือไม่ใช่จระเข้เลย โดยความชัดเจน คืนวันที่ 31 มี.ค. รอดูโทรทัศน์ดูสิ
ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ปรารภในที่ประชุม ครม. ว่า ต่างประเทศมีความเป็นกังวลต่อคำว่ากฎอัยการศึก ซึ่งโดยปกติในบ้านเราทุกคนจะเข้าใจว่าไม่ได้มีการนำมาใช้ทุกมาตรา ใช้แค่ให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปจับกุมหรือสืบสวนสอบสวนผู้ที่มีข้อมูลว่ากำลังจะก่อเหตุวุ่นวายภายในบ้านเมือง แต่ต่างประเทศไม่ได้สนใจเรื่องนี้
ดังนั้น เพื่อให้สังคมและต่างประเทศเกิดความสบายใจ จึงหาแนวทางในการใช้อำนาจ คสช. ตามมาตรา 44 มากำหนดเป็นกฎหมายเพื่อดำเนินการเฉพาะเรื่อง ทำให้บรรยากาศโดยรวมดูดีขึ้น แต่รายละเอียดจะเป็นอย่างไร ได้ให้นายวิษณุเป็นผู้ชี้แจง แต่สิ่งต่างๆ ที่จะออกมาจากการใช้อำนาจตามมาตรา 44 จะมีศักดิ์และสิทธิ์เท่ากับกฎหมาย เมื่อเอาใช้ในกรณีของกฎหมายข้อหนึ่งข้อใดเพื่อจะปฏิบัติงานหรือเพื่อจะแก้ไขปัญหาต่างๆ ในการยกเลิกจะต้องตราออกมาเป็นพระราชบัญญัติเหมือนกัน
นอกจากนี้ ในที่ประชุม ครม. มีการหารือกันถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญพอสมควร โดยสิ่งที่ ครม. เป็นห่วงคือ ขณะนี้ กมธ. ยกร่างฯ ได้เปิดเวทีในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยใช้คำว่าประชาพิจารณ์ เพื่อรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนทั่วไปในเรื่องต่างๆ ที่อยู่ในตัวร่างรัฐธรรมนูญ แต่ ครม. มองว่า ส่วนนี้อาจจะเป็นจุดที่ทำให้เกิดความรู้สึกขัดแย้งหรือมีทัศนคติไม่ดีต่อร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจริงๆ แล้วระยะเวลากำหนดที่แน่นอนคือ ร่างแรกจะเสร็จ ในวันที่ 17 เม.ย. และต้องส่งให้ผู้เกี่ยวข้องดู ซึ่งทางรัฐบาลและ คสช. ยังไม่ได้พิจารณาเรื่องนี้เลย
ที่ประชุม ครม. จึงมีมติให้นายวิษณุ รับไปหารือเป็นข้อพิจารณากับทาง กมธ. ยกร่างฯว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะปรับรูปแบบจากประชาพิจารณ์มาเป็นลักษณะของการขอรับฟังความคิดเห็นของประชาชนว่า ต้องการให้มีอะไรบ้างในรัฐธรรมนูญ และไม่อยากให้มีอะไรบ้างในรัฐธรรมนูญ ไม่ถึงขนาดอยากให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ในตัวร่างรัฐธรรมนูญทีละข้อ เพราจะเป็นจุดเริ่มต้นของความรู้สึกขัดแย้งในแนวความคิดของการยกร่างรัฐธรรมนูญ