xs
xsm
sm
md
lg

ชง10ประเด็นแก้ไขร่างรธน. ซัดม.181-182เผด็จการรัฐสภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (28 เม.ย.) นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สปช. พร้อมคณะแถลงถึงประเด็นที่จะเสนอแปรญัตติว่า มีการประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้การแปรญัตติมีน้ำหนักมากขึ้น ในความเห็นที่ตรงกันของกรรมาธิการ 2 ชุด และมีการตั้งกรรมาธิการเตรียมการแปรญัตติเพื่อแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ 1 ชุด มี นายดิเรก ถึงฝั่ง เป็นประธาน จะดำเนินการร่างญัตติที่จะยื่นต่อกรรมาธิการยกร่างฯ ภายในสองสัปดาห์ แต่ถ้าเสร็จก่อน จะให้กรรมาธิการทุกชุดมาร่วมตรวจดู ว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่ยังไม่สมบูรณ์ ทั้งนี้ เบื้องต้นมีการกำหนดประเด็นแปรญัตติ อย่างน้อย 10 ประเด็น คือ
1. เรื่องกลุ่มการเมือง ซึ่งอนุกรรมาธิการพรรคการเมืองเห็นว่า กลุ่มการเมืองจะมีผลทำให้สถาบันพรรคการเมืองอ่อนแอและจะทำให้เกิดปัญหามากกว่าเกิดประโยชน์ตามที่กรรมาธิการฯให้เหตุผลไว้
2. การเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดรัฐบาลผสมอ่อนแอ เหมือนร่างกายมีอวัยวะดีหมด แต่หัวใจคือรัฐบาลผสมกลับอ่อนแอ แล้วจะอยู่กันอย่างไร เพราะจะทำให้ไม่มีเอกภาพในการบริหารประเทศ
3. ที่มาวุฒิสภา แม้มัมีการปรับให้มาจากการเลือกตั้ง 77 จังหวัด แต่ก็ต้องผ่านการสรรหาก่อน ถือว่ามีความสลับซับซ้อน เป็นพหุสภา หลักการ เหมือนดี แต่ไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย
4.ที่มานายกรัฐมนตรี กรณีนายกฯคนนอก เป็นเรื่องหลักการระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเลือกตัวแทนมาใช้อำนาจ กลับกำหนดไม่ให้ฝ่ายบริหารมาจาก ส.ส. เท่ากับประชาชนไม่มีอำนาจบริหารใช่หรือไม่ ส่วนที่เกรงว่าจะเกิดวิกฤต ก็สามารถเขียนให้ไม่มีวิกฤตได้ เพราะในร่างรธน. ชัดเจนว่า รัฐบาลพ้นจากหน้าที่เมื่อยุบสภา จึงไม่มีวิกฤติตามที่กรรมาธิการฯ อ้างอีก
5. การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งเป็นกลไกตรวจสอบที่ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะจะเกิดระบบฮั้ว และยังมีประเด็นที่จะทำให้เกิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ได้เลย
6. กลไกลขับเคลื่อนการปฏิรูปควรจะเป็นอย่างไร
7. คณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ ที่มีหน้าที่ประเมินโครงการภคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ ให้ทำหน้าที่ประเมินผลการดำเนินงานขององค์กรอิสระ และพรรคการเมือง แต่ประเมินแค่แจ้งให้ทราบ เท่ากับสูญเปล่า ถ้าจะทำต้องให้คุ้มค่าและไม่เห็นประโยชน์ในการประเมินพรรคการเมืองกับกลุ่มการเมือง แต่จะเป็นภาระมากกว่า
8. คณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นมาคัดเลือกข้าราชการระดับปลัดกระทรวง
9. น่าจะเสนอเรื่องการทำประชามติ ซึ่งหากเห็นว่าจำเป็น ก็จะมีการยื่นญัตติต่อ สปช.เพื่อให้พิจารณาลงมติ หากที่ประชุมเห็นด้วย ก็จะส่งข้อเสนอดังกล่าวไปยัง ครม.และ คสช. เพราะขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. และนายกรัฐมนตรียังไม่ได้ตัดสินใจ
10. ประเด็นที่ให้อำนาจคณะกรรมการปรองดองฯ ออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษได้ เพียงแค่ให้ข้อมูลและสำนึกผิดกับคณะกรรมการ เป็นการให้อำนาจที่อาจขัดต่อหลักการของกฎหมายและจารีตที่เคยปฏิบัติกันมา เพราะการอภัยโทษ เป็นเรื่องที่ต้องถูกศาลตัดสินความผิด มีการจองจำก่อน แต่ในร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดประเด็นเหล่านี้

** ม.181-182 สร้างเผด็จการรัฐสภา

นายสมบัติ กล่าวด้วยว่า มาตรา 181 และ 182 ซึ่งให้นายกฯ ยื่นญัตติไว้วางใจตัวเอง ถ้าไม่ได้รับความไว้วางใจ มีอำนาจยุบสภาได้ เป็นการกีดกันไม่ให้ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้จะอ้างว่าเป็นการบล็อกไม่ให้พรรคร่วมรัฐบาลไปร่วมกับฝ่ายค้าน ก็ไม่สมเหตุผล อีกทั้งเห็นว่ากลไกนี้ไม่เหมาะสม
" มาตรา 182 ยิ่งน่ากลัวเรื่องการเสนอกฎหมายเร่งด่วน ออก พรก.ได้ แต่ให้อำนาจพิเศษในการเสนอกฎหมายพิเศษในหนึ่งสมัยประชุม อันตรายมาก คล้าย พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพราะถ้าฝ่ายค้านไม่อภิปรายไม่ไว้วางใจภายใน 48 ชั่วโมง ก็ถือว่ากฎหมายผ่าน หรือถ้าผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็ถือว่ากฎหมายฉบับนี้ผ่านไปโดยปริยาย แม้จะอ้างว่ามี ส.ว.กลั่นกรอง แต่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อประเทศ จึงต้องถามว่ากรรมาธิการฯ กำหนดไว้เพื่ออะไร เพราะเป็นการส่งเสริมให้รัฐบาลมีอำนาจเผด็จการ เท่ากับรัฐธรรมนูญรองรับเผด็จการรัฐสภาเต็มร้อย " นายสมบัติ กล่าว
ส่วนการแปรญัตติ จะมีผลในทางปฏิบัติหรือไม่ เพราะอำนาจการตัดสินใจเป็นของกรรมาธิการยกร่างฯ นั้น นายสมบัติ ออกตัวว่า ยังไม่พูดถึงอนาคต เพราะอาจมีการปรับแก้ไขก็ได้ แต่ถ้ายังดำรงร่างรัฐธรรมนูญเช่นนี้ จะเป็นระเบิดเวลาสำหรับประเทศตาม ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นไว้ ซึ่งกรรมาธิการ ควรจะรับฟัง และนำไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจด้วย
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ถ้าทางกรรมาธิการยกร่างฯ จะรับฟังเสียงท้วงติงทั้งใน และนอกสภาปฏิรูปฯ ก็จะเป็นเรื่องที่ดี เพราะหลายเรื่องเป็นการท้วงติงที่ไม่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของผู้ที่แสดงความเห็น อีกทั้งไม่มีเหตุผลชัดเจนที่ต้องบัญญัติมาตราที่สร้างปัญหา
"ผมยืนยัน ต้องเอามาตรา 181 และ 182 ที่ให้อำนาจนายกฯ เสนอกฎหมายพิเศษถ้าไม่มีการอภิปรายไมไว้วางใจให้ถือว่าผ่านความเห็นชอบ และการให้อำนาจนายกฯ ยื่นญัตติเปิดภิปรายไม่ไว้วางใจตัวเองได้ โดยที่ฝ่ายค้านจะไม่สามารถดำเนินการได้ในสมัยประชุมนั้นออกไป เพราะถือเป็นครั้งแรก ที่มีการสร้างเผด็จการรัฐสภาที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ"

**เตือนรธน.จะเป็นระเบิดเวลา

ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี แสดงความหงุดหงิด ต่อข้อเสนอของพรรคการเมือง ว่าให้เลื่อนเลือกตั้งเพื่อทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย และให้มีการลงประชามติ โดยเห็นว่านักการเมืองไม่มีสิทธิมาต่อรองนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าเบื้องต้นกรรมาธิการฯ ต้องแก้ไขในส่วนที่เป็นปัญหาก่อน เพราะในการอภิปรายกรรมาธิการฯ ไม่สามารถชี้แจงได้ในหลายประเด็นสำคัญ แต่ตนยังให้เกียรติเพราะกรรมาธิการฯบอกว่า จะรับฟัง และนำไปแก้ไข อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง และ ไม่มีการลงประชามติด้วย รัฐธรรมนูญนี้จะ กลายเป็นระเบิดเวลาประเทศไทย ที่สร้างความขัดแย้งไม่เบาไปกว่าในอดีต และความตั้งใจของคสช. ในการทำรัฐประหาร ก็จะสูญเปล่า
"ผมเห็นว่า ที่ผ่านมามีคนเร่งเลือกตั้ง นายกฯ ก็ว่า พอมีคนเสนอให้เลื่อน ก็ว่าอีก ขอให้ดูเจตนาผู้ให้ความเห็นจะดีกว่า เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่ประโยชน์นักการเมือง แต่เป็นภูมิคุ้มกันให้รัฐธรรมนูญ และการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว จึงเชื่อว่านายกฯน่าจะต้องการให้ปัญหาความขัดแย้งยุติมากกว่าที่จะทำให้ยืดเยื้อต่อไปอีกหลายปี เพราะมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเอื้อประโยชน์ให้กับคนที่ไม่เป็นประชาธิปไตย" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

**หากกมธ.ไม่ปรับแก้รธน.อาจแท้ง

นายดิเรก ถึงฝั่ง รองประธานกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สปช. กล่าวถึงภาพรวมร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ว่า ยังมีหลายส่วนที่ควรปรับแก้ โดยเฉพาะองค์กรอิสระที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ที่มีอำนาจตรวจสอบรัฐบาล ตรวจสอบการทำงานของนายกฯได้ ถือว่าเป็นการขัดหลักการ ทำลายระบบถ่วงดุล 3 ขาหลักของประเทศ คือ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ส่วนคณะกรรมการจังหวัด ที่จะลงไปควบคุการทำงานของท้องถิ่น ก็ไม่น่าจะถูกต้อง ถ้าบุคคลที่จะทำงานถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาล ก็จะไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน แต่มีเพียงองค์กรเดียวที่ตนเห็นว่าเหมาะสมที่จะตั้งขึ้น คือ คณะกรรมการอิสระเพื่อสร้างความปรองดองแห่งชาติ ที่มีอำนาจเพียงเสนอแนวทางสร้างความปรองดอง ทำให้คนในประเทศเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่ได้มีการล้วงลูก หรือมีอำนาจควบคุมรัฐบาล สรุปแล้วองค์กรไหนที่ตั้งมาแล้วมีปัญหา มีอำนาจซ้อนอำนาจ ก็ควรจะปรับแก้ แต่อะไรที่ดีอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องแก้
"ประเด็นที่สปช. ติติงกันมาก ไม่ว่าจะเป็น เรื่องนายกฯ คนนอก การเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ที่ต้องการให้รัฐบาลอ่อนแอ และที่มาของ ส.ว. ก็ยังไม่ถูกต้อง กมธ.ยกร่างฯ ก็ต้องไปแก้ไข หากไม่สามารถแก้ได้ทั้งหมดก็ควรแก้ในประเด็นหลักๆ เพราะถ้ายังปล่อยผ่านไปโดยไม่แก้ไข จนกระทั่งมีการทำประชามติขึ้นจริง ก็เชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านแน่ " นายดิเรก ย้ำ

**ปูดวงการพนันเปิดราคารธน.ไม่ผ่าน

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. บรรยายพิเศษ เรื่อง "ทิศทางของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ในการยกร่างรธน." ระหว่างการประชุมวิชาการ สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย เรื่อง "จุดเปลี่ยนท้องถิ่นไทย กับการปฏิรูปตามรธน.ฉบับใหม่" ที่ เมืองทองธานี ว่า หลังจากวันที่ 27 เม.ย. ทางสปช. จะเสนอคำแปรญัตติ พร้อมความเห็น ครม.และคสช. ให้ กมธ.ยกร่างฯ นำไปทำการแก้ไขใน 60 วัน แล้วรธน.จะเสร็จไม่เกิน วันที่ 23-24
ก.ค. และอีกไม่เกิน 10 วัน หรือ วันที่ 6 ส.ค. ให้ สปช. ลงมติ เห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ หากเห็นชอบ ก็ทูลเกล้าฯ แต่หากไม่เห็นชอบ สปช. และกมธ.ยกร่างฯ จะต้องพ้นสภาพไป และคสช. จะต้องแต่งตั้งสปช. และกมธ.ยกร่างฯ ชุดใหม่ ที่ไม่ใช่คนเดิม หน้าเดิม และเริ่มกระบวนการใหม่ และเป็นที่คาดการณ์ว่า พิมพ์เขียวที่วางไว้อาจไม่เข้าสู่การเลือกตั้ง ถ้าสปช.ไม่เห็นชอบร่างรธน. ทำให้เกิดการพนันขันต่อ ที่เป็นความจริงในขณะนี้ ตกลงว่า สปช.จะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรธน. ทั้งที่ร่างยังไม่เสร็จ และอยู่ในกระบวนการ
กำลังโหลดความคิดเห็น