โฆษกวิป สปช.เผยสัมมนาร่วมกับ กมธ.ยกร่างฯ ทำความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญ วอนสมาชิกพิจารณารอบคอบ ไม่มีล็อบบี้ ไม่มีคนสั่ง ระบุหลายคนสงสัยรูปแบบเลือกตั้งใหม่แก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ รัฐเข้มแข็งตรวจสอบได้ยังไง แนะเถียงกันด้วยไมตรีใช้เหตุผลมากกว่าเสียดสี ไม่คิดเนื้อหาดึง 60 สปช.นั่งสภาปฏิรูปจะทำให้สมาชิกสนับสนุน
วันนี้ (9 เม.ย.) นายวันชัย สอนศิริ โฆษกวิป สปช. แถลงภายหลังการสัมมนาร่วมกันระหว่างสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในช่วงเช้าว่า นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.ต้องการให้มีการทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นหลักในรัฐธรรมนูญ คือ 1. เนื้อหารัฐธรรมนูญตามที่ กมธ.รายงานต่อ สปช.โดยลำดับนั้น มีประเด็นและคำถามโดยตลอดแต่ยังไม่ได้ซักถามเพื่อสร้างความเข้าใจ และบัดนี้ กมธ.แจ้งว่าใกล้เรียบร้อยแล้วก่อนส่งวันที่ 17 เม.ย. วันนี้จะได้ตอบให้สมาชิกหายข้องใจเป็นเบื้องต้นก่อน 2. กระบวนการอภิปราย 20-26 เม.ย.จะกำหนดเวลาในสัดส่วนกรรมาธิการและสมาชิกเท่าใด เดิมวิปกำหนดกรรมาธิการท่านละ 2 ชั่วโมง และสมาชิกไม่เกิน 15 นาที แต่มีการเสนอให้น้ำหนักรัฐธรรมนูญในแต่ละส่วนแตกต่างกัน 3. หลังจากอภิปรายแล้วสมาชิกจะต้องมีการแปรญัตติภายใน 30 วัน จะได้ตกลงกันว่าใครจะอยู่กลุ่มไหนอย่างไร ตั้งแต่เนื้อหา กระบวนวิธีและการแปรญัตติเพราะสมาชิก 26คนจะเสนอได้ 8 ญัตติ
โฆษกวิป สปช.ระบุด้วยว่า ประธาน สปช.ต้องการให้งานสภาปฏิรูปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วยความราบรื่นและอยากให้การอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยเหตุผลและเนื้อหาสาระ เพราะต้องการให้รัฐธรรมนูญออกมาดีที่สุด โดยนายเทียนฉายกล่าวย้ำก่อนเปิดสัมมนาว่า อยากให้การร่างรัฐธรรมนูญเป็นความรับผิดชอบของ สปช.โดยตรงให้ทำหน้าที่มั่นคง เข้มแข็ง จะผ่านหรือไม่ผ่าน ไม่มีโผ ไม่มีการล็อบบี้ อยากให้การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับสุดท้ายจึงขอให้ทุกคนพิจารณาอย่างรอบคอบพร้อมกับว่ายืนยันไม่มีใครสั่งการหรือกำหนดการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้โดยเด็ดขาด
จากนั้นกรรมาธิการฯ กับ สปช.แลกเปลี่ยนความเห็นโดยมี สปช.12 คนซักถาม ส่วนใหญ่คือเรื่องภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง เป็นประเด็นที่สมาชิกติดใจ ทั้งที่มา ส.ส. ส.ว.และระบบการเลือกตั้ง เพราะเห็นว่าวิธีการของกรรมาธิการฯ แก้ปัญหาการเมืองได้จริงหรือไม่ ระบบการเลือกตั้งที่เอามาใช้สามารถป้องกันการทุจริตการขายเสียงได้มากน้อยแค่ไหน รัฐบาลจะมีความเข้มแข็งและการตรวจสอบอำนาจรัฐเข้มแข็งอย่างไร และอีกส่วนหนึ่งที่มีข้อสงสัย คือ สภาขับเคลื่อนปฏิรูป มีไว้เพื่ออะไรทำงานต่อเนื่องได้จริงหรือไม่ จึงคิดว่าประเด็นต่อไปที่จะซักถามมากคือ การเมือง กระบวนการยุติธรรม การปฏิรูปและการปรองดอง
นายวันชัยยอมรับว่า การพบกันระหว่างกรรมาธิการยกร่างฯกับ สปช.ก่อนการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญนั้นจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดบรรยากาศการโต้เถียงระหว่างการอภิปราย และยังช่วยให้ไม่ต้องเสียเวลาเรื่องกระบวนวิธีด้วย ส่วนการโต้เถียงดุเดือดนั้นที่ประชุมได้ขอให้โต้เถียงด้วยไมตรีวิวาทะไม่ได้มุ่งเอาแพ้ชนะ ใช้เหตุผลมากกว่าการเสียดสีประชดประชันเหมือนการเมือง เพราะต้องการให้เป็นสภาแห่งเนื้อหามากกว่าเป็นสภาวาทกรรมโต้เถียงกัน สำหรับขอบเขตการแปรญัตตินั้นญัตติเดียวจะมีกี่ประเด็นก็ได้ แต่ผู้เสนอต้องมีผู้รับรอง 25 คน รวม 26 คน ส่วนจะมีการซ้ำซ้อนกันก็ไม่คิดว่าเป็นปัญหาแต่จะทำให้กรรมาธิการต้องไปพิจารณาอย่างมากที่สุด
ส่วนกรณีที่กรรมาธิการยกร่างฯได้ปรับเนื้อหาเรื่องนายกคนนอกให้ต้องมาจากเสียง 2 ใน 3 แต่กรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สปช.เห็นว่าควรมีเงื่อนไขคำว่าวิกฤตที่ชัดเจนจะมีการแปรญัตติในเรื่องนี้หรือไม่นั้น นายวันชัยกล่าวว่า ตนเห็นว่าเป็นสิทธิของสมาชิกที่จะดำเนินการได้โดยอิสระ หากกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองมีกลุ่มสมาชิกรวมได้ 26 คนก็เสนอแปรญัตติเรื่องการกำหนดเงื่อนไขที่ชัดเจนเข้าไปได้ โดยเชื่อว่ามีหลายมาตรา หลายประเด็นที่ สปช.จะขอแปรญัตติ เพราะมีการติดใจทั้งเรื่องสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป องค์กรอิสระ และระบบการเมือง แต่ยังไม่ได้ลงรายละเอียดในประเด็นคณะกรรมการปรองดองที่ให้อำนาจร่างพระราชกฤษฎีกาเองได้ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าคงมีการหารือกันในทุกประเด็น
“ถ้าร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ผ่านทั้งกรรมาธิการยกร่างฯ กับ สปช.ก็ตายไปด้วยกัน ไม่มีการเกี้ยเซี้ยเพื่อหวังอยู่ต่อ เนื่องจากไม่รู้ว่าจะอยู่ไปทำไม และไม่คิดว่าการที่ กรรมาธิการฯ กำหนดให้มี สปช.60 คนไปเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปจะทำให้มีเสียง สปช.คอยสนับสนุนอยู่แล้วไม่น้อยกว่า 60 เสียง เพราะการพิจารณาเป็นดุลพินิจโดยอิสระของแต่ละคน” นายวันชัยกล่าว