xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” แย้มทางออกนายกฯ คนนอก อาจให้อยู่ในวาระ 2 ปี ใช้เสียง 2 ใน 3

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ  สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
โฆษก กมธ.ยกร่าง รธน.ไม่หนักใจ กมธ.ปฏิรูปการเมืองค้านนายกฯ คนนอก เผยทางออกอาจให้กำหนดวาระ 2 ปี หรือใช้เสียงในสภา 2 ใน 3 ยันทุกประเด็นที่มีเสียงคัดค้าน กมธ.ยกร่างฯ รับฟัง พร้อมแก้ไข ส่วนแนวทางชี้แจง สปช. 7 วัน 7 คืน ใครถนัดประเด็นไหนให้ชี้แจงประเด็นนั้น

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ไม่หนักใจที่คณะกรรมาธิการการปฏิรูปการเมืองของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เตรียมเสนอความเห็นคัดค้านที่มาของนายกรัฐมนตรีที่เปิดช่องให้มาจากคนนอกได้โดยไม่มีเงื่อนไข โดยเห็นว่าเป็นเรื่องดีที่มีเสียงสะท้อนจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะในประเด็นนี้กรรมาธิการฯ เองก็เคยถกเถียงกันไว้ 3 แนวทาง คือ หากนายกรัฐมนตรีมาจากคนนอกจะต้องเกิดสถานการณ์พิเศษเพื่อให้เห็นชัดเจนเป็นสัญลักษณ์ว่าในภาวะปกติอยากให้มาจาก ส.ส. แต่ก็มีปัญหาว่าจะนิยามคำว่าวิกฤตที่หาทางออกไม่ได้อย่างไร ทำให้มีแนวโน้มว่าหากจะมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้ อาจใช้วิธีกำหนดให้นายกคนนอกมีวาระสั้นกว่าปกติ คือ 2 ปี หรือให้ใช้เสียงในสภามากกว่าปกติคือสองในสาม

“เราต้องฟังความเห็นจากสภาปฏิรูปแห่งชาติทุกคนที่มีสิทธิเสนอความเห็น เพื่อนำประเด็นเหล่านั้นมาพิจารณาทุกเรื่อง ยินดีที่มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นมากที่สุด เป็นไปไม่ได้ที่กรรมาธิการฯ จะดึงดันไม่รับฟังแม้การตัดนสินใจว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง เนื้อหาตามที่มีการแปรญัตติหรือไม่จะอยู่ที่กรรมาธิการ ถ้าประเด็นใดเสียงสะท้อนในทิศทางเดียวกันไม่มีเหตุผลคัดค้านแม้จะไม่ตรงกับกรรมาธิการฯ ก็ไม่มีเหตุผลที่จะไม่ทบทวน”

นายคำนูณกล่าวว่า ในส่วนประเด็นที่แหลมคมพูดกันมาก คือ เรื่องที่มานายกรัฐมนตรี ที่มาวุฒิสภา อำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา นอกนั้นก็มีหลากหลายประเด็นที่กรรมาธิการทุกคนจดบันทึกไว้พร้อมนำมาพิจารณา ส่วนเนื้อหาในภาค 4 ก็ต้องรับฟังจาก สปช.เป็นหลัก เนื่องจากเกี่ยวข้องกับกรรมาธิการทุกคณะของ สปช.มากที่สุด โดยสัปดาห์หน้าจะได้มีการวางแนวทางเกี่ยวกับการชี้แจงต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติที่จะใช้เวลาถึง 7 วัน 7 คืน โดยเข้าใจว่าต้องหนักแน่แต่ทำใจไว้แล้ว ในส่วนกรรมาธิการฯก็จะใช้วิธีใครถนัดประเด็นใดก็ให้เป็นผู้ชี้แจงในประเด็นนั้น เพราะทุกคนมีเจตนาดีต่อประเทศชาติทั้งสิ้น แต่ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการพิจารณาของ สปช. ก็ให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ ยังไม่ได้คิดอะไรล่วงหน้า เนื่องจากยังมีเวลาอีกหลายขั้นตอน ขณะนี้เพิ่งมาถึงครึ่งทางเท่านั้น เราได้นำกลับมาพิจารณาทบทวน ฟังเสียงเห็นต่างและพร้อมชี้แจงถ้ายังเห็นไม่ตรงกันก็พร้อมทบทวนอาจช่วงนี้ หรือ 25 พ.ค. - 23 ก.ค. ในช่วง 60 วันสุดท้ายก็ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น