xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เริ่มนับหนึ่งรุมสกรัม รัฐธรรมนูญยี่ห้อ"ดร.ปื๊ด"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ในที่สุดร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกที่ "คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ" ที่นำโดย "ดร.ปื๊ด" บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ภูมิใจนำเสนอก็ถึงคิวโดนชำแหละโดยฝีปากของ “คนกันเอง”อย่าง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นประเดิม

บรรยากาศการอภิปรายก็ดุเดือดขึ้นตามลำดับ ผิดจากที่คาดการณ์กันว่าไว้ว่า อาจจะมีรายการ“คุณขอมา”จัดปาหี่ อภปิรายพอเป็นพิธี อาจจะมีบางประเด็นให้ติติงบ้างไปตามเรื่อง แล้วค่อยตีตรายางประทับรับรอง "ร่างรัฐธรรมนูญ" ร่างแรก ผ่านความเห็นชอบแบบฉลุยๆ

แต่กลับตรงกันข้าม เพราะ สปช. ถือโอกาสเรียงคิวชำแหละ แทบทุกประเด็น

จับอาการ "บวรศักดิ์" ถึงกับอึ้งกึมกี่ไม่น้อย ที่มั่นอกมั่นใจว่า “เพอร์เฟก” ผิดเป้าไปมากโข และแม้ สปช.จะไม่มีอำนาจในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ แต่หากมีการขอแปรญัติเอาไว้ ทางคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็ต้องหยิบยกมาพิจารณา

แต่ความเสียหายไม่ได้อยู่ที่ ร่างรัฐธรรมนูญ จะถูกแก้ไขตามคำแนะนำของ สปช. หรือไม่ เพราะแม้จะดื้อดึง ไม่แก้ไข แต่ภาพลักษณ์ของ ร่างรัฐธรรมนูญ ที่ “บวรศักดิ์”และพวกประคบประหงม ปลุกปั้นมาหลายเดือน ก็ต้องมัวหมองลงไปตั้งแต่ต้น

บวกกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงก่นด่าของบรรดานักวิชาการ-นักการเมือง-ภาคประชาชน ที่ขนาดยังไม่เห็นร่างจริง ก็รู้สึกได้ถึงความไม่เป็นประชาธิปไตยของ “ว่าที่กฎหมายของประเทศ" ในหลายเรื่องด้วยกัน 

แต่ฟากฝั่ง กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยังหลงคิดอยู่ว่า เนื้อหาที่ของรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้น ถูกต้อง และสมบูรณ์ที่สุดแล้ว

ประเด็นส่วนใหญ่ที่ถูกจับตามอง หนีไม่พ้นเรื่องในหมวดการเมือง และการเข้าสู่อำนาจ ที่มาที่ไปของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งหลาย
อย่างเรื่อง "ระบบสัดส่วนผสม" ที่ “บวรศักดิ์”นั่งยันนอนยัน ว่าไม่ได้ลอกจากที่ไหน เป็นการออกแบบกลไกที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดยพิจารณาจากเคสตัวอย่างกว่า 10 ประเทศทั่วโลก ที่ระบบดังกล่าวสะท้อนถึงความนิยมของประชาชน

โดยมีการนำคะแนนการเลือกตั้งปี 2550 และ ปี 2554 มาเป็นตัวชี้วัด เพื่อกล่อมให้บรรดาสมาชิก สปช. คล้อยตามกับสูตรที่ได้เขียนเอาไว้ พร้อมเปรียบเทียบการเลือกตั้ง ปี 2550 พรรคพลังประชาชนได้ ส.ส. 213 จาก 480 ที่นั่ง แต่ถ้าใช้สัดส่วนผสม จะเหลือเพียง 204 ที่นั่ง ส่วนการเลือกตั้งปี 2554 พรรคเพื่อไทย ได้ ส.ส. 265 คน ถ้าใช้สัดส่วนผสม ก็เหลือ 247 ที่นั่ง 

คำนวณให้เห็นจะๆว่า ระบบนี้เตะตัดขา“ระบอบทักษิณ”ได้ไม่มากก็น้อย

และหาก สปช. ยึดรูปแบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สัดส่วนคะแนนของ "ขั้วทักษิณ" ลดลงเห็นๆ โอกาสตั้งรัฐบาลแบบเบ็ดเสร็จ ก็ทำได้ยากขึ้น

หนำซ้ำจำนวน ส.ส. ที่ "ขั้วทักษิณ" เสียไป จะกลับไปเพิ่มพูนให้ฝ่ายตรงข้าม ซึ่'ก็คงหนีไม่พ้น "พรรคประชาธิปัตย์" โดยเฉพาะคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ที่ “ค่ายสีฟ้า”ได้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน และป้องกันการเกิด “เผด็จการรัฐสภา”ได้อย่างชะงัก แถมมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลแข่งกัน อีกต่างหาก

ทว่ายังโดน สปช. เห็นช่องโหว่ ว่า ระบบเลือกตั้งสัดส่วนผสม จะนำมาสู่ “รัฐบาลผสม”ซึ่งอาจจะทำให้การบริหารประเทศขาดเสถียรภาพ และจะมีการต่อรองผลประโยชน์จากพรรคร่วมรัฐบาล อย่างมาก

เหมือนนั่งไทม์แมชชีน ย้อนกลับไปสู่การเมืองในยุดก่อนรัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งเมื่อถึงเวลาจัดตั้งรัฐบาล "กระทรวงเกรดเอ-เกรดบี" อาจจะโดนแย่งชิงกันง่ายขึ้น แถม "พรรคการเมือง" ที่ได้ ส.ส.น้อยคน อาจจะต่อรองจนได้ "เก้าอี้รัฐมนตรี" มาเชยชม ไม่เท่านั้น ยังเป็นเสียงชี้เป็นชี้ตาย อนาคตของรัฐบาลอีกต่างหาก 

หลายรัฐบาลล้มไม่เป็นท่ามาแล้ว กับอิทธิฤทธิ์ของพรรคขนาดกลาง-ขนาดย่อม

ประเด็นร้อนที่สุด ซึ่ง กมธ.ยกร่างฯ ถูกตำหนิมากที่สุด หนีไม่พ้นประเด็น "นายกฯคนนอก" ที่มี สปช. หลายคนแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู เพราะสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดวิกฤตการเมืองซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก เนื่องจากมองได้ว่าที่มาของ “ผู้นำประเทศ” แบบนี้ไม่ยึดโยงกับประชาชน

"สมบัติ ธำรงค์ธัญวงศ์ " ประธาน กมธ. ด้านการเมืองใน สปช. ผู้เป็นเสมือน "ร่างทรง" ของ "พระสุเทพ ปภากโร" หรือ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" เลขาธิการ กปปส. ที่เคยเป็นกุนซือ คอยชงเสนอคิดปฏิรูปช่วง กปปส. ชุมนุมชัตดาวน์ประเทศ
 
"สมบัติ" ไม่เห็นด้วยเพราะคิดว่า "นายกฯคนนอก" ไม่เชื่อมโยงประชาชน เมื่อไม่เชื่อมโยงกับประชาชน แล้วอาจจะทำให้เกิดปัญหา อีกทั้งหากคนที่อยากเป็น "นายกฯ" อาจจะไม่ต้อง "ลงแรง" แค่ "ลงทุน" เอาเงินฟาดหัว หรือเอา "กระบอกปืน" เข้าใส่ ก็คงมีสิทธิได้เป็น "นายกฯ" นั่งเสวยสุขอยู่บนหอคอยงาช้างได้

ประเด็น "นายกฯคนนอก" ที่ว่ากันว่าเป็น “ทางลัด”ให้ "บิ๊กทหาร" บางคนที่หวังเข้ามานั่งตำแหน่ง "เบอร์หนึ่งผู้นำประเทศ" หลังเป็นได้แค่ "เบอร์สอง" มานมนาน ได้สุขสมหวังเสียที

เรื่องนี้จึงถูกจับตามองมากเป็นพิเศษ เพราะประวัติศาสตร์จารึกไว้ว่า "นายกฯคนนอก" คนสุดท้ายคือ "พล.อ.สุจินดา คราประยูร" ถูกประชาชนต่อต้าน เพราะมาดำรงตำแหน่งทั้งที่ประชาชนไม่ได้เลือกมา

ชะตากรรมของ "ร่างรัฐธรรมนูญ" ฉบับ "รูดปื๊ด" จะรุ่งหรือร่วง ต้องติดตามกันข็อตต่อช็อต เพราะหลังผ่านด่าน สปช. ก็ถึงคิว "ครม.+คสช." ที่จะถกเนื้อหาในรัฐธรรมนูญกันต่อ

ที่สำคัญ "ครม.-คสช." มีอำนาจแนะนำให้ปรับแก้ "ร่างรัฐธรรมนูญ"ได้ โดย "วิษณุ เครืองาม" รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมายออกมาแย้มๆไว้แล้วว่า อาจจะมีหลายมาตราที่อาจจะต้องแก้ไขเนื้อหา

แต่ทั้งหมดก็ต้องขึ้นอยู่กับ "ขุนทหาร" ว่าวางทิศทางกำหนดเกมการเมืองไว้อย่างไร จะซ่อนเงื่อนวางระเบิดเปิดทางให้อยู่ต่อหรือไม่ หนทางยังอีกไกลสำหรับ “รัฐธรรมนูญฉบับ คสช.”ที่เริ่มต้นมาก็ต้องเจอกับทางวิบาก ขรุขระตลอด พ้นโค้งแรกไป ยังต้องมีอุปสรรคอีกสารพัดที่รอ “เจาะยาง”อยู่ตลอดเวลา
 
ที่สำคัญยังต้องวัดใจทั้ง"ขุนทหาร-สมุนแม้ว-พรรคสีแดง-พรรคสีฟ้า" ว่าจะถูกใจกันมากน้อยเพียงใดด้วย 


กำลังโหลดความคิดเห็น