เกาะกระแส
00 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีแต่เรื่องแสดงความเห็น ในสปช.ก็เป็นการอภิปรายแสดงความเห็นเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ คณะกรรมาธิการยกร่าง ฯ ทำเสร็จเป็นร่างแรก ก็ผ่านพ้นไปแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่ดุเดือดเลือดพล่าน เพราะทั้งคู่ถือว่ามาจากต้นน้ำเดียวกัน แต่ที่น่าจับตาก็คือ "ความเห็น" ที่มาจาก "ขาใหญ่" ทั้ง คสช. และรัฐบาลนับจากนี้แหละ ว่าจะมีความเห็นใน ร่าง รัฐธรรมนูญ ว่าจะออกมาอย่างไรมากกว่า เพราะนี่คือ "ของจริง" ว่าจะให้ออกมาแบบไหน ซึ่งที่ผ่านมาทางรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมายอย่าง วิษณุ เครืองาม ก็เคยแย้มออกมาให้เห็นแล้วว่า "มีน้ำหนัก" ที่สุด
00 อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะฟันธงออกมาว่าจะให้ออกมาแบบไหน ก่อนอื่นก็ต้องเปิดให้วงนอกได้เสนอความเห็น รับฟังท่าทีจากฝ่ายต่างๆ จากภายนอกเสียก่อน อย่างที่เห็น ในเวลานี้มีการเปิดเวทีให้ฝ่ายการเมือง ทั้งพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง เข้าไปแสดงความเห็นเมื่อวันก่อน ทำให้พอมองเห็นท่าทีแล้วว่า น่าจะต้องแก้ไขปรับปรุงในส่วนไหนบ้าง บางครั้งภาพที่ออกมามันเหมือนกับการ "บอกผ่าน" แล้วต่อรองราคาลงมาจนพอใจนั่นแหละ และงานประเภทนี้ระดับ "เนติบริกร" มือรางวัลอย่าง บวรศักดิ์ อุวรรณโณ วิษณ เครืองาม ย่อมรับรู้อารมณ์ได้ดีอยู่แล้ว
00 แน่นอนว่า ในที่สุดแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะต้องมีการลงประชามติค่อนข้างแน่ เพียงแต่ว่าเวลานี้ยังไม่ถึงเวลาชี้ขาดเท่านั้นเอง การที่ระยะหลังคนที่มีอำนาจมากที่สุดอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไม่ยืนยันออกมา แต่นั่นคือการสงวนท่าทีเอาไว้ก่อน มันก็เหมือนตอบรับไปเกินครึ่งแล้ว เหตุผลก็ไม่มีอะไรซับซ้อน ก็เพื่อต้องการหลักประกันรัฐธรรมนูญในภายหน้าเอาไว้อีกชั้นหนึ่ง ว่าชาวบ้านเห็นชอบมาแล้ว และเชื่อเถอะว่า ลงประชามติอีกกี่ครั้งก็ผ่าน หากจำกันได้เมื่อครั้งลงประชามติ รัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ที่ตอนนั้น "พรรคเพื่อแม้ว" ขวางกันเต็มที่ ขณะที่รัฐบาล "ขิงแก่" ได้แต่ "บื้อใบ้" ไม่ได้รณรงค์อะไรเลย ผลออกมายังชนะขาด เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่ความนิยมศรัทธา "ลุงตู่" ยังสูงอยู่แบบนี้ "ชี้นกก็เป็นไม้" วันยังค่ำ เชื่อเถอะ !!
00 วันก่อนที่ คสช. เรียกบรรดาตัวแทนพรรคการเมือง และกลุ่มการเมืองต่างๆ เข้าไปร่วมแสดงความเห็น ผลที่ออกมาอาจสร้างความแปลกใจก็คือ "ยอมให้เลื่อนการเลือกตั้ง" ออกไป อ้างว่าเพื่อแลกกับการปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ฟังดูเผินๆ แทบ "น้ำตาไหล" ซาบซึ้งในความหวังดีต่อชาติ บ้านเมือง แม้กระทั่งพวกพรรคเพื่อไทย คนเสื้อแดง รวมไปถึงพรรคประชาธิปัตย์ ที่นั่งร่วมโต๊ะเห็นตรงกัน เป็นภาพความปรองดองน่าประทับใจ แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง มันก็เหมือนกับการ "พบกันครึ่งทาง" ที่ต่างฝ่ายต่างไม่พร้อม !!
00 ที่สำคัญ หากมีการเลือกตั้งตามกำหนด นั่นคือ ปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ย่อมต้องเกิดปัญหาเรื่องความนิยม ที่รับรู้กันอยู่ว่า เวลานี้แต่ละพรรคความนิยมเริ่มถดถอย แม้แต่พรรคเพื่อไทยเอง จากหลายโพลก่อนหน้านี้ยังตามหลังประชาธิปัตย์ด้วยซ้ำไป ที่น่าจับตาก็คือ พรรคเพื่อไทย "ขาดหัว" เพราะเวลานี้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขาข้างหนึ่งแหย่เข้าไปในคุกแล้ว และการดำเนินคดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯก็ไม่นานเกินไปนัก ขืนลงไปก็ไม่คุ้ม ขณะที่ฝ่ายประชาธิปัตย์ ตัว อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แม้ว่าคะแนนอาจจะกระเตื้อง แต่ก็ถือว่าไม่ชัวร์ ตัวชี้ขาดยังอยู่ที่ภาคใต้ ต้องรอการชี้ขาดจาก "หลวงลุง" เสียก่อน ขณะเดียวกัน เมื่อหันมามองฝ่าย คสช.โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บ้าง ยังต้องมีภารกิจปฏิรูปที่ยังไม่เสร็จง่ายๆ อีกทั้งเพิ่งประกาศ "สู้ตาย" ไปเมื่อสัปดาห์ก่อน ก็เหมือนส่งสัญญาณว่า จะต้องอยู่ต่ออีกสักพักหนึ่ง เพื่อติดตามแก้ปัญหาให้เห็นหน้าเห็นหลังมากกว่านี้ ทุกอย่างจึงลงตัวแบบ "พบกันครึ่งทาง" มันถึงแฮปปี้แอนดิ้ง ไงล่ะ พี่น้อง !!