ผ่าประเด็นร้อน
หากนับจากวันนี้ปลายเดือนมีนาคมไปจนถึงช่วงปลายปี ก็เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น ก็จะถึงกำหนดวันเลือกตั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพิ่งประกาศล่าสุดระหว่างไปปาฐกถาพิเศษในงานของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่หอประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่กล่าวว่า จะมีการเลือกตั้งในปลายปีนี้ พร้อมกับกล่าวแบบในเชิงประชดตามมาว่า “ดีใจมั้ย”
แน่นอนว่า นี่คือประเด็นใหม่ที่เพิ่งเปิดเผยให้สังคมได้รับรู้ เพราะที่ผ่านมาเขาเคยบอกว่าจะมีการเลือกตั้งตามโรดแมปในราวต้นปีหน้า หรืออย่างช้าประมาณกลางปีหน้า ซึ่งนั่นยังหมายถึงไม่มีการทำประชามติเสียก่อน เพราะถ้ามีการลงประชามติก็ต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 3 เดือน ต้องมีการเลือกตั้งในราวปลายปีหน้า
อย่างไรก็ดี แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะกล่าวถึงกำหนดการเลือกตั้งใหม่ก็ตาม แต่ทางประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ก็ยังยืนยันว่าจะมีการเลือกตั้งในราวต้นปีหน้า หรืออย่างช้าไม่เกินกลางปีหน้า (ภายใต้เงื่อนไขไม่มีการลงประชามติ)
แต่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบุว่า จะมีการเลือกตั้งปลายปีนี้ ก็ต้องว่าตามไปก่อน เพราะเขาคือผู้คุมเกมสูงสุด มีทุกอย่างอยู่ในมือ อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องมาวิเคราะห์กันต่อ ก็คือ ทำไมถึงต้องร่นเวลาเข้ามาให้เร็วขึ้น มันเกิดอะไรขึ้น
คำถามก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ ทนต่อแรงกดดันที่ประดังเข้ามาไม่ไหวหรือเปล่า โดยเฉพาะจากภายนอกประเทศ ไม่ว่าจากประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ที่ก่อนหน้านี้ได้เพิ่มแรงดดันเรียกร้องให้รีบคืนอำนาจแล้วจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว และเขาก็ยังยอมรับแบบตัดพ้อว่าไม่ได้รับเชิญอย่างเป็นทางการ ยังเดินทางเข้าสหรัฐฯโดยตรงไม่ได้ ทำได้เพียงแต่ไปกล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมสหประชาชาติเท่านั้น
ขณะเดียวกัน ในช่วงสองสามสัปดาห์มานี้ ฝ่ายเครือข่ายทักษิณ ชินวัตร ก็เพิ่มแรงกดดันเข้ามาพร้อมกัน โดยเฉพาะในเรื่องการเข้าสู่อำนาจของนักการเมือง ติติงเรื่องที่มาของ ส.ส.-ส.ว. ซึ่งก็กังวลอยู่กับเรื่องของตัวเองทั้งสิ้น ซึ่งก็ไม่ต่างจากเสียงวิจารณ์โจมตีมาจากฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นครั้งแรกที่ประสานเสียงกันจนน่าแปลกใจ
นอกเหนือจากนี้ หากพิจารณาจากผลงานด้านเศรษฐกิจ ในด้านการเติบโตและเรื่องปากท้อง ก็ต้องพูดกันตามตรงว่ายังไม่น่าพอใจ เรื่องรายได้ไม่พอรายจ่าย เพราะราคาสินค้าเกษตร การส่งออกล้วนไม่เข้าเป้า ไตรมาสแรกส่อติดลบเสียอีก ทำให้หลายหน่วยงานด้านเศรษฐกิจที่เป็นกูรูทั้งหลายต่างออกมาลดเป้าอัตราการขยายตัวลงมาไม่ถึงร้อยละ 4 แล้ว ล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คาดการณ์ว่าน่าจะลดลงมาเหลือแค่ร้อยละ 2.8 เท่านั้น แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาเรื้อรังจากภายนอก เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายักษ์ใหญ่ ทั้ง อเมริกา ยุโรป จีน ญี่ปุ่น ล้วนเดี้ยงกันเป็นแถว มันก็ย่อมส่งผลกระทบมาถึงไทยอย่างจังแบบช่วยไม่ได้ และที่สำคัญมันเป็นปัจจัยที่เหนือความควบคุมเสียด้วย
แต่ก็อย่างว่าแหละเรื่องแบบนี้มันเข้าใจยาก ชาวบ้านเขาไม่สนใจหรอก เขาคิดแต่ว่าทำไมราคาข้าวจึงตกลงเรื่อยๆ ราคายางพาราจึงไม่ปรับราคาสูงขึ้นสักที พ่อค้าแม่ค้าก็บ่นว่าขายของไม่ได้เหมือนก่อน เขาไม่ได้มองออกไปถึงกลไกตลาดโลก แต่มองว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลจะต้องแก้ปัญหาให้ได้
ประกอบกับกลไลราชการที่ล่าช้า ข้าราชการหลายคนเริ่ม “เกียร์ว่าง” เพื่อนักการเมืองที่เข้ามาใหม่ เพราะรู้ดีว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะอยู่อีกไม่นาน และล่าสุด เมื่อยืนยันว่าจะมีการเลือกตั้งภายในปลายปีนี้ นั่นก็หมายความว่าจะร่นเวลาเข้ามาอีก บรรดาข้าราชการ “เขี้ยวลากดิน” ทั้งหลายก็จะยิ่งวางเฉยเพื่อรอนายใหม่
ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากท่าทีดังกล่าวข้างต้นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมกับพิจารณาจากผลงานของรัฐบาลที่ยังไม่เข้าเป้าหลายอย่าง อันเนื่องมาจากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้หรือควบคุมยาก ซึ่งเหตุการณ์ในลักษณะแบบนี้ ด้วยบุคลิกและที่มาจากกองทัพมีลักษณะที่ไม่ชินกับแรงกดดันแบบนี้ ก็ยิ่งสร้างความรำคาญให้มากขึ้น เนื่องจากตัวเองมั่นใจว่าเจตนาดี ทำเพื่อส่วนรวม แต่เมื่อยังมีเสียงวิจารณ์ไม่เลิก มันก็เหมือนกับอาการเซ็งอยากจะ “โยนผ้า” แล้วกลับบ้านเต็มทีแล้วหร่อเปล่า!!