xs
xsm
sm
md
lg

“เจษฎ์” ยันเร่ง กม.ลูกให้เสร็จพร้อม รธน. แย้มมีกฎหมายใหม่ คู่มือ ครม.ใช้อำนาจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายเจษฎ์ โทณวณิก กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
กมธ.ยกร่างฯ เผยพยายามทำกฎหมายลูก 11 ฉบับให้เสร็จพร้อมรัฐธรรมนูญ รวมของใหม่ พ.ร.ป.ครม.เป็นเครื่องมือการใช้อำนาจให้ชัด เพื่อสานต่อนโยบายได้ยังไง แนะอย่ามองการปฏิรูปปรองดองซ่อนรัฏฐาธิปัตย์ รับ รธน.ยังปิดช่องโหว่ไม่หมด วอนสังคมช่วยกันคิด โยน “บวรศักดิ์” แจงที่มาสภาขับเคลื่อนฯ ไม่ห่วงต่างชาติติงแต่ห่วงคนไทยขัดแย้งกันเองมากกว่า

วันนี้ (19 มี.ค.) ที่รัฐสภา นายเจษฎ์ โทณวณิก คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะคณะอนุกรรมาธิการยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กล่าวถึงความคืบหน้าในการยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 11 ฉบับ ว่าจะพยายามทำให้เสร็จพร้อมกับร่างรัฐธรรมนูญ โดยในส่วนที่มีกฎหมายใหม่ เช่น ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ครม. เกิดจากปัญหาที่ผ่านมาว่าการทำงานของคณะรัฐมนตรีแต่ละชุดไม่มีบรรทัดฐานที่เป็นแบบแผนเดียวกัน โดยเฉพาะการออกมติ ครม.ซึ่งบางครั้งก็เกินรัฐธรรมนูญ หรือซ้อนกับพระราชบัญญัติ หรือมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีซ้อนอยู่จนทำให้ภาพการทำงานของคณะรัฐมนตรีไม่ชัดเจน

นายเจษฎ์กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวจะทำให้มีโครงสร้างการบริหาร แทนที่จะเป็นการบริหารแบบต่างคนต่างทำเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลซึ่งมักจะใช้อำนาจบริหารนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติเพื่อประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม แตกต่างจากโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติที่มีข้อบังคับทั้งของสภาและวุฒิสภากำกับอยู่ การเขียนกฎหมายนี้ก็จะเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนรู้ว่า ครม.มีหน้าที่ต้องทำอะไรบ้าง เช่น จะต้องสานต่อนโยบายให้เกิดความต่อเนื่องอย่างไร แต่คงไม่สามารถกล่าวในรายละเอียดได้ทั้งหมดว่าเนื้อหาจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้ในประเทศญี่ปุ่นก็มีกฎหมายแบบนี้แต่ไม่ได้เขียนละเอียดนัก ในส่วนของประเทศไทยคงต้องลงรายละเอียดที่ชัดเจนมากกว่า

นายเจษฎ์กล่าวด้วยว่า ไม่อยากให้มองว่า ภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง เป็นการซ่อนอำนาจรัฏฐาธิปัตย์เอาไว้ เพราะไม่ใช่เช่นนั้นคณะกรรมาธิการยกร่างฯ มีเจตนาเพียงแค่ให้การปฏิรูปและการปรองดองสำเร็จได้จริงจึงกำหนดระยะเวลาการใช้ไว้ชัดเจนว่า 5 ปี หรือถ้าต้องการให้กลไกเหล่านี้ขับเคลื่อนต่อไปก็เปิดช่องให้ทำประชามติ ไม่ใช่บทบัญญัติที่อยู่ถาวรในรัฐธรรมนูญ เพราะเชื่อว่าการแก้ปัญหาปฏิรูปและปรองดองอาจต้องใช้เวลาประมาณ 5-10 ปี

อย่างไรก็ตาม นายเจษฎ์ยอมรับว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ออกแบบโดยกรรมาธิการฯ นั้นยังไม่ครอบคลุมที่จะปิดช่องโหว่ทั้งหมด จึงอยากให้สังคมช่วยกันคิดเพื่อให้เป็นรัฐธรรมนูญของคนไทย เช่น ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่ากลไกใหม่ที่เกิดขึ้นในภาค 4 มีอำนาจที่จะกำหนดยุทธศาสตร์การบริหาร และการตรากฎหมายที่จำเป็นได้ ยังไม่มีกลไกตรวจสอบคนที่จะมาทำหน้าที่เหล่านี้ ก็เป็นเรื่องที่สามารถจะพิจารณาเพื่อให้เกิดความรอบคอบได้

ส่วนที่มาของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศที่กำหนดให้มี 120 คน มาจาก สปช.60 คน, สนช.30 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญการปฏิรูปด้านต่างๆ อีก 30 คน และกำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งอีก 15 คน ที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการสืบทอดอำนาจนั้น นายเจษฎ์กล่าวว่า ไม่ขอตอบในส่วนนี้ เพราะแม้ว่าจะเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้เห็นด้วยในทุกเรื่อง แต่คนที่จะตอบได้ทุกมาตรา คือ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าถามว่าจะมีอะไรเป็นหลักประกันว่าคนที่จะเข้ามาอยู่ในกลไกเหล่านี้จะเป็นคนดีจริงเพราะไม่มีระบบตรวจสอบ ก็คงบอกได้แค่ว่าหลักประกันคือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ทั้งนี้ นายเจษฎ์ยอมรับว่า มีความเป็นห่วงหลายประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญ เช่น บทบัญญัติในภาค 4 ทั้งภาค เรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ ระบบเลือกตั้ง กลไกองค์กรอิสระ รวมไปถึงการกำหนดโครงสร้างใหม่ในรัฐธรรมนูญ เพราะคนอาจไม่เข้าใจหรืออาจใช้งานไม่ได้ หรือไม่สามารถจัดวางให้เหมาะสมกับสังคมไทยได้จริง แต่ไม่ขอพูดในรายละเอียดเนื่องจากจะเป็นการเสียมารยาทการทำงาน อย่างไรก็ตามไม่ห่วงว่าต่างชาติจะใช้เหตุผลว่ารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตยโดยอ้างว่ามีสภาพรัฐซ้อนรัฐเข้ามาแทรกแซงประเทศเพราะเป็นเรื่องไกลเกินไป สิ่งที่น่าห่วงมากกว่าคือคนไทยจะสร้างความขัดแย้ง แตกแยก จนทำลายรัฐธรรมนูญมากกว่า


กำลังโหลดความคิดเห็น