xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ พบทูต 20 ชาติ ชี้ไม่มีคาใจ-วางเนื้อหาหมวดปฏิรูป โยงสิทธิฯ นโยบาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“หมอชูชัย” แจง กมธ.ยกร่างฯ กำหนดเนื้อหาหมวดปฏิรูป เชื่อมโยง สิทธิเสรีภาพ และนโยบายที่รัฐต้องทำ แย้ม มีบทป้องกันรัฐเพิกเฉย พร้อมพบเอกอัครราชทูต 20 ประเทศ เผยไม่มีใครติงหรือติดใจ ร่างบทบัญญัติฯ ทูตอังกฤษ แจง 15 ก.พ.ร่วมสังเกตการณ์เวทีรับฟัง ปชช.ที่อุดรฯ



วันนี้ (13 ก.พ.) นพ.ชูชัย ศุภวงค์ รองประธานกรรมการธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะผู้รับผิดชอบหมวดปฏิรูป กล่าวถึงการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญหมวดปฏิรูปและการสร้างความปรองดองว่า ที่ประชุมวันนี้เป็นการพิจารณาความเห็นของคณะกรรมาธิการปฏิรูป สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทั้ง 18 คณะที่ได้มีความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปประเทศ ความเห็นที่เสนอเข้ามานั้นแต่ละคณะมีมากถึง 40 ประเด็น ทำให้ไม่สามารถกำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด จึงมีมติให้แต่ละคณะกลับไปพิจารณาใหม่อีกครั้ง โดยขอให้แต่ละคณะเสนอมาไม่เกินคณะละ 3 มาตรา ซึ่งแนวทางในการยกร่างฯ กำหนดให้มีหลักการที่เชื่อมโยงกับหมวดสิทธิและเสรีภาพพลเมือง กับหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ โดยหมวดปฏิรูปในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเข้มข้น กำหนดให้รัฐบาลต้องปฏิบัติตาม หากไม่ดำเนินการหรือเพิกเฉยก็จะกำหนดมาตราการบังคับไว้หรือบทลงโทษเพื่อป้องกันรัฐบาลเพิกเฉย อย่างไรก็ตามเพื่อให้รัฐธรรมนูญสั้นกระชับตั้งใจว่าจะกำหนดให้หมวดปฏิรูปมีไม่เกิน 27 มาตรา

นพ.ชูชัยกล่าวต่อว่า เพื่อให้การปฏิรูปสามารถเดินหน้าต่อไป ทางคณะกรรมาธิการอาจจะกำหนดให้มีกลไกขึ้นมารองรับหรือองค์กรขึ้นมาทำหน้าที่สานต่อการปฏิรูป ต่อจาก สปช. ทั้งนี้ยังไม่มีการกำหนดรูปแบบว่ากลไกจะเป็นรูปแบบใด เนื่องจากจำเป็นต้องมีการหารือเพื่อตกผลึก เบื้องต้นคงไม่ใช่ สปช.ชุดเดิมอย่างแน่นอน ส่วนการทำหน้าที่ขององค์กรปฏิรูปมองว่าต้องทำแยกจากการสร้างความปรองดองเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นและลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนได้ นอกจากนี้ส่วนตัวมองว่าเพื่อให้การปฏิรูปบรรลุผลสำเร็จได้ด้วยดี จำเป็นต้องมีการทำประชามติ

ขณะที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาวางกรอบแนวทางการยกร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ในภาคที่ 4 ว่าด้วยการปฏิรูปและการปรองดอง ทั้งนี้ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายบวรศักดิ์ได้แจ้งให้สมาชิกในที่ประชุมรับทราบว่า ทาง กมธ.ยกร่างฯ ได้รับเชิญให้ร่วมรับประทานอาหารกับเอกอัคราชทูตประจำประเทศไทยกว่า 20 ประเทศ โดยทางกมธ.ยกร่างฯได้นำเอกสาร คำแปลร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับภาษาอังกฤษที่ผ่านการพิจารณาในภาคที่ 1 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์และประชาชน และผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิประชาชน แจกให้กับทางตัวแทนเอกอัคราชทูตที่รับประทานอาหาร โดยแต่ละประเทศมีการสอบถามแต่ไม่ได้ติดใจเพราะทางประเทศฝรั่งเศส สเปนได้ควบรวมทั้งสองหน่วยงานเป็นองค์กรเดียวกัน นอกจากนี้ทางเอกอัครราชทูต ยังได้สอบถามถึงความคืบหน้าการยกร่างรัฐธรรมนูญและให้ความสนใจประเด็นการเลือกตั้งเป็นพิเศษ ว่าจะมีรูปแบบอย่างไร ขณะเดียวกัน นายมาร์ก เคนต์ เอกอัครราชทูตอังกฤษได้แจ้งว่าวันที่ 15 กุมภาพันธ์จะเดินทางไปร่วมสังเกตการณ์ที่เวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน จ.อุดรธานีด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น