xs
xsm
sm
md
lg

เลื่อนเลือกตั้งปลายปีหน้า “พบกันครึ่งทาง” ประโยชน์วิน-วิน!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

หลายคนอาจไม่เชื่อสายตา หรือไม่เชื่อว่าผลการหารือกันระหว่างตัวแทนของพรรคการเมือง ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ รวมไปถึงตัวแทนของกลุ่มคนเสื้อแดง หรือ นปช. โดยมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นเจ้าภาพเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จะออกมาแบบชื่นมื่น ถ้อยทีถ้อยอาศัย แบบแปลกประหลาด จนหลายคนคาดไม่ถึง การโอภาปราศรัยบนโต๊ะต่างออกมาในแบบยิ้มแย้ม อีกทั้งผลสรุปยังออกมาในทิศทางเดียวกัน เห็นพ้องต้องกันแบบเหลือเชื่อ แบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อนก็ว่าได้

นั่นคือ ผลการหารือที่มีการเห็นพ้องต้องกันว่า ไม่คัดค้านหากต้องมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป เพื่อแลกกับการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย เป็นที่ยอมรับของสังคม ใครที่ได้ยินรับรองว่า “แทบน้ำตาไหล” ด้วยความตื้นตันเป็นอย่างยิ่ง เพราะนี่คือการเสียสละของบรรดานักการเมือง และกลุ่มการเมือง ที่เหมือนกับการ “หลุดพ้น” แทบจะเรียกได้ว่าไม่เคยเห็นท่าทีแบบนี้มาก่อน

ภาพที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั่งร่วมโต๊ะโอภาปราศรัยกับตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช.พูดคุยกันแบบไม่ขัดคอ มีความเห็นในประเด็นรัฐธรรมนูญสอดคล้องกันทุกเรื่อง มันช่างเป็นภาพที่น่าจะสร้างความสุขให้กับสังคมได้อย่างดี เพราะนี่คือ ภาพแห่งความปรองดองสามัคคี ตามที่ต้องการไม่ใช่หรือ

อย่างไรก็ดี เมื่อมาพิจารณาถึงข้อสรุปในวันนั้นที่ฝ่ายการเมืองแสดงท่าทีในเรื่องของการเลื่อนเวลาการเลือกตั้งออกไปก่อน เพื่อมีเวลาในการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พวกเขาอ้างว่า อยากให้เป็นประชาธปไตย และที่สำคัญก็คือ มีท่าทีต้องการให้มีการ “ลงประชามติ” ก่อนบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

หากฟังดูแล้วมันก็น่าจะโอเค ไม่น่าจะขัดข้องอะไร ตรงกันข้าม น่าจะเป็นเรื่องดีเสียอีกที่หากรอไปอีกนิดนึง แต่ผลที่ได้แลกกับการยอมรับของทุกฝ่ายมันก็น่าจะคุ้มสุดคุ้ม อย่างไรก็ดี ทุกอย่างมันย่อมมีเบื้องหลัง ทุกอย่างอาจไม่ใช่อย่างที่ตาเห็นก็ได้ ซึ่งต้องมีการประเมินที่มาที่ไปกันก่อน

ก่อนอื่นต้องทบทวนความจำกันอีกทีว่า หากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จสิ้นตามโรดแมปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำหนดเอาไว้ก่อนหน้านี้จะเสร็จในกลางปีนี้ และเวลาที่เหลือ ก็จะมีการออกกฎหมายลูกที่จำเป็น จากนั้นในราวปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ก็จะมีการเลือกตั้งทั่วไป นี่ว่ากันตามกำหนด ยังไม่พูดถึงเรื่องการทำประชามติ เพราะหากมีการลงประชามติ เวลาก็ต้องทอดยาวออกไปอีก

นั่นคือต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เพื่อกำหนดให้มีการลงประชามติเสียก่อน ซึ่งก่อนหน้านี้กูรูด้านกฎหมาย อย่างรองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ก็ระบุแล้ว่าจะทำให้การเลือกตั้งช้าออกไปถึงกลางปีหน้า หรือปลายปีหน้า นั่นคือ 2559

ถามว่านักการเมือง พรรคการเมืองไม่อยากให้มีการเลือกตั้งเร็วๆ หรือ คำตอบก็คือ อยากให้เลือกตั้งเร็ว ยิ่งเร็วยิ่งดี โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย เพราะยังเชื่อมั่นว่า เลือกตั้งเมื่อไหร่ก็มีโอกาสชนะกลับมามีอำนาจได้อีก

แต่ในความเป็นจริงก็คือ เวลานี้ไม่มีพรรคการเมืองใหนพร้อม แม้แต่พรรคเพื่อไทย เพราะเวลานี้ยัง “หาผู้นำ” หรือ “หุ่นเชิด” รายใหม่ไม่ได้ หรือหากจะดัน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงไปในสภาพแบบนี้ มันก็เสี่ยงเกินไป อย่าลืมว่าเวลานี้ขาของเธอแหย่เข้าไปในคุก “ค่อนตัว” เข้าไปแล้ว จากคดีใช้อำนาจโดยมิชอบ สร้างความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว คดียังอยู่ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และที่สำคัญ เธอถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี ส่อถูกห้ามลงสนามการเมืองตลอดชีวิต นี่คือปัญหาทางตรง

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ แน่นอนว่าตามโพลก่อนหน้านี้ ทั้งหัวหน้าพรรค อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรค อาจได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น แต่คำถามก็คือ มันไม่ใช่เพิ่มขึ้นแบบฟีเวอร์ และขณะเดียวกันยังต้องรอ “ติ้ว” จาก “หลวงลุง” พระสุเทพ ปภากโร เสียก่อน ว่าจะไฟเขียวเต็มร้อยหรือไม่ ส่วนพรรคการเมืองอื่นไม่ต้องพูดถึง แทบจะไม่มีความหมาย

ขณะที่ฝ่ายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และผู้นำคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เวลานี้กำลังมีเสียงบ่นเรื่องภารกิจปฏิรูปหลายอย่างยังไม่เสร็จตามเป้าหมาย หลายเรื่องเริ่มสะดุด เพราะพบปัญหาหมักมหมมากกว่าที่คิด ขณะเดียวกัน เรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องยังมีปัญหายังแก้ปัญหาไม่ได้ดังใจ ติดโน่นติดนี่ไปหมด ยิ่งเวลากระชั้นเข้ามาก็ยิ่งรวน แต่ขณะเดียวกัน จะล้มเหลวแบบ “เสียของ” ไม่ได้เป็นอันขาด ดังนั้น หากทอดเวลาออกไปจนถึงปลายปีหน้า มันก็พอมีเวลาหายใจหายคอได้อีกพักใหญ่

นี่แหละถึงได้บอกว่า เมื่อทุกฝ่ายยังไม่พร้อม ผลสรุปถึงต้องออกมาให้เลื่อนเลือกตั้งออกไป อย่างน้อยไปจนถึงปลายปีหน้า หรืออาจนานกว่านั้น แต่มันก็วิน-วิน!!
กำลังโหลดความคิดเห็น