xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปรับเงื่อนไขนายกฯคนนอก เปิดเลือกตั้งส.ว.77จังหวัด ลดแรงกดดันรธน.ร่างแรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ออกมาบอกว่า ขณะนี้การยกร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ได้เสร็จดำเนินการเสร็จแล้ว เตรียมส่งให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในวันที่ 17 เม.ย.นี้ ซึ่งสปช.จะทำการอภิปราย เสนอข้อคิดเห็นในการปรับแก้ในช่วงวันที่ 20-26 เม.ย.

เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่มีการยกร่างกันมานั้น หลักใหญ่ก็เพื่อตอบโจทย์ การสร้างความปรองดอง ลดความเหลื่อมล้ำ และได้สรุปออกมาเป็นเจตนารมย์ 4 ข้อ คือ 1. สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ 2. ทำการเมืองให้ใสสะอาดและสมดุลย์ 3. หนุนสังคมให้เป็นธรรม และ 4.นำชาติสู่สันติสุข

เมื่อมีเป้าหมายเช่นนี้ เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ จึงค่อนไปทางยกเลิกระบบที่มีความเคยชินแบบเดิมๆ ไปสู่การปฏิรูปใหม่ จนทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่า ตั้งมาตรฐานไว้สูงเกินไป จนมีลักษณะ ”อุดมคติ” เกินไป โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมือง ที่กลุ่มนักการเมืองเห็นว่า คณะกรรมาธิการยกร่าง มีอคติกับนักการเมือง มองนักการเมืองเป็นคนชั่ว ที่ต้องขจัดให้พ้นเส้นทางอำนาจ

ประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักก็คือเรื่องที่รัฐธรรมนูญเปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ต้องเป็นส.ส. หรือเรียกกันว่า “นายกฯคนนอก” เพื่อเป็นช่องทางสืบทอดอำนาจของรัฐบาลทหาร และประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ที่ถูกมองว่าเป็น ”ส.ว.ลากตั้ง” เพราะไม่มีการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน

ที่สำคัญคือมี สปช.จำนวนไม่น้อยที่มีความเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกนี้ สุดโต่งเกินไป และเตรียมที่จะอภิปราย ชำแหละกันในที่ประชุม 20-26 เม.ย.นี้ เพื่อเสนอความเห็นให้ กรรมาธิการยกร่างฯกลับไปแก้ไข ขณะที่ เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ถึงกับประกาศ ยอมตาย ไม่ยอมให้มีรัฐธรรมนูญที่มีตำหนิออกไปบังคับใช้ ซึ่งหมายถึงการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ในชั้นลงมติของสปช. ยอมที่จะให้สถานภาพของสปช.สิ้นสุดลงไปพร้อมกับ กรรมาธิการยกร่างฯ

แรงกดดันที่ว่านี้ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ย่อมรับรู้ได้ ช่วงเวลานี้ จึงเป็นช่วงการปรับแก้เนื้อหาในบางเรื่องที่ถูกโจมตี เพื่อลดกระแส ก่อนที่จะส่งร่างที่สมบูรณ์ที่สุดในร่างแรก ให้สภาปฏิรูปฯในวันที่ 17 เม.ย.นี้ 

เรื่องแรกที่มีการปรับแก้คือ เรื่องที่มานายกรัฐมนตรี เดิมในมาตรา 172 วรรคสาม เขียนว่า “ มติของส.ส.ที่เห็นชอบในการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร” ได้มีการเพิ่มเติมถ้อยคำเข้าไปอีกว่า “ แต่ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมิได้เป็นส.ส. ต้องมีคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร”

นอกจากนี้ ยังได้เพิ่ม วรรคสี่ ว่า ส.ส.ซึ่งได้รับมติให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ตามวรรคสาม ให้พ้นจากตำแหน่ง ส.ส. ในวันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อที่จะมีความชัดเจนว่า ถ้าเป็น ส.ส. เมื่อมีการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต้องพ้นจาก ส.ส. ในกรณีเดียวกับคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ เพื่อแยกอำนาจฝ่ายบริหาร กับฝ่ายนิติบัญญัติ ให้ชัดเจน

เป็นการเพิ่มถ้อยคำให้ชัดว่า ถ้าโหวตนายกฯ ที่มาจากส.ส. ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภา แต่ถ้าในยามวิกฤติ ที่จะเป็นต้องมีนายกฯคนนอก ที่ไม่ได้เป็น ส.ส. ต้องใช้เสียงโหวตอย่างน้อย 2 ใน 3 ของสมาชิกสภาผู้แทนฯ โดยไม่ได้กำหนดคุณสมบัติของ”คนนอก”ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี และวาระการดำรงตำแหน่งเอาไว้

อีกเรื่องคือ ประเด็นที่มาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรรมาธิการยกร่างฯ ได้ปรับ มาตรา 121 ให้ ส.ว.ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่เกิน 200 คน โดยมาจาก 3 ส่วน คือ

1. จากการเลือกตั้ง 77 จังหวัด โดยให้เลือกตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ คุณธรรม ตามด้านต่างๆ ซึ่งได้รับการสรรหาจังหวัดละไม่เกิน 10 คน โดยจะมีกรรมการสรรหา ทั้งในกลุ่มที่สรรหาโดยตรงด้านต่างๆ จำนวน 58 คน และมีคณะกรรมการอีกคณะหนึ่ง มาสรรหาผู้สมัครใน 77 จังหวัด ให้เหลือจังหวัดละไม่เกิน 10 คน ตามช่องทางต่างๆ ที่จะมีการกำหนดเป็น 10 กลุ่ม ว่ามีอาชีพอะไรบ้าง จากนั้นก็จะให้ประชาชนเลือกตั้งโดยตรง ในวันเดียวกับที่มีการเลือกตั้งส.ส.ทั่วไป

2. มาจากการเลือกกันเอง ซึ่ง ประกอบด้วย (1) ผู้ที่เคยเป็นข้าราชการพลเรือน ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง หรือเทียบเท่าระดับผู้บริหาร ข้าราชการฝ่ายทหาร ซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการแต่ละเหล่าทัพ แต่ละประเภทคัดเลือกกันเอง ไม่เกิน 10 คน (2) ผู้แทนสภาวิชาชีพ องค์กรวิชาชีพ หรืออาชีพที่กฎหมายจัดตั้ง เลือกกันเองจำนวนไม่เกิน 15 คน และ (3) ผู้แทนองค์กรด้านเกษตรกรรม ด้านแรงงาน ด้านวิชาการ ด้านชุมชน และด้านท้องถิ่น เลือกกันเองจำนวนไม่เกิน 30 คน รวมทั้งสิ้น 65 คน

3. มาจากการสรรหา จำนวน 58 คน โดยคณะกรรมการสรรหา ซึ่ง ส.ว.กลุ่มนี้ ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ และคุณธรรมด้านต่างๆ เช่น การเมือง ความมั่นคง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม การปกครองท้องถิ่น การศึกษา เศรษฐกิจ ฯลฯ

ส่วนวาระ ส.ว. กำหนดไว้ 6 ปี แต่เพื่อให้มีความต่อเนื่อง มีการกำหนดให้ ส.ว.ครึ่งหนึ่ง พ้นจากตำแหน่ง เมื่อครบ 3 ปี แต่ให้สิทธิเข้ารับการสรรหา หรือเลือกกันเองได้อีก เป็นการสลับกันออกกับ ส.ว.เลือกตั้ง โดยผู้ที่จะออกใน 3 ปีแรก เป็นกลุ่มที่ 2 ที่มาจากการเลือกกันเอง จำนวน 65 คน และ จับฉลากออกอีก 35 คน ก็จะเท่ากับ 100 คน ส่วนคณะกรรมการสรรหา จะประกอบไปด้วยผู้ใดบ้าง จะมีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยจะมีการพิจารณากันอีกครั้ง

ทั้งนี้ ขบวนการสรรหา ส.ว. ต้องได้มาภายใน 150 วัน หลังจากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และที่มาของ ส.ว. บังคับใช้ โดยส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งจะต้องได้มาพร้อมกับ ส.ส. คือไม่เกิน 90 วัน ส่วนส.ว.สรรหา จะใช้เวลา 90 วัน เพราะต้องการให้มีการเลือกตั้ง ส.ว.ก่อน เพื่อให้เกิดความหลากหลาย ตามเจตนารมณ์ที่จะให้เป็น สภาพหุนิยม และเชื่อว่าการแบ่งส.ว. ออกเป็น 3 กลุ่มนี้ จะทำให้ได้ส.ว.ที่มีองค์ประกอบเหมาะสม และยึดโยงกับประชาชน

นอกจากนี้ ในร่างรัฐธรรมนูญ ยังได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในเรื่องสัดส่วนของสตรีที่จะเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ที่ก่อนหน้านี้มีการเสนอว่า ต้องมีไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ซึ่งเรื่องนี้ ที่ประชุมกรรมาธิการยกร่าง ได้ใช้วิธีโหวตลับ และได้ข้อยุติว่า ให้กำหนดสัดส่วนสตรี หรือเพศตรงข้าม ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ในบัญชีรายชื่อระดับประเทศ

ดังนั้น ในการเลือกตั้งส.ส.ต่อจากนี้ พรรคการเมืองต่างๆ จะต้องส่งสตรี ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยจะต้องจัดสัดส่วนสตรีให้มี 1 ใน 3 ครบทั้ง 6 บัญชี ใน 6 ภูมิภาค มิเช่นนั้น พรรคการเมืองนั้น จะไม่สามารถส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้

ส่วนการกำหนดสัดส่วนสตรี ในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ที่ประชุมมีมติไม่เห็นด้วยกับการกำหนดว่าต้องมีสัดส่วน 1 ใน 3 เนื่องจากเห็นว่า ในทางปฏิบัติ อาจไม่มีผู้หญิงเข้าไปสมัครในระดับท้องถิ่นเพียงพอ จึงไม่บังคับไว้ 
 
อีกประเด็นที่มีการพูดถึงกันมาก คือ เรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่แต่เดิมระบุว่า ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล หากนายกรัฐมนตรี หรือรัฐบาลแพ้โหวต สภาผู้แทนราษฎร จะต้องสิ้นสภาพไปพร้อมกับนายกรัฐมนตรี โดยกรรมาธิการยกร่างฯ ได้แก้ไขว่า หากสภา ไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี สภาจะยังคงสถานะอยู่เช่นเดิม และให้บุคคลที่ฝ่ายค้านเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีแนบท้ายญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นนายกรัฐมนตรีแทน ซึ่งก็เป็นรูปแบบเดียวกับรัฐธรรมนูญ ปี 50

ในเรื่องคุณสมบัติของรัฐมนตรี ได้กำหนดให้บุคคลที่จะมาเป็นรัฐมนตรี จะต้องไม่เคยถูกลงโทษจำคุก เว้นแต่เป็นความผิดที่กระทำโดยความประมาท ความผิดลหุโทษ และหมิ่นประมาท โดยจะต้องพ้นโทษมาแล้วเป็นเวลา 5 ปี ก่อนได้รับการแต่งตั้ง และมีการปรับแก้ถ้อยคำ เรื่องการกำหนดหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ในบางส่วน โดยไม่ได้กำหนดให้การเข้าร่วมประชุมสภาฯ วุฒิสภา และ รัฐสภา ของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี เป็นหน้าที่ และเป็นภารกิจสำคัญเหนือภารกิจอื่น จากเดิมที่ กมธ.ยกร่างฯ ได้กำหนดให้เป็น หน้าที่ และภารกิจสำคัญเหนือภารกิจอื่นใด ของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี เนื่องจากเห็นว่า หากกำหนดสภาพบังคับดังกล่าว อาจมีผลต่อการทำงานของรัฐบาล

ประเด็นเหล่านี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการปรับแก้ จากมาตรฐานที่ตั้งไว้สูง เพื่อการต่อรอง และลดแรงกดดันจากการอภิปรายของสปช.ที่กำลังจะมาถึง หลังจากนั้นก็จะส่งไปให้ คณะรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พิจารณา เสนอความเห็น แล้วธรรมาธิการยกร่าง จะนำกลับมาหาข้อยุติ สรุปเป็น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับจริง เพื่อขอมติจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ 

ในขั้นสุดท้าย ก่อนที่จะมีการปะกาศใช้ ก็ต้องวัดใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ว่าจะเปิดให้มีการทำประชามติหรือไม่



กำลังโหลดความคิดเห็น