xs
xsm
sm
md
lg

ร่างสุดท้ายรัฐธรรมนูญ ส.ว.คัดแล้วคัดอีกก่อนเลือกตั้ง 77 จังหวัด - เปิดช่อง “นายกฯ คนนอก” เผื่อฉุกเฉิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช (ภาพจากแฟ้ม)
กมธ. ยกร่างฯ เคาะที่มา ส.ว. 3 ทาง ยอมให้มาจากการเลือกตั้ง 77 จังหวัด แต่ยังต้องผ่านความเห็นชอบ กก. สรรหา ระบุเพื่อความมั่นใจได้องค์ประกอบเหมาะสม ยึดโยงประชาชน พร้อมเปิดช่อง “นายกฯ คนนอก” แต่ต้องใช้เสียงสภา 2 ใน 3 ระบุเผื่อมีเหตุเหมือนรัฐประหารรอบที่แล้ว

วันนี้ (1 เม.ย.) พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงผลการประชุมว่า เป็นการพิจารณาปรับปรุงร่างครั้งสุดท้ายก่อนจัดส่งให้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในวันที่ 17 เม.ย. โดยกรรมาธิการมีมติปรับแก้ 2 เรื่องหลัก คือ ที่มานายกรัฐมนตรีในมาตรา 172 วรรคสาม เดิมเขียนว่ามติของ ส.ส. ที่เห็นชอบในการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกฯ ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร มีการเติมเข้าไปอีกว่า “แต่ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมิได้เป็น ส.ส. ต้องมีคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร” เพื่อแยกระหว่างกรณีที่ ส.ส. คิดว่าถ้าจำเป็นต้องมีนายกฯ ที่ไม่ได้มาจาก ส.ส. ต้องใช้เสียงมากกว่าปกติ นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มวรรคสี่ว่า ส.ส. ซึ่งได้รับมติให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งให้เป็นนายกฯ ตามวรรคสาม ให้พ้นจากตำแหน่ง ส.ส. ในวันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้เป็นนายกฯ เพื่อที่จะมีความชัดเจนว่าถ้าเป็น ส.ส. เมื่อมีการโปรดเกล้าให้เป็นนายกฯ ก็ต้องพ้นจาก ส.ส. ในกรณีเดียวกับคระรัฐมนตรีทั้งคณะเพื่อแยกอำนาจฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติให้ชัดเจน

ส่วนประเด็นที่มาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรรมาธิการยกร่างฯ ได้ปรับมาตรา 121 ให้ ส.ว. ประกอบด้วย สมาชิกจำนวนไม่เกิน 200 คน โดยมาจาก 3 ส่วน คือ 1. จากการเลือกตั้ง 77 จังหวัด โดยให้เลือกตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิคุณธรรมตามด้านต่างๆ ซึ่งได้รับการสรรหาจังหวัดละไม่เกิน 10 คน โดยจะมีกรรมการสรรหาทั้งในกลุ่มที่สรรหาโดยตรงด้านต่างๆ จำนวน 58 คน และมีคณะกรรมการอีกคณะหนึ่งมาสรรหาผู้สมัครใน 77 จังหวัดให้เหลือจังหวัดละไม่เกิน 10 คนตามช่องทางต่างๆ ที่จะมีการกำหนดเป็น 10 กลุ่มว่ามีอาชีพอะไรบ้าง จากนั้นก็จะให้ประชาชนเลือกตั้งโดยตรงวันเดียวกับที่มีการเลือกตั้ง ส.ส. ทั่วไป

2. มาจากการเลือกกันเอง ซึ่งประกอบด้วย 1. ผู้ที่เคยเป็นข้าราชการพลเรือน ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง หรือเทียบเท่าระดับผู้บริหาร ข้าราชการฝ่ายทหาร ซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการแต่ละเหล่าทัพ แต่ละประเภทคัดเลือกกันเองไม่เกิน 10 คน 2. ผู้แทนสภาวิชาชีพ องค์กรวิชาชีพ หรืออาชีพที่กฎหมายจัดตั้ง เลือกกันเองจำนวนไม่เกิน 15 คน และ 3. ผู้แทนองค์กรด้านเกษตรกรรม ด้านแรงงาน ด้านวิชาการ ด้านชุมชนและด้านท้องถิ่น เลือกกันเองจำนวนไม่เกิน 30 คน รวมทั้งสิ้น 65 คน และ 3. มาจากการสรรหา จำนวน 58 คน โดยคณะกรรมการ ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรมด้านต่างๆ เช่น การเมือง ความมั่นคง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม การปกครองท้องถิ่น การศึกษา เศรษฐกิจ ฯลฯ

ส่วนวาระ ส.ว. กำหนดไว้ 6 ปี แต่เพื่อให้มีความต่อเนื่อง มีการกำหนดให้ ส.ว. ครึ่งหนึ่งพ้นจากตำแหน่งเมื่อครบ 3 ปี แต่ให้สิทธิเข้ารับการสรรหาหรือเลือกกันเองได้อีก เป็นการสลับกันออกกับ ส.ว. เลือกตั้ง โดยผู้ที่จะออกใน 3 ปีแรก ประกอบด้วย 3 กลุ่มที่เลือกกันเองจำนวน 65 คน และจับฉลากออกจำนวน 35 คน ซึ่งเท่ากับ 100 คน ส่วนคณะกรรมการสรรหาจะประกอบไปด้วยผู้ใดบ้าง จะมีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญโดยจะมีการพิจารณาในสัปดาห์หน้า

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ขบวนการสรรหา ส.ว. ต้องได้มาภายใน 150 วัน หลังจากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. บังคับใช้ โดย ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งจะต้องได้มาพร้อมกับ ส.ส. คือ ไม่เกิน 90 วัน ส่วน ส.ว. สรรหาจะใช้เวลา 90 วัน เพราะต้องการให้มีการเลือกตั้ง ส.ว. ก่อนเพื่อให้เกิดความหลากหลายตามเจตนารมณ์ที่จะให้เป็นสภาพหุนิยม ตนเชื่อว่าการแบ่ง ส.ว. เป็น 3 กลุ่มนี้จะทำให้ได้ ส.ว. ที่มีองค์ประกอบเหมาะสมยึดโยงกับประชาชน

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการกำหนดหรือไม่ว่าการเลือกตั้ง ส.ว. จะต้องได้คะแนนเสียงชนะการโหวตโน พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ไม่ได้มีการกำหนดไว้ เพราะคงไม่มีใครไปโหวตโน ส.ว. เหมือน ส.ส. เพราะ ส.ว. มีผู้สมัครจำนวนมาก และไม่มีฐานเสียง คะแนนอาจจะกระจาย อันดับหนึ่งอาจจะได้ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งกระบวนการเลือกตั้งจะมอบให้คณะกรรมการเลือกตั้งเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ว. จะใกล้เคียงกัน ยกเว้นเรื่องภูมิลำเนา อายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี จบปริญญาตรี แต่ยกเว้นกลุ่มที่เลือกกันเองจากหมวดองค์กรด้านวิชาชีพ ที่จะไม่จำกัดวุฒิการศึกษา

เมื่อถามถึงคุณสมบัติของนายกฯ คนนอก พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ไม่ได้ระบุชัด อย่าลืมว่าการจะเป็นนายกฯ ได้ต้องเข้าสภา มีการโหวตโดยตรงอย่างเปิดเผย และต้องนำชื่อขึ้นทูลเกล้า ไม่ใช่ว่าใครจะมาเป็นได้ง่ายๆ และไม่ได้จำกัดวาระสำหรับนายกฯ คนนอก

“ผมก็อยากรู้ว่าหาเสียงกันแทบตายแล้วสุดท้ายมาเลือกนายกฯ คนนอก มันไม่เกิดขึ้นหรอก แต่ที่เปิดทางไว้เพราะเผื่อมีเหตุเหมือนวันที่ 22 พ.ค. อีกครั้ง ย้อนกลับไปวันนั้นท่านประยุทธ์ (จันทร์โอชา) อาจจะไม่ต้องปฏิวัติอีก เพราะถ้าเขายอมลาออกท่านก็เป็นนายกฯ ได้ เพราะไม่ต้องเป็น ส.ส. เราเขียนเอาไว้ในกรณีวิกฤตสภาที่ไม่มีคนอื่นมาเป็นเท่านั้น แต่มันเขียนไม่ได้ในรัฐธรรมนูญ” พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น