กมธ.ยกร่างฯ เดินสายต่างจังหวัด ฟังความเห็นร่าง รธน. “คำนูณ” ติงคนวิจารณ์ที่ใช้คำรุนแรงกล่าวหาสร้างเผด็จการรัฐสภาอย่างถูกต้องตาม รธน. และเป็นระเบิดเวลา บอกควรให้เกียรติ กมธ.บ้าง ยันทุกเนื้อหากลั่นกรองจากสมองเพื่อแก้ปัญหาชาติ เป็นเครื่องมือดับชนวนระเบิดเวลาที่ค้างมาตั้งแต่ปี 2557 แนะพรรคการเมืองเสนอความเห็นมายัง กมธ.ยกร่างฯ ได้
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ในวันนี้ (28 เม.ย.) เวลา 13.30 น. กรรมาธิการฯจะมีการประชุมเพื่อประมวลความเห็นและข้อเสนอแนะจากการอภิปรายของสมาชิกสภาปฏิรูแห่งชาติ (สปช.) ตลอด 7 วันที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ก็เป็นการท้วงติงเกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง ความสัมพันธ์กับข้าราชการ โดยยืนยันว่ากรรมาธิการฯไม่มีธงว่าจะไม่มีการแก้ไขปรับปรุงหรือเปิดช่องรับฟังความเห็นเพียงแค่เป็นพิธีกรรมเท่านั้น แต่มีเจตนาดีที่จะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพื่อแก้ปัญหาบ้านเมืองอย่างยั่งยืนจริงๆ
“ที่มีการวิจารณ์ด้วยถ้อยคำรุนแรงในขณะนี้ เช่น มีการผสมผสานระบบคอมมิวนิสต์ หรือสร้างเผด็จการรัฐสภาอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญนั้น กรรมาธิการฯ ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ทุกเนื้อหาที่เขียนขึ้นกลั่นกรองจากมันสมองของกรรมาธิการฯที่พิจารณาจากพื้นฐานปัญหาของชาติ และขอให้เกียรติกรรมาธิการฯ ทั้ง 36 คนด้วยว่า เข้ามาทำหน้าที่เพื่อแก้ปัญหาประเทศ เราร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นเครื่องมือในการดับชนวนระเบิดเวลาที่ค้างอยู่ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 ก่อนการรัฐประหาร ไม่ใช่ว่ารัฐธรรมนูญนี้เป็นระเบิดเวลาของประเทศไทย”
โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญระบุด้วยว่า ความเคลื่อนไหวของกรรมาธิการฯ ต่อจากนี้คงจะประชุมน้อยลงแต่เน้นการลงพื้นที่มากขึ้น โดยมีการเริ่มเวทีรับฟังความเห็นครั้งแรกที่จังหวัดนครสวรรค์ไปแล้ว และในวันนี้จะเป็นเวทีที่ จ.สงขลา ซึ่งกรรมาธิการฯ หลายคนรวมทั้งตนจะเดินทางไปชี้แจงเกี่ยวกับสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนรับทราบ ทั้งนี้ จากการรับฟังความเห็นในเวทีแรกถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีและพบว่าประชาชนมีความเข้าใจในสาระของร่างรัฐธรรมนูญมากพอสมควร
สำหรับความคืบหน้าเกี่ยวกับการแปรญัตติเพื่อขอแก้ไขนั้น นายคำนูณเชื่อว่าภายในเดือนมิถุนายนน่าจะเริ่มเห็นภาพว่าเรื่องใดถูกแปรญัตติมากที่สุดด้วยเหตุผลอะไร โดยกรรมาธิการฯ จะนำมาพิจารณาทบทวนหากมีเหตุผลและน้ำหนักมากพอก็อาจมีการปรับแก้ได้ แต่ขณะนี้กรรมาธิการฯ จะเน้นการลงพื้นที่ในต่างจังหวัดตามแผนสร้างเวทีรับฟังความเห็น 12 เวทีเป็นหลักก่อน ส่วนนักการเมืองที่ไม่เห็นด้วยก็สามารถเสนอความเห็นมายังกรรมาธิการฯ ได้ เพราะมีการส่งร่างรัฐธรรมนูญไปให้ทุกพรรคการเมืองแล้ว