xs
xsm
sm
md
lg

จี้ตัด 3 มาตรา"ยุบกำนัน-ผญบ.ตั้งอปท." อ้างกระทบพระราชอำนาจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (11พ.ค.) นายยงยศ แก้วเขียว นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยตัวแทนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประมาณ 30คน ได้ยื่นหนังสือต่อ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) และนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เพื่อขอให้ยกเลิกมาตรา 82 (3) มาตรา 284(5) และมาตรา 285 เพราะจะเป็นการกระทบพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์อย่างมิบังควร ในการแต่งตั้งข้าหลวงประจำจังหวัด หรือ ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นข้าราชการแผ่นดิน และทำหน้าที่ดูแลประชาชนแทนพระเนตรพระกรรณ อีกทั้งยังไม่อาจแก้ปัญหาประเทศชาติและประชาชนได้เลย มีแต่จะก่อให้เกิดความวุ่นวาย ไร้ความเป็นธรรม เกิดการทุจริตภาษีประชาชนทุกหย่อมหญ้า ไร้การควบคุมตรวจสอบถ่วงดุล บ้านเมืองเสียหายใหญ่หลวง เนื่องจากเกิดการเล่นพรรคพวก ผลประโยชน์เพื่อเข้าสู่อำนาจผู้บริการอปท. ระดับจังหวัด และระดับภาค ซึ่งจะมาจากการเลือกตั้งเกิดการแย่งภาษีงบประมาณแผ่นดิน ทรัพยากรชาติ แย่งชิงประชาชน รวมทั้งแย่งชิงดินแดน ซึ่งทั้ง 3 มาตรา ดังกล่าว จะทำให้ไม่มีข้าราชการส่วนภูมิภาค และข้าราชการส่วนปกครอง ซึ่งรวมไปถึงกำนันผู้ใหญ่บ้าน ที่เป็นรากฐานของแผ่นดินและประชาชนโดยแท้จริง
" ขอให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยกเลิกทั้ง 3 มาตรา ดังกล่าว โดยเพื่อความสงบสุขของประชาชนทั้งประเทศ เพราะอาจมีวาระซ่อนเร้น ให้นักการเมืองท้องถิ่น หรือผู้ไม่หวังดีต่อชาติบ้านเมือง เข้ามามีอำนาจเบ็ดเสร็จ โดยขอให้คงไว้ซึ่งราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ทั้งในระดับ จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน และราชการส่วนท้องถิ่นเอาไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลกันอย่างยั่งยืนและเหมาะสมกับสังคมไทย หากจะปฏิรูปท้องถิ่น ก็ควรจะปรับปรุงรูปแบบให้สอดคล้องกัน" นายยงยศ กล่าว

** สปช.ขอถล่มกมธ.ยกร่างฯก่อนโหวต

นายวันชัย สอนศิริ โฆษกวิปสปช. กล่าวถึงกรณีพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ออกมาย้ำว่า ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ตอบโจทย์ปัญหาประเทศ แก้เรื่องซื้อสิทธิขายเสียงได้ว่า กมธ.ยกร่างฯ ต้องทำใจให้นิ่ง อย่ามั่นใจนักว่าดีที่สุด อย่าไปเที่ยวยืนยันว่าอย่างไรก็จะไม่แก้ เพราะรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดประเทศไทยยังไม่เคยมี ต้องแก้ไขกันมาทุกยุคทุกสมัย อย่าไปเที่ยวตำหนิหรือปฏิเสธข้อเสนอคนอื่น รอว่าข้อแก้ไขของสมาชิกสปช.และองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญกำหนด เสนอความเห็นมาเสียก่อน เมื่อถกแถลงกันแล้ว อาจจะมีเหตุผลดีกว่า ข้อเสนอของท่านอาจจะถูกตีตกไปก็ได้
นายวันชัย กล่าวด้วยว่า ห้วงเวลา 15 วัน ก่อนถึง 6 ส.ค. ที่สปช.จะลงมติโหวตรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสปช. ส่วนใหญ่อยากให้อภิปรายร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้ง นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. บอกยังไม่ถึงเวลาตัดสินใจ คือไม่ตอบรับ หรือปฏิเสธ จึงเชื่อว่าเป็นไปได้ ที่จะมีการอภิปรายรอบ 2 ดีกว่าไปให้ สปช. ลงมติไปโดยยังไม่เข้าใจเหตุผล กมธ.ยกร่างฯ อาจมีสิทธิที่รัฐธรรมนูญจะถูกคว่ำได้ เรื่องนี้ มีแต่ได้กับได้ เอื้อซึ่งกันและกัน เพราะคนที่จะโหวตรัฐธรรมนูญให้ผ่าน หรือไม่ผ่าน คือสปช.ไม่ใช่ครม. หรือ คสช. จึงต้องทำความเข้าใจกับสมาชิกเป็นหนึ่งเดียวให้ได้ กมธ.ยกร่างฯ อย่าไปดื้อดึง แข็งขืน
นายวันชัย ยังกล่าวถึงข้อเสนอ ให้ใช้รัฐธรรมนูญไปก่อนแล้วประชามติทีหลังว่า ควรอย่างยิ่งที่ทำประชามติเสียก่อนใช้รัฐธรรมนูญ เพื่อจะได้รับการยอมรับ แสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้มาจากผลไม้พิษ หรือเผด็จการตามที่ถูกกล่าวหา ถ้าใช้ไปแล้วมาทำประชามติ ยิ่งสับสนอลหม่าน ไร้เหตุผลด้วยประการทั้งปวง
"เท่าที่พูดคุยกัน สปช. ส่วนใหญ่เชื่อว่า กมธ.ยกร่างฯ จะยอมถอย ปรับแก้รัฐธรรมนูญที่ถูกวิจารณ์ในหลายประเด็นแน่นอน อาทิ 1. สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ที่ให้ สนช. กับสปช. เข้าไปดำรงตำแหน่ง จะเป็นแผลเป็น สมาชิกเกรงข้อครหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน 2. คณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ ที่ประกอบด้วยคณะกรรมการ 15 คน เสนอเรื่องอภัยโทษได้ จะต้องเขียนให้ชัดเจนกว่านี้ หรือไม่ก็ตัดทิ้ง ถ้าคลุมเครือ จะเปิดช่องให้รัฐบาลชั่วเข้ามาใช้ประโยชน์ 3. มาตรา 181-182 ต้องแก้แน่ เพราะจะทำให้รัฐบาลเลว ใช้โอกาสปิดปากฝ่ายค้าน ทำระบบตรวจสอบจะล้มเหลว และ 4. องค์กรใหม่ที่เกิดขึ้น 11 องค์กร ต้องลดจำนวน ถูกหั่นให้เหลือเฉพาะองค์กรที่มีอำนาจถ่วงดุลอย่างแท้จริงเท่านั้น" นายวันชัย กล่าว
**วิปสนช.สรุป10 ประเด็นชำแหละร่างรธน.

นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่ 2 กล่าวถึงกรณีที่ สนช. จะนัดประชุมเพื่อให้สมาชิกได้อภิปราย และแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ได้มีการหารือกันของสมาชิกสนช.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เห็นว่า ความเห็นของ สนช. น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของกมธ.ยกร่างฯ ในช่วงสุดท้าย ทั้งนี้ อาจจะมีการบรรจุระเบียบวาระเพิ่มเติมในวันศุกร์ที่ 15 พ.ค.นี้ เพียงวันเดียว เพื่อให้สมาชิกได้แสดงความเห็นกันในที่ประชุมกัน แต่คงไม่ใช้เป็นการอภิปรายทั้งร่างเรียงลำดับทีละมาตรา เพราะเรามีเวลาจำกัด เนื่องจากสนช. มีระเบียบวาระที่ต้องประชุมพิจารณากฏหมายอื่นตามปกติด้วย
ดังนั้น จึงได้มีการกำหนดรูปแบบขึ้นมา โดยจะมีการแบ่งกลุ่มสรุปประเด็นสำคัญๆ จากเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ ที่สังคมให้ความสนใจ หรือมีข้อโต้แย้งขึ้นมาให้สมาชิก โดยเบี้องต้นจะมีการแบ่งประเด็นออกเป็น 10 กลุ่ม ให้สมาชิกอภิปรายทีละกลุ่ม เรียงลำดับความสำคัญ ส่วนแต่ละกลุ่มมีเรื่องใด หรือประเด็นใดบ้าง รวมถึงวิธีการโหวต หรือรูปแบบอื่นใดที่จะได้เป็นมติอันเป็นความเห็นของ สนช. เพื่อส่งต่อให้ยังคณะกรรมาธิการยกร่างฯ นั้น คงมีการนำเข้าไปหารือกันอีกครั้ง ในการประชุมวิป สนช. ในวันที่ 12 พ.ค.นี้ เวลา 13.30 น.

**ซัด"ดร.ปื๊ด"ไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจแทนปชช.

นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ อดีต ส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสเรียกร้องให้มีการทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อมีการปฏิวัติ รัฐประหาร และมีการเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ก็มีการทำประชามติ เพื่อขอความเห็นจากประชาชนทุกครั้ง เพราะการทำประชามติ คือการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ตัดสินใจ คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ชุดของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ทำหน้าที่เป็นประธานชุดนี้ ไม่มีสิทธิตัดสินใจแทนชาวบ้าน
นายวิสุทธิ์ กล่าวต่อว่า กรรมาธิการยกร่าง ชุดนี้รู้ดีว่า ประชาชนจะไม่ยอมรับ เพราะฉะนั้นยอมรับความจริงแล้วอย่าดื้อจะดีกว่า ตนไม่ได้พูดในฐานะนักการเมือง แต่สิ่งที่ตนพูด สะท้อนมาจากชาวบ้านที่ตนลงพื้นที่ไปพบปะ พูดคุยด้วย ว่าพวกเขาคิดอย่างไร ถึงแม้ว่าการทำประชามติอาจจะทำให้ต้องมีการมาร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ และอาจจะกระทบถึงระยะเวลาที่จะมีการเลือกตั้ง แต่ตนก็ยอมรับ เพราะตนไม่ได้อยากเข้าไปเป็นผู้แทนราษฎรในขณะที่ประเทศยังไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
" อะไรที่ฝืนความรู้สึก และละเมิดสิทธิของประชาชนก็ควรแก้ไข อย่ามองว่าคนไทยโง่เกินไป ประเทศนี้ไม่ใช่ของคณะใดคณะหนึ่ง เหตุการณ์จากนี้ไป จะเกิดม็อบหรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่สำหรับผม ผมจะไม่ยอมก้มหัวให้พวกที่สร้างอำนาจเพื่อบางกลุ่มบางพวกอย่างแน่นอน" นายวิสุทธิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น