xs
xsm
sm
md
lg

“จุรินทร์” สวน “บวรศักดิ์” ให้ฝืนใช้ รธน.มีปัญหา ทำชาติกลายเป็นหนูลองยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์  รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
รองหัวหน้า ปชป.ย้อนประธาน กมธ.ยกร่างฯ ให้ฝืนใช้ รธน.ไปก่อน ชี้ยอมรับได้ก็ไร้ปัญหา แต่หวั่นชาติกลายเป็น หนูลองยา เหตุมีเครื่องหมายคำถามเพียบ จี้ฟังคำท้วงแบบไร้อคติ ติงเพิ่มอำนาจ ปชช.แค่ผักชีโรยหน้า กลับให้อำนาจล้นฟ้าสารพัดองค์กรแทน แถมแตะต้องไม่ได้ ถูกครหาสืบทอดอำนาจ ฉะกำหนดให้แก้ยาก ยิ่งนำชาติเสี่ยง

วันนี้ (29 เม.ย.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แนะนำให้ใช้รัฐธรรมนูญไปก่อนอย่างน้อย 5 ปีแล้วค่อยแก้ไขว่า ตนเข้าใจกรรมาธิการร่างฯ เมื่อเขียนออกมาอย่างไรก็อยากให้เป็นไปตามนั้น และคงไม่ค่อยสบายใจถ้าจะมีใครออกมาวิจารณ์ แต่ขอให้ทำใจและเข้าใจ เพราะเราเขียนรัฐธรรมนูญไปบังคับใช้กับคนทุกกลุ่มทั้งประเทศ ในฐานะเจ้าของประเทศเขาจึงย่อมมีสิทธิ์แสดงออกซึ่งการเห็นด้วยไม่เห็นด้วย ยอมรับหรือไม่ยอมรับ

“ถ้ารัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับได้ก็อาจไม่มีปัญหา แต่หากรัฐธรรมนูญยังเป็นเช่นนี้ท่ามกลางเครื่องหมายคำถามมากมาย หากปล่อยให้ใช้ไปก่อนก็มีข้อห่วงใยว่าจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นหนูลองยา แล้ววันหนึ่งวงจรอุบาทว์ก็อาจจะย้อนกลับมาอีกและคนไทยทั้งประเทศก็จะต้องมารับชะตากรรมกับความเสียหายโดยไม่จำเป็น จึงอยากเห็นกรรมาธิการฯ ได้อดทนรับฟังข้อแนะนำทักท้วงจากฝ่ายต่างๆ ปราศจากอคติ ไม่ดูแคลนฝ่ายอื่นว่าไม่ยอมรับเพราะมีผลประโยชน์แอบแฝง เพราะหากใช้สมมุติฐานแบบนี้ก็จะสร้างความร้าวฉานมากกว่าปรองดองและไม่ช่วยให้เราได้รัฐธรรมนูญ ที่ดีสำหรับประเทศได้”

นายจุรินทร์กล่าวว่า ต้องยอมรับความจริงว่าเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมานั้นมีอยู่หลายมาตราที่มีผลตรงข้ามกับที่กรรมาธิการยกร่างฯ ได้พยายามหยิบยกขึ้นมาบอกกล่าว เช่น เรื่อง การเพิ่มอำนาจประชาชน เพื่อหวังจะทำให้ประชาชนเข้มแข็งขึ้นนั้น มีอยู่บางส่วนที่มีการเพิ่มอำนาจประชาชนจริง ตนขอชื่นชม แต่พอศึกษาลงลึกรายมาตราจะเห็นว่ามีเนื้อหาจำนวนมากที่เป็นไปในทิศทางตรงข้าม การเพิ่มอำนาจประชาชนเลยกลายเป็นแค่ผักชีโรยหน้า แต่เนื้อลึกข้างในคือการให้อำนาจล้นฟ้ากับสารพัดองค์กรสืบทอดอำนาจที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้มีอำนาจเหนือฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและหน่วยงานของรัฐ โดยปราศจากกลไกตรวจสอบถ่วงดุลย์ใดๆ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูป 120 คน คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูป คณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ สมัชชาคุณธรรม คณะกรรมการแต่งตั้งข้าราชการฯ เป็นต้น

“ผมไม่ปฏิเสธว่าฟังชื่อแล้วดูดี แต่คณะกรรมการเหล่านี้ถ้าไปใช้อำนาจในทางมิชอบแล้ว สามารถแสวงหาประโยชน์ได้มหาศาล เพราะให้อำนาจไว้ล้นฟ้าถึงขั้นสั่งรัฐบาล รัฐสภาและหน่วยงานของรัฐทั้งหลายให้ต้องปฏิบัติตามได้ สามารถเสนอกฎหมายเองก็ได้ และยังมีอำนาจอื่นที่เป็นแบลงก์เช็ค ตามกฎหมายบัญญัติเพิ่มไว้ให้อีก”

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า คณะกรรมการเหล่านี้สามารถใช้อำนาจมหาศาลได้ขนาดนี้ แต่กลับเขียนให้สิทธิ์พิเศษเหนือกลไกทุกกลไกไม่ว่าจะเป็นครม., ส.ส., ส.ว. เหนือประธานศาลฎีกา ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ โดยไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน ทุจริตประพฤติมิชอบแล้วถอดถอนไม่ได้ โดยเฉพาะคณะกรรมการปรองดองมีอำนาจถึงขั้นสามารถออก กฎหมายล้างผิดคนโกง โดยบังคับรัฐบาล สภาผู้แทน วุฒิสภา และหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยต้องปฏิบัติตามได้ เป็นต้น ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าองค์กรเหล่านี้เสมือนตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับอภิสิทธิชนคนกลุ่มหนึ่ง อันเป็นที่มาของข้อครหาเรื่องการสืบทอดอำนาจ ซึ่งตนอยากให้ กก.ยกร่างได้แก้ไข เพื่อเป็นการป้องกันวิกฤติที่อาจตามมาได้อีกในอนาคต

“หากเป็นการแก้รัฐธรรมนูญฉบับหนูลองยาจริง ควรให้แก้ง่าย ไม่เช่นนั้นอาจเท่ากับกำลังพาประเทศไปเสี่ยง แต่กลับกำหนดเงื่อนไขให้แก้ยากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับใด เพราะนอกจากจะมีการใช้เสียงถึง 2 ใน 3 ในบางประเด็นกับต้องผ่านศาลรัฐธรรมนูญด้วยแล้ว ยังต้องผ่านการทำประชามติจากประชาชนด้วย ดูผิวเผินเหมือนเป็นการเพิ่มอำนาจประชาชน แต่พอตอนจะเอาร่างนี้ไปบังคับใช้ กลับไม่ระบุให้ต้องขอประชามติจากประชาชนก่อน”


กำลังโหลดความคิดเห็น