“ประยุทธ์” โยน กมธ.ยกร่างฯ- สปช.ตัดสินใจจะทำประชามติร่าง รธน.หรือไม่ พร้อมพิจารณาให้ แย้ม รธน.ใหม่อาจไม่ใช่ฉบับถาวร ร่างขึ้นมาเพื่อการปฏิรูปปัญหาต่างๆ ทั้งการทุจริต ไม่โปร่งใส การถ่วงดุลอำนาจ อาจใช้เวลา 5 หรือ 10 ปีแล้วมาแก้ไข ระบุคนไทยฉลาด แต่มองมุมเดียว ขณะเดียวกันสั่ง ครม.ทำการบ้านร่าง รธน.ก่อนเสนอ กมธ.ฯ นำไปแปรญัตติ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ทั่วโลก ประจำปี 2558 กล่าวถึงการเดินหน้าตามโรดแมปของรัฐบาลและ คสช.ว่า การเดินตามโรดแมปทุกอย่างเป็นไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ถ้ายังไม่แก้รัฐธรรมนูญก็เป็นไปตามนั้น อย่าถามอีก
ส่วนที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างในขณะนี้เป็นเวลา 5 ปีก่อนแล้วจึงแก้ไขข้อบกพร่องอีกครั้ง แสดงว่ารัฐธรรมนูญนี้ยังไม่มีความสมบูรณ์ใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตนเข้าใจว่าถ้าเป็นรัฐธรรมนูญปกติไม่ต้องเขียนมาก เปิดสิทธิเสรีภาพเยอะๆ ประชาชนเป็นใหญ่ แต่ทรัพยากรมนุษย์ของต่างประเทศเหมือนเราไหม เขาเข้าใจบริบทพื้นฐานของเราหรือไม่ คุณคิดเหมือนฝรั่งคิดหรือไม่ ก็ไม่เหมือน การทำรัฐธรรมนูญถ้าจะให้เหมาะสมกับคนไทยด้วยและคนต่างประเทศด้วยมันเป็นเรื่องยาก
ส่วนข้อเสนอ 5 ปีของนายบวรศักดิ์นั้น ความหมายตามที่ตนเข้าใจอาจจะหมายถึงช่วงเวลาการปฏิรูปที่อาจจะจบภายใน 5 ปี กฎหมายฉบับนี้เท่าที่ตนดูมีความเข้มข้นหลายอย่างเพื่อจะแก้ปัญหาทั้งหมด ทั้งเรื่องการทุจริต ความไม่โปร่งใส การใช้จ่ายงบประมาณ การเข้าสู่อำนาจ เขาต้องการล้มภาพเก่าไม่ให้เกิดขึ้นอีก ตนจึงบอกว่าอาจจะเป็นรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปก็ได้ การปฏิรูปที่ว่านี้หมายถึงระยะเวลา 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปีก็แล้วแต่ หากท่านอยากจะแก้ใหม่ก็แก้เถอะ ท่านเลือกตั้งมาแล้ว จะแก้รัฐธรรมนูญก็แก้ได้ เขาเขียนไว้หรือเปล่าว่าห้ามแก้ ก็ต้องแก้ในสิ่งที่ควรจะแก้ ไม่ใช่แก้ในสิ่งที่ไม่ควรแก้ จะเอาอะไรกันอีก เสรีภาพเอาอย่างไร ไม่ต้องมีแล้วมั้งกฎหมาย อยากจะไปทำอะไรกันก็ทำ ก็เอาตามใจ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ร่างรัฐธรรมนูญมี 315 มาตรา มากไปหรือไม่ เพราะนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมายระบุว่า จำนวนมาตราเยอะเกินไปสามารถตัดทอนลดลงได้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตนพูดหลายครั้งแล้วว่าคนไทยชอบกฎหมายอยากมีกฎหมายโน่นกฎหมายนี่ แล้วบังคับใช้ไม่ได้ ตนถึงบอกว่าต้องยกระดับความคิดความเข้าใจ ปรับทัศนคติกันใหม่ ตนไม่ได้ว่าบ้านเราไม่ฉลาด คนไทยฉลาดจะตาย เข้าใจหมด แต่มองมุมเดียว ทั้งนี้เราต้องเอาผลประโยชน์มาร่วมกัน แล้วสังคายนาดูว่าควรจะถ่วงดุลอย่างไร พวกไหนได้เท่าไร แค่ไหน ไม่มีใครได้ทั้งหมดหรอก
“ในความคิดของผมรัฐธรรมนูญฉบับนี้อาจจะไม่ใช่รัฐธรรมนูญถาวรก็ได้หากจะปฏิรูป เพราะถ้าเป็นรัฐธรรมนูญธรรมดาปฏิรูปไม่ได้แน่นอน ทำมากี่รัฐบาลแล้วทำได้หรือไม่ แล้วก็มีเรื่องมีราวกันมา ถ้าไม่ปฏิรูปท่านก็ร่างไปแบบเดิม เผลอๆ ไม่ต้องร่างก็ได้ จะรบกันแบบเก่าก็ตามใจ”
ส่วนการทำประชามตินั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไปดูรัฐธรรมนูญ เขาเขียนว่าอย่างไร เขาไม่ได้เขียนให้ทำประชามติ ถ้าจะทำก็ไปแก้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งคนตัดสินใจไม่ใช่ตน แต่อยู่ที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สปช. ตนบอกแล้วเราไม่ได้มีอำนาจสั่งเขาตรงนั้น รัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างนั้น วันนี้เหมือนมี 2 สภา ถ้ามีความเห็นต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ก็ต้องขอมาที่ตน ซึ่งตนจะส่งไปที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปทำเรื่องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว จะทำอะไรก็ทำกันตรงนั้น
“ถ้าเขาคิดว่าปล่อยให้ผ่านตอนนี้ก็ตีกัน ผมจะไปสั่งให้ผ่านได้หรือไม่ ถ้ามันจะตีกันมันก็ตี ทำอย่างไรให้ผ่านโดยไม่ต้องตี หรือถ้าไม่ผ่านก็ร่างกันใหม่แค่นั้น”
ผู้สื่อข่าวถามว่า ตกลงจะเป็นช่วงเวลาไหนที่จะตัดสินใจทำประชามติ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันไหนก็วันนั้น เขากำหนดวันสุดท้ายไว้วันไหน แต่ตนไม่ตัดสินใจ เขาต้องตัดสินใจมาเพราะหน้าที่ของเขาคือการร่างรัฐธรรมนูญ ใช่หรือไม่ เมื่อรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วต้องให้ สปช.ทบทวน ถ้าเขาไม่แก้ เขาก็ทูลเกล้าฯ ถวาย เขาก็ต้องรับผิดชอบเอง เข้าใจหรือยัง ไม่ใช่ตนจะชี้นกเป็นนก ถ้าผิดพลาดก็ตนอีก ให้เข้ามาร่างแล้วไง แล้วคุณรู้ไหม สปช.มีกี่พวก ใน สปช.มีทุกพวกไปดู มีทุกสี ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็เหมือนเดิม ตนถึงบอกว่านี่คือส่งที่เขาต้องเรียนรู้จะทำกันอย่างไรไปทำมา ไม่ใช่ตนต้องมาคอยตัดสิน จะอยู่กับเขาจนแก่เฒ่าหรืออย่างไร
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สั่งการให้ ครม.ทุกคนกลับไปดูร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ นำเสนอซึ่งมีส่วนที่ ครม.และ คสช.ต้องรับผิดชอบด้วย โดยให้ ครม.ทุกกระทรวงดูรายละเอียดทุกมาตรา ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ให้แนวทางไว้ว่าให้ดูในแต่ละเรื่องว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาการบริหารราชการแผ่นดินที่เกี่ยวกับกระทรวง ทบวง กรมนั้นได้หรือไม่อย่างไร
อีกทั้ง ให้ ครม.ไปดูว่าการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารราชการของแต่ละกระทรวง ถือเป็นสิ่งที่ดีแต่ต้องมีรายละเอียดชัดเจนว่าการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนนั้นจะเข้ามาตั้งแต่ช่วงจังหวะไหนของการบริหารราชการในแต่ละกระทรวง และจะสามารถทำให้การบริหารราชการเป็นไปได้จริงหรือไม่ เนื่องจากการใช้อำนาจเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเป็นห่วงว่าการจัดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมโดยไม่กำหนดรายละเอียดให้ชัดเจนอาจทำให้การบริหารราชการมีข้อขัดข้อง
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้สั่งการให้ ครม.ไปดูว่าประชาชนจะได้อะไรจากมาตราต่างๆ ของรัฐธรรมนูญ โดยให้แต่ละกระทรวงรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดและเสนอไปที่คณะทำงานที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย เป็นประธานภายในวันที่ 14 พ.ค.และจะจัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่าง ครม.และ คสช.ในวันที่ 19 พ.ค. ที่จะหยิบยกข้อคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญของแต่ละกระทรวงมาพูดคุย จากนั้นจะจัดทำเป็นหนังสือแจ้งไปคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เพื่อไปสู่ขั้นตอนในการแปรญัตติ ที่ทางคณะกรรมาธิการยกร่างฯ อาจเชิญ ครม.และ คสช.ไปชี้แจงว่าต้องการแก้ไขในประเด็นใดและมีเหตุผลอย่างไร