ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ฝากผู้นำท้องถิ่นแจงสาระและเจตนารมณ์ร่าง รธน.กับประชาชน ระบุนักการเมืองวิจารณ์ร่าง รธน.ทั้งระบบเลือกตั้ง โอเพ่นลิสต์ เพราะผวาพรรคแตก ประชาชนจะเข้มแข็ง ขณะเดียวกันยังกลัวสภาขับเคลื่อนปฏิรูป กก.ยุทธศาสตร์การปฏิรูปฯ และสมัชชาพลเมือง และหมวดปฏิรูปทั้งหมด เพราะต้องปฏิบัติตาม แย้มหนุนทำประชามติ
ที่ห้องคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ วันนี้ (28 เม.บ.) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “รัฐธรรมนูญใหม่กับการกระจายอำนาจ” ให้แก่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) รับฟังว่า กรรมาธิการยกร่างฯ และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ขอทุกคนที่มาร่วมรับฟังในวันนี้ ช่วยเป็นเครือข่ายในการนำสาระและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไปทำความเข้าใจให้ประชาชนในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัดให้ได้รับทราบ
ทั้งนี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดขึ้นจากภาวะที่บ้านเมืองมีความวุ่นวายตั้งแต่ปี 2549 รวมเวลาเกือบ 10 ปี แม้ว่าก่อนการรัฐประหาร วันที่ 22 พ.ค. 2557 จะมีความพยายามในการปฏิรูป จากทั้งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่ทุกรัฐบาลก็เอาเอกสารขึ้นหิ้ง ดังนั้น เมื่อมีการยึดอำนาจแล้วคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงเห็นความจำเป็นต้องเขียนเรื่องปฏิรูปไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว โดยมีสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทำหน้าที่ในส่วนนี้ ซึ่งมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ระบุว่ากรรมาธิการยกร่างฯ มีหน้าที่ต้องเขียนรัฐธรรมนูญให้มีการปฏิรูปบ้านเมืองในเรื่องต่างๆ 10 เรื่อง แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญมีธงในเรื่องการปฏิรูป แต่ไม่มีพิมพ์เขียวพิมพ์ชมพูใดๆ ทั้งสิ้น
นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้กรรมาธิการยกร่างฯ ได้จัดทำร่างแรกสำเร็จแล้ว แต่เป็นร่างแรกที่ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมต่อไป ส่วนร่างสุดท้ายที่แก้ไขไม่ได้ คือ ต้องเสร็จภายวันที่ 23 ก.ค. ซึ่งเสร็จก่อนได้ แต่ถ้าเสร็จหลังจากวันนั้นทางกรรมาธิการยกร่างฯ จะถูกยุบ ดังนั้น วันที่ 23 ก.ค.จึงเป็นเส้นตายที่ต้องเสนอร่างรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวยังเขียนมัดไว้ในมาตรา 36 ว่า สปช.ต้องลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบทั้งฉบับจะแก้ไขเพิ่มเติมอีกไม่ได้ เว้นแต่เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดโดยกรรมาธิการยกร่างฯ ต้องเห็นชอบด้วย หรือเห็นว่าควรต้องแก้ไขให้เกิดความสมบูรณ์ ซึ่งตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตย เมื่อดูรัฐธรรมนูญปี 2517, 2521, 2534, 2540 และ 2550 เขียนตรงกันทุกฉบับว่าเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จในวาระ 2 แล้วให้ทิ้งไว้ 15 วัน เพื่อจะได้ใช้เวลาในการปรึกษากันอย่างรอบคอบก่อนลงมติในวาระ 3 ดังนั้น 15 วัน ที่กำหนดให้ สปช.นั่งคิดนอนคิดปรึกษาหารือว่าจะเอาหรือไม่เอาร่างนี้จะไม่มีการประชุมเพื่อรับฟังความเห็นหรืออภิปรายกันอีกแล้ว
“การที่สมาชิก สปช.บางคนออกมาระบุผ่านสื่อ เป็นความเข้าใจของท่านที่ไม่ได้ดูประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เมื่อกำหนดให้วันที่ 23 ก.ค. ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ 15 วันนับจากนั้นคือวันที่ 6 ส.ค. สปช.ต้องลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็ตายตกตามกันไป เริ่มต้นกันใหม่ ตั้ง สปช.และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมด ส่วน คสช.และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็อยู่ต่อไปอีกหนึ่งปี แต่ถ้า สปช.ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายภายในวันที่ 4 ก.ย. หากไม่มีการทำประชามติ การเลือกตั้งก็จะเกิดขึ้นประมาณปลายเดือน ก.พ.หรือต้นเดือน มี.ค. 2559”
นายบวรศักดิ์กล่าวว่า หากมีเสียงเรียกร้องให้จัดทำประชามติ คสช., ครม.ต้องเห็นชอบ และแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก่อนวันที่ 6 ส.ค. ถ้าแก้หลังวันนั้นก็จะวุ่นวาย เมื่อมีการทำประชามติก็บวกเวลาต่อไปอีก 3 เดือน ดังนั้นการเลือกตั้งก็จะเกิดขึ้นประมาณเดือน พ.ค. 2559 ทั้งหมดนี้ไม่ใช่โร้ดแม็ปของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่เป็นโรดแมปของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำประชามติหรือไม่ยังไม่แน่ แต่ส่วนตัวเห็นว่าต้องทำและเชื่อว่านายกฯ ก็อยากจะทำ
“ปี 40 เรามีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ปี 2550 มีรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ และฉบับนี้เป็นฉบับปฏิรูป จึงไม่แปลกใจที่จะมีการวิจารณ์ โดยเฉพาะนักการเมืองที่ออกมาวิจารณ์ระบบเลือกตั้ง เพราะเขากลัวประเด็นกลุ่มการเมืองว่าคนของเขาจะแยกไปตั้งกลุ่มมาแข่งกับเขา และกลัวระบบบัญชีรายชื่อ ที่เป็นแบบโอเพ่นลิสต์ให้ประชาชนจัดลำดับได้เอง ส่วนที่บอกว่าทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ที่จริงต้องพูดต่อว่าทำให้ประชาชนเข้มแข็งขึ้น สิ่งที่นักการเมืองกลัวจริงๆ คือ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ สมัชชาพลเมือง รวมถึงหมวดปฏิรูปทั้งหมด เพราะเขาต้องปฏิบัติตาม ซึ่งสิ่งที่เรากำลังปฏิรูปสวนทางกลับที่เขาอยากทำ”