xs
xsm
sm
md
lg

ซัดร่างรธน.ให้อำนาจนายกฯ เปรียบพยัคฆ์ติดปีก-ดำดินได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (27 เม.ย.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึง ภาพรวม 7 วัน ของการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ ในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่า ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องดูรายละเอียดของร่างฯ ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์จากสปช. ว่าจะแก้ไขประเด็นใดบ้าง
ส่วนข้อเสนอ หรือข้อโต้แย้งที่กังวลนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หากแต่เป็นเรื่องของ กมธ.ยกร่างฯ และสปช. อย่างไรก็ตาม คิดว่าไม่น่าจะเป็นปัญหา เพราะทุกอย่างดำเนินไปตามขั้นตอน และหลังจากนั้น ร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะส่งมาให้ รัฐบาล และคสช. อีกครั้ง
เมื่อถามถึงแนวโน้มการทำประชามติ ว่าทางรัฐบาล และคสช. เริ่มหารือกันหรือไม่ เพราะถ้าไม่ทำตอนนี้ จะไม่ทันตามโรดแมป พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า " ก็ตามที่นายกรัฐมนตรี และผมเคยกล่าวไปแล้ว ทุกอย่างยึดตามกรอบรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 และต้องเป็นไปตามความเห็นชอบของประชาชน ว่าจะตกลงกันอย่างไร ก็ว่ากันตามสบาย "
ส่วนกรณี กมธ.ยกร่างฯ ต้องการให้คสช. แก้ไขรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 เพื่อให้มีการทำประชามตินั้น คงต้องหารือกันอีกที อย่าเพิ่งใจร้อน เพราะต้องให้กมธ.ยกร่างฯ หารือกับสปช. ก่อน ว่าจะดำเนินการอย่างไร ก็ขอให้มั่นใจว่า ไม่มีปัญหาอะไรหรอก จะทำก็ทำ ไม่ทำก็ไม่ต้องทำ แต่ในรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 ไม่ได้ระบุเอาไว้ ว่า จะต้องทำประชามติ หรือไม่ทำประชามติ ทั้งนี้ ตนยืนยันว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกรอบกฎหมาย

**รธน.ให้นายกฯเป็นพยัคฆ์ติดปีก-ดำดินได้

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง กรณีคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ขอรับฟังความเห็นจากฝ่ายการเมืองว่า ตนพร้อมให้ความเห็นกับกมธ.ยกร่างฯ ไม่ว่าในรูปแบบใด แต่ขอให้รับฟังอย่างจริงจัง และต้องตระหนักว่า รัฐธรรมนูญจะเป็นที่ยอมรับได้นั้น ไม่ใช่แค่เพียงผ่านความเห็นชอบจาก สปช. แต่ที่สำคัญคือต้องผ่านความเห็นชอบจากคนทั้งประเทศด้วย ซึ่งประเด็นปัญหาหนึ่งของการเขียน และนำไปสู่ข้อโต้แย้งในวงกว้างคือ การตั้งโจทย์กับคำตอบ ไปคนละทิศละทาง
"ยกตัวอย่าง การตั้งโจทย์ว่า ที่ผ่านมาไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะรัฐบาลมีอำนาจมากเกินไป สามารถทำอะไรก็ได้ โดยไม่เกรงใจประชาชน แต่พอเขียนรัฐธรรมนูญออกมา กลายเป็นไปเปิดทางให้คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นนายกฯได้ ซึ่งขัดหลักการประชาธิปไตย ทั้งเขียนให้นายกฯ ยิ่งมีอำนาจล้นฟ้าขึ้นไปอีก กลายเป็น "พยัคฆ์ติดปีกแถมดำดินได้ " ถึงขั้นสามารถเสนอ กม. ด้วยวิธีพิเศษ และดำดินหนีการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ด้วย"
นายจุรินทร์ กล่าวว่า กรณีนายกรัฐมนตรีคนนอก แต่เดิมอ้างว่า จะให้เป็นได้เฉพาะในภาวะวิกฤติ และในช่วงเวลาจำกัด เช่น ไม่เกิน 1 ปี เพื่อแก้วิกฤติเท่านั้น แต่พอออกมาใน ม.172 กลายเป็นว่าสามารถเป็นได้ แม้ในภาวะปกติ ขอเพียงแค่ได้เสียง 2 ใน 3 ของสภา และสามารถเป็นได้ถึง 2 วาระ โดยไม่มีข้อจำกัดเวลา ไม่ต้องผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน ซึ่งในอนาคต อาจเป็นการเปิดช่องให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในพรรคการเมือง สามารถส่งคนในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ที่ไม่ได้ลงสมัคร ส.ส. มาเป็นนายกฯได้เลย หากมีเสียงในสภา 2 ใน 3 และที่น่าห่วงอย่างยิ่ง คือ ม.181 กับ ม.182 ที่ให้อำนาจนายกฯ ล้นฟ้า จนทำลายดุลยภาพการตรวจสอบถ่วงดุลในสภา นั่น คือ ม.182 ที่เปิดโอกาสให้นายกฯ เสนอ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ใดก็ได้ เพียงแค่อ้างว่า เป็นพ.ร.บ.ขอความไว้วางใจ หากฝ่ายค้านไม่ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกฯ ภายใน 48 ชั่งโมง ให้ถือว่า พ.ร.บ.นั้นผ่านสภาไปเลย
" ถือเป็นการให้อำนาจเบ็ดเสร็จยิ่งกว่าการออก พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพราะการออก พ.ร.ก. ยังต้องเข้าเงื่อนไขเพื่อความมั่นคง หรือเศรษฐกิจ และความจำเป็นเร่งด่วน ที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ แต่การออก กม. ตามมาตรานี้ ไม่จำเป็นต้องเข้าเงื่อนไขใดๆ เลย ยิ่งกว่า อภิมหาพระราชกำหนด วันหนึ่งหากนายกฯ ฉ้อฉล ใช้อำนาจออก พ.ร.บ.ล้างผิดตามมาตรานี้ บ้านเมืองก็จะวิกฤติอีกครั้ง" นายจุรินทร์ กล่าว
ส่วน ม.181 ก็น่าห่วงไม่แพ้กัน เพราะให้อำนาจนายฯโกง สามารถหนีการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ โดยการเสนอขอให้สภาลงมติไว้วางใจตนเอง ตัดหน้าการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านได้ หากสภาลงมติไว้วางใจ ก็จะเป็นเช่นนั้น เพราะรัฐบาลมีเสียงข้างมากอยู่แล้ว ฝ่ายค้านก็จะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ หรือตรวจสอบนายกฯไม่ได้อีกตลอดสมัยประชุม ซึ่งก็คือตลอด 1 ปีนั่นเอง เพราะ 1 ปี มีสมัยประชุมเดียวที่อภิปรายนายกฯได้ รธน. จึงเป็นการเขียนที่สวนทางโจทย์ที่บอกว่า ปัญหาที่ผ่านมาคือ ฝ่ายบริหารมีอำนาจมากเกินไป แต่พอเขียนออกมา กลายเป็นยิ่งทำให้นายกฯ ยิ่งมีอำนาจล้นฟ้า หากได้นายกฯ ที่ใช้อำนาจในทางมิชอบ เหมือนเคยเกิดในอดีตแล้วตรวจสอบไม่ได้ วิกฤติก็จะตามมาได้อีกเช่นกัน 2 มาตรานี้ จึงเกินความจำเป็น และขอแนะนำให้ตัดออกไป
สำหรับกรณีการเลือกตั้งแบบโอเพ่นลิสต์ ที่เปิดให้ประชาชนเลือกผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดได้เพียง 1 คน จากผู้สมัครในบัญชีของพรรคนั้น ราว 30 คน ในแต่ละโซน โดยให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นการเพิ่มอำนาจให้ประชาชนนั้น ถือเป็นการจำกัดอำนาจประชาชนมากกว่า เพราะหากประสงค์เพิ่มอำนาจประชาชน ควรให้อำนาจประชาชนสามารถเลือกผู้สมัครจากบัญชีของพรรคที่เขาเลือกได้ตามจำนวนที่ประชาชนต้องการ แต่ไม่เกินจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่พึงมีในโซนนั้น ไม่ใช่ไปจำกัดให้เลือกได้เพียงคนเดียว ส่วนสมาชิกวุฒิสภา ที่อ้างว่าจะให้มาจากการเลือกตั้ง 77 คน แต่ประชาชนมีสิทธิ์เลือกได้เฉพาะ จากผู้ที่คณะกรรมการกลั่นกรองคัดชื่อส่งมาให้เลือกได้เท่านั้น ยิ่งสะท้อนการจำกัดสิทธิ์ ทั้งของผู้สมัคร และประชาชน ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง เหมือนระบบคอมมิวนิสต์ ซึ่งไม่ควรนำมาใช้ในรัฐธรรมนูญไทย

** เตรียมทำคำข้อแก้ไขเกือบทั้งฉบับ

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิก สปช. ในฐานะประธาน กมธ. ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช. กล่าวว่า ในวันที่ 28 เม.ย. ตน จะร่วมหารือกับกมธ.ปฏิรูปการเมือง ที่มีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน เพื่อพิจารณาถึงการทำคำขอแก้ไขเพิ่มเติม ร่างรธน. โดยตน และนายสมบัติ มีความเห็นตรงกันว่า ควรจะมีการแก้ไขร่างรธน.เกือบทั้งฉบับ เพราะมีเนื้อหาและรายละเอียดมากเกินไป ควรแก้ไขให้กระชับ สั้นลง เนื้อหาที่แก้ไขส่วนใหญ่จะอยู่ในภาค 2 ว่าด้วยผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง ซึ่งเห็นตรงกันว่าจะแก้ไขในประเด็นหลัก ๆ เช่น ที่มาของ ส.ว., ที่มาส.ส. , กลุ่มการเมือง แต่ในรายละเอียดที่จะทำเป็นคำขอแก้ไขเพิ่มเติม คงต้องไปหารือกัน เพราะในบางประเด็นยอมรับว่า ทั้ง 2 คณะ ยังมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน เช่น การแก้ไขที่มาส.ส. ซึ่งกมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ มองว่า ควรมีส.ส.แบบแบ่งเขต เท่านั้น และให้ตัดส.ส.แบบบัญชีรายชื่อออกไป แต่ กมธ.ปฏิรูปการเมือง เห็นว่าควรมี ส.ส.บัญชีรายชื่ออยู่ ดังนั้นต้องมาพิจารณาเหตุผล และหากมีข้อเสนอ ที่เป็นการประณีประนอม เช่น ให้มี ส.ส.ทั้ง 2 แบบ แต่ลดจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อลง ก็พอที่จะรับฟังกันได้ แต่หากสมาชิกในกลุ่มยังมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน อาจต้องขอให้ถอนชื่อออกจากกลุ่ม และไปหากลุ่มอื่นเพื่อขอยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมต่างหาก ในการทำคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่จะส่งให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ พิจารณาเบื้องต้น ตนจะส่งให้กับ ครม. คสช. และ สนช. ให้พิจารณาในเนื้อหา และเหตุผลด้วย เพื่อให้เกิดประโยชน์ และหลากหลาย

** กมธ.ยกร่างฯถลุงไปแล้ว 22 ล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงาน ภายหลังที่ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ได้จัดทำร่างรธน. ร่างแรกพร้อมรับฟังข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย และได้เสียงท้วงติงวิพากษ์วิจารณ์ และสนับสนุนในหลายประเด็นหลากหลายความคิดเห็น โดย กมธ.ยกร่างฯได้ใช้เวลาพิจารณาตั้งแต่ประชุมครั้งแรก วันที่ 6 พ.ย. 57 จนถึง วันที่ 26 เม.ย. 58 รวมทั้งสิ้น 88 ครั้ง โดยได้รับเบี้ยประชุมตามพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญบางตำแหน่ง พ.ศ. 2557 มาตรา 4 โดยประธานกมธ.ยกร่างฯ ได้เบี้ยประชุมครั้งละ 9,000 บาท หรือคิดยอดรวมประชุม 88 ครั้ง คิดเป็นค่าเบี้ยประชุม 792 ,000 บาท ขณะที่ กมธ. ยกร่างฯที่เป็น สปช. 20 คน และสนช. 5 คน รวม 25 คน ได้เบี้ยประชุมครั้งละ 6,000 บาทต่อคน หรือคิดยอดรวมเบี้ยประชุม 88 ครั้ง ได้ประมาณคนละ 528 ,000 บาท เมื่อคิดรวม 25 คน เป็นเงินประมาณ 13,200,000 บาท
ขณะที่ กมธ.ยกร่างฯที่มาจากครม. และคสช. จำนวน 10 คน จะได้รับเบี้ยประชุมเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 50 ตามพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญบางตำแหน่ง พ.ศ. 2557 มาตรา 4 วรรคสอง จากจำนวน 6,000 บาท เพิ่มอีก 3,000 บาท ต่อครั้ง หรือได้รับคนละ 9 ,000 บาท เมื่อรวมประชุม 88 ครั้ง ได้รับเบี้ยประชุมคนละ 792 ,000 บาท เมื่อคิดรวมทั้ง 10 คนได้เบี้ยประชุมรวมกัน 7,920,000 บาท
ทั้งนี้ เมื่อรวมยอดประชุมของกมธ.ยกร่างฯ 36 คน จำนวน 88 ครั้ง จะได้รับเบี้ยประชุมรวมทั้งสิ้น 21,912,000 บาท ขณะที่ กมธ.ยกร่างฯ ยังเหลือการประชุมอีกหลายครั้งจนกว่าจะส่งร่างรัฐธรรมนูญร่างสุดท้าย ให้ สปช. ลงมติไม่เกิน 6 ส.ค. นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเบี้ยประชุมดังกล่าวของกมธ.ยกร่างฯ ยังไม่ได้คิดรวมกับเงินประจำตำแหน่งของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งควบกับ รองประธานสปช. ที่ได้เงินประจำตำแหน่ง 73,240 บาท/เดือน เงินเพิ่ม 42,500 บาท/เดือน 115,740 บาท/เดือน ขณะที่บุคคลที่เป็น สปช. และ สนช. ได้รับเงินประจำตำแหน่ง 71,230 บาท/เดือน เงินเพิ่ม 42,330 บาท/เดือน เท่ากับ 113,560 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น