xs
xsm
sm
md
lg

“บวรศักดิ์” ให้พรรคการเมืองยอมสละความเคยชิน แนะใช้ รธน.ไปก่อน 5 ปีแล้วแก้ไข

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ (แฟ้มภาพ)
ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ยันร่าง รธน.ต้องเสร็จภายใน 23 มิ.ย. ขยายเวลาตามข้อเสนอพรรคการเมืองไม่ได้ พร้อมเชิญนักการเมืองมาให้ความเห็นหากมีเวลา บอกพร้อมแก้ไขหากเหตุผลของ สปช.ดีกว่า ปัดร่าง รธน.ทำการเมืองอ่อนแอ แนะควรเสียสละความเคยชินหากต้องการปฏิรูป เสนอใช้ไปก่อน 5 ปี ถ้าบ้านเมืองปรองดอง จะกลับมาแก้ให้พรรคการเมืองเข้มแข็งก็ทำได้

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากที่มีการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญแล้ว จากนี้ก็เป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) ยื่นญัตติคำข้อแก้ไขเพิ่มเติมซึ่งจะมาถึง กมธ.ยกร่างฯ ในวันที่ 25 พ.ค.นี้ จากนั้นในวันที่ 1-6 มิ.ย.จะได้เชิญผู้ขอแปรญัตติแก้ไขมาชี้แจงต่อ กมธ.ยกร่างฯ และพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 23 มิ.ย. หากมีเวลาก็จะเชิญพรรคการเมืองมาร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย จึงจะเป็นร่างรัฐธรรมนูญสุดท้ายก่อนเสนอต่อไปยัง สปช.อีกครั้งเพื่อให้ลงมติในวันที่ 6 ส.ค.

“ยืนยันว่าไม่สามารถขยายเวลาได้การพิจารณาออกไปตามอย่างที่บางพรรคการเมืองต้องการ ซึ่งจะต้องไปแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ส่วนเรื่องการเสนอแปรญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ก็ต้องดูเหตุผลเป็นหลัก ถ้าเหตุผล สปช.ดีกว่าก็พร้อมแก้ไข แต่ถ้าของ กมธ.ยกร่างฯ ดีกว่าเราก็จะชี้แจงให้ทราบ อย่างไรก็ตาม ผมไม่ต้องการให้ กมธ.ยกร่างฯ อยู่ต่อ แต่ให้มีคณะอื่นขึ้นมาสืบทอดงานแทน”

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ที่วิจารณ์ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอนั้นไม่เป็นความจริง ถ้าพรรคการเมืองไทยมีการบริหารภายในที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่ถ้าพรรคการเมืองยังเป็นของบางคน การตัดสินใจก็จะเป็นของคนไม่กี่กลุ่ม ถ้าตนเป็นนักการเมืองก็คงกลัว แต่การปฏิรูปก็ต้องยอมสละความเคยชินทิ้งไป ตนจึงอยากเสนอให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปก่อน อย่างน้อย 5 ปีแล้วค่อยแก้ไข และถ้าบ้านเมืองเกิดความปรองดองก็อาจจะกลับมาแก้ให้พรรคการเมืองเข้มแข็งโดยมีเสียงในรัฐสภาเกินกึ่งหนึ่งก็สามารถทำได้

นอกจากนี้ ยังเห็นด้วยที่ให้มีการจัดตั้งกลุ่มการเมือง เข้าใจว่าหลายพรรคการเมืองกลัวคนที่มีศักยภาพของพรรคตัวเองจะออกมา แต่อยากให้นึกถึงคนที่ไม่มีเงินตั้งพรรคการเมืองและต้องไปหาสมาชิกอีก 5 พัน จึงเห็นว่าควรมีกลุ่มการเมืองและจดทะเบียน โดยอาจมีเงื่อนไขน้อยกว่าพรรคการเมือง หากต่อไปมีปัญหาก็สามารถปรับแก้ไขได้ในอนาคต วันนี้อยากให้นึกถึงคนอย่างนายอลงกรณ์ พลบุตร คนแบบนี้จะไปอยู่ที่ไหน เพราะยังมีคนลักษณะนี้อีกเยอะ

ส่วนที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เสนอให้ตัดคณะกรรมการปรองดองในร่างรัฐธรรมนูญออกเพราะเกรงว่าจะเป็นต้นเหตุความขัดแย้งนั้น นายบวรศักดิ์กล่าวว่า เป็นความเห็นของท่าน แต่ถ้าตัดเรื่องนี้ออกก็ไม่มีใครทำ ให้รัฐบาลทำก็ไม่น่าเชื่อถือ เพราะถือว่าเป็นคู่ขัดแย้ง จึงควรมีคนกลางมาทำหน้าที่

ผู้สื่อข่าวถามว่า กมธ.ยกร่างฯ จะทบทวนเรื่องที่มา ส.ว.หรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ก็ทบทวนได้ แต่เรายึดหลักว่าเมื่อมีสภาที่สองนั้นต้องไม่ใช่กระจกสะท้อนขอองสภาที่หนึ่ง และสภาที่สองต้องมีความหลากหลาย ให้กลุ่มวิชาชีพต่างๆ เข้าไปถึง หากไม่เขียนที่มาของ ส.ว.เช่นนี้ คิดว่ากลุ่มเกษตรกรจะเข้าไปเป็น ส.ว.ได้หรือ ในขณะที่สภาล่างต้องมีพื้นที่ โดยต้องเป็นของกลุ่มการเมืองและพรรคการเมือง


กำลังโหลดความคิดเห็น