“มาร์ค” ติง กมธ.ยกร่างฯ อย่ามองคนวิจารณ์ร่าง รธน.เป็นนักการเมือง แต่ควรดูว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ ห่วงเดินหน้าต่อไปไม่ได้หากไม่เป็นที่ยอมรับ แนะเปิดใจรับฟังแลกเปลี่ยนความเห็น ยืนยันให้ทำประชามติแม้จะช้าไป 3 เดือน ดีกว่าต้องกลับมาวุ่นวายอีก ย้ำมาตรา 181-182 และอำนาจคณะกรรมการปรองดอง สร้างวิกฤตแน่
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงแนวโน้มหรือความเป็นไปได้ที่กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญจะมีการแก้ไขตามที่มีข้อท้วงติงจากหลายฝ่ายในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ต้องถาม กมธ.ยกร่างฯ ตนอยากให้มีการรับฟังแลกเปลี่ยนกันอย่างเต็มที่เพื่อจะให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด ย้ำอีกครั้งว่าอยากให้จบ ไม่ต้องการให้ผ่านไปแล้ว 1-2 ปีแล้วกลับมาเถียงกันในเรื่องแบบนี้มันไม่ไหวแล้ว เพราะหลังจากนี้ประเทศควรเดินหน้าทั้งด้านเศรษฐกิจ สวัสดิการ ทำให้ประชาชนมีสุข สิ่งที่ตั้งใจก็มีเพียงเท่านี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า การร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้มีวาระซ่อนเร้นหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า อยากให้มีการแลกเปลี่ยนกันทั้งเนื้อหาสาระ คงไม่ไปกล่าวหาใครและไม่อยากให้คนร่างฯ ไปกล่าวหาคนวิจารณ์ และรู้ว่าตัวเองเป็นนักการเมืองหากสิ่งที่เสนอแล้วเป็นประโยชน์ต่อนักการเมืองก็ไม่อยากฟัง แต่สิ่งที่เสนอถ้าเป็นประโยชน์ต่อประเทศก็อย่ามาตอบว่าเป็นนักการเมืองไม่ควรมาพูด เพราะต้องเอามาดูว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดของประเทศ และต้องยอมรับความจริงว่าสุดท้ายเมื่อกลับสู่ภาวะปกติถ้ารัฐธรรมนูญไม่เป็นที่ยอมรับมันก็เดินต่อไปไม่ได้อีก ดังนั้นจึงต้องทำให้เป็นที่ยอมรับเพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้
“อย่างในการประชุมศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ครั้งล่าสุดก็มีคนที่เสนอแก้ไขซึ่งทางเสนาธิการทหารบกดูจะรับฟังเป็นอย่างดี แต่ทั้งหมดอยู่ที่กระบวนการของ กมธ.ยกร่างฯ เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวเขียนไว้ว่าเหมือนเป็นสิทธิขาดของ กมธ.ยกร่างฯ ว่าจะเอาหรือไม่อย่างไร”
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้รับร่างรัฐธรรมนูญที่ กมธ.ได้ส่งมาแล้ว นอกจากนี้ ทาง กมธ.ยกร่างฯ ยังได้มีการส่งร่างรัฐธรรมนูญมายังตนด้วยเนื่องจากขณะนี้ไม่สามารถเรียกประชุมพรรคได้ ภายในวันที่ 20 พฤษภาคมทางพรรคจะต้องส่งข้อเสนอในการปรับแก้ไปยัง กมธ.ยกร่างฯ
นายอภิสิทธิ์กล่าวยืนยันที่จะให้มีการทำประชามติ เพราะยังไม่เห็นอะไรที่จะเป็นรูปธรรมของการรับรองกติกานอกจากการทำประชามติ หากไม่ทำจะมีความเสี่ยงที่คนไม่เห็นด้วยจะไปสร้างเงื่อนไขให้เกิดการแก้และรื้อรัฐธรรมนูญกันอีก ไม่อยากให้ประเทศต้องเสียเวลา ทั้งรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่างระบุว่าจะจัดการทุกอย่างให้เรียบร้อย ถ้าเรียบร้อยแล้วเดินเลยก็ดี แต่ถ้าเรียบร้อยแล้วกลับมารื้อกันใหม่มันจะเสียเวลาอีกกี่ปี
ส่วนหากมีการทำประชามติอายุของรัฐบาลก็จะยืดไปอีกนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การทำประชามติคงไม่นานขนาดนั้น แต่เรื่องที่อายุของรัฐบาลจะยืดออกไปนั้น คงไม่มีใครเจตนาจะให้ยืดยื้อ สมมติว่าเสียเวลาทำประชามติไป 3 เดือน คิดว่าคุ้ม เพราะหากไม่มีการรับรองโดยประชาชน แทนที่จะเสียเวลา 3 เดือนก็อาจจะทะเลาะกันอีกไม่รู้กี่ปีแล้วจะวกกลับมาร่างกันใหม่ ไม่มีประโยชน์กับใคร
ผู้สื่อข่าวถามว่าในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ จะมีการเสนอแก้ไขกี่ประเด็น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า นับไม่ถ้วน แต่คงไม่ทั้งฉบับ เพราะในบางประเด็นนั้นเป็นเรื่องรายละเอียด แต่บางประเด็นคือเรื่องของหลักการ เช่น มาตรา 181, 182 กับอำนาจคณะกรรมการปรองดองเรื่องการเสนอพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษบุคคล มองว่าเป็นเรื่องอันตรายมาก ส่วนเรื่องอื่นเป็นความเห็นที่ต่างกันในมุมมองการปฏิบัติ เพราะพูดจากประสบการณ์ หลายบทบัญญัติที่เคยมีการใช้มาในอดีตมันส่งผลอย่างไร รวมทั้งประสบการณ์ที่เขียนกติกาเช่นนี้พรรคการเมือง นักการเมือง จะปฏิบัติอย่างไร โดยเฉพาะคนที่มีผลประโยชน์จะได้เห็นภาพชัดขึ้นว่าสิ่งที่ตั้งใจจะแก้ แต่ถ้าแก้ไขด้วยวิธีนี้มันอาจจะไม่ได้ผล หรือซ้ำร้ายกว่านั้นอาจไปซ้ำเติมปัญหาเดิม จึงอยากชี้ให้เห็นจากประสบการณ์
ต่อข้อถามว่ามีความกังวลหรือไม่ที่มีการระบุว่าสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ร้อยละ 90 เห็นด้วยกับร่างฯ ดังกล่าว นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ขอเตือนว่าอย่าพูดเป็นตัวเลข ในอดีตรัฐธรรมนูญมีปัญหาเพียงวรรคเดียวก็สร้างวิกฤตชาติมาแล้ว ดังนั้นเราต้องขจัดจุดที่เป็นปัญหาที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง ไม่มีใครถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ 3 ประเด็นที่ตนได้พูดมานั้น ถ้าออกมามีวิกฤตแน่ ก็อย่าไปทำ ส่วนประเด็นอื่นก็จะมีการปรึกษาหารือกันต่อไป ถ้าเปิดใจกว้างมันมีทางออก
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า สำหรับเรื่องที่นายนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ เสนอให้ใช้รัฐธรรมนูญไปก่อน 5 ปีแล้วค่อยแก้ไขนั้น อย่างคราวที่แล้วตนไม่ได้มองว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 มีปัญหา แค่คราวนี้มีบางมาตราที่สร้างปัญหาได้ ถ้าใช้ไป 5 ปี แล้วในปีแรกมีการใช้มาตรา 181, 182 ออกกฎหมายนิรโทษกรรมแล้วประชาชนออกมาประท้วง ฆ่าฟันกันจะมีประโยชน์อะไร อะไรที่เป็นปัญหาก็อย่าสร้างมันขึ้นมาเท่านั้นเอง ตอนนี้อย่าเพิ่งไปยึดมั่นถือมั่นว่ารัฐธรรมนูญจะต้องเป็นแบบไหน หรือว่าให้รองใช้ไปก่อน เพราะเมื่อเห็นว่ามีปัญหาก็ควรป้องกันไว้ ตนไม่ได้ตำหนิใคร เป็นการพูดถึงเนื้อหา อยากให้คนตอบได้ตอบในเนื้อหา ถ้ามาเริ่มกล่าวหากันก็กล่าวหากันได้ทุกฝ่ายซึ่งไม่มีประโยชน์
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การอภัยโทษนั้นสามารถทำได้และในหลักการก็มีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งในอดีตเรามีหลักเกณฑ์ที่ดี คนที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษคือคนที่สำนึกผิด โดยผ่านกระบวนการยุติธรรม แต่การให้อำนาจ 15 คนในคณะกรรมการปรองดอง ให้คนมาสำนึกผิดกับกรรมการฯ แล้วสามารถอภัยโทษได้ ถือเป็นเรื่องอันตราย จะเป็นจุดขัดแย้งเป็นปัญหากับ ครม. ถือว่าไม่เหมาะสมที่ทำให้ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องสาธารณะแล้วบอกว่ายังเป็นพระราชอำนาจอยู่
“ผมยืนยันว่าถ้ารัฐบาล สนช.หรือใครจะออกกฎหมายนิรโทษกรรม ให้ประชาชนที่ไปชุมนุมแล้วไม่ได้ทำผิดอาญาเรื่องอื่น ก็ไม่มีใครคัดค้าน แต่ที่มันช้ามาทุกครั้ง ในตอนที่จะเริ่มทำ ก็เพราะมีคนอื่นที่อยากจะได้นิรโทษกรรม ก็จับคนเหล่านี้เป็นตัวประกันเอาไว้ พอกฎหมายจะออกอย่างที่เรียกว่าครึ่งซอย ปากซอย ต้นซอย แล้วสุดท้ายก็พ่วงให้มันสุดซอย เพราะกลัวว่าถ้าปล่อยคนต้นซอย กลางซอยไปแล้ว คนสุดซอยจะไม่ได้ นี่คือปัญหา ดังนั้นรัฐบาลนี้มีโอกาสดีแล้ว ให้ประชาชนที่สมควรจะได้รับการนิรโทษกรรม รับไปเลย ส่วนคนที่เหลือต้องเข้าสู่กระบวนการ ซึ่งผมก็มีคดีก็เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่เคยเรียกร้องนิรโทษกรรม แล้วถ้าหากคดีสิ้นสุดอย่างไร สังคมเห็นควรให้อภัยหรือไม่ ผมว่ามันมีทางออกอยู่แล้วเพราะมีกลไก แต่ถ้าไปเร่งไปทำผิดธรรมชาติก็จะสร้างความขัดแย้งโดยไม่จำเป็น”
นายอภิสิทธิ์ย้ำว่า การจะให้รัฐธรรมนูญออกมาแล้วประเทศเดินหน้าไปได้นั้น ทางที่ดีที่สุด กมธ.ยกร่างฯ ต้องเปิดใจ เปิดเวทีแลกเปลี่ยน ตนไม่ได้คาดหวังเรื่องความถูกใจส่วนตัว แต่ขอให้เป็นประชาธิปไตยแล้วประเทศเดินหน้าได้ พวกตนก็รับได้ แต่อะไรที่อันตรายหรือเป็นจุดเสี่ยงของความขัดแย้ง ส่งเสริมนักการเมืองใช้อำนาจโดยไม่ถูกตรวจสอบ เป็นประโยชน์ของนักการเมืองโกงและบ้าอำนาจก็ต้องตัดออก