xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ฉะ “บวรศักดิ์” ปลุก ปชช.สู้นักการเมือง รับหวังให้เคลียร์ 2 มาตราอันตราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(แฟ้มภาพ)
“อภิสิทธิ์” ซัด ปธ.กมธ.ยกร่างฯ ไม่สร้างสรรค์ หลังปลุก ปชช.ต้านนักการเมืองโวย รธน. เผยแค่หวังให้แจง 2 มาตราอันตราย ลั่นต้องไม่มี เตือนอย่าดึงสถาบันฯ สู่ความขัดแย้ง เตือนให้จำ รายงานสถาบันพระปกเกล้าถูกลากไปใช้ล้างผิด ชี้ระแวงแล้วเกิดจริงสมควรระแวงหรือไม่ ย้ำประชามตินโยบายต้องชัดก่อน แนะทำเทียบ รธน.ฉบับอื่น หรือเสนอทางเลือกชัดเจน เตือนร่างใหม่ไม่สิ้นสุด แรงกดดันตีกลับ คสช.

วันนี้ (30 เม.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันปกป้องร่างรัฐธรรมนูญจากนักการเมืองที่ออกมาต่อต้านเพราะเสียประโยชน์ว่า ตนอยากให้ประธานกรรมาธิการฯ ใช้เหตุผลในการแลกเปลี่ยนกับผู้ที่แสดงความเห็น

“สิ่งที่ผมต้องการมากกว่า คือ คำชี้แจงในสามมาตราที่เป็นอันตรายกับประเทศชาติ และไม่เกี่ยวอะไรกับผลประโยชน์นักการเมืองเลย คือ มาตรา 181, 182 กับการให้อำนาจคณะกรรมการปรองดองฯ เสนอพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษให้แก่บุคคลที่ให้ข้อมูลหรือสำนึกผิดต่อคณะกรรมการฯ จะเป็นช่องทางนำไปสู่ความขัดแย้ง เป็นการเขียนที่ผิดปกติ สวนทางกับคำชี้แจงของประธานกรรมาธิการฯ ที่อ้างว่าเป็นการตราพระราชกฤษฎีกาในลักษณะทั่วไป แต่รัฐธรรมนูญที่ร่างเจาะจงให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรรมการปรองดองโดยตรง” นายอภิสิทธิ์กล่าว

อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า กรณีที่นายบวรศักดิ์อ้างว่าเป็นการเสนอพระราชกฤษฎีกาตามปกตินั้น ความจริงไม่ปกติ เพราะกระบวนการตราพระราชกฤษฎีกาตามปกติมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตราอื่นแล้ว คือ เป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์ แต่ที่เขียนใหม่ให้อำนาจกรรมการปรองดองและให้เป็นความรับผิดชอบของ ครม.ที่จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย โดยส่วนตัวมองว่าจะเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้ประเด็นเหล่านี้กลายเป็นประเด็นสาธารณะในขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ประกอบกับการเขียนเช่นนี้ถ้าบอกว่าเป็นเรื่องปกติก็ไม่จำเป็นต้องเขียน เว้นแต่ว่าการเสนอของกรรมการปรองดองจะไม่ทำตามแนวปฏิบัติที่เคยทำ เช่น ไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม อภัยโทษให้กับคนที่ทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งนี้ยืนยันว่าแม้ไม่มีมาตรานี้ก็ไม่เป็นอุปสรรคปัญหาในการทำงานเรื่องการปรองดอง

“ผมยากจะย้ำว่า งานของ คอป.และคณะกรรมการปฏิรูปที่ตั้งในสมัยตน เสร็จสิ้นหลังจากที่ผมพ้นจากตำแหน่งหรือในขณะที่พ้นตำแหน่งพอดี แต่มันไม่ได้สูญเปล่ามีกระบวนการทางการเมืองที่ต่อเนื่องอยู่ เพียงแต่รัฐบาลแต่ละชุดให้ความสำคัญไม่เหมือนกัน ไม่เช่นนั้นทุกวันนี้คงไม่มีการพูดเรื่องภาษีที่ดิน พ.ร.บ.จังหวัดจัดการตนเอง สิ่งที่ผมพยายามเสนอว่า ถ้าอยากทำปรองดองให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสมอย่าเปิดทางสร้างเงื่อนไขใหม่ จะบอกว่าตนระแวงเกินเหตุมั้ย ผมไม่ทราบท่านจำได้หรือเปล่าว่าวันที่มีการพยายามลากสถาบันพระปกเกล้าไปทำเรื่องนิรโทษกรรม ผมแสดงความเห็นค่อนข้างรุนแรงว่าจะนำไปสู่กฎหมายนิรโทษกรรมที่ทำให้เกิดความขัดแย้งแล้วก็เกิดขึ้นจริง ถ้าบอกว่านั่นเป็นความระแวง ผมก็บอกว่าเป็นความระแวงที่ในที่สุดพิสูจน์ออกมาว่าสมควรระแวง” นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า ขอให้นายบวรศักดิ์ตอบถึงเหตุผลความจำเป็นเพื่อช่วยกันทำให้รัฐธรรมนูญดีขึ้น มาตรา 181 และ 182 ที่ให้อำนาจนักการเมืองที่บ้าอำนาจ ตนไม่เห็นด้วยเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับประโยชน์ของนักการเมืองแต่เป็นประโยชน์ของความเหมาะสมในการถ่วงดุลและการรักษาหลักการตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติ

“ผมจึงขอว่าอย่าพูดรวม เพราะสามประเด็นที่ตนยกขึ้นมานั้นไม่ใช่ประโยชน์ของนักการเมือง ตรงกันข้ามจะเป็นประโยชน์เฉพาะนักการเมืองโกง และนักการเมืองที่บ้าอำนาจ จะบอกว่าพรรคใหญ่ประสานเสียงกันก็ไม่จริง เพราะไม่ได้ยินพรรคไหนพูดเรื่องอภัยโทษหรือการให้อำนาจพิเศษออกกฎหมายภายใน 48 ชั่วโมง ยืนยันได้ว่าถ้ามีบทบัญญัติแบบนี้กฎหมายนิรโทษกรรมก็คงผ่านโดยง่าย และผมก็ไม่เห็นพรรคการเมืองไหนพูดเรื่องนายกฯ เปิดญัตติอภิปรายไว้วางใจตัวเองได้ เพราะฉะนั้นกรุณาแยกแยะ เนื่องจากความน่าเชื่อถือที่จะมีต่อรัฐธรรมนูญในที่สุดอยู่ที่เหตุผลของกรรมาธิการฯ ถ้าเหตุผลไม่ชัดเจนสุดท้ายงานท่านจะสูญเปล่า ผมพูดด้วยความปรารถนาดีต่อบ้านเมืองไม่ใช่โจมตีหรือมีอคติกับผู้ร่าง แต่มีจุดอ่อนที่เป็นอันตรายเป็นหน้าที่ของผมที่ต้องท้วงติงจึงอยากให้ท่านตอบอย่างสร้างสรรค์ด้วย” นายอภิสิทธิ์กล่าว

ส่วนกรณีที่นายบวรศักดิ์อ้างว่าหาก ครม.ไม่เห็นชอบ หรือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่พระราชทานลงมาก็ถือว่าร่างพระราชกฤษฎีกาที่เสนอโดยคณะกรรมการปรองดองฯ จบไปนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า มีสองประเด็น คือ ในส่วนของ ครม.เขียนว่าก่อให้เกิดความรับผิดชอบต่อ ครม.จะมีปัญหาทางกฎหมายตามมาให้เป็นวิกฤตความขัดแย้งในประเทศอีกหรือไม่ และน่าสังเกตว่าเรื่องปฏิรูปเขียนชัดว่าถ้า ครม.ไม่เอาให้ประชาชนตัดสินผ่านกระบวนการประชามติ แต่เรื่องนี้ไม่เขียนบอกว่าก่อให้เกิดความรับผิดชอบต่อ ครม.เท่านั้น จึงอยากถามว่าไม่เป็นการสร้างความขัดแย้งขึ้นหรือ หาก ครม.ไม่ทำตาม

นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า กรณีองค์พระมหากษัตริย์ อยากถามนายบวรศักดิ์ว่าสมควรแล้วหรือ ถ้าเป็นพระราชอำนาจที่จะให้สถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาอยู่ในวังวนความขัดแย้งทางการเมือง จึงอยากให้รับฟังเหตุผล ตนไม่ได้ตำหนิ แม้ว่าอาจมองคนละมุมแต่ไม่ควรมองข้ามเรื่องที่ตนและนักวิชาการออกมาเตือน ไม่มีพรรคการเมืองอื่นพูดเรื่องนี้เลย

เมื่อถามว่า กรรมาธิการฯ มีธงเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นหรือไม่เพราะตอนหลังเริ่มพูดว่าให้รัฐธรรมนูญใช้ไปก่อน 5 ปีแล้วค่อยแก้ไข ซึ่งตรงกับวาระที่กำหนดในภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดองพอดี นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า บางเรื่องอาจถกเถียงกันได้ว่าใช้แล้วจะเป็นผลอย่างไร โดยเฉพาะบทบัญญัติที่เกี่ยวกับกระบวนการทำงานทางการเมือง แต่บางเรื่องที่ตนทักท้วงหากใช้ในทางที่ผิดเพียงครั้งเดียว ความเสียหายใหญ่หลวงกว่าที่จะบอกว่าไม่เป็นไรรอหลังจากนั้นแล้วค่อยมาแก้ไข ถ้าอยากลองใช้บางเรื่องเช่นระบบเลือกตั้ง ก็ทำได้ แต่เรื่องที่เปิดโอกาสให้เกิดความขัดแย้งวิกฤตในบ้านเมืองกรุณาอย่าเอาประเทศไปเสี่ยง ทั้งนี้เห็นว่าท่าทีของกรรมาธิการฯในช่วงแรกก็บอกว่าพร้อมรับฟังความเห็น แต่แปลกใจว่าเริ่มใช้วิธีมุ่งโจมตีคนเห็นต่าง ทั้งๆ ที่ถ้าตนจะทำบ้างก็ทำได้ แต่เห็นว่าไม่สร้างสรรค์ สวนทางกับที่ คสช.หรือ สปช.หรือกรรมาธิการยกร่างฯ อ้างเสมอว่าทำไมไม่เอาเรื่องสาระมาเพื่อนำพาบ้านเมืองไปข้างหน้า

ส่วนกรณีที่กรรมาธิการฯ ระบุว่า ในวันที่ 6 มิถุนายนนี้จะเชิญตัวแทนจาก 10 พรรคการเมืองที่มี ส.ส.ในสภาครั้งที่ผ่านมาไปเสนอความเห็นต่อกรรมาธิการฯ นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว เห็นแต่ที่ให้ส่งเอกสารไป หากมีการเชิญมาจริงตนพร้อมที่จะไปด้วยตัวเอง โดยไม่คิดตำหนิใคร เพราะเห็นใจว่าคงเครียดเนื่องจากโดนหลายทาง แต่น่าจะใช้โอกาสนี้ทำให้กระบวนการเปิดกว้างและเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ถ้าจะชวนคนทะเลาะมีคนพร้อมทะเลาะเยอะไปหมด ไม่เป็นผลดีต่อบ้านเมือง อย่าทำเลย เพราะตนให้ความร่วมมือเต็มที่ แต่แปลกใจว่าข้อท้วงติงที่เป็นเหตุเป็นผลไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์นักการเมือง ทำไมจึงใช้วิธีแบบนี้ตอบโต้ ตนจึงเป็นห่วงว่าถ้าเดินไปแบบนี้สุดท้ายรัฐธรรมนูญจะเจอปัญหาและชนวนความขัดแย้ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องนิรโทษกรรมจะกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำไม่ได้ในรัฐบาลเลือกตั้ง แต่ทำได้ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า นายกฯก็บอกว่าไม่ทำ แต่ถ้าร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านไปก็ไม่ทราบใครจะเป็นคนได้ใช้ ได้ทำ แต่มีคำถามว่าสังคมผ่านวิกฤตสองปีด้วยเหตุจากการพยายามออกกฎหมายนิรโทษกรรม ทำไมจึงจะย้อนกลับไปสู่สถานการณ์เดิม วันนี้ให้นิรโทษกรรมประชาชนที่ไปชุมนุมฝ่าฝืนกฎหมายพิเศษทุกกลุ่มเลย ไม่มีใครคัดค้านแม้แต่คนเดียว จะได้เลิกเอาเรื่องนิรโทษกรรมมาเป็นข้ออ้างโดยเอาประชาชนผู้บริสุทธิ์มาเป็นตัวประกันที่จะพ่วงกับแกนนำและคนโกง ถ้าทำก็ไม่ต้องระแวง แต่ไม่ทำ ทำไมจึงต้องย้อนไปเปิดประตูที่มาของวิกฤตครั้งที่แล้วให้กลับมาอีกรอบ

นายอภิสิทธิ์ยังฝากถึง คสช.และครม.ที่มีสิทธิ์แปรญัตติร่างรัฐธรรมนูญต่อกรรมาธิการยกร่างฯ ว่า อยากให้เสนอแก้ไขสามมาตราที่ตนหยิบยกขึ้นมาและอยากให้ฟังเหตุผลในเรื่องอื่นๆ อย่าเอาประโยชน์นักการเมืองมาพิจารณา แต่ให้ฟังที่เหตุผลแม้จะเป็นคำพูดของนักการเมือง ขอให้ห่วงการเมือง ห่วงระบบบ้านเมือง เพราะฉะนั้นอย่ามาตอบโต้อีกว่านักการเมืองมีปัญหา เพราะนักการเมืองที่โกงไม่ต่อต้านเรื่องนี้ แต่นักการเมืองที่ไม่โกงต่างหากที่ออกมาพูด ขอให้ฟังบ้าง ไม่อยากให้กลายเป็นการมาทะเลาะกันในอนาคต ตนอยากให้จบไม่ใช่มาเถียงเรื่องรัฐธรรมนูญอีก แต่เดินหน้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ ระบบสวัสดิการ รับมือกับสังคมผู้สูงอายุ และอาเซียน ไม่ใช่มาขัดแย้งเรื่องแก้รัฐธรรมนูญอีก บ้านเมืองจะได้เดินไปข้างหน้า

ส่วนกรณีที่นายกฯ บอกว่าการทำประชามติเป็นเรื่องของกรรมาธิการฯกับ สปช.จะตัดสินใจนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คนที่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ คือ คสช.และครม.จะต้องเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ให้มีการทำประชามติได้ก่อน แต่ต้องมีความชัดเจนเรื่องนโยบายก่อนว่าอยากให้มีประชามติหรือไม่ ถ้าอยากให้มีก็แก้กฎหมาย แต่ถ้าไม่อยากให้มีก็ต้องบอกว่าไม่อยากให้มี เพียงแต่ผู้เสนอให้ทำประชามติเห็นว่าจะช่วยลดความขัดแย้งในการใช้รัฐธรรมนูญได้

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คสช.เข้ามาเมื่อเข้าสู่ระยะที่สามออกไปแล้วคงไม่อยากเห็นว่าต้องมาทะเลาะ มารื้อ มาแก้รัฐธรรมนูญอีก จึงอยากให้สร้างกระบวนการที่สร้างความมั่นใจว่าจะทำให้ดีเพื่อบ้านเมืองเดินหน้าได้ ถ้าจะทำประชามติไม่ว่าก่อนหรือหลังลงมติก็สามารถทำได้ทั้งสองอย่าง คือ ถ้าทำหลังการลงมติ สปช.ก็เท่ากับผ่านสองด่านคือ สปช.แล้วไปประชามติ และผมยืดหยุ่นถ้าเห็นว่าข้อเสนอที่ให้เทียบกับรัฐธรรมนูญปี 50 ยังไม่ดีก็ให้คิดทางเลือกแต่ต้องมีเป้าหมายว่าก่อนมีกติกาไปใช้เป็นกติกาที่ประชาชนยอมรับ จะได้ไม่มีข้อขัดแย้ง จึงควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งไปเปรียบเทียบด้วยจะดีที่สุด หรือบอกให้ชัดว่าถ้าไม่รับแล้วจะทำอะไร เพราะไม่อยากคาดคั้นว่าต้องทำอะไร

“ถ้าใช้วิธีไม่ผ่านร่างใหม่ก็อยากให้กระบวนการร่างชัดเจนเพราะถ้าไม่จบไม่สิ้นก็ไม่เป็นผลดีกับทุกฝ่าย แรงกดดันจะกลับมาที่ตัวท่านเอง อาจจะช่วยกันคิดว่าถ้าจะร่างใหม่ทำอย่างไรไม่ให้ซ้ำรอยเดิม ผมยืนยันว่าอยากให้กติกาดีมากกว่ารีบเลือกตั้งภายใต้กติกาที่สร้างปัญหาบ้านเมือง ถ้าจุดยืนอย่างนี้ยังบอกว่านักการเมืองคิดแต่ประโยชน์ตัวเองก็ไม่รู้จะว่าอะไรแล้ว เพราะบอกเลยว่าไม่รีบร้อนที่จะกลับเข้าสู่อำนาจการเป็น ส.ส.หรืออะไรเลยแต่ต้องการกติกาที่ดีสำหรับบ้านเมือง” นายอภิสิทธิ์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น