xs
xsm
sm
md
lg

“บวรศักดิ์” สวน “มาร์ค” ระแวงเกินเหตุ เหน็บถ้ายุค ปชป.ปรองดองสำเร็จคงไม่มีวันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประธาน กมธ.ยกร่างฯ เปิดปฏิทินเลือกตั้ง เร็วสุด ก.พ. 58 ถ้าทำประชามติเลื่อนไปอีก 3 เดือน ย้ำพร้อมปรับปรุงร่าง รธน.ถ้ามีเหตุผลพอ สวน “อภิสิทธิ์” ระแวงเกินเหตุ ยันคณะกรรมการปรองดองภาค 4 ไม่สร้างความขัดแย้ง ย้อนถ้ายุค “มาร์ค” ปฏิรูปสร้างความปรองดองตามที่ คปท.เสนอสำเร็จก็ไม่ต้องมี ชี้บ้านเมืองปั่นป่วนเพราะรัฐบาลจากการเลือกตั้งไม่ปฏิรูปประเทศ เพราะเป็นคู่ขัดแย้ง เชื่อสุดท้ายร่าง รธน.จะจบลงด้วยการทำประชามติ เพราะพวกที่คัดค้านมีแต่นักการเมือง

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ปาถกฐาพิเศษเรื่อง “ประเด็นเด่นพลเมืองเป็นใหญ่ในรัฐธรรมนูญ” ในงานสัมมนาของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ การรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อกำหนดทิศทางการคุ้มครองผู้บริโภค โดยระบุในตอนหนึ่งยอมรับว่า ในร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ได้ลืมประเด็นนี้ไป แต่ได้มีการดำเนินการร่างไว้ในร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกที่ผ่านการอภิปรายของ สปช.ไปแล้ว

ทั้งนี้ ร่างรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ที่จะสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ โดยกรรมาธิการมีเวลา 60 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. - 23 ก.ค. 58 ซึ่งร่างสุดท้ายที่จะไม่มีการแก้ไขคือร่างวันที่ 23 ก.ค. 58 โดยอาจมีการปรับปรุงแก้ไขจากร่างแรกได้อีก สปช.มีหน้าที่ลงมติทั้งร่างไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อหาได้เว้นแต่เป็นการเขียนผิดที่ไม่เกี่ยวกับสาระสำคัญหรือหลักการ โดยในวันที่ 6 สิงหาคม 2558 สปช.จะลงมติ แปลว่าในร่างรัฐธรรมนูญตามบทเฉพาะกาลกำหนดให้ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายภายใน 30 วันก็จะจบวันที่ 4 กันยายน 2558 หากพระราชทานมาในวันที่ 5 กันยายน 2558 คณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะต้องร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับส่งให้ สนช.ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ประกอบด้วย พ.ร.บ.เลือกตั้ง, พ.ร.บ.กกต. และพ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ จากนั้นจัดการเลือกตั้งภายใน 90 วัน คือหลังใช้รัฐธรรมนูญแล้วการเลือกตั้งจะเกิดภายใน 5 เดือน หรือประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2559 แต่ถ้ามีประชามติต้องบวกไปอีก 3 เดือนจะมีการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม 2559

อย่างไรก็ตาม อำนาจใจการทำประชามติเป็นของ คสช.และคณะรัฐมนตรี เพราะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ซึ่งควรทำก่อนวันที่ 6 สิงหาคม 2558 ก่อนที่ สปช.จะลงมติ โดยยืนยันว่ากรรมาธิการฯพร้อมปรับปรุงแก้ไขหากการแปรญัตติมีเหตุผลแต่ถ้าไม่มีก็ไม่ปรับแก้ซึ่งเป็นกระบวนการตามปกติ โดยยึดเจตนารมณ์ “สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ การเมืองใสสะอาดและสมดุล หนุนสังคมที่เป็นธรรม และนำชาติสู่สันติสุข"

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ประเทศไทยใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 จนเกิดความขัดแย้งในปี 2548 จากการปลดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ จนพัฒนาเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มเสื้อแดง เกิดสงครามตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ มีการประเมินความเสียหายคือ การชุมนุมปิดถนน สถานที่ตั้งแต่ปี 2549 ชุมนุมถึง 2 ปี เสียชีวิตร้อยกว่าคน บาดเจ็บ 3 พันกว่าคน ไม่นับความเสียหายทางเศรษฐกิจรวม 2 ล้านล้านบาท

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตั้งคณะกรรมการ 3 ชุด คือ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน, สมัชชาปฏิรูป มี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน และคณะกรรมการอิสระเพื่อความปรองดองฯ มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน โดยทำรายงานออกมาแต่อยู่บนหิ้งไม่มีใครเอาไปทำจนเกิดเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม คนออกมาประท้วงเป็นล้านเรียกร้องให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง กระทั้งรัฐบาลยุบสภาก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ จึงมีการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 57 เพื่อยุติความขัดแย้งและเดินหน้าเรื่องการปฏิรูปประเทศ

“ผมเรียกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าฉบับปฏิรูป แก้ปัญหาอดีต 2 ข้อ คือ นำชาติสู่สันติสุข ทำการเมืองให้ใสสะอาดและสมดุล เพราะที่ผ่านมาพรรคการเมืองใหญ่แย่งชิงอำนาจเมื่อพรรคใดเป็นรัฐบาลอีกพรรคหนึ่งก็ลงบนท้องถนน จึงต้องกำหนดภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง นายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ว่าคณะกรรมการปรองดองจะสร้างความขัดแย้ง ต้องบอกว่าถ้า คอป.ที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ตั้งขึ้นมาประสบความสำเร็จคงไม่จำเป็นต้องมีคณะกรรมการปรองดองในภาค 4 ซึ่งมีเวลาแค่ 5 ปีเท่านั้น เว้นแต่จะมีการทำประชามติต่ออีก 5 ปี จากนั้นก็สิ้นสภาพ ซึ่งกำหนดไว้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเกี้ยเซี๊ยะ สร้างความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านพูดคุยแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่างและหาข้อเท็จจริงว่าอะไรเกิดขึ้น คนทำผิดรุนแรงต้องถูกดำเนินคดี ใครให้ข้อเท็จจริงเป็นประโยชน์ไม่ทำผิดรุนแรงได้รับการให้อภัยโทษ”

ประธาน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า การตีความอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการปรองดองฯว่าจะมีการหมกเม็ดตราพระราชกฤษฎีกาให้ประโยชน์กับคนใดคนหนึ่ง ทั้งที่ความจริงกฎหมายจะต้องมีลักษณะทั่วไป กำหนดเงื่อนไขว่าใครที่จะให้ความจริงเป็นประโยชน์ แสดงความสำนึกผิด ส่วนการอภัยโทษจะต้องทำผ่านขั้นตอนปกติจากรัฐบาลไปถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถ้ารัฐบาลไม่ผ่านก็จบ หรือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่พระราชทานลงมาก็จบ ไม่มีการระบุชื่อคนในกฎหมาย ดังนั้นอำนาจในการเสนอพระราชกฤษฎีกาของคณะกรรมการปรองดองจึงเหมือนกับพระราชกฤษฎีกาทั่วไปในอดีต

“เมืองไทยระแวงเกินสมควร และมีการกล่าวหาโดยไม่ซักถาม การสร้างความปรองดองไม่จำเป็นต้องเขียน ถ้า คอป.ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ประสบความสำเร็จ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะรัฐบาลเป็นคู่ขัดแย้ง ขอให้สื่อมวลชนนำไปโค้ตเลยว่าผมตอบแบบนี้”

นายบวรศักดิ์กล่าวถึงการสร้างการเมืองที่ใสสะอาดและสมดุล ต้องการสร้างพรรคการเมืองที่ดีของสมาชิกไม่ใช่ของหัวหน้าพรรคที่เป็นทุนใหญ่ พร้อมกับอ้างว่าเหตุพฤษภาทมิฬ เกิดจากบังคับให้ ส.ส.สังกัดพรรค เช่นเดียวกับกรณีกฎหมายนิรโทษกรรม หากไม่มีการบังคับ ส.ส.อาจไม่ลงมติเพราะกลัวเสียคะแนน

“ถ้าหัวหน้าพรรคสั่งซ้ายหันขวาหันได้ บางพรรคหนักข้อกว่านั้นให้กรรมการบริหารพรรคที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งบังคับ ส.ส.ที่เป็นตัวแทนประชาชนได้ ร่างรัฐธรรมนูญนี้จึงต้องการให้พรรคการเมืองเป็นประชาธิปไตย มีสมัชชาคุณธรรมคอยกำกับ และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ”

ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ยังยืนยันด้วยว่า การเขียนร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาไม่ได้เกิดจากการมโน เพราะที่ผ่านมาชัดเจนว่ารัฐบาลเลือกตั้งไม่ปฏิรูปประเทศ จะเห็นได้จากงานของทั้งนายอานันท์ กับ นพ.ประเวศ ล้วนถูกทิ้งอยู่บนหิ้งไม่มีใครนำไปปฏิบัติตาม จึงจำเป็นต้องมีสภาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การปฏิรูป และเชื่อว่าสุดท้ายร่างรัฐธรรมนูญนี้อาจจบที่การทำประชามติ เพราะคนที่คัดค้านมีแต่ฝ่ายการเมืองเท่านั้น















กำลังโหลดความคิดเห็น