เปิดร่าง “สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ” หลัง “ประธานคณะกรรมการปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาล” ปัดไม่เกี่ยว กมธ.ยกร่าง รธน.ยุบ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน-กสม.” จับตาเย็นนี้ สปช.ให้ความเห็นชอบก่อนชง ครม.-สนช.
วันนี้ (2 มี.ค.) มีรายงานข่าวว่า เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าวันที่ 2 มี.ค.นี้จะมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ... เพื่อตั้งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ให้ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานจริยธรรมของผู้บริหาร, ข้าราชการ, นักการเมือง และตรวจสอบการกระทำผิดตามมาตรฐานจริยธรรม ขอความเห็นชอบต่อสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
ขณะที่ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาล ยืนยันว่าจะส่งรายงานและร่าง พ.ร.บ.สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาและเสนอเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้พิจารณาและตราเป็นกฎหมายเพื่อบังคับใช้
สำหรับสาระสำคัญของการมีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ให้เป็นองค์กรอิสระ โดยมีแนวทางการปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลมี 3 ประเด็น ประกอบด้วย
1. การจัดตั้งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ให้เป็นองค์กรตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)
2. ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และให้ศูนย์คุณธรรมจัดตั้งตาม พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์คุณธรรม(องค์การมหาชน) พ.ศ. 2554 มาเป็นองค์กรตาม พ.ร.บ.นี้
3. แนวทางสนับสนุนให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระตามกฎหมายขึ้นมาในจังหวะหนึ่งเสียก่อนโดยไม่ต้องรอรัฐธรรมนูญ เพื่อดำเนินกระบวนการรณรงค์ทางสังคม เพื่อฟื้นฟูคุณธรรมจริยธรรม และธรรมภิบาลอย่างกว้างขวางก่อนที่บ้านเมืองจะกลับคืนสู่สภาวะการเมืองปกติ และต่อเมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้ว หากเห็นว่าสมควรให้เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญจึงยกฐานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญต่อไป
สำหรับขั้นตอนในการจัดตั้งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาตินั้นมี 3 ขั้นตอน คือ
1. ให้มี พ.ร.บ.สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ... และจัดตั้งองค์กรขึ้นตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวชื่อว่า “สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ”
2. ให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และให้ศูนย์คุณธรรมจัดตั้งตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2554
3. กำหนดแหล่งที่มาของทุน รายได้ และทรัพย์สิน สำหรับการดำเนินกิจการตาม พ.ร.บ.ประกอบด้วย
3.1 เงินและทรัพย์สินที่โอนมาจากศูนย์
3.2 เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐจัดสรรให้รายปี
3.3 เงินอุดหนุนจากภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นทั้งจากต่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ หรือเงิน หรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้
3.4 รายได้จากการดำเนินงาน
3.5. ดอกผลของเงินหรือสินทรัพย์ตาม (1)-(4)
ขณะที่ในส่วนของโครงสร้างและองค์ประกอบของสมัชชาคุณธรรมแห่งชาตินั้นประกอบด้วย 5 กลไก ได้แก่
1. คณะมนตรีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ จำนวน 5 คนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากบุคคลที่เป็นแบบอย่างและได้รับความเชื่อถือว่าเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งคุณธรรมจริยธรรม เป็นผู้มีวัยวุฒิและคุณวุฒิเหมาะสม เป็นผู้มีผลงานและจริยวัตรที่ประจักษ์ยึดมั่นทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และมีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมเป็นที่ยอมรับ ทั้งนี้ คณะมนตรีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติมีวาระในการปฏิบัติตามภารกิจ 6 ปี ไม่จำกัดวาระการปฏิบัติหน้าที่
2. สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ องค์กรรวมของผู้ประกอบพันธกิจด้านคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลประกอบด้วยสมาชิกประจำที่สรรหามาจากกลุ่มผู้แทนเครือข่ายองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ภาคประชาชนจำนวนไม่น้อยกว่า 55 คน
สมาชิกสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติต้องเป็นบุคคลที่ไม่มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ มีคุณสมบัติตามคุณลักษณะที่สำคัญ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้สมาชิกต้องมาจากหลากหลายวงการและวิชาชีพ เป็นผู้ทรงปัญญา ได้รับการยกย่องนับถือหรือได้รับรางวัลด้านคุณธรรมจริยธรรม รวมทั้งไม่มีประวัติด่างพร้อยในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน
3. ที่ประชุมสมัชชาคุณธรรม (Forum) เป็นเวทีที่การประชุมใหญ่ของเครือข่ายบุคคลและองค์กรด้านส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมและธรรมาภิบาลรวมทั้งประกาศเจตนารมณ์การดำเนินการร่วมกันเพื่อสร้างความตื่นตัวของพลเมือง
4. คณะกรรมการบริหารสำนักงาน (Board) ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เกิน 11 คน ซึ่งคณะมนตรีฯ เป็นผู้คัดเลือกแต่งตั้ง ให้ทำหน้าที่อำนวยการและดูแลการปฏิบัติการของสำนักงานคุณธรรม
5. สำนักงานคุณธรรมจริยธรรมและธรรมาภิบาลแห่งชาติ ทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานของคณะมนตรี และสมาชิกสมัชชาคุณธรรมฯ ตามอำนาจหน้าที่ให้เกิดประสิทธิผล รวมทั้งจัดทำข้อมูลข้อเท็จจริงและการจัดตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้แก่สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ให้สมัชชาคุณธรรมมีอำนาจในการสอบทานการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรมของบุคคล และธรรมาภิบาลขององค์กรต่างๆ และเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะได้โดยได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
สรุป เพื่อทำหน้าที่กำหนดมาตราฐานจริยธรรมและคุณธรรมธรรมของข้าราชการ ผู้บริหาร นักการเมือง และมีหน้าที่ตรวจสอบเรื่องตามการร้องเรียนจะเป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้ภาคสังคมและประชาชนได้เกิดความตระหนักในพฤติกรรมดังกล่าวและปรับให้เป็นกระบวนการและมาตรการโซเชียลแซง์ชันในอนาคตได้ และเมื่อเสริมเข้ากับกระบวนการพิจารณาทางกฎหมายที่มีความเข้มแข็ง เชื่อว่าจะเป็นทางออกของปัญหาจริยธรรม คุณธรรม และธรรมาภิบาลที่เกิดขึ้นในอดีตได้
“ผมเชื่อว่าสมัชชาคุณธรรมจะไม่ใช่แค่เสือกระดาษ เพราะกระบวนการเอาผิด หรือลงโทษผู้ที่ถูกตรวจสอบจริยธรรม คุณธรรม และธรรมาภิบาลโดยสมัชชาคุณธรรมจะถูกส่งต่อไปยังหัวหน้าหน่วยงานที่กำกับบุคคลที่ถูกตรวจสอบ เช่น นักการเมือง จะส่งต่อไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ขณะเดียวกันรายงานการตรวจสอบนั้นจะมีการเผยแพร่สู่สาธารณะให้สังคมได้รับทราบเป็นการทั่วไปด้วย” นพ.พลเดชกล่าว
ส่วนกรณีการตั้งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ มีผู้วิจารณ์ว่านำไปสู่ การยุบผู้ตรวจการแผ่นดินรวมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อให้มีที่ว่างสำหรับองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
นพ.พลเดชเห็นว่า “ในหลักการตนมองว่าการมีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติเพื่อทำหน้าที่แม้จะคล้ายคลึงกับผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ลักษณะโครงสร้างและการทำงานจะมีความเข้มแข็งและมีคุณภาพมากกว่าในประเด็นการตัดสินใจเรื่องที่มีการร้องเรียน โดยเฉพาะความมีอคติในการตัดสินใจ เพราะผู้ตรวจการแผ่นดิน มีจำนวน 3 คน แต่สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติจะมีผู้ที่ดำเนินการตรวจสอบและลงคะแนนด้วยสมาชิกขั้นต่ำ 55 คน”
อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าหากผู้ตรวจการแผ่นดินยังเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเชื่อว่าจะเสริมงานสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติให้ได้ดียิ่งขึ้น แต่หากไม่มีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติสามารถทำงานได้โดยการประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น วัด เป็นต้น ขณะที่มีการกล่าวถึงว่าสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ควรยกระดับองค์กรและทำเป็น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวมองว่าอาจไม่จำเป็นเพราะการมีกฎหมายให้มีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติที่ทำงานอย่างอิสระก็เพียงพอแล้ว
รายงานข่าวระบุว่า การตั้ง “สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ” ขึ้นในสังคมการเมืองไทย ถือเป็นประเด็นใหม่ ซึ่งล่าสุดคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้เขียนบทบัญญัติดังกล่าวไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2558 เพื่อมาทำหน้าที่ในการตรวจสอบ ถอดถอนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. และ ส.ว.ที่ทำผิดจริยธรรมร้ายแรง
อีกด้าน เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ ออกแถลงการณ์ ไม่เห็นด้วย หลังกมธ.ยกร่างฯ ตั้งคณะทำงานศึกษาจะยุบรวมผู้ตรวจการแผ่นดิน เนื่องจากเห็นว่า อาจมีอำนาจหน้าที่ซ้ำซ้อนกัน
ขณะที่ในเว็บไซต์ “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” ได้เผยแพร่บทความถามตอบเเรื่อง สิทธิมนุษยชน : ยุบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก้าวหน้า..ฤๅ..ถอยหลังเข้าคลอง?
ถาม : การที่คณะอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกรอบที่ 3 ว่าด้วยองค์กรตรวจสอบอิสระและศาล สภาร่างรัฐธรรมนูญ มีแนวความคิดที่จะยุบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติรวมกับผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภานั้น จะทำให้การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนดีขึ้นหรือไม่
ตอบ : แนวความคิดที่จะยุบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เป็นความคิดที่ถอยหลังเข้าคลองเป็นอย่างยิ่ง เพราะภารกิจบทบาทอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภานั้น หากศึกษาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกัน สำหรับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีหน้าที่ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนษยชน เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี ส่งเสริมการศึกษาสนับสนุนการวิจัยและการเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา มีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนหรือร้องทุกข์จากประชาชน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่ปฎิบัติตามกฎหมาย หรือปฎิบัติตามกฎหมายแต่สร้างความเสียหายแก่ประชาชนโดยไม่เป็นธรรม
โดยสรุปแล้วคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีขอบเขตตามหลักสิทธิมนุษยชนที่กว้างขวางลึกซึ้ง ในบางครั้งถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐหรือเอกชน จะปฎิบัติตามกฎหมายก็อาจจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ได้ และการส่งเสริมและตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นต้องสำหรับคนทุกคน มิใช่เพียงเจ้าหน้าที่รัฐท่านั้น เอกชนต่อเอกชนก็ต้องส่งเสริมให้มีการปฎิบัติต่อกันเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน
คนส่วนหนึ่งอาจจะเข้าใจว่าทั้งสององค์กรนี้คล้ายๆกัน ข้อถกเถียงนี้หากเราทำการบ้านกันสักนิด ศึกษาข้อถกเถียงที่ถูกบันทึกไว้ในขณะร่างรัฐธรรมนูญ 2540 เราคงไม่ต้องมาเสียเวลาเปิดประเด็นข้อถกเถียงกันใหม่ เพราะในขณะนั้นได้ถกเถียงกันอย่างขวางขวางครอบคลุมในหลายประเด็น และมีหลายประเทศที่ป็นเช่นเดียวกับประเทศไทยที่มีทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา อาทิ ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศเซ้าอีสเอเซีย ประเทศแคนาดา เป็นต้น ดังนั้นข้อเสนอแนวความคิดในการควบรวม หรือยุบคณะกรรมการสิทธินั้นไม่มีเหตุผลที่เหมาะสมแต่อย่างใด ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาอาจมีข้อวิพากษ์วิจารณ์คณะกรรมการสิทธิอยู่บ้างเช่น ไม่มีอำนาจในการบังคับหรือให้ความสำคัญกับการตรวจสอบกรณีย่อยๆมากเกินไป จนไม่ได้ให้ความสำคัญกับการนำเสนอให้มีการปฎิรูประบบเช่น กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเป็นต้น ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่รัฐธรรมนูญใหม่ควรเพิ่มอำนาจให้กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติโดยเฉพาะอำนาจในการฟ้องแทนผู้ถูกละเมิด
โดยล่าสุด การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กำลังเข้าสู่การพิจารณารายงานศึกษา เรื่องสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติและร่างพระราชบัญญัติสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ. .... ของคณะกรรมการการปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ พิจารณาเสร็จแล้ว
ขณะที่ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล ได้ชี้แจงหลักการและเหตุผล คือ เป็นหลักในการส่งเสริมให้คนดีได้ปกครองบ้านเมืองและควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ หรือเข้ามาก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้ อีกทั้งยังมีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของหลักนิติธรรม และการสร้างเสริมคุณธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาลในทุกระดับ โดยให้สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติเป็นองค์กรตามพระราชบัญญัติ ให้มีอำนาจหน้าที่กำหนดมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรมของบุคคลและมาตรฐานขององค์กรตามที่กฎหมายกำหนด