xs
xsm
sm
md
lg

สปช.ผ่านร่าง พ.ร.บ.สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ดำเนินการทันทีไม่ต้องรอรัฐธรรมนูญใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้ม
สปช. 217 เสียง เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ส่งต่อ ครม. - สนช. พิจารณา สมาชิกเสนอเร่งดำเนินการทันทีไม่ต้องรอ รธน. ใหม่ หลายคนห่วงอำนาจลอยเหมือนยักษ์ไร้กระบอง ควรเพิ่มสภาพบังคับให้เข้มขึ้น ติงวาระ 6 ปียาวนานเกิน



วันนี้ (2 มี.ค.) การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมี น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยมีระเบียบวาระการประชุมที่สำคัญ คือ รายงานพิจารณาศึกษา เรื่อง สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติและร่างพระราชบัญญัติ สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ.... ของคณะกรรมการการปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ พิจารณาเสร็จแล้ว

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาล สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้กล่าวเสนอรายงานดังกล่าวต่อที่ประชุมฯ ว่า คณะกรรมการได้นำข้อห่วงใยของสมาชิกจากการรับหลักการครั้งที่ผ่านมามาศึกษา และปรับแก้เป็นรายงานนำเสนอ สปช. ฉบับที่ 2 โดยวันนี้ที่ประชุมจะเปิดลงมติรับรอง หรือไม่รับรอง ใน 3 ประเด็น ก่อนส่งไปยังคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทั้งนี้ อำนาจหน้าที่ของสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ในการกำหนดมาตรฐานคุณธรรม จริยธรรม ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และผู้บริหารระดับสูงของทุกองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐ ซึ่งหลังจากนี้สามารถตั้งสมัชชาคุณธรรมได้ทันที โดยไม่ต้องรอการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ รวมทั้งไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายลูกออกมารองรับ เพราะการจัดตั้งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ เป็นไปตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวอยู่แล้ว

ต่อมา นายสิน สื่อสวน ผอ.ศูนย์คุณธรรม ได้ชี้แจงถึงหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ว่า โดยเป็นการสมควรกำหนดให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของหลักนิติธรรม และการสร้างคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลในทุกภาคส่วน และทุกระดับให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งกลไกดังกล่าว เพื่อวางมาตรฐานคุณธรรม จริยธรรมของบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ กรรมการ หรือผู้บริหารองค์กรเอกชนที่ทำธุรกรรมกับรัฐ กำหนดมาตรฐานธรรมาภิบาลของหน่วยงานของรัฐทุกประเภท และหน่วยงานเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับภาครัฐ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีสอบทานหรือไต่สวนการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานคุณธรรม จริยธรรม หรือธรรมาภิบาลของบุคคลและหน่วยงาน ตลอดจนพัฒนาและบริหารองค์ความรู้ด้านคุณธรรมและความดี ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนและประสานความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งทางวิชาการและนวัตกรรมในกระบวนการพัฒนาคุณธรรมความดีในรูปแบบต่างๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว โดยจะมีการยกเลิก พ.ร.ฎ.จัดตั้งศูนย์คุณธรรม (องค์กรมหาชน) พ.ศ. 2554 แล้วจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ที่จะสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติแทน มีการจัดตั้ง “คณะมนตรีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ” ประกอบด้วย ประธานกรรมการ 1 คน และกรรมการอื่นอีก 4 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากบุคคลผู้เป็นแบบอย่างและได้รับความเชื่อถือทรงไว้ซึ่งคุณธรรมจริยธรรมความรู้ ความสามารถเป็นที่ประจักษ์ในการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล โดยคณะกรรมการมีหน้าที่สำคัญ คือ กำหนดมาตรฐานจริยธรรม คุณธรรม ธรรมาภิบาล กำกับและสอบทานให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลและเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ กรณีที่มีผู้ฝ่าฝืนหรือกระทำผิดตามมาตรฐาน กรรมการชุดนี้จะได้รับค่าตอบแทนและผลประโยชน์เฉพาะเบี้ยประชุมและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นโดยไม่มีค่าตอบแทนรายเดือน โดยมีคณะกรรมาการสรรหาคณะมนตรีฯ มีจำนวน 11 คน เช่น ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรี บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกจำนวน 1 คน ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 6 ปี กำหนดให้มี “ที่ประชุมสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ” ประกอบด้วยผู้แทนเครือข่ายของภาคประชาสังคม เอกชน องค์กรภาครัฐ ไม่น้อยกว่า 55 คน โดยต้องไม่มีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด

จากนั้น สมาชิกฯ ได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งมีเสียงสนับสนุนต่อร่างกฎหมายดังกล่าว โดยเห็นว่า ควรรีบส่งรายงานและร่างกฎหมายไปยังผู้เกี่ยวข้อง เช่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี โดยไม่ต้องรอบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อการดำเนินการที่รวดเร็ว ก็จะเป็นพื้นฐานที่มั่นคงในการปฏิรูปประเทศต่อไป ส่วนในประเด็นคุณสมบัติของคณะมนตรีฯ และที่ประชุมสมัชชาคุณธรรมฯ ทางสมาชิกฯ เห็นว่า น่าจะมีการแก้ไขในหลายประเด็น เช่น คณะมนตรีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ที่ระบุให้ ส.ว. แนะนำบุคคลทีได้รับความน่าเชื่อถือนั้น ควรใช้คำว่า มีข้อมูลโดยประจักษ์ จะชัดเจน หนักแน่นมากกว่าความเชื่อถือ หรือมีคุณสมบัติต้องห้ามนั้น ควรจะมีคำว่า เคยถูกชี้มูลว่าบกพร่องทางด้านคุณธรรม และ ให้ควรรวมถึงความบกพร่องคุณธรรม จริยธรรมด้วย ไม่ควรบกพร่องเฉพาะด้านทุจริตเท่านั้น และสมาชิกในสมัชชาฯ ควรกระจายไปยังทั่วประเทศ ไม่จำกัดเฉพาะแค่ในส่วนกลาง และอำนาจหน้าที่ของสมัชชาฯ ยังเปรียบเสมือนยักษ์ไม่มีกระบอง เพราะถ้าวินิจฉัยแค่เรื่องคุณธรรมสภาพบังคับจะน้อยมาก หน่วยงานตามกฎหมายจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งสมควรให้มีกำหนดสภาพบังคับมากขึ้น อย่างน้อยต้องชี้มูลความผิดให้เห็นระดับความร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรงไว้ด้วย

อีกทั้งไม่ควรเขียนเนื้อหารายละเอียดในกฎหมายมากเกินไปจนกลายเป็นการผูกมัด และทำงานได้ลำบาก และจะเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดีได้ ในส่วนของคณะมนตรีฯ จำนวน 5 คน มีสมาชิกบางคนเห็นว่า อาจจะน้อยไป จึงขอเสนอให้เป็น 9 คน อีกทั้งการทำงานไม่ควรทำแบบองค์กรอิสระที่แยกส่วนกันพิจารณาแต่ต้องร่วมกันพิจารณากำหนดเป็นนโยบาย ส่วนเรื่องปฏิบัติก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อีกทั้งวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี ต่อกันได้ไม่จำกัดจำนวนนั้น ก็มีการเสนอให้มีแค่ 2 วาระก็น่าเพียงพอแล้วเพราะหากอยู่นานจะมีอำนาจต่อรองมาก ​

หลังจากนั้น ที่ประชุมฯ ได้มีมติ 217 ต่อ 10 เห็นชอบรายงานของรายงานพิจารณาศึกษา เรื่อง สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ และมีมติ 220 ต่อ 4 ให้ส่งความเห็นในการอภิปรายของสมาชิก สปช. ให้กับผู้เกี่ยวข้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น