xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ยุบรวม กสม.-ผู้ตรวจ ไฟสุมขอน รอไหม้ก้น คสช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.)
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เริ่มมีความชัดเจนมาตั้งแต่การประชุมร่วม แม่น้ำ 5 สาย อันประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์แล้วว่า เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คลอดออกมา องค์กรอิสระหลายองค์กรที่เคยมีมาตามรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 จะต้องถูกปรับเปลี่ยนบทบาทโครงสร้างอำนาจหน้าที่ให้ต่างไปจากเดิม ซึ่งนั่นก็ทำให้เกิดกระแสต่อต้านตามมา

โดยเฉพาะการยุบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ไปรวมกับผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นองค์กรใหม่ชื่อ “ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิของประชาชน” โดยอ้างว่าเพื่อลดความซ้ำซ้อนนั้น ได้ถูกคัดค้านมาอย่างต่อเนื่อง

เริ่มจากภายใน กสม.เอง นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธาน กสม.ได้ทำหนังสือคัดค้านไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อให้พิจารณาทบทวนในเรื่องนี้ใหม่ นั่นเพราะ อำนาจหน้าที่ของ กสม.และผู้ตรวจการแผ่นดินนั้นแตกต่างกัน โดย กสม.ทำหน้าที่ส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชน ตามหลักการของรัฐธรรมนูญ และพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคที่ได้รับการรับรองและคุ้มครอง

การควบรวมครั้งนี้จะส่งผลให้บทบาทด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทยถูกลดทอนความสำคัญลง เสมือนไปเป็นองคาพยพส่วนหนึ่งของผู้ตรวจการฯ เท่านั้น

ขณะที่คนนอก กสม.อย่าง น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิก สปช.เห็นว่า ทั้ง กสม.และผู้ตรวจการฯ ทำงานแตกต่างกัน และมีวัฒนธรรมต่างกัน โดย กสม.ทำหน้าที่ตรวจสอบการละเมิดสิทธิของประชาชน ในขณะที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะดูในข้อกฎหมายว่ามีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้องหรือไม่ จึงไม่แน่ใจว่าหากรวม 2 องค์กรนี้เข้าด้วยกันจะเป็นการลดทอนส่วนของ กสม.ที่จะตรวจสอบการละเมิดสิทธิของหน่วยงานรัฐที่มีต่อประชาชนลงหรือไม่ และจะไม่สามารถดูแลประชาชนได้ตามวัตถุประสงค์

“เหมือนเราบอกว่าตำรวจกับทหารเหมือนกันหรือไม่ เนื่องจากเป็นแนวทางที่มีความแตกต่างกัน พอรวมกันแล้วจะไม่ได้อะไรเลย เพราะบทบาทหน้าที่ต่างกัน จะทำให้ได้องค์กรที่เป็นกึ่งๆกลางๆ และไม่สามารถที่จะพัฒนาสู่สิ่งที่ตอบสนองต่อวัตถุประสงค์หลักได้” น.ส.รสนากล่าวเมื่อวันที่ 8 ก.พ.58

ขณะที่ นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิก สปช.เห็นว่า ในฐานะที่ทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมมายาวนานในเรื่องของดิน น้ำ ป่า และสิทธิชุมชน เท่าที่รับฟังมา กล่าวได้ว่าองค์กรภาคประชาชนรวมทั้งตนไม่เห็นด้วยต่อแนวทางดังกล่าว เพราะทำให้เกิดความสับสนและพร่ามัวในการทำหน้าที่ขององค์กรใหม่นี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินมีภารกิจมุ่งตรงสู่การตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่นที่ไปตรวจสอบกระทรวงต่างประเทศในการออกพาสปอร์ตให้อดีตนายกรัฐมนตรีที่หนีอาญาแผ่นดินไปอยู่ต่างประเทศ แต่ กสม.มีภารกิจทั้งการตรวจสอบและการพิทักษ์คุ้มครองสิทธิของชุมชนและของประชาชนที่ถูกละเมิด

ส่วนคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) นำโดยนายคณิต ณ นคร ประธาน คปก.ได้ร่วมกันแถลงข่าวเมื่อวันที่ 11 ก.พ.58 คัดค้านการควบรวม กสม.เข้ากับผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยระบุว่า คปก.ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาประสิทธิภาพการทำงานของทั้งสององค์กร โดยให้รัฐธรรมนูญใหม่กำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ให้ซ้ำซ้อนกับองค์กรอื่น โดยเฉพาะอำนาจในการตรวจสอบจริยธรรม และการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ และต้องให้ความเป็นอิสระรวมทั้งอำนาจในการฟ้องคดีของ กสม. นอกจากนั้น การสรรหากรรมการ กสม.และผู้ตรวจการแผ่นดินจะต้องยึดโยงกับภาคประชาชน

ด้านนางสุณี ไชยรส รองประธาน คปก.กล่าวว่า กสม.และผู้ตรวจการแผ่นดิน มีบทบาทหน้าที่แตกต่างกัน โดยผู้ตรวจฯ มีหน้าที่ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐ รัฐบาล ที่ละเลยการปฏิบัติ ไกล่เกลี่ย และเยียวยาในบางภารกิจ แต่กรรมการสิทธิฯ มีเจตนารมณ์ของการก่อตั้งสืบเนื่องจากหลักสากลในประเทศทั่วโลกจะต้องมีสถาบันสิทธิมนุษยชน และกระบวนการตรวจสอบของกรรมการสิทธิฯ ยังมากกว่ากฎหมายโดยจะตรวจสอบครอบคลุมไปถึงการกระทำละเมิดของรัฐ เอกชน และการกระทำทางปกครองที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ส่วนที่อ้างว่ามีการทับซ้อนการทำงานนั้นจริงๆไม่ได้ทับซ้อนกันเป็นสิทธิของประชาชนในการร้องเรียน อาจร้องเรียนซ้ำซ้อนกันแต่การตรวจสอบของแต่ละองค์กรก็จะยึดตามอำนาจหน้าที่ของตนที่มีอยู่

ขณะที่นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการ คปก.มองว่า มติกรรมาธิการดังกล่าวแท้จริงแล้ว คือ ความพยายามที่จะยุบกรรมการสิทธิฯ ข้อจำกัดที่ทำให้การทำงานที่ผ่านมาของสององค์กรไม่มีประสิทธิภาพ เพราะหน่วยงานต่างๆ ไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอของทั้งสององค์กรที่เสนอไป การแก้ปัญหาประสิทธิภาพจึงไม่ใช่การยุบรวม แต่ต้องไปแก้รัฐบาล รัฐสภา หน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติตามข้อเสนอที่ทั้งสององค์กรมีความเห็นเสนอไป รวมทั้งต้องมีการแก้ไขในเรื่องสรรหาคนให้ตรงกับงาน โดยคุณสมบัติคนที่จะมาเป็น กสม.ต้องเป็นคนที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก ส่วนผู้ตรวจการแผ่นดินต้องมีความรู้เรื่องการบริหารประเทศ บริหารราชการ

ส่วนนายสมชาย หอมลออ กรรมการ คปก.กล่าวว่า ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมาพบว่า มีผู้มีอำนาจ และเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนหนึ่ง ไม่ชอบคำว่าสิทธิมนุษยชน จึงตั้งข้อสังเกตว่าการยุบรวม เป็นขบวนการทำลายงานด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยหรือไม่ แม้จะอ้างว่าเป็นการควบรวมและยกระดับ แต่ถ้าจะทำความเข้าใจเรื่องนี้ต้องไปดูเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 2540 ผู้ตรวจการแผ่นดินใช้คำว่าผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เป็นแขนขา เป็นมือเป็นเท้าของรัฐสภาเพื่อการตรวจสอบฝ่ายบริหาร ถือเป็นกระบวนการ ตรวจสอบถ่วงดุลภายในประเทศ

ต่อมา เมื่อวันที่ 12 มี.ค.มีรายงานว่า บรรดาข้าราชการสำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มีการแต่งชุดดำมาทำงาน เพื่อเป็นการแสดงออกไม่เห็นด้วยกับการยุบรวม กสม.กับผู้ตรวจการฯ

ขณะที่ในวันเดียวกัน ที่รัฐสภา นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กสม.ได้เข้าให้ข้อมูลต่อคณะอนุกรรมาธิการกรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 8 ว่าด้วยองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ โดยได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและเอกสารเกี่ยวกับการทำงานของ กสม.และคัดค้านการยุบรวม กสม.เข้ากับผู้ตรวจการฯ เพราะถ้านำ 2 หน่วยงานดังกล่าวมาควบรวมก็จะเกิดปัญหาส่งผลกระทบต่อเรื่องการพิทักษ์สิทธิให้กับประชาชน

ทั้งนี้ คณะอนุฯ จะรวบรวมข้อเสนอทั้งหมดเสนอต่อคณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ พิจารณาภายใน 60 วัน โดยหลังวันที่ 25 พฤษภาคม กมธ. ยกร่างฯ จะทบทวนความเห็นที่ประมวลจากแม่น้ำอีก 4 สาย และหน่วยงานอื่นๆ

นอกจากนี้ ประเด็นปัญหาหนึ่งที่เกิดกับ กสม.คือการสรรหา กสม.ชุดใหม่ตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 48/2557 ที่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีที่เคยดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ 2550

ขณะที่โครงสร้างกรรมการสรรหาตามรัฐธรรมนูญปี 50 มีปัญหา ในแง่คุณสมบัติของกรรมการสรรหาค่อนข้างจะกระจุก ไม่กระจาย เพราะประกอบด้วยข้าราชการ 5 คน นักการเมือง 2 คน จึงถูกองค์กรต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศเห็นว่าส่วนประกอบของกรรมการสิทธิฯ ที่ออกมาไม่เป็นไปตามหลักการปารีส ทำให้ International Coordinating Committee of National Human Rights Institutions (ICC) เตรียมจะลดเกรด กสม.ของไทยลงจาก เอ เป็น บี ในเดือน ต.ค.2558 นี้ หากยังไม่มีการแก้ไข

วันที่ 30 มี.ค. กสม.ได้ออกเอกสารแถลงข่าว นอกจากชี้แจงกรณีไอซีซี.จะลดเกรดแล้วยังได้ระบุถึงการควบรวม กสม.กับผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ถ้าหมายถึงการยกเลิกพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อาจถือได้ว่าเป็นการยกเลิกองค์กรสิทธิมนุษยชนและตั้งองค์กรใหม่ขึ้น จะส่งผลต่อสถานะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศไทย ที่ได้ดำเนินการร่วมกับสถาบันสิทธิมนุษยชนทั่วโลกเป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนานมากว่า 10 ปี จะสิ้นสุดลงในทุกกรณีด้วย และหากประเทศไทยต้องการจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกสถาบันสิทธิมนุษยชนของโลกอีกครั้งจะต้องสมัครใหม่ โดยการยื่นใบสมัครใหม่จะสามารถกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีการดำเนินงานไปแล้วระยะเวลาหนึ่ง

ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยยกเลิกสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและตั้งองค์กรใหม่ โดยใช้ชื่อองค์กรว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ในด้านลบของรัฐบาลไทยในสายตาประชาคมโลก

ต่อมาเมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา นางอมรากล่าวหลังการบรรยายพิเศษเรื่อง “เปิดใจ 6 ปี ประธาน กสม.ด้านวิชาการ บริหาร และขบวนการสิทธิมนุษยชน” ที่ กสม.ว่า สิ่งที่ไอซีซี.ท้วงติงมากรณีการสรรหากรรมการนั้นก็จะแก้ไขในส่วนของการบริหารจัดการภายใน แต่สิ่งที่นอกเหนืออำนาจของเราคือกระบวนการสรรหาคณะกรรมการและพระราชบัญญัติที่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลและสภา

นี่เป็นโจทย์อีกข้อหนึ่ง ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ผู้ถืออำนาจรัฏฐาธิปัตย์ไว้ในมือ จะนำไปพิจารณาหาทางแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามบานปลาย


กำลังโหลดความคิดเห็น