xs
xsm
sm
md
lg

กางไทม์ไลน์เลือกตั้งก.พ.59 "บิ๊กตู่"ชิ่งประชามติ โยนกมธ.ยกร่าง-สปช.ตัดสิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"บวรศักดิ์" เปิดไทม์ไลน์ยกร่างรัฐธรรมนูญ เลือกตั้งเร็วสุด ก.พ. 59 หากทำประชามติ ต้องเลื่อนไปอีก 3 เดือน แนะครม.-คสช. ตัดสินใจก่อนสปช. ลงมติ 6 ส.ค.58 ย้ำพร้อมปรับปรุงร่าง ถ้ามีเหตุผลเพียงพอ สวน "อภิสิทธิ์" ระแวงเกินควร ยันกรรมการปรองดอง ภาค 4 ไม่สร้างความขัดแย้ง ย้อนถ้า คอป.ยุคมาร์ค ทำสำเร็จ วันนี้ ก็ไม่ต้องมีปัญหา "บิ๊กตู่" ลั่นไม่ตัดสินทำประชามติ โยนกมธ.ยกร่าง-สปช. ตัดสินใจเอง ถ้าจะทำก็เสนอแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวมา หวั่นผิดพลาดต้องรับผิดอีก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (29 เม.ย.) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปาถกฐาพิเศษ เรื่อง "ประเด็นเด่น พลเมืองเป็นใหญ่ในรัฐธรรมนูญ" ในงานสัมมนาของคณะกรรมมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ เรื่องการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อกำหนดทิศทางการคุ้มครองผู้บริโภค โดยระบุในตอนหนึ่ง ยอมรับว่า ในร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ได้ลืมประเด็นนี้ไป แต่ได้มีการดำเนินการร่างไว้ในร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ที่ผ่านการอภิปรายของ สปช. ไปแล้ว

ทั้งนี้ ร่างรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ที่จะสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ โดยกรรมาธิการ มีเวลา 60 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.-23 ก.ค.2558 ซึ่งร่างสุดท้ายที่จะไม่มีการแก้ไข คือ ร่างวันที่ 23 ก.ค.2558 โดยอาจมีการปรับปรุงแก้ไขจากร่างแรกได้อีก ซึ่ง สปช. มีหน้าที่ลงมติทั้งร่าง ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อหาได้ เว้นแต่เป็นการเขียนผิดที่ ไม่เกี่ยวกับสาระสำคัญหรือหลักการ โดยในวันที่ 6 ส.ค.2558 สปช.จะลงมติ แปลว่า ในร่างรัฐธรรมนูญ ตามบทเฉพาะกาลกำหนดให้ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ทูลเกล้าฯ ภายใน 30 วัน ก็จะจบวันที่ 4 ก.ย.2558 หากพระราชทานมา ในวันที่ 5 ก.ย.2558 คณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะต้องร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ส่งให้ สนช. ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ประกอบด้วย พ.ร.บ.เลือกตั้ง พ.ร.บ. ก.ก.ต. และพ.ร.บ.พรรคการเมือง

จากนั้นจะจัดการเลือกตั้งภายใน 90 วัน คือ หลังใช้รัฐธรรมนูญแล้ว การเลือกตั้งจะเกิดภายใน 5 เดือน หรือประมาณปลายเดือน ก.พ.2559 แต่ถ้ามีประชามติ ต้องบวกไปอีก 3 เดือน ก็จะมีการเลือกตั้งเดือนพ.ค.2559

อย่างไรก็ตาม อำนาจในการทำประชามติ เป็นของ คสช. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ซึ่งควรทำก่อนวันที่ 6 ส.ค.2558 ก่อนที่ สปช. จะลงมติ โดยยืนยันว่า กรรมาธิการฯ พร้อมปรับปรุงแก้ไข หากการแปรญัตติมีเหตุผล แต่ถ้าไม่มี ก็ไม่ปรับแก้ ซึ่งเป็นกระบวนการตามปกติ โดยยึดเจตนารมณ์สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ การเมืองใสสะอาด และสมดุล หนุนสังคมที่เป็นธรรม และนำชาติสู่สันติสุข

"ประเทศไทยใช้รัฐธรรมนูญปี 40 จนเกิดความขัดแย้งในปี 48 จากการปลดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ จนพัฒนาเป็น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มเสื้อแดง เกิดสงครามตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ มีการประเมินความเสียหาย คือ การชุมนุมปิดถนน สถานที่ ตั้งแต่ปี 49 ชุมนุมถึง 2 ปี เสียชีวิตร้อยกว่าคน บาดเจ็บสามพันกว่าคน ไม่นับความเสียหายทางเศรษฐกิจ รวม 2 ล้านล้านบาท"นายบวรศักดิ์กล่าว
**ฉะยุค"มาร์ค" เอาผลการศึกษาขึ้นหิ้ง

นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี มีการตั้งคณะกรรมการ 3 ชุด คือ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน สมัชชาปฏิรูป มี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน และคณะกรรมการอิสระเพื่อความปรองดอง มี นายคณิต ณ นคร เป็นประธาน โดยทำรายงานออกมา แต่อยู่บนหิ้ง ไม่มีใครเอาไปทำ จนเกิดเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม คนออกมาประท้วงเป็นล้าน เรียกร้องให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง กระทั่งรัฐบาลยุบสภา ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ จึงมีการทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 เพื่อยุติความขัดแย้ง และเดินหน้าเรื่องการปฏิรูปประเทศ

"ผมเรียกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า ฉบับปฏิรูปแก้ปัญหาอดีต 2 ข้อ คือ นำชาติสู่สันติสุข ทำการเมืองให้ใสสะอาดและสมดุล เพราะที่ผ่านมา พรรคการเมืองใหญ่แย่งชิงอำนาจ เมื่อพรรคใดเป็นรัฐบาล อีกพรรคหนึ่งก็ลงบนท้องถนน จึงต้องกำหนด ภาค 4 การปฏิรูป และการสร้างความปรองดอง โดยนายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ว่า คณะกรรมการปรองดองจะสร้างความขัดแย้ง ซึ่งต้องบอกว่า ถ้าคอป.ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ ตั้งขึ้นมาประสบความสำเร็จ คงไม่จำเป็นต้องมีคณะกรรมการปรองดองในภาค 4 ซึ่งมีเวลาแค่ 5 ปีเท่านั้น เว้นแต่จะมีการทำประชามติต่ออีก 5 ปี จากนั้นก็สิ้นสภาพ ซึ่งกำหนดไว้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเกี้ยเซียะ สร้างความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน พูดคุยแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง และหาข้อเท็จจริงว่า อะไรเกิดขึ้น คนทำผิดรุนแรงต้องถูกดำเนินคดี ใครให้ข้อเท็จจริงเป็นประโยชน์ ไม่ทำผิดรุนแรง ได้รับการให้อภัยโทษ" นายบวรศักดิ์กล่าว

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า การตีความอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการปรองดองฯ ว่าจะมีการหมกเม็ดตราพระราชกฤษฎีกา ให้ประโยชน์กับคนใดคนหนึ่ง ทั้งที่ความจริงกฎหมายจะต้องมีลักษณะทั่วไป กำหนดเงื่อนไขว่า ใครที่จะให้ความจริงเป็นประโยชน์ แสดงความสำนึกผิด ส่วนการอภัยโทษจะต้องทำผ่านขั้นตอนปกติจากรัฐบาลไปถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถ้ารัฐบาลไม่ผ่าน ก็จบ หรือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่พระราชทานลงมา ก็จบ ไม่มีการระบุชื่อคนในกฎหมาย ดังนั้นอำนาจในการเสนอพระราชกฤษฎีกา ของคณะกรรมการปรองดอง จึงเหมือนกับพระราชกฤษฎีกาทั่วไปในอดีต

"เมืองไทยระแวงเกินสมควร และมีการกล่าวหาโดยไม่ซักถาม การสร้างความปรองดอง ไม่จำเป็นต้องเขียน ถ้า คอป. ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ประสบความสำเร็จ ที่เป็นเช่นนั้น เพราะรัฐบาลเป็นคู่ขัดแย้ง ขอให้สื่อมวลชนนำไปโค้ตเลยว่า ผมตอบแบบนี้"นายบวรศักดิ์กล่าว

ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ยังกล่าวถึงการสร้างการเมืองที่ใสสะอาดและสมดุล ต้องการสร้างพรรคการเมืองที่ดีของสมาชิก ไม่ใช่ของหัวหน้าพรรคที่เป็นทุนใหญ่ พร้อมกับอ้างว่า เหตุพฤษภาทมิฬเกิดจากบังคับให้ ส.ส.สังกัดพรรค เช่นเดียวกับกรณีกฎหมายนิรโทษกรรม หากไม่มีการบังคับส.ส.อาจไม่ลงมติ เพราะกลัวเสียคะแนน ถ้าหัวหน้าพรรคสั่งซ้ายหัน ขวาหันได้ บางพรรคหนักข้อกว่านั้น ให้กรรมการบริหารพรรคที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งบังคับส.ส.ที่เป็นตัวแทนประชาชนได้ ร่างรัฐธรรมนูญนี้ จึงต้องการให้พรรคการเมืองเป็นประชาธิปไตย มีสมัชชาคุณธรรมคอยกำกับและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ

นายบวรศักดิ์ ยังยืนยันด้วยว่า การเขียนร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ปัญหา ไม่ได้เกิดจากการมโน เพราะที่ผ่านมา ชัดเจนว่า รัฐบาลเลือกตั้งไม่ปฏิรูปประเทศ จะเห็นได้จากงานของทั้ง นายอานันท์ กับ นพ.ประเวศ ล้วนถูกทิ้งอยู่บนหิ้ง ไม่มีใครนำไปปฏิบัติตาม จึงจำเป็นต้องมีสภาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การปฏิรูป และเชื่อว่า สุดท้ายร่างรัฐธรรมนูญนี้ อาจจบที่การทำประชามติ เพราะคนที่คัดค้าน มีแต่ฝ่ายการเมืองเท่านั้น

** ไม่แก้รัฐธรรมนูญ5ปี เพราะเป็นช่วงปฏิรูป

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการเดินหน้าตามโรดแมปของรัฐบาล และคสช. ว่า การเดินตามโรดแมปทุกอย่างเป็นไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ถ้ายังไม่แก้รัฐธรรมนูญ ก็เป็นไปตามนั้น

ส่วนกรณีนายบวรศักดิ์ เสนอให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างในขณะนี้ เป็นเวลา 5 ปีก่อนแล้วจึงแก้ไขข้อบกพร่องอีกครั้งนั้น นายกฯ กล่าวว่า ตนเข้าใจว่า ถ้าเป็นรัฐธรรมนูญปกติไม่ต้องเขียนมาก เปิดสิทธิ เสรีภาพ เยอะๆ ประชาชนเป็นใหญ่ แต่ทรัพยากรมนุษย์ของต่างประเทศ เหมือนเราไหม เขาเข้าใจบริบทพื้นฐานของเราหรือไม่ คุณคิดเหมือนฝรั่งคิดหรือไม่ ก็ไม่เหมือน การทำรัฐธรรมนูญ ถ้าจะให้เหมาะสมกับคนไทยด้วย และคนต่างประเทศด้วย มันเป็นเรื่องยาก

สำหรับข้อเสนอ 5 ปี ของนายบวรศักดิ์นั้น ความหมายตามที่ตนเข้าใจ อาจจะหมายถึงช่วงเวลาการปฏิรูป ที่อาจจะจบภายใน 5 ปี ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ เท่าที่ดู มีความเข้มข้นหลายอย่าง เพื่อจะแก้ปัญหาทั้งหมด ทั้งเรื่องการทุจริต ความไม่โปร่งใส การใช้จ่ายงบประมาณ การเข้าสู่อำนาจ ซึ่งเขาต้องการล้มภาพเก่าไม่ให้เกิดขึ้นอีก ตนจึงบอกว่าอาจจะเป็นรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปก็ได้ ซึ่งการปฏิรูปที่ว่า หมายถึง ระยะเวลา 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปี ก็แล้วแต่ หากท่านอยากจะแก้ใหม่ ก็แก้เถอะ ท่านเลือกตั้งมาแล้ว จะแก้รัฐธรรมนูญก็แก้ได้ เขาเขียนไว้หรือเปล่าว่าห้ามแก้ ก็ต้องแก้ในสิ่งที่ควรจะแก้ ไม่ใช่แก้ในสิ่งที่ไม่ควรแก้ จะเอาอะไรกันอีก เสรีภาพเอาอย่างไร ไม่ต้องมีแล้วมั้งกฎหมาย อยากจะไปทำอะไรกันก็ทำ ก็เอาตามใจ

เมื่อถามว่า เท่าที่ดู 315 มาตรา เยอะไปหรือไม่ เพราะนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย ระบุว่า จำนวนมาตราเยอะเกินไป สามารถตัดทอนลดลงได้ นายกฯ กล่าวว่า ตนพูดหลายครั้งแล้วว่า คนไทยชอบกฎหมาย อยากมีกฎหมายโน่น กฎหมายนี่ แล้วบังคับใช้ไม่ได้ ตนถึงบอกว่าต้องยกระดับความคิดความเข้าใจ ปรับทัศนคติกันใหม่ ตนไม่ได้ว่าบ้านเราไม่ฉลาด คนไทยฉลาดจะตาย เข้าใจหมด แต่มองมุมเดียว ทั้งนี้ เราต้องเอาผลประโยชน์มาร่วมกัน แล้วสังคายนาดูว่า ควรจะถ่วงดุลอย่างไร พวกไหนได้เท่าไร แค่ไหน ไม่มีใครได้ทั้งหมดหรอก

"ในความคิดของผม รัฐธรรมนูญฉบับนี้ อาจจะไม่ใช่รัฐธรรมนูญถาวรก็ได้ หากจะปฏิรูป เพราะถ้าเป็นรัฐธรรมนูญธรรมดาปฏิรูปไม่ได้แน่นอน ทำมากี่รัฐบาลแล้ว ทำได้หรือไม่ แล้วก็มีเรื่องมีราวกันมา ถ้าไม่ปฏิรูป ท่านก็ร่างไปแบบเดิม เผลอๆ ไม่ต้องร่างก็ได้ ก็รบกันแบบเก่า ก็ตามใจ"

**โยนกมธ.ยกร่าง-สปช.ตัดสินใจประชามติ

เมื่อถามว่า เรื่องทำประชามติจะว่าอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ไปดูรัฐธรรมนูญ เขาเขียนว่าอย่างไร เขาไม่ได้เขียนให้ทำประชามติ ถ้าจะทำ ก็ไปแก้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งคนตัดสินใจไม่ใช่ตน แต่อยู่ที่กรรมาธิการยกร่างฯ หรือ สปช. ตนบอกแล้ว เราไม่ได้มีอำนาจสั่งเขาตรงนั้น รัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างนั้น วันนี้เหมือนมี 2 สภา ถ้ามีความเห็นต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวก็ต้องขอมาที่ตน ซึ่งตนจะส่งไปที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปทำเรื่องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว จะทำอะไร ก็ทำกันตรงนั้น

"ถ้าเขาคิดว่า ถ้าปล่อยให้ผ่านตอนนี้ก็ตีกัน ผมจะไปสั่งให้ผ่านได้หรือไม่ ถ้ามันจะตีกัน มันก็ตี ทำอย่างไรให้ผ่านโดยไม่ต้องตี หรือถ้าไม่ผ่าน ก็ร่างกันใหม่ ก็แค่นั้น" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

เมื่อถามว่า ตกลงจะเป็นช่วงเวลาไหนที่จะตัดสินใจทำประชามติ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันไหนก็วันนั้น เขากำหนดวันสุดท้ายไว้วันไหน แต่ตนไม่ตัดสินใจ พวกเขาต้องตัดสินใจมา เพราะหน้าที่ของเขา คือการร่างรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ เมื่อรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ต้องให้ สปช.ทบทวน ถ้าเขาไม่แก้ เขาก็ทูลเกล้าฯถวาย เขาก็ต้องรับผิดชอบเอง เข้าใจหรือยัง ไม่ใช่ตนจะชี้นกเป็นนก ถ้าผิดพลาดก็ตนอีกซิ ให้เข้ามาร่างแล้วไง แล้วคุณรู้ไหม สปช. มีกี่พวก ในสปช. มีทุกพวก ไปดู มีทุกสี ถ้าตกลงกันไม่ได้ ก็เหมือนเดิม ตนถึงบอกนี่คือสิ่งที่เขาต้องเรียนรู้ จะทำกันอย่างไร ไปทำมา ไม่ใช่ตนต้องมาคอยตัดสิน ตนจะอยู่กับเขาจนแก่เฒ่าหรืออย่างไร ไม่ใช่ เข้าใจหรือยัง

**ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านให้เดินตามโรดแมป

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณี นายบวรศักดิ์ ออกมาระบุว่า ให้ใช้รัฐธรรมนูญไปก่อน 5 ปี แล้วค่อยมาแก้ไข ว่า ต้องให้รัฐธรรมนูญผ่านเสียก่อน แล้วค่อยว่าตามโรดแมป ตามขั้นตอน เพราะเป็นเรื่องของ สปช. และกรรมาธิการยกร่างฯ จะแก้ไขกันอย่างไร จากนั้นก็จะส่งไปให้ คสช. และคณะรัฐมนตรีไปดู ไปศึกษา และมีข้อคิดเห็นอย่างไร จะแก้ไขตามคำแนะนำหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับสปช. และ กมธ.ยกร่างฯ ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทางสปช. จะให้ผ่านหรือไม่ผ่าน ก็ยังไม่รู้เลย เพราะเป็นเรื่องของอนาคตข้างหน้า ทั้งนี้ ตนเองยังไม่เห็นร่างรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน จะเป็นการสืบทอดอำนาจให้ คสช. หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ก็แล้วแต่จะคิด แต่ คสช. ไม่เคยคิดที่จะสืบทอดอำนาจ จะเปิดช่องหรือไม่เปิดช่อง ตนไม่รู้ แต่สิ่งที่ คสช. ห่วง คือ การปฏิรูปประเทศ ที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ ก็เพื่อให้อนาคตของประเทศเดินไปข้างหน้าได้ จะต้องมีการปฏิรูปให้เกิดความชัดเจน ถ้าทำไปแล้วไม่มีความชัดเจนจะทำไปทำไม

เมื่อถามย้ำว่า ร่างรัฐธรรมนูญใน ภาคที่ 4 ที่ตั้งคณะกรรมการปฏิรูป และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ มีอำนาจเหนือฝ่ายบริหาร พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ตนว่าไม่น่าจะไปด้วยกัน ยุทธศาสตร์ก็ส่วนยุทธศาสตร์ ปฏิรูปก็ส่วนปฏิรูป แล้วฝ่ายบริหาร ก็บริหารไป โดยคณะกรรมการทั้ง 2 คณะ จะมีอำนาจเหนือกว่าฝ่ายบริหารอย่างไร ตนไม่รู้ เวลาถามอะไร ก็คิดกันหน่อย

เมื่อถามว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบของ สปช. จะมีการตั้งกมธ.ยกร่างฯ และ สปช. ขึ้นใหม่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ก็ต้องว่าไปตามรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 ที่เขียนไว้ ถ้าไม่ผ่านจะดำเนินการอย่างไร มันมีขั้นตอนการปฏิบัติอยู่ ก็ต้องว่าไปตามนั้น ทุกอย่างต้องเป็นไปตามโรดแมป
กำลังโหลดความคิดเห็น