xs
xsm
sm
md
lg

“ปู่ชัย” ซัดกลุ่มสีเสื้อทำชาติล่มจม ค้านเปิดทางเล่นการเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 นายชัย ชิดชอบ (ภาพจากแฟ้ม)
“ปู่ชัย” ซัดกลุ่มการเมืองสีเสื้อตัวการทำบ้านเมืองฉิบหาย แต่ “36 มหาปราชญ์” กลับยกร่างรัฐธรรมนูญเปิดทางให้เข้าสู่วางการการเมือง ลั่นถ้าร่างผ่านประเทศล่มจมแน่นอน อ้างถ้าอยากยกฐานะประชาชนจริงต้องให้ ส.ส.-ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ด้าน “พล.อ.เลิศรัตน์” ชี้กลุ่มการเมืองสามารถเล่นการเมืองในระดับพรรคได้เพราะมีกฎหมายควบคุม มั่นใจไม่ทำให้บ้านเมืองเสียหายอย่างแน่นอน

วันนี้ (23 เม.ย.) เมื่อเวลา 14.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมีนางทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช.คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเป็นวันที่ 4 ในภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง หมวด 3 รัฐสภา นายชัย ชิดชอบ กรรมาธิการปฏิรูปการเมือง กล่าวว่า หมวดรัฐสภาถือเป็นหมวดที่สำคัญที่สุด เพราะเกี่ยวกับผู้ที่อาสาจะลงสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ และขอให้ข้อสังเกตว่าการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นเรื่องสำคัญของประเทศ

นายชัยกล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2475 ทหารพยายามไม่ให้มีกลุ่มการเมือง แต่มาครั้งนี้เห็นมหาปราชญ์ 36 คนตั้งกลุ่มการเมือง กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญไม่ดูเลย ขอให้ดูให้ลึก ขนาดพรรคการเมืองยังคุมไม่อยู่ มีการซื้อสิทธิขายเสียง แล้วถ้ากลุ่มการเมืองเกิดขึ้นจะตรวจสอบอย่างไร กลุ่มการเมืองใหญ่มาก สองกลุ่มการเมืองใหญ่จะสร้างความวุ่นวายให้ประเทศในอนาคต ร่างรัฐธรรมนูญออกมาแบบนี้รับรองประเทศล่มสลาย ล่มจม แน่นอน ทหารจะเอารถทหารออกมากี่คันก็สู้กลุ่มการเมืองไม่ได้ ตนห่วงบ้านเมือง และเป็นกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง และเป็นคณะอนุฯในชุดปฏิรูปการเมือง ก็ยืนยันตรงกันไม่ให้มีกลุ่มการเมือง เพราะจะสร้างปัญหาให้ประเทศชาติในอนาคต ขณะนี้จะใช้มาตรา 44 ยังต้องเชิญกลุ่มการเมืองเข้าค่ายอีก

“ผมกล้าท้าเลยว่าความปรองดองจะไม่เกิดขึ้นหากไม่สร้างความสามัคคีในชาติ กลุ่มเสื้อสีน่าเป็นห่วงมาก ชาติจะล่มจมเพราะกลุ่มเหล่านี้ ผมห่วงทหารของผม เดี๋ยวจะต้องออกมายืดเส้นยืดสายอีก เราได้ศึกษารายละเอียดจากข้อเท็จจริงมา 10 ปีแล้วพบว่าปัญหาเกิดจากกลุ่มการเมือง ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องเปิดโอกาสให้กลุ่มการเมือง เอาแค่พรรคการเมืองพอแล้ว ท่านนอนฝันให้เห็นความจริงให้มีแต่พรรคการเมืองเถิดแล้วควบคุมให้อยู่ โดยออกระเบียบแบบแผนให้แน่นอน”

นายชัยกล่าวอีกว่า ตนดีใจที่มหาปราชญ์ 36 คนยกฐานะประชาชนให้เป็นพลเมือง แต่อยากถามว่ายกฐานะแล้วประชาชนได้อะไรบ้าง ตนไม่ขอทักท้วงแต่เป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้ประชาชนเป็นพลเมือง อย่างไรก็ตาม เมื่อยกย่องให้ประชาชนเป็นพลเมืองแล้วก็ต้องยกย่องให้ตลอด ให้พลเมืองได้มีสิทธิเลือก ส.ส.ทั้ง 450 คน จะแบ่งเป็น ส.ส.ระบบแบ่งเขตอีกทำไม ทั้งนี้การยุบเขตเลือกตั้งให้เหมือนน้อยลงกว่าเดิม ถามว่าต่อไปประชาชนจะพึ่งพาใคร

นายชัยกล่าวด้วยว่า ตนตกใจที่ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ ระบุว่านายกรัฐมนตรีไม่มาจากคนนอกแน่นอน อยากถามว่ามั่นใจหรือไม่ว่า ส.ส.ซื้อไม่ได้ เวลาที่เขาต้องการอำนาจ มีเงินเป็นหมื่นล้านบาท ถามว่าใครไม่อยากได้ ส่วนกรณี ส.ว.เช่นกัน ขอให้เป็นแบบเลือกตั้งทั้งหมดเพราะ ส.ว.ต้องทำหน้าที่สำคัญกว่าที่ผ่านมา และเห็นว่าควรให้ปรับเป็น 150 จาก 200 คน เพื่อที่จะได้นำเงินไปพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ ทั้งนี้ ตนต้องการเสนอ ส.ส.และ ส.ว.เลือกตั้งทั้งหมด แต่ต้องวางกฎระเบียบคุณสมบัติให้ชัดเจน และอย่าไปตั้งข้อจำกัดผู้ที่มีสิทธิลงสมัครเลือกตั้ง เช่น อายุภูมิลำเนา เป็นต้น

“ขอให้ท่านประธาน (บวรศักดิ์) ยึดมั่นในอุดมการณ์ที่ท่านประธานเคยมี ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตของบ้านเมือง บ้านเมืองจะอยู่รอดก็เพราะอยู่ที่พวกเราที่นั่งอยู่ตรงนี้แหละครับ ถ้ากฎหมายมันออกไปดี บ้านเมืองก็อยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ถ้ากฎหมายมันออกมาเป็นแบบนี้ ไม่สุขแน่ ฉิบหายแน่บ้านเมือง” นายชัยกล่าว

นายชัยกล่าวว่า ในเมื่อกรรมาธิการยกร่างฯ อ้างว่าจะทำให้พลเมืองเป็นใหญ่ ทำไมจึงจำกัดสิทธิเสรีภาพของเขา ทำไมจึงไม่ปล่อยให้ประชาชนเลือกตั้ง ส.ส.ไปเลยทั้ง 450 คน จะไปเอาการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่เป็นแบบสัดส่วนผสมมาใช้ทำไม ส่วนที่มา ส.ว.ก็ต้องให้ประชาชนเลือกตั้งทั้งหมด อำนาจหน้าที่ก็ต้องปรับเข้ากับยุคดิจิตอล ประเทศเราไม่เหมือนอดีตแล้ว กรรมาธิการยกร่างฯ ต้องให้สิทธิเสรีภาพประชาชน สิ่งที่กรรมาธิการยกร่างฯ ทำนั้นอยู่นอกกรอบ จึงขอให้พิจารณาทบทวนแก้ไขใหม่เพื่ออนาคตของบ้านเมือง ไม่ใช่แค่วันนี้ ถ้ากฎหมายออกมาดีบ้านเมืองจะมีความสุข แต่ถ้าออกมาแบบนี้บ้านเมืองฉิบหายแน่นอน

ด้าน พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช กรรมาธิการยกร่างฯ ลุกขึ้นชี้แจงว่า ตนติดใจคำว่าชาติจะล่มจมเพราะกลุ่มการเมือง จึงขอชี้แจงว่า สถานการณ์บ้านเมืองที่มีกลุ่มต่างๆ จัดตั้งขึ้น หลายกลุ่มมีความสนใจที่แตกต่างกัน เช่น ด้านพลังงาน ด้านการเมือง เป็นต้น เพื่อให้กลุ่มเหล่านี้ไปมีพื้นที่ในสภา ในมาตรา 76 ได้บัญญัติไว้ชัดเจนเกี่ยวกับพรรคการเมืองที่จะกำหนดรายละเอียดใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ก่อนนำไปใช้ในการเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะนำไปบังคับใช้กับกลุ่มการเมือง กลุ่มการเมืองจะต่างจากพรรคการเมืองเพียงบางส่วน ในส่วนของข้อกำหนดผู้จดทะเบียนสมาชิก สำนักงานอาจไม่ต้องมี เป็นกลุ่มการเมืองที่ประสงค์จะลงรับเลือก ส.ส.ระดับภาค ระดับจังหวัด สิ่งที่กลุ่มการเมืองก็ต้องทำตามกฎหมายที่กำหนดไว้ ตนเชื่อว่ากลุ่มการเมืองสามารถเล่นการเมืองในระดับพรรคได้อยู่แล้วและไม่ทำให้บ้านเมืองเสียหายอย่างแน่นอน

ต่อมานายอุดม เฟื่องฟุ้ง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เสนอให้พิจารณาแก้ไขในมาตรา 110 ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. และมาตรา 111 ว่าด้วยลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะมีเนื้อหาที่ไม่ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 35 (3) ถึง (10) ที่กำหนดให้มีกลไก ที่มีประสิทธิภาพในการคัดคนเข้ามาสู่การเมือง ทั้งนี้ ควรกำหนดให้นักการเมืองที่ทำผิดกฎหมาย ซึ่งศาลมีคำวินิจฉัยลงโทษแล้ว ไม่ควรกลับมาสู่ระบบการเมืองอีกต่อไป ถือเป็นมาตรฐานเดียวกับข้าราชการทุกประเภทที่มีกฎหมายกำหนดว่าข้าราชการผู้ใดทำผิดวินัยแล้วไม่สามารถเข้ามาสู่วงการราชการได้ แม้จะอยู่ในตำแหน่งภารโรง หรือลูกจ้างก็ตาม

“ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่อยู่บนฐานของความเข้าใจในสภาพการเมืองไทยที่พรรคการเมืองล้วนมีเจ้าของเกือบทั้งหมด ทั้งเจ้าของพรรคภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออก นอกจากนี้ พรรคการเมืองและนักการเมืองยังเป็นผู้แพร่ไวรัสสู่ประชาธิปไตย ให้เป็นอาการคล้ายไข้หวัดนกหลายปี เราไม่ควรปล่อยไว้และควรใช้ยาแรง แต่มีผู้โต้แย้งว่าไม่ควรใช้ยาแรง แต่ส่วนตัวยืนยันว่าที่ผ่านมามีการใช้ยาแรงมาแล้ว แต่กรรมาธิการยกร่างฯ ยังสร้างพาหะนำไวรัสสู่ประชาธิปไตยอย่างร้ายแรงอีก คือ การสถาปนากลุ่มการเมือง หากเป็นไปตามที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอ ตนกังวลว่าประชาธิปไตยจะไม่เป็นเพียงไข้หวัดนก แต่จะเป็นอีโบลาที่ทำให้ประชาธิปไตยตายได้

ติงไม่ควรปนหมวดกษัตริย์รวมกับประชาชน

นายนิรันดร์ พันธกิจ สมาชิก สปช.อภิปรายว่า ตนมองว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เหมือนบัวลอยไข่หวาน ไข่ก็สด แป้งก็ดี แต่มันมีขี้จิ้งจกอยู่ 6-7 เม็ด สาเหตุที่ทำให้เกิดขี้จิ้งจกมีอยู่ประมาณ 3-4 ประการ 1. การร่างรัฐธรรมนูญนี้มาจากเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ให้อำนาจคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่มาก แม้จะระบุให้กรรมาธิการต้องรับฟังความเห็นจากฝ่ายต่างๆ ก็ตาม แต่ที่สุดอำนาจก็ยังอยู่ที่กรรมาธิการชุดนี้อยู่ดี สมมติอภิปราย 7 วัน 7 คืน ถ้ากรรมาธิการไม่เอา ทิ้งลงถังขยะก็สามารถทำได้ อยู่ที่ว่าเขาจะฟังหรือเปล่า ตนเสียดายว่าตอนทำฉบับร่างให้เราน่าจะทำความเห็นของกรรมาธิการยกร่างฯ เสียงข้างน้อยมาด้วย เพราะไม่เชื่อว่ากรรมาธิการยกร่างฯ ทั้งหมดจะเห็นเป็นเอกฉันท์ทุกประเด็น เช่น คิดได้อย่างไรที่เอาหมวดพระมหากษัตริย์ไปปนกับประชาชน เราเคยมีรัฐธรรมนูญ 10 กว่าฉบับก็แยกออกจากกันทุกครั้ง และเชื่อว่ามีกรรมาธิการบางคนก็ไม่เห็นด้วยเหมือนตนในประเด็นนี้ 2. ให้เวลาในการรับฟังความเห็นน้อยมาก ทั้งที่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ไม่ใช่โรตีที่รับแป้งตอนเย็นมานวดกลางคืนแล้วขายตอนเช้า สมาชิกต้องมีโอกาสได้อ่านและศึกษาอย่างชัดเจนแล้วมาแสดงความเห็น 3. ประชาชนไม่มีสิทธิมีเสียงในการแสดงความเห็น หรือศึกษาในรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญเพื่อจะได้ทำการประชาพิจารณ์ และ 4. เกิดวาทกรรมแปลกๆ ในช่วงกำลังร่างรัฐธรรมนูญ เช่น ลงเรือแป๊ะต้องตามใจแป๊ะ

“ผมขอย้ำว่าเรือนี้ไม่ใช่เรือของแป๊ะ แต่เป็นเรือของประชาชนที่แป๊ะไปยึดมา แต่ว่าวันนั้นถ้าแป๊ะไม่ยึด บ้านเมืองก็เกิดความวุ่นวาย ก็ต้องยอมเขา เหตุการณ์สงบลงเพราะแป๊ะมาช่วย แต่แป๊ะต้องคืน ไม่ใช่ตามใจแป๊ะ เพราะอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนไม่ใช่ของแป๊ะ”

ชี้โอเพ่นลิสต์ก่อให้เกิดพรรคนอมินี

นายนิรันดร์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนบนสมมติฐานที่ว่ารัฐบาลเข้มแข็งเกินไป จึงต้องทำให้รัฐบาลอ่อนแอ แต่ความจริงเราต้องทำให้รัฐบาลเข้มแข็งเหมือนประเทศอื่นๆ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ที่เจริญก้าวหน้าเพราะเขามีความเข้มแข็ง แต่สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้เขาใช้ความเข้มแข็งด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และตรวจสอบถ่วงดุลได้ ส่วนการเอาระบบเลือกตั้งเขตจากเยอรมนี ระบบโอเพ่นลิสต์จากเนเธอร์แลนด์ จะแบบไหนก็ตามต้องคำนึงถึงวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ เยอรมนีได้ประสบการณ์จากนาซี คนละแบบกับเรา ส่วนปาร์ตี้ลิสต์เพื่อเลือกอีกพรรคมาถ่วงดุล ตามวัฒนธรรมของเรานั้นภาคใต้แบบเขตและปาร์ตี้ลิสต์ก็ประชาธิปัตย์ หรือภาคอีสานทั้งแบบเขตและปาร์ตี้ลิสต์ก็เพื่อไทย คนละวัฒนธรรมกัน คนไทยไม่ชอบวิธีการซับซ้อน ระบบโอเพ่นลิสต์ในมาตรา 105 วรรคสอง 6 จะเกิดปัญหา 2 ประการ ที่ พล.อ.เลิศรัตน์ต้องตอบ คือ 1. จะแก้ปัญหาเรื่องความแตกแยกในพรรคอย่างไร เพราะต่างคนต่างก็อยากได้เป็น ส.ส. ก็ต้องแย่งกันหาเสียง และ 2. ถ้าเป็นอย่างนั้นพรรคการเมืองก็ต้องหนีตายด้วยการสร้างพรรคนอมินีขึ้นมาเพื่อเน้นเลือกตั้งที่ปาร์ตี้ลิสต์ ไม่เน้นเขต ส่วนอีกพรรคก็เน้นเขต ไม่เน้นปาร์ตี้ลิสต์

ส่วนบทบาท ส.ว.ควรแยกให้ชัดเจน หากต้องการกลั่นกรองกฎหมายก็ควรให้มาจากการสรรหาทั้งหมดแต่ถ้ามีอำนาจในการถอดถอน ออกกฎหมาย ตั้งคณะกรรมการตามรัฐธรรมนูญ ไม่ควรเอาระบบสรรหามาใช้เพราะถือว่ามีอำนาจมากเกินไป จะต้องให้มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น เพราะตามหลักแล้วผู้ที่มาจากการสรรหาไม่มีสิทธิในการถอดถอนบุคคลที่มาจากการเลือกตั้ง การกำหนดเช่นนี้มันผิดหลักประชาธิปไตย

นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงว่า เมื่อพูดถึงอำนาจทางการเมืองไทยแล้วตนเห็นว่าอำนาจทั้งสองส่วน คือ พระมหากษัตริย์ และประชาชน จะต้องดูด้วยความระมัดระวัง เพราะเวลาจะพูดมักจะพูดว่าอำนาจมาจากปวงชนชาวไทย โดยเป็นหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย แต่ท้ายที่สุดอำนาจนั้นจะทำงานได้จริงๆ จะต้องอยู่คู่กับคนที่เป็นประมุขของประเทศ โดยประมุขของประเทศไทยเป็นกรณีพิเศษ เพราะไม่ใช่มาจากการเลือกตั้ง แต่เป็นพระมหากษัตริย์ ดังนั้นต้องดูให้เกิดความสมดุล ให้เกิดความพอดี

นายนครินทร์ชี้แจงต่อว่า ส่วนการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อซึ่งใช้ในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 นั้น ที่นายนิรันดรบอกว่าภาคใต้ ส.ส.เขตก็พรรคประชาธิปัตย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็พรรคประชาธิปัตย์ ภาคอีสาน ส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อ ก็พรรคเพื่อไทยนั้น ทางกรรมาธิการยกร่างฯ เห็นว่า เป็นระบบการเลือกตั้งที่ผิดพลาด เพราะเป็นระบบที่เป็นคู่ขนานกับเขต คือเขตได้แล้วก็แถมได้อีก เพราะฉะนั้น ถือเป็นระบบเลือกตั้งที่ไม่ได้สะท้อนความต้องการของประชาชน และมีความแปรปรวน มีความลำเอียง กีดกันอีกด้วย เพราะฉะนั้น การออกแบบในครั้งนี้เราจึงคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้คะแนนเสียงมีความยุติธรรม ให้แต่ละพรรคได้ความนิยมตามคะแนนเสียงที่แท้จริง ไม่ใช่จะตั้งใจไปกลั่นแกล้งพรรคใหญ่ หรือไปส่งเสริมพรรคเล็กตามที่มีการพูดกันก่อนหน้านี้

ต่อมานายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ชี้แจงว่า การที่มีการบัญญัติไว้เช่นนี้ก็เพราะว่าหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น เขียนไว้ชัดในมาตรา 3 ที่บัญญัติว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล” ของร่างรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว พระมหากษัตริย์ และประชาชนจึงเป็นรากฐานที่แท้จริงในระบอบการเมืองไทยตั้งแต่ปี 2475 จนถึงวันนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปให้ความสำคัญแก่ประชาชนทั่วทั้งประเทศ อีกทั้งนอกจากเป็นพื้นฐานของหลักการของประชาธิปไตยแล้ว ประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย องค์ผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรก คือ รัชกาลที่ 7 ทรงโยงพระองค์ท่านกับประชาชนทั้งหลาย ดังนั้น พระมหากษัตริย์ไทยจึงอยู่คู่กับประชาชน เป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตยมาโดยตลอด

นายบวรศักดิ์กล่าวต่อว่า การเชื่อมโยงพระมหากษัตริย์ และประชาชน เป็นภาค 1 ในร่างรัฐธรรมนูญนั้น ในมาตรา 300 ที่บัญญัติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น มีการแยกการแก้ไขเนื้อหารัฐธรรมนูญเป็น 3 ส่วน โดยมาตรา 299 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ และรูปแบบของรัฐจะทำไม่ได้ และถ้าจะดำเนินการแก้ไขในส่วนภาค 1 นั้น มาตรา 302 บัญญัติว่า หากมีการแก้ไขเรียบร้อยแล้วก็จะต้องให้ประชาชนมีการดำเนินการลงประชามติก่อน ตามหลักที่ว่าผู้แทนที่ราษฎรเลือกเข้ามา จะไปตัดสิทธิของราษฎรไม่ได้ซึ่งประชามติถือเป็นตัวประกันสำคัญที่จะทำให้ผู้ที่พลเมืองเลือกเข้ามาต้องกลับไปถามพลเมืองว่าจะเห็นชอบหรือไม่ เพราะฉะนั้น ตนขอเรียนว่า โดยสรุปภาค 1 พระมหากษัตริย์ และประชาชนนั้น เป็นการเชื่อมโยงตามที่รัชกาลที่ 7 พระราชทานเอาไว้ในพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ที่ต้องการให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนชาวไทย และเป็นไปตามหลักการในมาตรา 3 และทำให้การแก้ไขเนื้อหาในส่วนดังกล่าวยากขึ้น

ส่วนนายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อภิปรายว่า ส่วนตัวเห็นด้วยและรับได้กับร่างรัฐธรรมนูญเป็นส่วนใหญ่ แต่ประเด็นที่ไม่เห็นด้วย คือ ที่มาของ ส.ว.ที่อยู่ในวังวนเดิม ต่างกันเพียงจำนวนที่เพิ่มขึ้น และกมธ.ยกร่างฯ กำลังจะเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้เป็นปลาหลายน้ำอยู่ด้วยกันจึงทำงานลำบาก ทั้งนี้ วิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจาก ส.ว.ที่เริ่มจากการแก้รัฐธรรมนูญนำไปสู่การออกกฎหมายนิรโทษกรรม รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับปฏิรูปแก้ปัญหาประเทศ แต่ กมธ.ยกร่างฯ กลับชักเข้าชักออก ตอนแรกบอกให้สรรหาแล้วเลือกตั้งทางอ้อม ไปๆ มาๆ กลับบ้านเก่า ตนแปลกใจว่าเกิดอะไรขึ้น ประธาน กมธ.ยกร่างฯ เป็นคนธรรมะธัมโม อย่าทำงานเพื่อเห็นแก่หน้าและพวกกัน ต้องเอาประเทศเป็นตัวตั้ง นอกจากนี้ หน้าที่ของ ส.ส.กับส.ว.ต่างกันที่มาต้องแตกต่างกัน ถ้าเลือกตั้งแบบ ส.ส.ก็จะได้คนแบบ ส.ส. แบบนั้นมีสภาเดียวดีกว่า เพราะตรวจสอบอะไรกันไม่ได้ แต่งตั้งอย่างเดียวก็เป็นสภาตรายาง เลือกตั้งอย่างเดียวก็เป็นสภาทาส ผสมผสานกันก็ล้มเหลว เหตุใดเราไม่ใช้สรรหาทั้งหมดหรือการเลือกตั้งแบบสาขาอาชีพ จำนวน 150 คน ส่วนอำนาจของ ส.ว.ไม่ควรออกกฎหมายได้ และไม่ควรตรวจสอบประวัติคณะรัฐมนตรี เพราะไม่จำเป็น

นายวันชัยกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังไม่เห็นด้วยกับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปที่กำหนดให้มีทั้ง สปช., สนช. แค่ตั้งเครือญาติเข้ามาทำงาน เขายังด่าเลย แต่นี่ท่านร่างรัฐธรรมนูญให้เขามาด่าเรา จึงไม่เห็นด้วยอย่างแรง คนจะมองได้ว่าเราแต่งตั้งเพื่อต้องการสืบทอดอำนาจ รัฐธรรมนูญดีทั้งหมด แต่ถ้ามีตำหนินิดเดียว ส่วนเสียจะกลบส่วนดี จึงไม่ควรเขียนเด็ดขาด ดังนั้น ควรเป็นการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าไปทำหน้าที่ในสภาขับเคลื่อนฯ หาก สปช.คนใดมีคุณสมบัติครบจึงจะเข้าไปทำหน้าที่ได้

“กลไกที่ดีทั้งหมดในรัฐธรรมนูญถึงเวลาที่จะใช้ขณะนี้แล้วหรือยัง ก่อนการเลือกตั้ง คสช.ได้ทำให้บ้านเมืองสงบ และเกิดความปรองดองก่อนที่จะมีการเลือกตั้งแล้วหรือยัง การปฏิรูปในเรื่องสำคัญ เช่น การทุจริต การบริหารราชการแผ่นดิน การปกครองท้องถิ่น คสช.ได้ใช้อำนาจดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาแล้วหรือยัง ผมมองว่าควรจะใช้อำนาจแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้กลับไปเริ่มต้นกันใหม่อีก สปช. กมธ.ยกร่างฯ ควรมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศ ไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว มีการเลือกตั้งก็สะบัดก้นหนีกันไป ขณะที่การปฏิรูปยังไม่แล้วเสร็จ ดังนั้น ควรหรือไม่ที่ร่างรัฐธรรมนูญจะมีบทกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลเพื่อให้การปฏิรูปสำเร็จสะเด็ดน้ำ แล้วค่อยส่งต่ออำนาจให้เขาต่อไป แต่หากท่านบอกว่ารัฐธรรมนูญเป็นแบบนี้ดี ถ้าเลือกตั้งแล้วกลับมาเหมือนเดิมจะร่างรัฐธรรมนูญมาทำไม กินไม่ได้” นายวันชัยกล่าว

ต่อมาเวลา 21.45 น. นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ สปช.ด้านกฎหมาย อภิปรายว่า ในมาตรา 207 การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือน โดยระบบคุณธรรม วุฒิสภามีอำนาจตีกลับหากไม่เห็นชอบซึ่งวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญนี้มีอำนาจมากมีส่วนกำกับทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ทำให้สงสัยว่าประเทศนี้ปกครองโดยวุฒิสภาหรือไม่ ขณะที่รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงกลับไม่มีอำนาจแต่งตั้งปลัดกระทรวง แล้วหากปลัดไม่ทำตามนโยบายของรัฐบาลจะทำอย่างไร ตนขอเสนอให้ รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายด้วย ส่วนมาตรา 210 (3) ให้อำนาจพลเมืองตรวจสอบการบริหารงาน สามารถร้องทุกข์ฟ้องต่อศาลได้ จะทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐมีปัญหา จึงอยากให้มีการสร้างสมดุลการตรวจสอบของประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐใหม่ เพราะหากการตรวจสอบมีมากไปจะเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน

กระทั่งเวลา 22.25 น. น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช.คนที่ 2 ในฐานะประธานการประชุมจึงสั่งพักการประชุม เมื่อสมาชิกอภิปรายจบหมวด 6 ความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการ นักการเมือง และประชาชน พร้อมนัดประชุมต่อในวันที่ 24 เม.ย. เวลา 09.00 น.
กำลังโหลดความคิดเห็น