xs
xsm
sm
md
lg

“ปู่ชัย”ถล่มรธน.เปิดรับ"กลุ่มการเมือง" บ้านเมืองฉิบหายแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 14.00 น. วานนี้ (23เม.ย.) ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมีนางทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช. คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณา ร่าง รัฐธรรมนูญ เป็นวันที่ 4 ในภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง หมวด 3 รัฐสภา
นายชัย ชิดชอบ กรรมาธิการปฏิรูปการเมือง กล่าวว่า หมวดรัฐสภา ถือเป็นหมวดที่สำคัญที่สุด เพราะเกี่ยวกับผู้ที่อาสาจะลงสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ และขอให้ข้อสังเกตว่า การเลือกตั้ง ส.ส. เป็นเรื่องสำคัญของประเทศ
ตั้งแต่ปี 2475 ทหารพยายามไม่ให้มีกลุ่มการเมือง แต่มาครั้งนี้ เห็นมหาปราชญ์ 36 คน ตั้งกลุ่มการเมือง กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ดูเลย ขอให้ดูให้ลึก ขนาดพรรคการเมืองยังคุมไม่อยู่ มีการซื้อสิทธิขายเสียง แล้วถ้ากลุ่มการเมืองเกิดขึ้น จะตรวจสอบอย่างไร กลุ่มการเมืองใหญ่มาก สองกลุ่มการเมืองใหญ่ จะสร้างความวุ่นวายให้ประเทศในอนาคต ร่างรัฐธรรมนูญ ออกมาแบบนี้ รับรองประเทศล่มสลาย ล่มจม แน่นอน ทหารจะเอารถทหารออกมากี่คัน ก็สู้กลุ่มการเมืองไม่ได้ ตนห่วงบ้านเมือง และเป็นกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง และเป็น คณะอนุฯในชุดปฏิรูปการเมือง ก็ยืน ยันตรงกัน ไม่ให้มีกลุ่มการเมือง เพราะจะสร้างปัญหาให้ประเทศชาติในอนาคต ขณะนี้จะใช้ มาตรา 44 ยังต้องเชิญกลุ่มการเมือง เข้าค่ายอีก
"ผมกล้าท้าเลยว่า ความปรองดองจะไม่เกิดขึ้น หากไม่สร้างความสามัคคีในชาติ กลุ่มเสื้อสี น่าเป็นห่วงมาก ชาติจะล่มจมเพราะกลุ่มเหล่านี้ ผมห่วงทหารของผม เดี๋ยวจะต้องออกมายืดเส้นยืดสายอีก เราได้ศึกษารายละเอียด จากข้อเท็จจริงมา 10 ปีแล้ว พบว่าปัญหาเกิดจากกลุ่มการเมือง ดังนั้น จึง ไม่จำเป็นต้องเปิดโอกาสให้กลุ่มการเมือง เอาแค่พรรคการเมือง พอแล้ว ท่านนอนฝัน ให้เห็นความจริง ให้มีแต่พรรคการเมืองเถิด แล้วควบคุมให้อยู่ โดยออกระเบียบแบบแผนให้แน่นอน"
นายชัย กล่าวอีกว่า ตนดีใจที่มหาปราชญ์ 36 คน ยกฐานะประชาชนให้เป็นพลเมือง แต่อยากถามว่า ยกฐานะแล้วประชาชนได้อะไรบ้าง ตนไม่ขอทักทวง แต่เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะให้ประชาชนเป็นพลเมือง อย่างไรก็ตาม เมื่อยกย่องให้ประชาชนเป็นพลเมือง แล้วก็ต้องยกย่องให้ตลอด ให้พลเมืองได้มีสิทธิ์เลือก ส.ส.ทั้ง 450 คน จะแบ่งเป็น ส.ส.ระบบสัดส่วน อีกทำไม ทั้งนี้การยุบเขตเลือกตั้งให้เหลือน้อยลงกว่าเดิม ถามว่า ต่อไปประชาชนจะพึ่งพาใคร
นายชัย กล่าวด้วยว่า ตนตกใจที่ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ ระบุว่า นายกรัฐมนตรีไม่มาจากคนนอกแน่นอน อยากถามว่า มั่นใจหรือไม่ว่า ส.ส. ซื้อไม่ได้ เวลาที่เขาต้องการอำนาจ มีเงินเป็นหมื่นล้านบาท ถามว่าใครไม่อยากได้เงิน
ส่วนกรณี ส.ว. ก็เช่นกัน ขอให้เป็นแบบเลือกตั้งทั้งหมด เพราะส.ว. ต้องทำหน้าที่สำคัญกว่าที่ผ่านมา และเห็นว่า ควรให้ปรับเป็น 150 จาก 200 คน เพื่อที่จะได้นำเงินไปพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ ทั้งนี้ ตนต้องการ เสนอ ส.ส.และส.ว.เลือกตั้งทั้งหมด แต่ต้องวางกฎระเบียบ คุณสมบัติ ให้ชัดเจน และอย่าไปตั้งข้อจำกัดผู้ที่มีสิทธิลงสมัครเลือกตั้ง เช่น อายุ ภูมิลำเนา เป็นต้น
"ขอให้ท่านประธาน (บวรศักดิ์) ยึดมั่นในอุดมการณ์ที่ท่านประธานเคยมี ยึดมั่นในความซื่อสัตย์ สุจริต ของบ้านเมือง บ้านเมืองจะอยู่รอดก็เพราะอยู่ที่พวกเราที่นั่งอยู่ตรงนี้แหละครับ ถ้ากฎหมายมันออกไปดี บ้านเมืองก็อยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ถ้ากฎหมายมันออกมาเป็นแบบนี้ ไม่สุขแน่ ฉิบหายแน่ บ้านเมือง " นายชัย กล่าว
นายชัย ยังกล่าวด้วยว่า ในเมื่อกรรมาธิการยกร่างฯ อ้างว่า จะทำให้พลเมืองเป็นใหญ่ ทำไมจึงจำกัดสิทธิ เสรีภาพ ของเขา ทำไมจึงไม่ปล่อยให้ประชาชนเลือกตั้งส.ส. ไปเลยทั้ง 450 คน จะไปเอาการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ที่เป็นแบบสัดส่วนผสมมาใช้ทำไม ส่วนที่มาส.ว. ก็ต้องให้ประชาชนเลือกตั้งทั้งหมด อำนาจหน้าที่ ก็ต้องปรับเข้ากับยุคดิจิทัล ประเทศเราไม่เหมือนอดีตแล้ว กรรมาธิการยกร่างฯ ต้องให้สิทธิ เสรีภาพ ประชาชน สิ่งที่กรรมาธิการยกร่างฯ ทำนั้น อยู่นอกกรอบ จึงขอให้พิจารณาทบทวนแก้ไขใหม่ เพื่ออนาคตของบ้านเมือง ไม่ใช่แค่วันนี้ ถ้ากฎหมายออกมาดี บ้านเมือง จะมีความสุข แต่ถ้าออกมาแบบนี้ บ้านเมืองฉิบหายแน่นอน
ด้านพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช กรรมาธิการยกร่างฯ ลุกขึ้นชี้แจงว่า ตนติดใจคำว่า ชาติจะล่มจม เพราะกลุ่มการเมือง จึงขอชี้แจงว่า สถานการณ์บ้านเมืองที่มีกลุ่มต่างๆ จัดตั้งขึ้น หลายกลุ่มมีความสนใจที่แตกต่างกัน อาทิ ด้านพลังงาน ด้านการเมือง เป็นต้น เพื่อให้เขากลุ่มเหล่านี้ไปมีพื้นที่ในสภา ซึ่งใน มาตรา 76 ได้บัญญัติไว้ชัดเจน เกี่ยวกับพรรคการเมืองที่จะกำหนดรายละเอียดใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ก่อนนำไปใช้ในการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งจะนำไปบังคับใช้กับกลุ่มการเมือง กลุ่มการเมือง จะต่างจากพรรคการเมืองเพียงบางส่วน ในส่วนของข้อกำหนด ผู้จดทะเบียน สมาชิก สำนักงานอาจไม่ต้องมี เป็นกลุ่มการเมืองที่ประสงค์จะลงรับเลือกตั้ง ส.ส. ระดับภาค ระดับจังหวัด สิ่งที่กลุ่มการเมืองก็ต้องทำตามกฎหมายที่กำหนดไว้ ตนเชื่อว่า กลุ่มการเมืองสามารถเล่นการเมืองในระดับพรรคได้อยู่แล้ว และไม่ทำให้บ้านเมืองเสียหาย อย่างแน่นอน

**หนุนใช้ยาแรงฆ่าไวรัสการเมือง

นายอุดม เฟื่องฟุ้ง สมาชิก สปช. เสนอให้พิจารณาแก้ไขใน มาตรา 110 ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. และ มาตรา 111 ว่าด้วยลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะมีเนื้อหาที่ไม่ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 35 (3) ถึง (10) ที่กำหนดให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคัดคนเข้ามาสู่การเมือง
ทั้งนี้ ควรกำหนดให้นักการเมืองที่ทำผิดกฎหมาย ซึ่งศาลมีคำวินิจฉัยลงโทษแล้ว ไม่ควรกลับมาสู่ระบบการเมืองอีกต่อไป ซึ่งถือเป็นมาตรฐานเดียวกับข้าราชการทุกประเภท ที่มีกฎหมายกำหนดว่า ข้าราชการผู้ใดทำผิดวินัยแล้วไม่สามารถเข้ามาสู่วงการราชการได้ แม้จะอยู่ในตำแหน่งภารโรง หรือลูกจ้างก็ตาม
"ร่างรัฐธรรมนูญนี้ ไม่อยู่บนฐานของความเข้าใจในสภาพการเมืองไทย ที่พรรคการเมืองล้วนมีเจ้าของเกือบทั้งหมด ทั้งเจ้าของพรรคภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออก นอกจากนี้ พรรคการเมืองและนักการเมือง ยังเป็นผู้แพร่ไวรัสสู่ประชาธิปไตย ให้เป็นอาการคล้ายไข้หวัดนกหลายปี เราไม่ควรปล่อยไว้ และควรใช้ยาแรง แต่มีผู้โต้แย้งว่า ไม่ควรใช้ยาแรง แต่ส่วนตัวยืนยันว่า ที่ผ่านมามีการใช้ยาแรงมาแล้ว แต่ กรรมาธิการยกร่างฯ ยังสร้างพาหะ นำไวรัสสู่ประชาธิปไตยอย่างร้ายแรงอีก คือการสถาปนากลุ่มการเมือง ซึ่งหากเป็นไปตามที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอ ก็กังวลว่าประชาธิปไตย จะไม่เป็นเพียงไข้หวัดนก แต่จะเป็นอีโบลา ที่ทำให้ประชาธิปไตยตายได้"

**ไม่ควรปนหมวดกษัตริย์กับประชาชน

นายนิรันดร์ พันธกิจ สมาชิกสปช. อภิปรายว่า ตนมองว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เหมือนบัวลอยไข่หวาน ไข่ก็สด แป้งก็ดี แต่มันมีขี้จิ้งจกอยู่ 6-7 เม็ด สาเหตุที่ทำให้เกิดขี้จิ้งจก มีอยู่ประมาณ 3-4 ประการ 1. การร่างรัฐธรรมนูญนี้ มาจากเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ที่ให้อำนาจคณะกรรมาธิการยกร่างฯไม่มาก แม้จะระบุให้กรรมาธิการต้องรับฟังความเห็นจากฝ่ายต่างๆ ก็ตาม แต่ที่สุดอำนาจก็ยังอยู่ที่กรรมาธิการชุดนี้อยู่ดี สมมุติอภิปราย 7วัน 7 คืน ถ้ากรรมาธิการไม่เอา ทิ้งลงถังขยะ ก็สามารถทำได้ อยู่ที่ว่าเขาจะฟังหรือเปล่า ตนเสียดายว่าตอนทำฉบับร่างให้เรา น่าจะทำความ เห็นของกรรมาธิการยกร่างฯ เสียงข้างน้อยมาด้วย เพราะไม่เชื่อว่ากรรมาธิการยกร่างฯทั้งหมด จะเห็นเป็นเอกฉันท์ ทุกประเด็น
เช่น คิดได้อย่างไรที่เอาหมวดพระมหากษัตริย์ ไปปนกับประชาชน เราเคยมีรัฐธรรมนูญ10 กว่าฉบับ ก็แยกออกจากกันทุกครั้ง และเชื่อว่ามีกรรมาธิการบางคน ก็ไม่เห็นด้วยเหมือนตนในประเด็นนี้ 2. ให้เวลาในการรับฟังความเห็นน้อยมาก ทั้งที่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ไม่ใช่โรตี ที่รับแป้งตอนเย็น มานวดกลางคืน แล้วขายตอนเช้า สมาชิกต้องมีโอกาสได้อ่าน และศึกษาอย่างชัดเจนแล้วมาแสดงความเห็น 3 .ประชาชนไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการแสดงความเห็น หรือศึกษาในรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อจะได้ทำการประชาพิจารณ์ และ 4.เกิดวาทะกรรมแปลกๆ ในช่วงกำลังร่างรัฐธรรมนูญ เช่น ลงเรือแป๊ะต้องตามใจแป๊ะ
"ผมขอย้ำว่าเรือนี้ไม่ใช่เรือของแป๊ะ แต่เป็นเรือของประชาชน ที่แป๊ะไปยึดมา แต่ว่าวันนั้น ถ้าแป๊ะไม่ยึดบ้านเมือง ก็เกิดความวุ่นวาย ก็ต้องยอมเขา เหตุการณ์สงบลง เพราะแป๊ะมาช่วย แต่แป๊ะต้องคืน ไม่ใช่ตามใจแป๊ะ เพราะอำนาจอธิปไตย เป็นของประชาชนไม่ใช่ของแป๊ะ"

**"โอเพ่นลิสต์" ก่อให้เกิดพรรคนอมินี

นายนิรันดร์ กล่าวด้วยว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เขียนบนสมมุติฐานที่ว่า รัฐบาลเข้มแข็งเกินไป จึงต้องทำให้รัฐบาลอ่อนแอลง แต่ความจริงเราต้องทำให้รัฐบาลเข้มแข็งเหมือนประเทศอื่นๆ มาเลเซีย สิงคโปร์ ที่เจริญก้าวหน้า เพราะเขามีความเข้มแข็ง แต่สิ่งสำคัญคือ ทำอย่างไรให้เขาใช้ความเข้มแข็งด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และตรวจสอบถ่วงดุลได้ ส่วนการเอาระบบเลือกตั้งเขตจากเยอรมัน ระบบโอเพ่นลิสต์ จากเนเธอร์แลนด์ ไม่รู้เป็นสัตว์ประหลาดอะไร จะแบบไหนก็ตาม ต้องคำนึงถึงวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ เยอรมันได้ประสบการณ์จากนาซี มันคนละแบบกับเรา ส่วนปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อเลือกอีกพรรคมาถ่วงดุล ตามวัฒนธรรมของเรา ภาคใต้แบบเขต และปาร์ตี้ลิสต์ ก็ประชาธิปัตย์ หรือภาคอีสาน ทั้งแบบเขต และปาร์ตี้ลิสต์ ก็เพื่อไทย มันคนละวัฒนธรรมกัน คนไทยไม่ชอบวิธีการซับซ้อน ระบบโอเพ่นลิสต์ ในมาตรา 105 วรรคสอง จะเกิดปัญหา 2 ประการ ที่ พล.อ.เลิศรัตน์ ต้องตอบ คือ 1. จะแก้ปัญหาเรื่องความแตกแยกในพรรคอย่างไร เพราะต่างคนต่างก็อยากได้เป็นส.ส. ก็ต้องแย่งกันหาเสียง และ 2. ถ้าเป็นอย่างนั้น พรรคการเมืองก็ต้องหนีตาย ด้วยการสร้างพรรคนอมินีขึ้นมา เพื่อเน้นเลือกตั้งที่ปาร์ตี้ลิสต์ ไม่เน้นเขต ส่วนอีกพรรค ก็เน้นเขตไม่เน้นปาร์ตี้ลิสต์
ส่วนบทบาท ส.ว. ควรแยกให้ชัดเจน หากต้องการกลั่นกรองกฎหมาย ก็ควรให้มาจากการสรรหาทั้งหมด แต่ถ้ามีอำนาจในการถอดถอน ออกกฎหมาย ตั้งคณะกรรมการตามรัฐธรรมนูญ ไม่ควรเอาระบบสรรหามาใช้ เพราะถือว่ามีอำนาจมากเกินไป จะต้องให้มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น เพราะตามหลักแล้ว ผู้ที่มาจากการสรรหา ไม่มีสิทธิ์ในการถอดถอนบุคคลที่มาจากการเลือกตั้ง การกำหนดเช่นนี้ มันผิดหลักประชาธิปไตย

** ย้ำ"พระมหากษัตริย์-ประชาชน"อยู่คู่กัน

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ ได้ชี้แจงว่า การที่มีการบัญญัติไว้เช่นนี้ ก็เพราะว่าหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น เขียนไว้ชัดใน มาตรา 3 ที่บัญญัติว่า " อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล" ของร่างรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ซึ่งพระมหากษัตริย์ และประชาชน จึงเป็นรากฐานที่แท้จริงในระบอบการเมืองไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 จนถึงวันนี้ จึงไม่น่าแปลกใจ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จไปให้ความสำคัญกับประชาชนทั่วทั้งประเทศ อีกทั้งนอกจากเป็นพื้นฐานของหลักการของประชาธิปไตยแล้ว ประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย องค์ผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรก คือ รัชกาลที่ 7 ทรงโยงตัวพระองค์ท่าน กับประชาชนทั้งหลาย ดังนั้นพระมหากษัตริย์ไทยจึงอยู่คู่กับประชาชน เป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตยมาโดยตลอด
การเชื่อมโยงพระมหากษัตริย์ และประชาชน เป็น ภาค 1 ในร่างรัฐธรรมนูญนั้น ใน มาตรา 300 ที่บัญญัติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น มีการแยกการแก้ไขเนื้อหารัฐธรรมนูญ เป็น 3 ส่วน โดยมาตรา 299 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ และรูปแบบของรัฐ จะทำไม่ได้ และถ้าจะดำเนินการแก้ไขใน ส่วนภาค 1 นั้น มาตรา 302 บัญญัติว่า หากมีการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว ก็จะต้องให้ประชาชนมีการดำเนินการลงประชามติก่อน ตามหลักที่ว่า ผู้แทนที่ราษฎรเลือกเข้ามาจะไปตัดสิทธิ์ของราษฎรไม่ได้ ซึ่งประชามติ ถือเป็นตัวประกันสำคัญที่จะทำให้ผู้ที่พลเมืองเลือกเข้ามา ต้องกลับไปถามพลเมืองว่า จะเห็นชอบหรือไม่ เพราะฉะนั้นตนขอเรียนว่า โดยสรุป ภาค 1 พระมหากษัตริย์และประชาชน นั้น เป็นการเชื่อมโยงตามที่ รัชกาลที่ 7 พระราชทานเอาไว้ ในพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 ที่ต้องการให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนชาวไทย และเป็นไปตามหลักการใน มาตรา 3 และทำให้การแก้ไขเนื้อหาในส่วนดังกล่าวยากขึ้น

** ติงที่มาส.ว.และอำนาจหน้าที่

นายวันชัย สอนศิริ สปช. อภิปรายว่า ส่วนตัวเห็นด้วย และรับได้กับร่างรัฐธรรมนูญเป็นส่วนใหญ่ แต่ประเด็นที่ไม่เห็นด้วยคือ ที่มาของ ส.ว. ที่อยู่ในวังวนเดิม ต่างกันเพียงจำนวนที่เพิ่มขึ้น และกมธ.ยกร่างฯ กำลังจะเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ให้เป็นปลาหลายน้ำ อยู่ด้วยกันยาก ทำงานลำบาก
ทั้งนี้ วิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากส.ว. ที่เริ่มจากการแก้รัฐธรรมนูญ นำไปสู่การออกกฎหมายนิรโทษกรรม รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นฉบับปฏิรูปแก้ปัญหาประเทศ แต่กมธ.ยกร่างฯ กลับชักเข้า ชักออก ตอนแรกบอกให้สรรหา แล้วเลือกตั้งทางอ้อม ไปๆ มาๆ กลับบ้านเก่า ตนแปลกใจว่าเกิดอะไรขึ้น ประธานกมธ.ยกร่างฯ เป็นคนธรรมะธัมโม อย่าทำงานเพื่อเห็นแก่หน้า และพวกกัน ต้องเอาประเทศเป็นตัวตั้ง
นอกจากนี้ หน้าที่ของ ส.ส.กับ ส.ว.ต่างกัน ที่มาต้องแตกต่างกัน ถ้าเลือกตั้งแบบส.ส. ก็จะได้คนแบบส.ส. แบบนั้นมีสภาเดียวดีกว่า เพราะตรวจสอบอะไรกันไม่ได้ แต่งตั้งอย่างเดียวก็เป็นสภาตรายาง เลือกตั้งอย่างเดียว ก็เป็นสภาทาส ผสมผสานกัน ก็ล้มเหลว เหตุใดเราไม่ใช้สรรหาทั้งหมด หรือการเลือกตั้งแบบสาขาอาชีพ จำนวน 150 คน ส่วนอำนาจของ ส.ว.ไม่ควรออกกฎหมายได้ และไม่ควรตรวจสอบประวัติ คณะรัฐมนตรี เพราะไม่จำเป็น
นอกจากนี้ ตนไม่เห็นด้วยกับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป ที่กำหนดให้มีทั้ง สปช. สนช. แค่ตั้งเครือญาติเข้ามาทำงานเขายังด่าเลย แต่นี่ท่านร่างรัฐธรรมนูญ ให้เขามาด่าเรา ตนจึงไม่เห็นด้วยอย่างแรง คนจะมองได้ว่าเราแต่งตั้งเพื่อต้องการสืบทอดอำนาจ รัฐธรรมนูญดีทั้งหมด แต่ถ้ามีตำหนินิดเดียว ส่วนเสียจะกลบส่วนดี จึงไม่ควรเขียนเด็ดขาด ดังนั้น ควรเป็นการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าไปทำหน้าที่ในสภาขับเคลื่อนฯ หากสปช. คนใดมีคุณสมบัติครบ จึงจะเข้าไปทำหน้าที่ได้
"กลไกที่ดีทั้งหมดในรัฐธรรมนูญถึงเวลาที่จะใช้ขณะนี้แล้วหรือยัง ก่อนการเลือกตั้ง คสช.ได้ทำให้บ้านเมืองสงบ และเกิดความปรองดองก่อนที่จะมีการเลือกตั้งแล้วหรือยัง การปฏิรูปในเรื่องสำคัญ เช่น การทุจริต การบริหารราชการแผ่นดิน การปกครองท้องถิ่น คสช. ได้ใช้อำนาจดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาแล้วหรือยัง ผมมองว่า ควรจะใช้อำนาจแก้ปัญหา เพื่อไม่ให้กลับไปเริ่มต้นกันใหม่อีก สปช. กมธ.ยกร่างฯ ควรมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศ ไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว มีการเลือกตั้ง ก็สะบัดก้นหนีกันไป ขณะที่การปฏิรูปยังไม่แล้วเสร็จ ดังนั้นควรหรือไม่ ที่ร่างรัฐธรรมนูญ จะมีบทกำหนดไว้ ในบทเฉพาะกาล เพื่อให้การปฏิรูปสำเร็จสะเด็ดน้ำ แล้วค่อยส่งต่ออำนาจให้เขาต่อไป แต่หากท่านบอกว่า รัฐธรรมนูญเป็นแบบนี้ดี ถ้าเลือกตั้งแล้วกลับมาเหมือนเดิมจะร่างรัฐธรรมนูญมาทำไม กินไม่ได้" นายวันชัยกล่าว


** เตรียมทำเอกสาร ร่างรธน.เผยแพร่

นางสุภัทรา นาคะผิว โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นางถวิลวดี บุรีกุล และ นายประชา เตรัตน์ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมกันแถลงถึง การจัดทำเอกสารเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เนื้อหาสาระ ร่างรัฐธรรมนูญ โดยนางสุภัทรา กล่าวว่า การอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างมาก แต่การจะให้มีส่วนร่วมเพื่อความสมบูรณ์รอบด้าน จึงได้จัดทำเอกสารเผยแพร่เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ อย่างน้อย 1 แสนเล่ม ซึ่งมั่นใจว่า ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะนำสันติสุขมาสู่สังคมไทย ไม่สร้างปัญหาจนเกิด วิกฤตชาติอย่างแน่นอน
นางถวิลวดี บุรีกุล โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า จะแจกหนังสือสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปฏิรูป ให้กับ สปช.ในวันนี้ ก่อนจะนำไปแจกจ่ายในเวทีรับฟังความเห็น ซึ่งจะเป็นการอธิบายอย่างง่าย ให้ประชาชนเข้าใจรายละเอียดทั้งหมด รวมถึงระบบเลือกตั้งใหม่ด้วย และหลังจากร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบจาก สปช.แล้ว จะมีการปรับปรุง เพื่อเผยแพร่รัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ อีกครั้ง
นอกจากนี้ จะมีการจัดสัมมนา 3 ครั้ง เพื่อรับฟังสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ และมีกรรมาธิการฯ ถามความเห็นประชาชนในแต่ละกลุ่มย่อยด้วย เพื่อให้ได้บทสรุปว่า ประชาชนต้องการอะไร ส่วนการทำแบบสอบถามความคิดเห็นประชาชน ทางกรรมาธิการฯ กำลังทำอยู่โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ และคนออกแบบคือ ตนกับสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมาธิการยกร่างฯ แล้ว โดยจะสุ่มตัวอย่างทั้งหมด 77,000 ตัวอย่าง จากทั่วประเทศ คาดว่าผลสรุปจะได้ในเดือนหน้า ทันเวลาที่กรรมาธิการฯ จะนำมาพิจารณาประกอบการแก้ไขเพิ่มเติม แต่จะไม่มีการสอบถามว่าประชาชนต้องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ เพราะไม่จำเป็น เนื่องจากคำถามเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ทราบคำตอบอยู่แล้ว
ส่วน 12 เวทีทั่วประเทศ จะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง และมีแบบสอบถาม 1 หน้า และให้คะแนนร่างรัฐธรรมนูญด้วยว่า คะแนนเต็มสิบ ให้เท่าไหร่
"เราไม่ได้ปรับรูปแบบสอบถามตามความต้องการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกฯ แต่เป็นการสอบถามความเห็นตามเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ และยืนยันว่า กรรมาธิการฯไม่กลัวการทำประชามติ" นางถวิลวดี กล่าว
นายประชา เตรัตน์ ประธานอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วม และรับฟังความคิดเห็น กล่าวว่า จะมีการชี้แจงสาระของร่างรัฐธรรมนูญ และมีแบบสอบถามว่า ประชาชนอยากให้ปรับปรุงอะไร เนื่องจากมีเวลาแค่หนึ่งเดือน จึงเลือกภาคละ 3 จังหวัด ภาคกลาง ที จ.เพชรบุรี อยุธยา ชลบุรี ภาคใต้ ที่ จ.สงขลา นราธิวาส ภูเก็ต ภาคอีสาน ที่ จ.นครราชสีมา อุบลราชธานี อุดรธานี และภาคเหนือ ที่ จ. เชียงราย เพชรบูรณ์ และนครสวรรค์ โดยผู้ว่าราชการจังหวัด จะเชิญประชาชนจากหลากหลายอาชีพ เข้าสู่เวทีประมาณ 1,500-3,000 คน รวมรับฟังความเห็นทั้งหมด 12 เวที
ทั้งนี้ จะถ่ายทอดสดผ่านสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย และวิทยุชุมชน จากนั้นให้ช่อง 11 บันทึกเทป นำไปออกอากาศตามพื้นที่ต่างๆ ด้วย เพื่อให้ประชาชนรับทราบมากที่สุด ซึ่งหากรัฐบาลตัดสินใจจะทำประชามติ ก็จะทำให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลเบื้องต้น แต่ทั้งนี้ การตัดสินใจทำประชามติหรือไม่ อยู่ที่ ครม. และ คสช. แม้กรรมาธิการฯ 80 % อยากให้ทำประชามติ แต่ก็จะไม่มีการทำหนังสืออย่างเป็นทางการ เสนอไปยังครม.กับคสช. ไม่ใช่เพราะว่าเกรงใจ แต่เราคนละบทบาทและหน้าที่ เนื่องจากในการประชุมแม่น้ำห้าสายแต่ละครั้ง ก็มีการพูดคุยอยู่แล้ว ซึ่งก็ไม่แตกต่างกับการที่ จะต้องเสนออย่างเป็นลายลักษณ์อักษร
"ผมยอมรับว่า การรับฟังความเห็นที่ทำอยู่ในขณะนี้ ไม่สามารถทดแทนประชามติได้ แต่ก็ได้ฟังความเห็นจากหลากหลายอาชีพ จากทุกกลุ่ม ส่วนการทำประชามติ ก็คิดว่า ครม. และ คสช. ก็พิจารณาเรื่องนี้อยู่ ผมและคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เป็นหลักประกันว่า การจัดทำเวทีเหล่านี้ไม่ได้ทำเพียงแค่เป็นพิธีกรรม เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ได้นำความเห็นประชาชน มาพิจารณาด้วย" นายประชากล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการแถลงข่าว มีตัวแทนสมาคมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือต่อ กรรมาธิการยกร่างฯ โดยมีข้อเสนอให้เพิ่ม "ผู้แทนองค์กรด้านปกครองท้องที่" ไว้ในการสรรหาส.ว.ด้วย

** "บวรศักดิ์"ยันกมธ.ชี้แจง ไม่ใช่ไม่แก้ไข

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) กล่าวถึงการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในระยะเวลา 3 วันที่ผ่านมา ว่า ทั้ง 3 วันได้รับฟังความคิดเห็นของ สปช. และประชาชน เป็นที่น่าสนใจ และจะนำกลับไปพิจารณา การอภิปรายเป็นไปได้ด้วยดีและราบรื่น ตนภูมิใจ สปช. ที่เป็นสภาที่เป็นแบบอย่างที่ดี ไม่มีการประท้วงวุ่นวาย ไม่ใช้วาจาเสียดสี พูดกันด้วยเหตุผล มีเนื้อหาสาระ
อย่างไรก็ตาม การที่ กมธ. ลุกขึ้นชี้แจง ร่างรัฐธรรมนูญในสภา ก็เพื่อเป็นการทำความเข้าใจว่า ที่สิ่งเขียนมาเป็นอย่างไร ปกติให้เวลา กมธ. ชี้แจงไว้อยู่แล้ว 15 ชั่วโมง ตอนนี้ใช้ไปแค่ 5 ชั่วโมงกว่าๆ ถ้าไม่ชี้แจงเลยคนจะไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเขียนอย่างนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะปรับปรุงไม่ได้ ชี้แจงเพื่อให้เห็นว่า กมธ. ใช้หลักวิชา ดูความเป็นไปของโลก ดูหลักเฉพาะของบ้านเมืองไทย ไม่ได้เอาตัวเองเป็นตัวตั้ง ผู้สื่อข่าวคิดกันเอาเองว่าจะไม่มีการแก้ไข ใครจะไปทายอนาคตได้ มีเวลาพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม 60 วัน ไม่ต้องไปห่วงว่าจะแก้หรือไม่แก้ ยังมาไม่ถึงดูวันนี้ก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น