เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ทุกคนจะมีความคิดแง่ร้ายหรือความวิตกกังวลเกิดขึ้นในใจได้เสมอ บางคนอาจกังวลตั้งแต่เรื่องเล็กๆน้อยๆ เช่น อาหารการกิน เสื้อผ้าหน้าผม ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆในชีวิต เช่น เรื่องสุขภาพ เรื่องการเงิน การงาน ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นบ่อยครั้งเข้า ก็อาจกลายเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตได้เหมือนกัน
แต่หากรู้จักวิธีที่จะจัดการหรือหยุดยั้งมิให้มันครอบงำจิตใจ ก็จะช่วยให้เรามีความสุขมากขึ้น ใครที่มีปัญหานี้แล้วยังแก้ไม่ตก ลองทำตาม 9 กลยุทธ์ต่อไปนี้ ที่เชื่อว่าจะช่วยหยุดยั้งความคิดร้ายๆให้สลายไปกับสายลม
1. วางแผนรับมือ
การจัดการและควบคุมความคิดแง่ร้าย จะทำได้ง่ายขึ้นหากมีการวางแผนล่วงหน้า ว่าจะรับมือกับมันอย่างไร เมื่อมันผุดขึ้นในใจ และกลยุทธ์ที่ควรนำมาใช้คือ “ถ้าความคิด X ผุดขึ้นในใจ ฉันจะทำ Y” เช่น ถ้ารู้สึกหงุดหงิดกับคนรอบข้าง ฉันจะพยายามยิ้มทุกครั้ง
หรืออาจใช้วิธีง่ายๆ เช่น “ฉันจะไม่สนใจมัน” หรือแทนที่ความคิดร้ายด้วยความคิดดีๆ เช่น เมื่อรู้สึกกลัว ให้นึกถึงพระพุทธรูป หรือทุกครั้งที่ความคิดไม่ดีครอบงำจิตใจ ก็ลุกขึ้นมาออกกำลังกาย เป็นต้น
2. สร้างโปรแกรมความคิดด้านดี
การสร้างโปรแกรมความคิดดีนั้นไม่ใช่เรื่องยาก เพราะแค่คิดแต่เรื่องดีๆอยู่เสมอๆ มันก็จะกลายเป็นชุดความคิดด้านดีที่ส่งเข้าสู่สมอง เพื่อรอการเรียกใช้ และเมื่อใดที่คุณตกอยู่ในสถานการณ์ที่ความคิดแง่ร้ายแวบเข้ามาโจมตีเหมือนไวรัส เช่น ถ้าคิดว่างานที่ได้รับมอบหมายนั้น “ฉันทำไม่ได้แน่ๆ” ก็อย่าลืมเอาโปรแกรมความคิดด้านดีออกมาฆ่าไวรัสซะ โดยคิดว่า “ไม่มีอะไรเกินความพยายามของฉันไปได้อย่างแน่นอน”
3. เลื่อนความคิดร้ายออกไป
แม้ว่าคุณอาจต้องเผชิญกับความคิดไม่ดีในเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่ก็มิได้หมายความว่า จำเป็นต้องจัดการกับมันในทันที เพราะหากมันเกิดขึ้นขณะที่คุณกำลังทำภารกิจอื่นอยู่ ก็ไม่ต้องตกใจ ตั้งสติและบอกตัวเองว่า ไม่เป็นไร ค่อยจัดการทีหลัง
ข้อสำคัญ อย่าผิดสัญญากับตัวเอง เพราะการหลบหนีความกังวล ยิ่งจะทำให้มันมีพลังมากขึ้น ควรหาวิธีจัดการเมื่อคุณมีเวลาและพลังใจมากพอ
4. กำหนดช่วงเวลา
หากคุณมัวแต่ใช้เวลาคิดวิตกกังวลเรื่องเดิมๆอยู่ทั้งวัน ชีวิตคงไม่เป็นสุขแน่ ทางที่ดีควรกำหนดช่วงเวลาที่จะจัดการกับเรื่องเลวร้ายเหล่านั้น แล้วเอาเวลาที่เหลือไปคิดทำอย่างอื่น
ควรระวัง... อย่าใช้เวลาจัดการเรื่องวิตกกังวลในตอนเช้า เพราะคุณคงไม่ต้องการเริ่มต้นวันใหม่ด้วยสิ่งไม่ดี ขณะเดียวกัน ก็ไม่ควรกำหนดช่วงใกล้เวลาเข้านอน มิฉะนั้น คุณคงนอนไม่หลับแน่ๆ เพราะร่างกายต้องการผ่อนคลายอย่างน้อย 1 ชม. ก่อนเข้านอน เพื่อจะได้หลับสบายทั้งคืน
5. จดบันทึก
บางครั้งการเขียนความรู้สึกนึกคิดด้านลบลงบนกระดาษ จะช่วยให้คุณเห็นปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน และยังเป็นการนำความคิดไม่ดีออกจากสมองของคุณด้วย ซึ่งจะช่วยให้ผ่อนคลายลง แต่หากมันยังคงตามหลอกหลอนอยู่อีกละก็ จับมันมาขังไว้ในไดอารี่ทุกวัน แล้วคุณจะประหลาดใจว่า มันไม่สามารถคุกคามคุณได้อีกต่อไป
6. อยู่ท่ามกลางคนคิดบวก
การอยู่ท่ามกลางคนขี้บ่นและมองโลกในแง่ร้าย คุณก็มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมเช่นนั้นด้วย ทางที่ดีควรออกห่างคนเหล่านั้น และใช้เวลาอยู่กับกลุ่มคนที่จะทำให้คุณรู้สึกดีๆในชีวิต
เพราะการอยู่ในแวดวงคนที่มองโลกในแง่ดีนั้น สิ่งที่คนเหล่านี้พูด คิด ทำ ทางด้านบวก จะส่งผลต่อพฤติกรรมของคุณให้เป็นบวกตามไปด้วย และเมื่อการพบปะสนทนาไม่มีเนื้อหาด้านลบมาเกี่ยวข้อง คุณก็จะไม่ติดนิสัยคิดแต่เรื่องที่เลวร้าย
7. มองผลลัพธ์ในด้านดี
บ่อยครั้งที่เราไม่สามารถหยุดยั้งความวิตกกังวลได้ แต่แทนที่จะพยายามไม่นึกถึงมัน ซึ่งอาจทำให้รู้สึกเครียดตลอดเวลา ขอแนะนำให้ทำตรงกันข้าม คือ ลองมโนถึงผลลัพธ์ดีๆที่อาจเกิดขึ้นต่อจากนั้น ว่ามันจะจบลงด้วยดี เช่น หมอนัดตรวจเลือด แล้วคุณกังวลว่า ไขมันในเลือดจะสูงเกินไป ควรคิดใหม่ว่า ถ้าไขมันสูงก็เป็นโอกาสดีที่จะหันมาใส่ใจสุขภาพให้มากขึ้น แล้วก็ใช้เวลานี้มาวางแผนว่าคุณจะทำอะไรบ้าง เช่น ปรับเปลี่ยนอาหาร ออกกำลังกาย ซึ่งจะช่วยคลายเรื่องกังวลลงได้บ้าง
8. ปล่อยให้มันเป็นไป
งานวิจัยเผยว่า บางครั้งยิ่งพยายามไม่คิดถึงเรื่องเลวร้ายมากเท่าไหร่ ใจของเราจะยิ่งจดจ่อกับมันมากเท่านั้น จนกลายเป็นคนย้ำคิดแต่เรื่องร้ายแรงมากขึ้น ขณะที่งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งชี้ว่า กลุ่มตัวอย่างที่ฟังดนตรีเพื่อกลบเกลื่อนความคิดร้าย ในที่สุดก็จะฟังดนตรีอย่างไม่มีรสชาติ
เพราะฉะนั้น ทุกครั้งเมื่อความวิตกกังวลหรือความคิดแง่ร้ายผุดขึ้นในใจ อย่าพยายามหลบหลีก แต่ปล่อยให้มันเป็นไป และสุดท้าย ใจของคุณก็จะหันเหไปหาสิ่งอื่นที่ทำให้ทุกข์น้อยกว่าได้เอง
9. ฝึกทำสมาธิ
การทำสมาธิถือเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการทำจิตให้ว่าง หลุดพ้นจากความคิดทั้งหลาย ไม่ว่าจะดีหรือเลว แม้ว่าการทำสมาธิครั้งแรก คุณอาจจะยังไปไม่ถึงจุดนั้น แต่เมื่อได้ฝึกฝนอย่างถูกต้องเป็นประจำ การทำสมาธิจะเป็นหนทางช่วยหยุดยั้งความคิดแง่ร้ายที่ส่งผลเสียต่อตัวเองได้
ดังนั้น คราใดที่ความคิดไม่ดีผุดขึ้นในใจ ลองหาที่เงียบสงบ นั่งในท่าที่สบาย หลับตาทำสมาธิ เฝ้าดูอารมณ์ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น โดยไม่รู้สึกร่วมไปกับอารมณ์นั้นด้วย จนมันจางหายไป
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 178 ตุลาคม 2558 โดย ประกายรุ้ง)