xs
xsm
sm
md
lg

19พ.ค.ชี้ขาด”ประชามติ”หรือไม่ นายกฯห่วงแก้รธน.ทำวุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวานนี้ ( 14 พ.ค.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่งความเห็นว่า ควรทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ มายังคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า เห็นข้อเสนอดังกล่าวแล้ว ซึ่งทางครม.และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะหารือร่วมกันในวันที่ 19 พ.ค.นี้ และถ้าสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ สภานิติบัญญัติ (สนช.) มีข้อเสนอในเรื่องนี้เข้ามาด้วยจะยิ่งดี
ส่วนที่กมธ.ยกร่างฯ ระบุให้ ครม. และ คสช. เป็นผู้คิดรูปแบบการทำประชามตินั้น ถ้าจะมีการทำประชามติ ก็ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 และไม่ใช่เขียนเพียงว่า ต้องทำประชามติ แต่ต้องแก้ไขกำหนดเวลาเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีการเขียนล็อกไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวทั้งหมด เพื่อให้สามารถทำประชามติได้
ส่วนที่มีการเสนอว่า การทำประชามติเป็นสิทธิของประชาชน ตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวนั้น ไม่ได้ให้คำตอบว่า จะทำประชามติเมื่อใด ทำแล้วจะเกิดอะไรขึ้น นอกจากนี้ ยังใช้ มาตรา 44 ไม่ได้ด้วย เพราะ มาตรา 44 เป็นอำนาจที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญ แต่ไม่สามารถลบล้างอำนาจที่เท่ากันในรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดเวลาเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญไว้ได้
" ถ้าจะทำประชามติ มี 2 ขั้นตอน คือการแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อเปิดประตูให้ทำประชามติ และ 2 คือ การลงมือทำประชามติ ไม่ใช่ทำได้ภายในอาทิตย์เดียว ซึ่งหากมีการทำ คงจะเกิดขึ้นในเดือนธ.ค. 58 หรือไม่ก็ม.ค.59 ซึ่งเกินกรอบเวลาที่เขียนไว้ในรธน.ชั่วคราว จึงต้องรื้อกำหนดวันเวลาใหม่ เมื่อแก้แล้วต้องเขียนด้วยว่า ให้มีการทำประชามติ และทำภายในกี่วัน นับตั้งแต่เมื่อไหร่ และใครเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งก็คงหนีไม่พ้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่สำคัญ ต้องกำหนดว่า หากทำประชามติแล้ว ผ่าน หรือไม่ผ่าน จะเกิดผลอะไรตามมา ถ้าไม่ผ่าน ตัวอย่างก็มี เช่น กลับไปตั้งสปช. และกมธ.ยกร่างฯใหม่ หรือนำรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาใช้ หรือตั้งคนกลางขึ้นมา จัดทำรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 1-2 เดือน มีด้วยกันหลายทางเลือก อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่จะตกลงกันในวันที่ 19 พ.ค. ส่วนที่ โฆษกกมธ.ยกร่างฯ บอกว่า ต้องใช้เวลาดำเนินการ 90 วัน
ผมว่าต้องสอบถามไปยัง กกต.ด้วย เพราะการทำประชามติ ไม่เหมือนการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองจะหาเสียงเอง การทำประชามติ รัฐต้องพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญแจกจ่ายให้กับประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้ง ทั้ง 47 ล้านคน และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทางวิทยุ โทรทัศน์ ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจด้วย" นายวิษณุ กล่าว
เมื่อถามว่า ความเห็นส่วนตัวคิดว่าควรทำประชามติหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนตอบไม่ได้ เพราะตนเป็นหนึ่งในครม. ถ้ามีการถามก็จะเป็นความเห็นของครม.ออกมา ไม่อยากพูดผ่านสื่อ และหากมีการทำประชามติเกิดขึ้น รูปแบบคำถามจะเป็นอย่างไรนั้น ต้องมีการหารือในที่ประชุม กับผู้ที่เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่ง ถ้าไปชี้นำ ก็เป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว และเชื่อว่าจะมีความชัดเจนหลังวันที่ 19 พ.ค. ทั้งนี้ ยอมรับว่าตนมีข้อเสนอที่จะแก้ไข รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวอยู่ในใจไว้บ้างแล้ว เพราะในที่ประชุมร่วม อาจมีคนถาม
เมื่อถามถึงข้อเสนอที่ให้ตัดองค์กรต่างๆ ออกจาก ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ยังไม่ขอพูดในตอนนี้ เพราะมีข้อเสนอมาจำนวนมาก ว่าควรจะพิจารณาเรื่ององค์กรต่างๆ คงต้องนำมาทบทวน และชั่งน้ำหนักดู ทั้งนี้การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เป็นอำนาจหน้าที่ของ ครม.และ คสช. เท่านั้น คนอื่นไม่มีสิทธิแก้ไข

** "บิ๊กตู่"โยนครม.-คสช. ตัดสินใจ

ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสืออย่างเป็นทางการจาก คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ในเรื่องการให้ทำประชามติ หากได้รับหนังสือมาอย่างเป็นทางการแล้ว จะนำเข้าสู่การพิจารณาของครม. ส่วนครม.จะเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ ก็จะส่งเรื่องไปขอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว
"ผมไม่มีความเห็นใดๆ ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับการหารือของ ครม. ส่วนความเห็นของผมคงบอกไม่ได้ ผมจะขอฟังความเห็นของครม.ก่อน ฟังความเห็นของคนอื่นก่อน จากนั้นจะเสนอความเห็นของตัวเอง ถ้าผมบอกก่อน คนใน ครม.ก็จะไม่กล้าออกความเห็นอย่างอื่น เขาก็จะเกรงใจผม จึงบอกอะไรตอนนี้ไม่ได้"
สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวนั้น จะแก้มาตราไหน ตนไม่รู้ แต่ต้องแก้ให้ได้ ขอเพียงว่า อย่าให้มีเรื่องฟ้องร้องกันแบบคราวก่อน ในการแก้รัฐธรรมนูญ ก็มีเรื่องกัน
" แต่อย่าเพิ่งไปถึงตรงนั้นเลย เพราะวันนี้ยังไม่รู้ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน ก็ต้องมาดูกันอีกที ต้องรอการลงมติของ สปช. ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการส่งไปปรับแก้กัน มีการตั้งข้อสังเกต มีการปรับแก้ ถ้ากมธ.ยกร่างฯ สามารถปรับแก้ได้หมด เมื่อออกมา ก็ผ่านความเห็นชอบจากสปช. และกลายเป็นมติของสปช. ก็จะนำสู่ขั้นตอนต่อไป ซึ่งเรียกว่าเป็นการเดินเข้าสู่การเป็นประชาธิปไตยแล้ว แต่ถ้าอาจจะต้องทำประชามติก็ต้องทำ ก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มันก็เป็นการแก้ทีละขั้นตอน"
ผู้สื่อข่าวถามว่า การเสียเงิน 3,000 ล้านบาท เพื่อทำประชามตินั้น คุ้มค่าหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่รู้ อยากจะเสียเงินกันหรือไม่ แล้วถ้าไม่อยากเสียเงิน ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญกันได้หรือไม่ เรื่องนี้จะมาถามตนทั้งหมดคงไม่ได้ ต้องไปถามประชาชน เพราะเป็นผู้ลงประชามติ ไม่ใช่ตนเพียงคนเดียว แล้ววันนี้ก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมสื่อจะต้องมาถามกลับไปกลับมา ตอนแรกก็ถามเหมือนต้องการให้ทำประชามติ แต่วันนี้กลับถามว่า เสียเงิน 3,000 ล้านบาทจะคุ้มหรือไม่ เรื่องนี้ตนจะต้องเป็นคนตอบอย่างนั้นหรือ วันนี้ไม่ใช่ความต้องการของตน เป็นความต้องการของทุกภาคส่วน ของแม่น้ำทุก สาย และทุกภาคส่วน ถ้าอยากทำประชามติ ก็ทำไป ถ้าจะต้องเสียเงิน มันก็ต้องเสีย และหากจะมีการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ต้องเสนอก่อน วันที่ 6 ส.ค. นี้ เพราะ สปช.จะลงมติพิจารณาว่า รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 6 ส.ค. ก็ต้องหารือกันว่า จะแก้ปัญหากันอย่างไร จะต้องมีการเตรียมแก้ปัญหาล่วงหน้าหรือไม่ ฝ่ายกฎหมายก็ต้องมีการหารือกัน
ส่วนจะลงรายละเอียดถึงรูปแบบการทำประชามติ ด้วยหรือไม่ว่าจะทำแค่รับ หรือไม่รับ หรือ มีรายละเอียดอย่างอื่นด้วยนั้น ก็คงต้องปรึกษาในครม. และคสช.
"ในคสช.ของผม มันเป็นทหารทั้งหมด ไม่ใช่นักกฎหมายสักคน ดังนั้นการทำประชามติ จะต้องมีการกำหนดว่า ทำประชามติเรื่องอะไร แค่ไหน อย่างไร มันไม่ใช่ผมคนเดียว และไม่ใช่คสช.เพียงฝ่ายเดียวด้วย"

**ยินดีรับข้อเสนอทุกฝ่าย

เมื่อถามว่า เมื่อจะต้องเสียเงิน 3,000 ล้านบาทแล้ว จะมีการหารือถึงข้อเสนอต่างๆ รวมทั้งข้อเสนอของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ ที่เสนอให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง 2 ปีด้วยหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “หากใครมีข้อเสนออะไร ก็ให้เสนอเข้ามา ถ้าเป็นข้อเสนอของคนส่วนใหญ่ ก็จะมีการพิจารณากัน ส่วนจะได้หรือไม่ได้ ผมไม่รู้ จะมีคณะทำงานในเรื่องการทำประชามติดูแลอยู่ โดยมีฝ่ายกฎหมายมาร่วมด้วย เมื่อพิจารณาเสร็จแล้ว ก็นำเข้าสู่การพิจารณาของครม. หากครม.เห็นชอบ ก็จะนำไปสู่ผู้ที่ทำประชามติ ซึ่งเดิมเป็นหน้าที่ของ กกต. ซึ่งทางกกต. ก็คงต้องคิดไว้ด้วย ก็ เหมือนกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งทางกกต. มีการร่างกันไว้ก่อนในส่วนหน้าที่ของเขา แต่ถ้าผมพูดอะไรไปตอนนี้ ว่าต้องการจะใส่อะไรเพิ่มเติม ก็จะกลายเป็นว่าผมต้องการจะอยู่ในอำนาจ ผมก็ไม่รู้ว่า ในเรื่องอำนาจทำไมจึงสนใจกันนักก็ไม่รู้ วันนี้ผมใช้อำนาจอะไร ถามหน่อยซิ"
เมื่อถามว่า ถ้ามีการทำประชามติ แสดงว่า โรดแมปจะต้องขยายเวลา ใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าอย่างไรเล่า จะต้องจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ใช่หรือไม่ แล้วต้องใช้เวลาอีกเท่าไหร่ ที่มีการเขียนกันไว้ ไปดูรายละเอียดกันเอาเอง ไม่ตอบแล้ว จำไม่ได้
เมื่อถามย้ำว่าความจริงแล้ว นายกรัฐมนตรี ไม่อยากจะอยู่ในตำแหน่งต่อ ใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “เอ๊ะ ไอ้นี่พูดประหลาดเว้ย อยาก หรือไม่อยาก จะมาถามผมได้อย่างไรแบบนี้ ไม่อยากซักอย่าง ไม่อยากมายืนอยู่ตรงนี้ตั้งแต่แรกแล้ว เอาแล้วไง" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

**เชื่อ"บิ๊กตู่"ยึดประโยชน์ประเทศ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ดี มีปัจจัยคือ กระบวนการต้องเป็นไปอย่างเชื่อถือได้ ไม่เช่นนั้นจะเสียงบประมาณมหาศาลโดยใช่เหตุ ส่วนใคร หรือหน่วยงานใด จะเป็นผู้ดำเนินการจัดทำไม่สำคัญเท่ากับผู้ทำต้องมีใจบริสุทธิ์ ไม่ทุจริต ประชาชนคนที่จะมีสิทธิตอบคำถามเอาด้วย หรือไม่ กับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ต้องรู้ ต้องเห็น เข้าใจรัฐธรรมนูญด้วยตัวเองอย่างถ่องแท้ แต่มีทางลัดให้ประชาชนเข้าใจง่ายขึ้นคือ สื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ต้องช่วยเผยแพร่เนื้อหารัฐธรรมนูญ ต้องคำนวณเวลาจัดพิมพ์เพื่อแจกร่างรัฐ ธรรมนูญร่างสุดท้ายให้ดี ต้องนับว่าร่างรัฐธรรมนูญถึงมือประชาชนวันไหน อย่าไปนับว่าเริ่มส่งไปเมื่อไหร่ ตรงนี้สำคัญมาก ถ้าคำนวณพลาด ก็อาจมีสิทธิจบเห่
"ถ้าวันที่ 19 พ.ค.นี้ รัฐบาลตัดสินใจทำประชามติจริงๆ คณะกมธ.ยกร่างฯ และ สปช. ก็ต้องคิดกันแล้ว เพราะทุกคนคงต้องช่วยกันลงพื้นที่ เพื่อเปิดเวทีทำความเข้าใจกับประชาชนให้ได้ ผมไม่รู้ว่ารัฐบาลจะตัดสินใจยาก หรือไม่ แต่เชื่อว่าการตัดสินใจจะทำประชามติหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ คงตัดสินใจบนพื้นฐานประชาธิปไตย และประโยชน์ของประเทศ" นายเทียนฉาย กล่าว
**ชี้คน 3 กลุ่ม ดันประชามติรธน.

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า คนที่ต้องการให้ลงประชามติ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. คนที่ต้องการล้มร่างรัฐธรรมนูญ กลุ่มนี้โดยพื้นฐานอาจไม่ชอบรัฐบาล หรือ คสช. ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ก็แสดงออกด้วยการล้มร่างรัฐธรรมนูญ 2. คนที่ชอบรัฐบาล และคสช. คนกลุ่มนี้ ไม่ได้ดูเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ เมื่อชอบรัฐบาล หรือ คสช. ก็ชอบรัฐธรรมนูญไปด้วย 3. กลุ่มคนที่ต้องการให้รัฐธรรมนูญได้รับการยอมรับจากประชาชน เพราะเปรียบเป็นสัญญาประชาคม ที่เราต้องอยู่ร่วมกันภายใต้กติกานี้ แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องแก้ไขร่างบางส่วนให้เป็นประชาธิปไตย สอด คล้องกับระบบรัฐสภา หากไม่แก้ไข กลุ่มนี้จะกลายเป็นกลุ่มที่ 1. คือกลุ่มไม่รับร่าง แต่ไม่รับด้วยเหตุผลต่างกัน ซึ่งผลการสำรวจพบว่า ประชาชนอ่านรัฐธรรมนูญโดยละเอียด เพียง 7.98% เท่านั้น นอกนั้น อ่านบ้างและไม่อ่านเลยอีก 92 % แล้วจะใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสินว่าจะรับ หรือไม่รับรัฐธรรมนูญนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับงานโครงการสัมมนาเรื่องการเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนเพื่อการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรธน.ของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่มีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธานที่อาคารรัฐสภาในวันพรุ่งนี้นั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้มอบหมายให้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรค เป็นตัวแทนพรรคไปร่วมแสดงความเห็น

** "อุเทน"แนะแก้เนื้อหาให้เป็นที่ยอมรับ

นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวว่า หลังจากที่มีการเผยแพร่เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญออกมา ต้องยอมรับว่า เสียงวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนใหญ่เป็นไปในทางไม่เห็นด้วยในหลายๆ ประเด็น แม้แต่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย ก็ยังบอกว่า ต้องมีการแก้ไขเนื้อหาหลายเรื่องด้วยกัน สะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งกันทางความคิด ภายในองคาพยพของ คสช. การเสนอความเห็นโดยประชาชน หรือพรรคการเมือง ยิ่งเป็นไปได้ยาก ที่จะถูกรับฟัง สำหรับการทำประชามตินั้น ส่วนตัวสนับสนุนให้ต้องมี การเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงฉันทามติ ต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากแต่เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญยังเป็นเช่นนี้อยู่ ก็เชื่อว่าจะก่อให้เกิดความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น ไปอีก
"ขอให้สปช.และ กมธ.ยกร่างฯ รวมไปถึงคสช.ไปทบทวนวางกรอบการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนเสียก่อน ให้เป็นประโยชน์เพื่อประเทศชาติ และประชาชน ที่สำคัญให้ประชาชน ได้มีอำนาจอย่างแท้จริง ไม่ใช่สอดไส้ เอื้อให้คนบางกลุ่มมีอำนาจเหนือประชาชน รวมไปถึงเรื่องการสืบทอดอำนาจที่ถูกจับตามองอยู่ด้วย" นายอุเทน ระบุ

**สปช.สื่อดัน 3 ยุทธศาสตร์ปฏิรูป

นายบุญเลิศ คชายุทธเดช รองโฆษกคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อมวลชน และเทคโนโลยีสารสนเทศ สปช. กล่าวว่า ทางคณะกรรมาธิการ ได้ข้อสรุปการปฏิรูปที่จะเสนอต่อที่ประชุมสปช. ในวันที่ 18 พ.ค. นี้ โดยมีเนื้อหาเรื่องการปฏิรูป ระบบการสื่อสารเพื่อประชาชน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างเต็มที่ โดยแบ่งออกเป็น 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. สิทธิเสรีภาพบนความรับผิดชอบ 2. การป้องกันและการแทรกแซงสื่อ และ 3 . การกำกับดูแลสื่อ ที่มีประสิทธิภาพ
ด้านนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ระบุว่า เตรียมที่จะเสนอกฎหมายในหลายส่วน ทั้ง เรื่องการตั้ง"สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ" ที่เปรียบเป็นร่มใหญ่ขององค์กร กำกับด้านจริยธรรม ของสื่อประเภทต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะจัดทำร่างกฎหมายเสร็จภายในเดือน มิ.ย. หรือ ก.ค. นี้ จากนั้นจะเผยแพร่ เพื่อรับฟังความเห็นคนในวงการสื่อ และภาคส่วนอื่นๆ ก่อนจะดำเนินการตามขั้นตอน ส่งให้ครม. และสนช. พิจารณาต่อไป
นอกจากนี้ ยังเตรียมเสนอ ร่าง พ.ร.บ.การโฆษณา และประชาสัมพันธ์ภาครัฐ ซึ่งมีเนื้อหาไม่ให้องค์กรภาครัฐที่มีเม็ดเงินงบประมาณโฆษณาประชาสัมพันธ์รวมนับ 8,000 ล้านบาท ไม่ให้อำนาจรัฐ และอำนาจทุน สามารถเข้ามาแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชน รวมไปถึงจะปรับปรุงพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร เพื่อทำให้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารง่ายขึ้น จะได้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
กำลังโหลดความคิดเห็น