xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” ห่วงแปรญัตติมากแก้ รธน.ไม่ทัน ย้ำต้องเขียนร่างให้ชัด ปัดกดดันประชามติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ(แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ เผยพรุ่งนี้ประชุมคณะทำงานร่างรัฐธรรมนูญ ห่วงแปรญัตติมากจะแก้ร่างไม่ทันตาม รธน.กำหนด ปัดร่างไปให้ กมธ.ยกร่างฯ ตัดเนื้อหา รธน. แค่ให้ความเห็น ย้ำต้องเขียนให้ชัด ตัดบางส่วนใส่กฎหมายลูก ตัดสภาฯ-สมัชชา ชี้ สนช.อภิปรายประชามติ ไม่กดดันรัฐ รับทำจริงงบสูง-ยืดเวลา ต้องแก้ รธน.ชั่วคราวก่อนถึงทำได้

วันนี้ (13 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการรวบรวมความเห็นหน่วยงานต่างๆ ในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญว่า ในวันที่ 14 พ.ค.จะประชุมกับคณะทำงานเพื่อศึกษาร่างรัฐธรรมนูญที่ทำเนียบรัฐบาล โดยขณะนี้ความเห็นจากกระทรวงต่างๆ ส่งมาเกือบครบแล้ว นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอื่น เช่น องค์กรอิสระ ประชาชน พระ นักวิชาการ ส่งความเห็นมาด้วย ส่วนใหญ่เป็นข้อเสนอแนะที่ดี

“ผมรู้สึกเป็นห่วง เนื่องจาก กมธ.ยกร่างฯ มีเวลา 60 วันในการแก้ไข หากมีการขอแปรญัตติมาก กมธ.ยกร่างฯ จะไม่สามารถแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในกำหนด ดังนั้น อาจจะต้องสอบถามว่า มีส่วนใดที่รัฐบาลสามารถช่วยเหลือได้ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เพื่อขยายเวลาในการแปรญัตติของ กมธ.ยกร่างฯ แต่จะไม่สามารถขยายเวลาออกไปได้มาก เพราะจะทำให้ทุกอย่างนั้นยืดเวลาออกไป” รองนายกฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการตัดเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญที่ยาวเกินไปหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะส่งความเห็นเรื่องดังกล่าวไปยัง กมธ.ยกร่างฯ แต่จะไม่ร่างไปให้ เพราะถ้าหากร่างไปคนอาจจะคิดว่ามีพิมพ์เขียว โดยเราจะให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าว เช่น ต้องการให้ตัดสมัชชาหรือคณะกรรมการขับเคลื่อนออกไป เพราะจะก่อให้เกิดปัญหา และต้องการให้เขียนรัฐธรรมนูญให้มีความชัดเจน

นายวิษณุกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ตนได้จัดเป็นหมวดหมู่ก่อนส่งไปยัง กมธ.ยกร่างฯ ประกอบด้วย 1. ควรเขียนรัฐธรรมนูญให้ความมีชัดเจน เพราะอาจก่อให้เกิดการตีความ และทะเลาะกัน เนื่องจากอ่านแล้วไม่เข้าใจ 2. ควรตัดเนื้อหาบางส่วนออกไป โดยนำไปใส่ในกฎหมายลูกแทน เพราะการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญจะแก้ไขลำบาก 3. มีบางหลักการในร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ควรจะมีอยู่ เช่น การมีสภา หรือสมัชชาต่างๆ เพราะเห็นว่าเป็นอุปสรรคในการทำงานของรัฐบาล อีกทั้งยังเปลืองงบประมาณ และ 4. ต้องเปลี่ยนใหม่ในบางเรื่องบางประเด็น เชื่อว่า กมธ.ยกร่างฯ จะเห็นด้วยในบางประเด็น เพราะทั้ง 36 คนความเห็นนั้นไม่ตรงกันทั้งหมด

เมื่อถามถึงกรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะเปิดอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ โดยจะมีความเห็นเรื่องการทำประชามติด้วย จะถือเป็นการกดดันรัฐบาลหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ใครจะเสนอให้ทำประชามติบอกมาที่รัฐบาลได้ ไม่ได้กดดัน เพราะรัฐบาลไม่สามารถออกตัวได้ว่าอยากทำ เนื่องจากคนอาจจะมองว่าอยากอยู่ต่อ อีกทั้งการทำประชามติยังมีต้นทุน ใช้งบประมาณสูง นอกจากนี้ยังทำให้ระยะเวลายืดออกไปอีก ประมาณ 3-4 เดือน

รองนายกฯ กล่าวว่า ยืนยันว่าหากไม่แก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวจะไม่สามารถทำประชามติได้ เพราะในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมีการล็อกเวลาไว้ทั้งการแปรญัตติ การลงมติเห็นชอบของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รวมถึงการทูลเกล้าฯ ถวายหากมีการทำประชามติเท่ากับว่าไปเปลี่ยนกำหนดเวลาของรัฐธรรมนูญ จึงไม่สามารถใช้วิธีอื่นได้นอกจากกระบวนการทำ เวลาในการทำ และใครเป็นผู้กำกับดูแล และถ้าผ่านหรือไม่ผ่านจะต้องทำอย่างไรต่อ โดยทั้งหมดต้องเขียนม้วนเดียวจบในรัฐธรรมนูญที่จะแก้ไข


กำลังโหลดความคิดเห็น