“องอาจ” เชื่อ กมธ.ยกร่างฯ เจตนาดี แต่ติงเปิดใจฟังความเห็นต่างน้อย จี้ ควรระลึก รธน. ใช้กับ ปชช. จี้ แก้ไข ไร้วาระซ่อนเร้น ไม่มีอคติ สร้างการมีส่วนร่วมแท้จริง ยก รธน. กำหนดให้พลเมืองเป็นใหญ่ ควรประชามติ ไม่เห็นด้วย ข้อเสนอเขียนบทเฉพาะกาลใช้ รธน. ก่อน 90 - 120 วัน แล้วค่อยประชามติ
วันนี้ (3 พ.ค.) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ อดีต ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ว่า หลังจากได้อ่านทั้งหมดแล้ว เชื่อว่า กรรมาธิการยกร่างฯมีเจตนาดีให้กฎหมายสูงสุดมีความสมบูรณ์มากที่สุด แต่มีเนื้อหาสาระจำนวนมากที่ควรปรับปรุงแก้ไข ซึ่งที่ผ่านมาก็มีบุคคลหลายฝ่ายไม่เว้นแม้แต่ศาลที่ออกมาท้วงติงในเชิงสร้างสรรค์ แต่น่าเสียดายที่กรรมาธิการยังเปิดใจรับฟังความเห็นต่างน้อยเกินไป ทั้งที่ควรระลึกว่า ไม่ว่าที่มาจะมาอย่างไรแต่ร่างรัฐธรรมนูญจะใช้กับประชาชนทั้งประเทศ ไม่ได้ใช้เพื่อประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่ง จึงต้องแสวงหาความร่วมมือเพื่อให้รัฐธรรมนูญออกมามีผลบังคับใช้ให้ประเทศเดินหน้าต่อได้ ไม่ใช่ปล่อยให้ร่างรัฐธรรมนูญจนประเทศไม่สามารถเดินหน้าต่อได้
“ในส่วนของผมเพื่อให้การปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรียกร้องให้มีการปรับปรุงตามข้อเสนอดังต่อไปนี้ 1. กมธ.ต้องแสดงให้สังคมเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่มีวาระซ่อนเร้นของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ทำเพื่อประโยชน์สุขประชาชน 2. ต้องไม่มีอคติดูถูกดูหมิ่นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดว่าวิจารณ์เพราะเสียประโยชน์ เพราะความจริงเป็นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ในการปรับปรุงแก้ไข 3. กมธ.ยกร่างฯ ควรลดอัตตาเปิดใจตัวเองรับฟังให้รอบด้าน 4. สร้างบรรยากาศส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างจริงจังและจริงใจให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง” นายองอาจ กล่าว
นายองอาจ ยังกล่าวถึงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ว่า การทำประชามติเป็นวิธีการหนึ่งที่ควรใช้กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยควรใช้มาตรา 46 ให้ ครม. หรือ คสช. แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อให้ทำประชามติ ซึ่งไม่น่าจะใช้เวลายาวนานนัก เหตุผลที่ควรทำประชามติมี 4 ประการ คือ 1. มาตรา 6 ของ รธน. บัญญัติว่า รธน. เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศต้องให้ประชาชนแสดงออกว่ายอมรับกฎหมายสูงสุดของประเทศนี้หรือไม่ ถ้าไม่รับก็ไม่ควรให้ร่างนี้ออกมาใช้แต่ถ้าผ่านประชามติร่างรัฐธรรมนูญก็จะมีผลบังคับใช้อย่างสง่างาม 2. มีการกำหนดในรัฐธรรมนูญว่าในอนาคตถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องผ่านการทำประชามติ แล้วทำไมจึงไม่ทำประชามติก่อนร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้
3. กรณีที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้การสร้างพลเมืองเป็นใหญ่มีส่วนร่วมทางการเมืองมากกว่าทุกฉบับ จึงควรเปิดโอกาสให้ลงประชามติพิสูจน์ว่ามีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง 4. ถ้าร่าง รธน. ผ่านการลงประชามติการโจมตีหรือไม่ยอมรับจะลดลง เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้รัฐธรรมนูญที่จะออกมาบังคับใช้ แต่ถ้าไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน การเดินหน้าโดยรัฐธรรมนูญจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก ซึงในขณะนี้มีเวลาเพียงพอที่จะทำให้กฎหมายสูงสุดได้รับการยอมรับจากประชาชน
ส่วนกรณีที่ กมธ.ยกร่างฯ ออกมาระบุว่า ให้มีบทเฉพาะกาลใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปก่อนประมาณ 90 - 120 วัน แล้วค่อยทำประชามติ ซึ่งตนเห็นว่าคงไม่สามารถทำประชามติเป็นรายมาตราได้ การใช้ก่อนทำประชามติทีหลังจะไม่ได้รับการยอมรับ แต่ถ้าคิดว่าควรมีการทำประชามติก็ควรทำก่อนรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ รัฐบาล และ คสช. ยังมีเวลาที่จะพิจารณา ซึ่งการตัดสินใจจะมีส่วนสำคัญโดยเชื่อว่าจะยึดประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก