“เลิศรัตน์” เผย กมธ.ยกร่างฯ มีมติตั้ง 4 อนุ กมธ.ยกร่างฯ พ.ร.บ.เกี่ยวข้องปฏิรูปการเมือง พร้อมเร่งออก กม.สำคัญ 56 ฉบับ เตรียมแยกย้ายเปิด 15 เวทีรับฟังความเห็น นัดประชุมอีกครั้ง 29 พ.ค. เปิดให้ 10 พรรคเสนอความเห็น 6 มิ.ย. ปัด ผสมระบอบคอมนิวนิสต์ใน รธน. อ้างบังเอิญเลือก ส.ว.เหมือนจีน
วันนี้ (28 เม.ย.) พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่าที่ประชุมมีมติตั้งคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่มีความเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการเมืองอีก 4 คณะ ประกอบด้วย คณะอนุ กมธ.ยกร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยสภาตรวจสอบภาคพลเมือง มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธานคณะอนุ กมธ.ยกร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิชุมชน มีนายบรรเจิด สิงคะเนติ เป็นประธานคณะอนุ กมธ.ยกร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ มีนายสุจิต บุญบงการ เป็นประธาน และคณะอนุ กมธ.ยกร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ มีนางนรีวรรณ จินตกานนท์ เป็นประธาน ทั้งนี้มีกฎหมายสำคัญที่จะต้องเร่งรัด 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 12 ฉบับ ซึ่ง 3 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งจะต้องเสร็จทันทีหลังจากที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ส่วนที่ 2 เป็นกฎหมายที่สำคัญ 14 ฉบับ และกฎหมายที่สำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองซึ่งจะดำเนินการร่วมกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ 30 ฉบับ รวมทั้งสิ้น 56 ฉบับ แต่ยอมรับว่าอาจทำไม่เสร็จทั้งหมดและยังไม่มีการพูดคุยถึงเรื่องการต่อเวลาการทำงานของ สปช.กับคณะกรรมาธิการยกร่างฯ
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า หลังจากนี้ กมธ.จะแยกย้ายไปประชุมและเริ่มยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหลังจากรัฐธรรมนูญนิ่งแล้ว โดยในช่วงนี้จะแยกย้ายลงพื้นที่ใน 15 เวทีรับฟังความเห็นและจะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 29 พ.ค. นอกจากนี้ ในการให้ สปช.ครม. และคสช. เข้าชี้แจงต่อ กมธ. กรณีขอแปรญัตติ กำหนดไว้ 6 วัน คือ 1-6 มิ.ย. โดย 5 วันแรกจะเป็นช่วงเวลาสำหรับ สปช., ครม. และ คสช. ส่วนวันสุดท้ายจะเปิดโอกาสให้ 10 พรรคการเมืองที่มี ส.ส.ในสภาครั้งที่แล้วมาเสนอความเห็นต่อกมธ. หลังจากที่ได้มีการส่งร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกไปให้ 74 พรรคการเมืองได้พิจารณาแล้ว
ส่วนกรณีที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ วิจารณ์ว่ามีการผสมระบบคอมมิวนิสต์เข้าไปในร่างรัฐธรรมนูญด้วยนั้น พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ตนไม่ทราบ แต่จะมีการออกทีวีชี้แจงเรื่องนี้พร้อมกับนายจุรินทร์ ส่วนกรณีที่รูปแบบการสรรหาผู้สมัคร ส.ว.10 คนในแต่ละจังหวัดก่อนที่จะส่งรายชื่อให้ประชาชนคัดเลือก เหมือนกันรูปแบบที่ประเทศจีนใช้ในการเลือกผู้บริหารฮ่องกงนั้น ตนไม่ทราบมาก่อนอาจเป็นเรื่องบังเอิญ