xs
xsm
sm
md
lg

เล่นแง่แทงกั๊ก“ประชามติ”ทางสองแพร่ง“นักเลือกตั้ง”

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ป้อมพระสุเมรุ

ยังยึกยัก สำหรับท่าทีของ“บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กรณีเสียงเรียกร้องจากหลายภาคส่วนให้มีการทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร แต่ไม่ได้ปฏิเสธเสียทีเดียว หลังมติร่วมระหว่าง คสช. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปลดล็อกให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ไปเป็นสเตปแรกก่อน

ตามความเป็นจริงแล้ว “บิ๊กตู่”เองก็ไม่จำเป็นต้องรีบเคาะโต๊ะตัดสินใจว่า จะทำหรือไม่ทำในตอนนี้ เพราะยังมีเวลาอีกพอสมควร ผลีผลามพูดเร็วอาจเป็นลบกับตัวเองมากกว่าบวก ไม่ว่าจะเป็นในแง่ความรู้สึกที่หากไปชิงพูดก่อน ทั้งที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ยังไม่ได้ปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ หรือสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ยังไม่ได้ลงมติเลยว่าจะเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ

จะกลายเป็นว่าคสช.ไปพูดดักทางไว้ก่อน เป็นการกดดัน หรือมีใบสั่ง

คสช. ต้องการแสดงให้เห็นว่า สปช.เองมีความเป็นอิสระมากที่สุด เพราะก่อนหน้านี้สปช.ถูกมองว่า อยู่ภายใต้ร่วมเงาของ คสช. ในฐานะที่เป็นมหานทีสีทันดรผู้ให้กำเนิดแม่น้ำอีก 4 สาย ขณะเดียวกันหลายฝ่ายฟันธงว่า สปช. เองไม่กล้าคว่ำร่างรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เนื่องจากทันทีที่โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ตัวเองจะตัวหมดสภาพตามไปด้วย ไม่ต่างอะไรกับการฆ่าตัวตาย

หรือกับการที่คสช. ไม่เสนอความเห็น และขอปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เพราะกลัวถูกข้อครหา นับเป็นความพยายามทำให้เห็นว่า ต่างฝ่ายต่างมีอิสระไม่สามารถชักจูงกันได้

ทว่า ทุกฝ่ายต่างทราบอยู่ดีว่า ต่อให้พยายามอย่างไร อย่างไรเสียแม่น้ำ 5 สาย ล้วนก็เป็นเนื้อเดียวกันอยู่วันยังค่ำ ต้องไปในทิศทางเดียวกัน แม้เบื้องหน้าพยายามจะออกแอกชั่นว่า ไม่เห็นด้วยต่างๆ ราวกับจะเอาเป็นเอาตาย เช่นเดียวกับ คสช. และครม.ต่อให้คสช. งดเสนอความเห็น และไม่ขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ให้คงไว้เพียงความเห็นของครม.อย่างเดียว แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้ว แม่น้ำ 2 สายนี้ แทบจะเป็นคนๆเดียวกัน

การดำเนินการทุกอย่างของรัฐบาลดังที่เห็น เป็นไปตามยุทธศาสตร์ทุกอย่าง แม้กระทั่งเรื่องประชามติเอง ที่ไม่เร่งเฉลยคำตอบ ทั้งที่ถูกบี้ทุกวันว่า จะทำหรือไม่ทำ ไม่ใช่ที่ไม่พูดเพราะกลัวถูกครหาว่า ถ้าพูดเร็วจะหาว่าอยากอยู่ยาว หรือจะเป็นการกดดัน สปช. หากแต่จุดประสงค์ที่ต้องการ “หยั่งเชิง”คู่ต่อสู้ และเป็นการ“ประเมิน”สถานการณ์ภายในสังคมก่อน 

เพราะการทำประชามติหรือไม่ ไม่ได้มีผลกับร่างรัฐธรรมนูญอย่างเดียว แต่หมายถึงการยืดเวลาต่ออายุรัฐบาลออกไปจากโรดแมป ที่วางเอาไว้ด้วย หากชิงตอบเร็ว นั่นเท่ากับว่ารัฐบาลกระสันอยากจะอยู่บนคานอำนาจต่อ ทั้งที่ ลึกๆหลายคนอยากจะขอต่อเวลาพิเศษ เพื่อสางงานที่กองเป็นภูเขาให้เสร็จสิ้นก่อน แต่ต้องทำแบบเนียนๆ ไม่ให้น่าเกลียดแบบที่เห็น โดยอ้างว่ารอให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ

รัฐบาลเองไม่ได้กลัวการทำประชามติแม้แต่น้อย แม้“บิ๊กตู่”จะบ่นรู้สึกเสียดายงบประมาณมหาศาลที่ต้องสูญเสียไปกับการนี้ เพราะคิดว่าอย่างไรเสียฝ่ายต้าน ก็ต้องตั้งท่าค้านวันยังค่ำ ต่อให้ทำประชามติก็ตาม เนื่องจากรัฐบาลมีแต่“ได้” กับ “ได้”จากการทำประชามติ

หลักๆ การทำประชามติ จะเป็นการยืดอายุรัฐบาลออกไปได้อย่างชอบธรรม อย่างน้อย 6-7 เดือน เป็นอย่างต่ำ ทำให้มีเวลาปลดเปลื้องปัญหาที่คาราคาซังและยังไม่ได้ปัดกวาดอีกกองมหึมา อย่างน้อยๆ น่าจะปลดล็อกปัญหาหมักหมมไปได้หลายเรื่อง

ยังไม่นับรวมกรณีหากทำประชามติแล้วประชาชนไม่รับ รัฐบาลจะเหมือนได้โชคสองเด้ง นั่นคือ กลับไปนับหนึ่งใหม่ ตั้งแต่สรรหาสมาชิก สปช. แต่งตั้งกมธ.ยกร่างฯ ชุดใหม่ เริ่มกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ใช้เวลาอีกเกือบ 2 ปี มีเวลาสะสางสิ่งที่อยากทำอีกเพียบ โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูป ที่บัดนี้ยังเป็นวุ้น อาจได้เป็นมรรคเป็นผลออกมาบ้าง

กลับกันที่ต้องกระอักเลือด คือ นักเลือกตั้งทั้งหลายที่ตะโกนร้องขอให้ทำประชามติเช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน โดยบอกว่ารอได้ เมื่อเห็นไทม์มิ่ง ยังจะรอได้อีกหรือไม่ เพราะมันอาจไม่ได้ยืดออกไปแค่ 3 -4 เดือนจากเดิม แต่อาจยืดออกไปอีกเป็นปี หากประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์สูงพอสมควรว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อาจแท้ง หากเช็กกระแสสังคมในตอนนี้ ต่างอยู่ในอาการ “ยี้”กันทั้งนั้น เสื้อแดงตั้งท่าแล้วว่าไม่เอา ยิ่งหาก กมธ.ยกร่างฯ ไม่มีการปรับเนื้อหาอะไรเท่าไหร่ เตรียมกากบาทใส่ช่อง“ไม่รับ”กันได้เลย น่าจะรู้ทันไม่หลงกลเกมเก่า“รับไปก่อนแล้วค่อยแก้”

ตัวแปรสำคัญน่าจะอยู่ที่พรรคการเมืองทั้งหลายว่า พอรู้แล้วว่า ประชามติจะต้องใช้เวลาขนาดนี้ แล้วเสี่ยงที่จะต้องว่างงานยาวเข้าไปอีก หากประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จะออกมาแก้เกมอย่างไร จะกลับลำบอกไม่ต้องทำประชามติแล้ว มันก็พูดได้ไม่เต็มปาก

สิ่งที่น่าจะทำคือ กดดันให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว กรณีหากประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ให้มีตัวเลือกมากกว่าไปนับหนึ่งใหม่ ตามคิวที่ก่อนหน้านี้ พยายามเรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 หรือ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาปรับใช้แทน

ตรงนี้ต้องวัดกับรัฐบาลเหมือนกัน แต่เปอร์เซ็นต์ที่จะไม่จิ้มทางเลือกนี้มีสูง โดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ ไม่มีโหมดเรื่องการปฏิรูป ไม่สอดคล้องกับความต้องการของสังคม

การแอกชั่นของรัฐบาลเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แบบยังไม่เคาะโต๊ะว่า จะทำประชามติหรือไม่ จึงเป็นกลเกมที่แยบยลเพื่อรุกใส่ฝ่ายการเมืองว่า จะเอาอย่างไร ระหว่างกลืนเลือดรับรัฐธรรมนูญนี้ไป เพื่อจะได้เลือกตั้งเร็ว หรือจะปฏิเสธ ที่จะกลายเป็นการต่ออายุให้รัฐบาลทางอ้อม

ที่บอก “รอได้”นั้น “รอได้” จริงหรือไม่ เพราะยิ่งให้รัฐบาลอยู่ต่อ นอกจากว่างงานแล้ว อาจจะได้รับผลกระทบจากนโยบายสังคายนาการเมืองของ “บิ๊กตู่” ขณะที่ช่องทางทำมาหากินที่ไม่สุจริตอาจได้รับการกระทบกระเทือนจากการปราบปรามทุจริต การไล่ล่าพวกรุกป่าไม้ การล้างบางข้าราชการกังฉิน การขจัดมาเฟีย ผู้มีอิทธิพล

ส่วนคนที่มีคดีอยู่ในชั้นศาลยิ่งซวย โดยเฉพาะ“หนูปู”ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีละเว้นไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว จนก่อให้เกิดความเสียหาย และ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์”อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) โดยมิชอบ ซึ่งหากยังเป็นรัฐบาลยุคนี้ โอกาสจะรอดบ่วงกรรม แทบไม่มี
 
คิวนี้จึงไม่ใช่ทาง“สองแพร่ง”ของรัฐบาล แต่เป็นทาง“สองแพร่ง”ของ“นักเลือกตั้ง”ว่า จะยอม “กลืนเลือด” หรือจะ “รอ ร๊อ รอ”ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น