xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ส่งคำแนะ รธน.แล้ว จี้ แก้ ม.ทำนายกฯบ้าอำนาจ ฉะ “บวรศักดิ์” อย่าใช้อารมณ์แจง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

องอาจ คล้ามไพบูลย์ อดีตส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
“องอาจ” เผย หน.ปชป. ส่งหนังสือแนะแก้ รธน. แล้ว เน้นจุดยืนเดิม พร้อมแนะความเห็น ย้ำ ทำเพื่อส่วนรวม ขอ กมธ.ยกร่างฯ ฟังจริงจัง จี้ แก้ ม.181 - 182 ทำถ่วงดุลอำนาจเหลว เปิดช่องนายกฯเลี่ยงซักฟอก ทำเหลิงอำนาจ ค้าน ม.254 ไม่เห็นด้วยให้ ส.ส. ร่วมถอดถอน ไม่เอา คกก.ปรองดอง อำนาจล้นฟ้าล้างผิด ฉะ “บวรศักดิ์” แจงใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ ท้าทาย ชี้ กระแสคว่ำร่างเร็วเกินไป ขอสปช.อย่าด่วนตัดสินใจ

วันนี้ (24 พ.ค.) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ อดีต ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ แถลงเกี่ยวกับความคืบหน้าในการเสนอความเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญให้กับกรรมาธิการยกร่างฯ ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคได้ทำหนังสือส่งถึงประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วเมื่อวันที่ 20 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยเน้นให้เห็นจุดยืนของหัวหน้าพรรคมี 1. ความเชื่อหลักการประชาธิปไตยเสรีนิยม ประชาชนมีส่วนร่วม 2. ส่งเสริมการมีหลักประกันขั้นพื้นฐานการแสดงออกบนพื้นฐานความเชื่อของบุคคล 3. การถ่ายทอดเจตนารมณ์ของประชาชนผ่านกระบวนการเลือกตั้งไปสู่การกำหนดอนาคตประเทศ

4. หลักความเสมอภาค หลักนิติรัฐ นิติธรรม ซื่อสัตย์ สุจริต 5. การตรวจสอบถ่วงดุลย์อำนาจรัฐที่มีประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้ควรบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญเพือให้ประเทศเดินไปข้างหน้า

นอกจากนี้ ยังได้เสนอความเห็นหลายด้าน คือ 1. สิทธิเสรีภาพประชาชน 2. กระบวนการทางรรัฐสภา 3. ฝ่ายบริหาร การตรวจสอบถ่วงดุล และการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร 4. องค์กรตามรัฐธรรมนูญและองค์กรใหม่ตามรัฐธรรมนูญ และ 5. เสนอให้ทำประชามติ ซึ่งข้อเสนอทั้งหมดไม่ใช่ประโยชน์ของตัวเองหรือนักการเมือง แต่เพื่อส่วนรวม และไม่ได้คำนึงว่าข้อเสนอดังกล่าวพรรคจะได้หรือเสียประโยชน์ เพราะจุดยืนของพรรคยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้งจึงฝากไปยังกรรมาธิการให้แยกแยะข้อเสนอ ซึ่งบางส่วนอาจไม่ได้มุ่งให้รัฐธรรมนูญออกมาเพื่อความสุขของประชาชนอย่างแท้จริง แต่ข้อเสนอของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หวังให้รัฐธรรมนูญได้รับการยอมรับและสมบูรณ์ที่สุด จึงขอเรียกร้องให้กรรมาธิการพิจารณาข้อเสนอดังกล่าวด้วยความจริงจังเพราะจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและส่วนรวม

สำหรับตัวอย่างที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เสนอให้มีการแก้ไข คือ มาตรา 182 - 182 เพราะเห็นว่าจะทำให้การตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหารทำไม่ได้เปิดช่องให้นายกหลีกเลี่ยงการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ตลอดวาระ 4 ปี ซึ่งหากคิดในแง่ประโยชน์ทางการเมืองคงไม่เสนอแก้ไข เพราะน่าจะชอบที่ไม่ต้องถูกตรวจสอบเมื่อไปเป็นฝ่ายบริหาร แต่เรื่องนี้ขัดหลักการประชาธิปไตยที่พรรคไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการให้อำนาจนายกรัฐมนตรีมากเกินไปจนอาจจะนำไปสู่การเหลิงอำนาจ เสนอกฎหมายนิรโทษกรรมที่จะสร้างวิกฤตประเทศอีกครั้ง

นอกจากนี้ ยังขอให้แก้ไขมาตรา 254 ที่กำหนดให้การถอดถอนใช้เสียงสามในห้าของสองสภารวมกัน หากนายกฯตั้งรัฐบาลที่เกินกว่า 261 เสียงได้ ก็จะไม่ถูกถอดถอนเลยเพราะเสียงไม่พอให้ถอดถอน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จึงแสดงความเห็นว่าไม่เห็นด้วยที่จะให้ ส.ส. ไปมีส่วนร่วมในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงอยากให้แยกแยะให้ชัดเจนว่าข้อเสนอเช่นนี้ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตนแต่เป็นประโยชน์ส่วนรวมตามหลักการที่ถูกต้อง

เช่นเดียวกับการตั้งคณะกรรมการปรองดองในร่างรัฐธรรมนูญ หัวหน้าพรรคได้ชี้ให้เห็นว่าการสร้างความปรองดองควรยึดหลักกฎหมาย ถูกคือถูก ผิดคือผิด การตั้งกรรมการที่มีอำนาจล้นฟ้าถึงขั้นก่อให้เกิดความรับผิดชอบต่อฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ หน่วยงานรัฐ และพลเมืองให้ต้องดำเนินการในทุกกรณีและยังเสนอตราพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษให้กับบุคคลว่า จะเป็นชนวนที่ทำให้เกิดความแตกแยกอีกครั้งและเป็นการเปลี่ยนแปลงกระบวนการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในปปัจจุบัน ซึ่งมีความเหมาะสมอยู่แล้ว หากกรรมาธิการฯพิจารณาอย่างจริงจังจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมไม่ใช่ประโยชน์ของนักการเมือง จึงอยากให้นายบวรศักดิ์แยกแยะด้วย

ส่วนกรณีที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ บรรยายเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายในการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายองอาจ กล่าวว่า มีหลายข้อความที่ควรจะนำมาขยายความให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ เช่น ระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อพลเมืองไม่ใช่เพื่อนักการเมืองไม่ถึงพันคน และถ้าจะมีการตัดสิทธิพลเมืองต้องผ่านศพตนไปก่อนนั้น ตนอยากให้บวรศักดิ์และกรรมาธิการใช้เหตุผลในการชี้แจงความเข้าใจสำหรับผู้ที่มีข้อเสนอที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแทนการใช้อารมณ์ในการทำงานกับคนจำนวนมาก ซึ่งแต่ละฝ่ายมีความรู้สึกว่าน่าจะมีส่วนร่วมกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่สำคัญคือ อะไรที่เป็นสิ่งที่ดีงาม ถูกต้องเหมาะสม คงไม่มีใครคัดค้าน และตนพิจารณารัฐธรรมนูญทั้งฉบับเชื่อว่ากรรมาธิการมีเจตนาดีอยากทำรัฐธรรมนูญให้สมบูรณ์ แต่ต้องฟังคนอื่นบ้าง เนื่องจากมีเนื้อหาที่ควรปรับปรุงแก้ไข

ดังนั้น การที่กรรมาธิการจะไม่เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อนักการเมืองไม่ถึงพันคนหรือเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแต่ต้องเขียนเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนโดยส่วนรวมเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว ซึ่งต้องใช้เหตุผลไม่ใช้ใช้อารมณ์ผสมกับการท้าทาย เพราะไม่ก่อประโยชน์ที่จะทำให้รัฐธรรมนูญสมบูรณ์ได้รับการยอมรับจากประชาชน กรรมาธิการจึงต้องแยกแยะการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญจากหลายส่วนนั้น หากมีประเด็นที่ขัดเป้าหมายที่วางไว้ก็ต้องชี้แจงถกเถียงด้วยเหตุผล เชื่อว่า บรรยากาศแบบนี้จะก่อให้เกิดสิ่งที่ถูกต้องมากกว่าการใช้อารมณ์ผสมการท้าทาย

ส่วนกระแสการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดย สปช. นั้น นายองอาจ กล่าวว่า ยังเร็วเกินไปอยากให้สปช.พิจารณาการปรับปรุงแก้ไขของกรรมาธิการก่อน ว่า สุดท้ายแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างไร เมื่อถึงตอนนั้น สปช. จึงควรพิจารณาจะรับหรือไม่รับร่างนี้ ซึ่งยังมีเวลาพอสมควรที่จะนำข้อเสนอส่งไปให้กรรมาธิการเพื่อปรับปรุงแก้ไข แม้จะไม่มีการขยายเวลาออกไปปอีกสามสิบวันก็เชื่อว่ามีเวลาเพียงพอ แต่ถ้าขยายเป็น 90 วัน ก็ยิ่งทำให้มีเวลาในการพิจารณา สปช. จึงไม่จำเป็นต้องด่วนตัดสินใจขอให้รอร่างสุดท้ายก่อน


กำลังโหลดความคิดเห็น