ปธ.กมธ.ยกร่างฯ ชี้ เหลือเวลาจัดทำร่าง รธน. อีกไม่นาน จี้ เร่งส่งข้อเสนอให้ทัน มิ.ย. ห่วงฉุกละหุก รับส่อประชามติ ย้อน รธน. 40 - 50 ไม่ประสบความสำเร็จ จนเกิดการชุมนุม ศก. เสียหาย แจง รธน. ใหม่ เป็นฉบับปฏิรูป สร้างพลเมืองเป็นใหญ่ ให้เห็นการเมืองสำคัญ มี คกก. สร้างปรองดอง ยุติขัดแย้งพรรคต้องเป็นปชต.แท้จริง เผย รัฐออกพันธบัตร 2 ลล. 20 ปี ใช้หนี้จำนำข้าว
วันนี้ (24 พ.ค.) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวในระหว่างการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนร่วมแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญโดยตรงต่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญมีเวลาถึงวันที่ 23 ก.ค. 58 ที่จะสรุปร่างสุดท้ายเสนอ สปช. เว้นแต่รัฐบาลแก้รัฐธรรมนูญขยายเวลาให้ จึงมีเวลาไม่มากนัก ดังนั้น หากภาคเอกชนมีข้อเสนอให้รีบดำเนินการเนื่องจากหากพ้นเดือนมิถุนายนแล้วทุกอย่างจะฉุกละหุก รัฐธรรมนูญคงหนีไม่พ้นทำประชามติ เว้นแต่ สปช.จะตัดสินใจแทนประชาชน
ทั้งนี้ เห็นว่า รัฐธรรมนูญปี 40 ยังไม่ประสบความสำเร็จในการยกระดับราษฎรให้เป็นพลเมือง คือ ยังถูกรัฐชี้นำอยู่ แต่ประสบความสำเร็จเรื่องการทำให้รัฐบาลเข้มแข็ง มีเสียงข้างมากเด็ดขาดอยู่ครบวาระเป็นครั้งแรก รัฐบาลสยายปีกมีอิทธิพลเหนือองค์กรอิสระ ทั้ง ศาลรัฐธรรมนูญ และ ป.ป.ช. จนทำให้รัฐธรรมนูญจบลงด้วยความขัดแย้ง มีการปิดกั้นสื่อมวลชนด้วยการถอดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ จนกลายเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กระทั่งมีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549
จากนั้นมีการร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ซึ่งไม่ได้เน้นในเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาลแต่มียาแรงเรื่องยุบพรรคจึงมีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้มีการชุมนุมใหญ่ มีการเปลี่ยนรัฐบาลสองครั้งจนคนเสื้อแดงออกมาประท้วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่ง นายคำนูณ สิทธิสมาน ได้สรุปตัวเลขการชุมนุม 2 ปี ใน 8 ปี มีการชุมนุมถึง 703 ครั้ง มีการเลือกตั้งเป็นโมฆะสองครั้ง เราต้องค่าใช้จ่ายเลือกตั้ง ความเสียหายจากการเผาทั้งหมด 33,000 ล้านบาท และยังมีค่าเสียหายอื่นทางเศรษฐกิจด้วยน่าจะประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังถอยหลังจากปัญหาความขัดแย้ง โดยเห็นได้จากอันดับทางเศรษฐกิจของไทยที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศเวียดนาม นอกจากนี้ ด้านการศึกษาก็ตกต่ำลง
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยถือว่ามีการรัฐประหารมากที่สุดประเทศหนึ่ง การแก้ปัญหาจึงต้องมองอดีตและมองไปข้างหน้า จึงมีการกำหนดภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง รัฐธรรมนูญ 59 จะเป็นฉบับปฏิรูป มีเจตนารมณ์ สร้างพลเมืองเป็นใหญ่ ทำให้การเมืองใสสะอาดและสมดุล ทำสังคมให้เป็นธรรม นำชาติสู่สันติสุข ถ้ารบกันอยู่จะเสียหายไปเรื่อยๆ อาจรั้งท้ายอาเซียน จึงต้องยุติความขัดแย้ง จึงมี คกก.อิสระสร้างความปรองดองฯขึ้น และต้องทำให้การเมืองใสสะอาดพรรคการเมืองใหญ่ได้คะแนนเสียงเกินกว่าที่ประชาชนนิยม จึงต้องปรับให้เกิดความสมดุลระหว่างความนิยมของประชาชนที่แท้จริงกับจำนวน ส.ส. ที่ได้ควรจะเท่ากัน
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า การทำพลเมืองให้เป็นใหญ่นั้นประเทศไทยมีวัฒนธรรมการปกครองแบบ ไพร่ฟ้า กับเจ้าฟ้ามาจนถึงปี 2475 เกิดวัฒนธรรมราษฎรกับผู้ปกครอง ประชาชนไม่ได้สนใจการเมือง การตัดสินใจเป็นเรื่องของผู้ปกครองนำราษฎร การจะก้าวข้ามนักการเมืองที่สร้างปัญหา หรือทำให้บ้านเมืองเจริญก็ต้องสร้างราษฎรให้เป็นพลเมืองมีจิตสำนึกความรับผิดชอบ เคารพกฎหมาย รัฐธรรมนูญ เคารพสิทธิคนอื่น รับฟังความเห็นคนอื่น มีจิตเป็นพลเมืองและสาธารณะเห็นการเมืองสำคัญเท่าๆ กับ การบ้าน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องช่วยกันสร้างไม่ใช่ร่างไว้ในรัฐธรรมนูญแล้วจบ เมื่อความเป็นพลเมืองเกิดขึ้นการดำเนินโครงการจะล่าช้าแต่เมื่อผ่านก็จะไม่มีปัญหา นอกจากนี้ การป้องกันการทุจริตในร่างรัฐธรรมนูญกำหนดผู้นำการเมืองที่ดี บังคับให้พรรคการเมืองเป็นประชาธิปไตยไม่ใช่เป็นของหัวหน้าพรรค ตั้งสมัชชาคุณธรรม สภาตรวจสอบภาคพลเมืองช่วย กกต.ปราบทุจริตเลือกตั้ง และดูแลการใช้เงินในระดับจังหวัด โดยบุคคลเหล่านี้จะให้มีการแสดงการเสียภาษีย้อนหลังสามปีโดยต้องแสดงต่อสาธารณะด้วย
“ขณะนี้รัฐบาลต้องออกพันธบัตรสองล้านล้านบาท มีกำหนด 20 ปี เพราะต้องมาใช้หนี้จำนำข้าว ซึ่งในร่าง รธน. กำหนดให้มีศาลวินัยการคลังและงบประมาณเพื่อไต่สวนกรณีมีการใช้โครงการประชานิยมที่สร้างความเสียหายแก่รัฐ มีคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติประเมินการทำงานขององค์กรอิสระ อีกทั้งงบประมาณจะเป็นระบบสองขา คือ มีทั้งรายได้และรายจ่าย มีการกระจายอำนาจการบริหารให้ท้องถิ่นและเอกชนสามารถแข่งขันกับรัฐได้ เพราะบางอย่างรัฐก็บริหารไม่ได้แต่เอกชนบริหารได้ดีกว่า”