"วิษณุ"เผยไทม์ไลน์ทางการเมือง ชี้หาก "ประชามติร่างรธน."ผ่าน จะมีเลือกตั้งเดือน ส.ค.59 พร้อมชี้แจงระยะเวลาสิ้นสุดแม่น้ำ 5 สาย ส่วนสภาขับเคลื่อนฯ พ้นตำแหน่ง เมื่อเปิดสภาผู้แทนราษฎร "บิ๊กโด่ง" ย้ำ คสช.-ครม.ไม่ชี้นำสปช.โหวต รธน. จวกมีคนไม่หวังดี จ้องปล่อยข่าวปฎิวัติซ้อน หวังสังคมแตกแยก ทั้งที่เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ "วันชัย" เผย สปช. นัดถกการทำงานหลังแก้ รธน.ชั่วคราว15 มิ.ย. ฟันธง สปช.คว่ำ รธน. ส่งผล "ประยุทธ์" อยู่ต่อ 2 ปี ด้าน"ไก่อู" ซัดนักการเมืองห่วงแต่เรื่องเลือกตั้ง ชี้ต้องแยกให้ออก ระหว่างสืบทอดอำนาจ กับแบกรับภาระเพื่อประเทศชาติ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีหากประชามติร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบจากประชาชน กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะไปทำกฎหมายลูก ในเดือนก.พ.59 หลังจากนั้นจะส่งให้สนช.พิจารณาในเดือนมี.ค.-เม.ย.59 ก่อนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาในเดือนพ.ค. 59 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณารับรองแล้ว จะเข้าสู่ช่วงเตรียมตัวก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งมีเวลา 90 วัน ตั้งแต่ ก.ค.-ส.ค.59 ซึ่งการเลือกตั้งน่าจะมีขึ้นในช่วงเดือนส.ค.59 หลังจากนั้นจะใช้ระยะเวลาประกาศผลการเลือกตั้งใน 30 วัน ซึ่งขั้นตอนหลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และเมื่อมีการประชุมเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะได้ถวายสัตย์ปฏิญาณ คาดว่าจะเสร็จสิ้นช่วงต้นเดือน ต.ค. 59 ดังนั้น เมื่อรัฐบาลใหม่เกิดขึ้นในตอนนั้น แม่น้ำทุกสายก็จะพ้นสภาพไปทั้งหมด
"ทั้งหมดนี้ผมไม่ได้แต่งเอง ก็ว่าไปตามปฏิทิน แต่ทั้งหมดหากไม่ผ่านประชามติ ก็จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง" นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า ระยะเวลาการสิ้นสุดการทำหน้าที่ของแม่น้ำ 5 สาย หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านความเห็นชอบจาก สปช. และประชามติจนนำไปสู่การเลือกตั้งว่า สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นั้น จะสิ้นสุดเมื่อมีการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นจะตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศขึ้นมาแทน ส่วนรัฐบาลโดย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จะดำรงตำแหน่งไปจนกระทั่งมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ที่ได้ถวายสัตย์ ปฏิญาณแล้ว รัฐบาลและคสช.ก็จะสิ้นสุดลง
ส่วน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แม้จะมีการเลือกตั้ง จนมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ก็ยังทำหน้าที่ไปจนกระทั่งมีการเลือกตั้ง หรือการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวมีแต่ ส.ส. ยังไม่มี ส.ว. จึงให้ สนช. ทำหน้าที่แทนไปก่อน จนกระทั่งได้ ส.ว.เมื่อใดสนช.ก็จะพ้นไปเมื่อนั้น
สำหรับ คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ก็จะทำหน้าที่ไปถึงวันเปิดสภาผู้แทนราษฎร เช่นเดียวกับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จะทำหน้าที่จนถึงวันที่มีการเปิดสภาผู้แทนฯ เช่นเดียวกัน ไม่ควรอยู่ยาวกว่านั้น มีแต่จะอยู่สั้น หรืออยู่เร็วกว่ากำหนด
** ยัน "คสช.-ครม." ไม่ชี้นำโหวต รธน.
พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึงกระแสข่าวการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มอบหมายให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ดูแลรับผิดชอบโดยมีทั้ง 7 ประเด็นที่ได้บอกไปนั้น ประชาชน สื่อมวลชนคงทราบดี ซึ่งทางคสช.เอง ก็จะไม่เข้าไปก้าวล่วง เราควรจะเป็นคนกลางที่เฝ้ามอง ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็เฝ้ามองในแง่มุมต่างๆ ก่อนจะเสนอประเด็นต่างๆไป เมื่อเสนออะไรไป คงไม่ไปก้าวล่วงสมาขิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพราะทุกอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ทั้งนี้ ทางคสช.ก็ถือว่าเราเดินหน้าในการทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคสช. ทั้ง 9 ข้อ และจะส่งผลดีต่อยุทธศาสตร์ของรัฐบาลเรามีการประชุมร่วมกันทั้งครม. กับคสช. เป็นช่วงๆ เพื่อให้สามารถเดินไปข้างหน้าได้ ซึ่งเราคงเฝ้าติดตามการทำงานของแต่ละฝ่าย แต่คงไม่ไปก้าวล่วง คสช.และครม.ทำตามขั้นตอนตามระบบที่เราได้วางไว้
เมื่อถามว่า มีความเห็นของ สปช. บางคนต้องการคว่ำร่างรธน. ฉบับนี้ พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า เรื่องนี้เราเฝ้าดูอยู่ เพราะเป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องของสปช. ก็ว่ากันไป เขามีหน้าที่ของเขาก็ว่ากันไป เราก็ดูสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งในใจเราก็อยากให้ทุกอย่างราบรื่น ส่วนจะทำประชามติก็ว่ากันไป และที่มีคนมองว่าคสช. จะไปชี้นำอะไรสปช. นั้นคงไม่ได้ เพราะจริงๆ แล้วสปช.ถ้าไปดูพื้นฐานการเข้ามาทำหน้าที่แล้ว ทุกคนมาจากการคัดเลือกของส่วนภูมิภาค และจากหลายๆส่วน ผ่านการกลั่นกรองกันมา
" คสช.เราก็ไม่ได้ไปอะไร เมื่อเข้ามาแล้วก็มีระบบของส่วนกลางที่ได้รับการคัดสรรต่างๆ เพราะฉะนั้นสิ่งเหลานี้เราไม่สามารถไปชี้นำอะไรเขาได้ เห็นได้ว่าทุกคนมีอิสระในความคิด เราจะไปก้าวล่วงเขาไม่ได้ ซึ่งเราอยากให้ทุกคนสบายใจได้ว่า คสช.ไม่สามารถทำอะไรได้ตามอำเภอใจ เพราะเขามีขั้นตอนกันมาตั้งแต่ต้นแล้ว มีการวางขั้นตอนไม่ให้เกิดความสับสน เราจะไปทำอะไรไม่ได้ ทุกอย่างเป็นความคิดอิสระเขามีการชี้แจงพูดจากัน ที่เป็นเหตุเป็นผล เป็นตัวของเขาเอง" พล.อ.อุดมเดช กล่าว
เมื่อถามว่านายกฯ มีความเชื่อมั่นที่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นปี 59 พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า เรื่องนี้อาจมีความกังวลใจบ้าง ในบางประเด็นซึ่งนายวิษณุ ก็ได้ชี้แจงไปแล้ว ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะต้องมีการลงประชามติ ทุกอย่างก็ต้องว่ากันไป
** ผบ.ทบ.ย้ำปฏิวัติซ้อนเป็นไปไม่ได้
เมื่อถามถึงกระแสข่าวการปฎิวัติซ้อน ที่เกิดขึ้นบ่อยทั้งที่ คสช.เองก็ดูแลความมั่นคงเป็นอย่างดี พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า เรื่องนี้ทุกคนรู้ว่าทุกส่วนที่เกี่ยวข้องและดูแลความมั่นคง ไม่มีความคิดเหล่านี้ เราเป็นเนื้อเดียวกันอยู่กับรัฐบาล และสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล ส่วนต่างๆ ก็เช่นกันมีการพูดคุยกันในครม. ทั้งการทำงานของรัฐมนตรีแต่ละคนก็ทำงานอย่างเต็มที่ เรื่องนี้คงเป็นกลุ่มคนที่ไม่อยากเห็นความราบรื่นในประเทศ อยากให้เกิดความแตกแยกในความคิด ซึ่งในระดับบนจริงๆแล้ว ทั้งรัฐบาล และคสช.ก็รู้ว่าไม่เป็นความจริง เป็นไปไม่ได้ แต่อาจจะส่งผลต่อความรู้สึกของคนที่ไม่รู้ เรื่องนี้ต้องช่วยกันชี้แจงให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ ว่าประเทศชาติมีความมั่นคงดี อะไรต่างๆ ทั้งทหารและตำรวจ ที่อยู่ฝ่ายความมั่นคงรับฟังและสนับสนุนรัฐบาลทุกอย่างอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น รัฐบาลและคสช.ต้องมั่นคงแข็งแรง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ประชาชนบางกลุ่มอาจฟังข่าวและไม่รู้ อาจจะเกิดความกระเพื่อมทำให้เกิดเป็นปัญหาเป็นแนวความคิดของคนภายนอกได้ แต่จริงแล้วไม่มีอะไร ในทุกสัปดาห์ครม.และคสช.ก็ร่วมกันคิดอะไรต่างๆ คนที่ไปฟังข่าวเหล่านี้ไม่เข้าใจก็อาจจะทำให้เกิดความกระเพื่อมได้ และจะส่งผลต่อเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การท่องเที่ยว สรุปแล้วคนที่ปล่อยข่าวหรือคนที่ทำคือ คนที่ไม่ปราถนาดีต่อประเทศชาติ ทั้งที่ไม่มีอะไร เพราะความมั่นคงขณะนี้มีมากถึงมากที่สุด คนไม่ดี ต้องการให้เกิดความแตกแยกภายใน อยากให้เกิดความหวาดระแวง ก็จะมีผลกระทบต่อส่วนร่วมในเรื่องอื่นๆโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ดังนั้นต้องช่วยกันทำความเข้าใจ
** สปช.นัดถกสรุปการทำงาน 15 มิ.ย.
นายวันชัย สอนศิริ เลขาวิปสปช. กล่าวถึงการประชุมสปช. ในวันนี้ ( 15 มิ.ย.) ซึ่งมีวาระสำคัญเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของสปช. หลังจากที่ รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มีการแก้ไขปรับปรุง ส่งผลให้วาระการทำงานของสปช. สั้นลง โดยจะสิ้นสุดประมาณเดือนสิงหาคม หรือกันยายน หลังจากลงมติเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งแตกต่างจากปฏิทินเดิมที่จะสิ้นสุดการทำงานราวต้นปี 2559 ว่า เป็นการประชุมภายใน หลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ก็เหลือเวลาทำงานสองเดือนเศษ โดย 1. ต้องสรุปผลงานทั้งหมดของทุกคณะให้เสร็จสิ้น ซึ่งประธาน สปช. กำหนดให้สรุปภายในวันที่ 30 มิ.ย. แต่ยังมีบางคณะไม่เรียบร้อย จึงต้องเร่งรีบให้เสร็จสิ้นภายในกรอบเวลา และบรรจุเนื้อหาทั้งหมดให้เสร็จสิ้น
2. ประเมินการทำงานที่ผ่านมาร่วมกัน ฟังเสียงสะท้อนของสมาชิกให้ช่วยกันประเมินว่ามองอย่างไรบ้าง
3. จะต้องทำอะไรในระยะเวลา 2 เดือนที่เหลือ นอกจากสรุปเนื้องานมีอะไรต้องส่งต่อให้รัฐบาล หรือสภาขับเคลื่อนทำงานต่อไป จากนั้นประธาน สปช. คงสรุปแล้วมาดำเนินการในระยะต่อไป
ส่วนสภาขับเคลื่อนฯ จะเอาข้อมูลจากสภาปฏิรูปฯ ไปขยายผลต่อหรือไม่เราไม่ทราบ แต่ถ้ามีการต่อยอดทั้ง 36 เรื่องที่ทำไว้ ก็จะกระชับรวบรัด เพราะทำอย่างรอบด้านแล้ว เพียงแต่เอามากลั่นกรองก็ทำได้อย่างรวดเร็ว และถ้าประสานกับรัฐบาลอย่างใกล้ชิดด้วย ก็จะรู้ความต้องการของรัฐบาล
ทั้งนี้ เห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญให้ยุบสปช. เป็นเพราะผู้มีอำนาจเห็นว่าทำไม่ดี น่าจะไม่ใช่ตามแนวทางที่เขาคิดไว้ หรือน่าจะไม่เหมาะสม คือ คิดว่ายังไม่ดีพอหรือเปล่า ในฐานะผู้มีอำนาจนำการปฏิรูป ก็ปรับองค์กร วิธีการ ก็เป็นสิทธิและเหมาะสม เพราะโดยส่วนตัวมี 250 คน มากเกินไป ติดหล่มกับวิธีการมากเกินไปจึงเห็นด้วยอย่างยิ่ง
ส่วนสภาขับเคลื่อน จะมีอดีตนักการเมืองเข้ามามีบทบาทมากขึ้นหรือไม่ หลังจากมีการแก้ไขเปิดช่องไว้หรือไม่นั้น นายวันชัย กล่าวว่า บอกไม่ได้ เพราะเปิดกว้าง ยังไม่มีการระบุคุณสมบัติว่าจะเป็นเหมือน สปช. หรือไม่ แต่การทำงานควรเลือกคนที่มีแนวทางเดียวกัน และเชื่อว่ามีบางส่วนจากกรรมาธิการยกร่างฯ และสปช.เดิมไปต่อยอดกัน ส่วนถ้ามีอดีตนักการเมืองเข้ามาเพิ่มขึ้น ก็ต้องไม่ใช่มากจนมาครอบงำ ก็จะทำให้มีวิธีคิดและมุมมองที่เสริมกันได้มากขึ้น อีกทั้งอำนาจในการปฏิรูปของสปช.ไม่มี มีเพียงแต่เสนอแนะเท่านั้น รัฐบาลจะไม่พอใจข้อเสนอของสปช.ไม่ได้เพราะเขาสามารถเก็บใส่ลิ้นชักได้อยู่แล้วถ้าไม่อยากทำตาม จึงไม่คิดว่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ยุบ สปช.
" ที่ผ่านมาแต่ละคนเป็นตัวของตัวเอง ทำให้การทำงานอาจล่าช้าไปบ้าง แต่ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่มองว่า สปช. บางคนหัวแข็ง การยุบ สปช.เร็วขึ้น ทำให้สมาชิกมีอิสระในการตัดสินใจมากขึ้น จากเดิมมีตำหนิแค่ไหนหากผ่านก็ทำให้ สปช.อยู่ต่อได้อีกเกือบปี เมื่อปลดล็อกตรงนี้ว่า ไม่ว่าผ่านหรือไม่ผ่าน ก็ถูกยุบจะมองประโยชน์ส่วนรวมเป็นตัวตั้ง จึงทำให้เกิดความเป็นอิสระ กล้าพูด กล้าแสดงออก พิจารณารัฐธรรมนูญอย่างรอบคอบ ด้วยเหตุผล โดยตัดประโยชน์ทับซ้อนส่วนตัวออกไป" นายวันชัย กล่าว
**ยุคว่ำ รธน.ให้ "ประยุทธ์" อยู่ต่อ
นอกจากนี้จากการเสนอของสมาชิกหลายคณะนั้น กรรมาธิการฯ คงไม่สามารถแก้ไขได้ทั้งหมด จึงเชื่อว่า สปช. จะไม่ยอมให้รัฐธรรมนูญมีตำหนิแม้แต่น้อย ก็น่าจะประกาศคว่ำรัฐธรรมนูญ โดยเท่าที่ได้แลกเปลี่ยนสมาชิกทั้งส่วนกลางและส่วนจังหวัด ทุกคนเห็นตรงกันว่ารัฐธรรมนูญกลัดกระดุมผิดตั้งแต่ต้น จะมีรอยตำหนิให้เห็น หาความพอดีไม่ได้ กระบวนการควรเริ่มขึ้นใหม่คือ ประสานกัน แตกต่างจากในอดีตที่กรรมาธิการฯ คิดว่าเป็นอำนาจของตัวเอง ดังนั้นการตัดเสื้อผ้าใหม่ น่าจะดีกว่าการมาปะผุ จึงเชื่อว่าจะมีการคว่ำรัฐธรรมนูญ
" ผมเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญเป็นเหตุอย่างสำคัญที่ทำให้สมาชิกต้องคว่ำ เพราะกลัดกระดุมผิด ถ้าเกิดการคว่ำ ก็เป็นผลพลอยได้ของ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลได้รับผลพวงให้อยู่ในอำนาจต่อ ซึ่งผมเชื่อว่า กรรมาธิการฯยกร่าง แก้ไม่ได้ตามความพอใจของทุกคน ถ้าให้รัฐธรรมนูญผ่าน นำไปสู่ประชามติ เตรียมเข้าสู่การเลือกตั้ง บ้านเมืองก็จะเหมือนเดิม วังวนความเลวร้ายยังขจัดไม่ได้ การให้เกิดความปรองดองเรื่องระยะเวลา จึงมีส่วนสำคัญและการปฏิรูปก็ยังไปไม่ถึงไหนจึงยังไม่ควรเลือกตั้ง แล้วให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เตรียมกลับบ้าน ข้าราชการก็จะเกียร์ว่าง ทำอะไรยากขึ้น แต่ถ้า สปช.คว่ำ รธน.เพราะมีตำหนิ ก็เป็นผลพวงให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ปฏิรูปและสลายสีให้จางลงได้" นายวันชัย กล่าว
นายวันชัย กล่าวว่า หนึ่งปีที่ผ่านมา รัฐบาลเพียงแต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ยังไม่มีการปรับปรุงวางรากฐาน โครงสร้างอนาคต เพราะฉะนั้น ถ้าให้เวลาอีกปีสองปีน่าจะเป็นประโยชน์ต่อชาติในการขับเคลื่อนระยะยาว โดย
1. ต้องวางระบบเกี่ยวกับการทุจริต ซื้อสิทธิ ขายเสียง มีวิธีการและกระบวนการต่าง ๆ ที่สามารถแก้ไขได้ และปลุกให้คนรู้สึกรังเกียจการซื้อเสียงว่าเป็นเรื่องเลวร้าย
2. การทุจริต คอร์รัปชันในส่วนการเมือง เอกชน ข้าราชการ ต้องวางกลไกอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด พร้อมกับสร้างกระแสให้คนรู้สึกรังเกียจการทุจริตคอร์รัปชัน
3. ปฏิรูปตำรวจ เพราะเป็นเรื่องใกล้ชิดกับประชาชน ต้องทำให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ด้วยอำนาจที่มีว่าจะแก้โครงสร้างอย่างไรให้ปลอดการแทรกแซงทางการเมือง
4. การปกครองส่วนท้องถิ่น จะมีการควบรวมหรือดูแลไม่ให้มีการทุจริตอย่างไร มีการตรวจสอบถ่วงดุลย์ได้
5. ก็เป็นการบริหารในทุกด้านที่ต้องสร้างกลไกให้กระฉับกระเฉงมากขึ้น ถ้าทำได้สักสามเรื่องคนก็แทบจะกราบแล้ว
" ถ้าจะอยู่ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องปฏิรูปตำรวจในการแก้ระยะยาว ทำให้ปลอดการเมือง การแต่งตั้งโยกย้ายต้องเป็นธรรม การสอบสวนที่ถูกครอบงำต้องเป็นอิสระ โครงสร้างจะปรับปรุงอย่างไรให้กระชับมากขึ้น องค์กรที่ไม่เกี่ยวกับตำรวจ ควรถ่ายโอนอย่างไร และมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่ทำได้ จึงเชื่อว่า ท่านต้องทำ ถ้าไม่ทำ ประชาชนก็จะผิดหวัง ก็จะด่าว่า รัฐประหารมาทำอะไร" นายวันชัย กล่าว
**"สมบัติ" ค้านเลือกตั้งสัดส่วนผสม
นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง แสดงความเห็นกรณีที่ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ มีมติปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ ให้มี ส.ส.จำนวน 450 คน แบ่งเขต 300 คน และบัญชีรายชื่อ 150 คน ใช้ระบบสัดส่วนผสม ตัดเรื่องโอเพ่นลิสต์ ว่า ตนไม่ได้ติดใจเรื่องจำนวนส.ส.เพราะใกล้เคียงกับที่ได้เสนอแก้ไขไป แต่หากยังใช้ระบบสัดส่วนผสม ก็ยังจะทำให้ได้รัฐบาลผสมที่ไม่และอาจมีปัญหาในการบริหารประเทศได้
อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าอย่าเพิ่งไปตัดสินใจตอนนี้ ควรรอให้มีการแก้ไขปรับปรุงให้เรียบร้อยทั้งหมดก่อน เพื่อดูว่าทั้งเป็นหมดอย่างไร แต่ก็เชื่อว่าหากภาพรวมออกมาไม่ดี แม้ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านมติ สปช.แต่ก็จะไม่ผ่านประชาชนอย่างแน่นอน
**จับตาแผน สปช.คว่ำร่าง รธน.
นายถาวร เสนเนียม อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ และ แกนนำกลุ่ม กปปส. กล่าวถึง กรณีสังคมวิจารณ์ว่ามีการส่งสัญญาณให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คว่ำร่างรัฐธรรมนูญหลัง คสช. และ ครม. เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ใน 7 ประเด็น ว่า เป็นการส่งซิกหรือไม่ ต้องรอดู ตนไม่อยากคาดการณ์ จึงขอติดตามอย่างใกล้ชิด แต่ทั้งนี้หากร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังยกร่างฯ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ยังยึดความเชื่อของผู้ยกร่างฯ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ทำตัวเกาะติดกับคสช. เสนอตัวรับใช้แค่ช่วงการแต่งตั้ง เอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ ร่างรัฐธรรมนูญนี้จะเป็นปัญหา ที่สุดก็จะกลับเข้าสู่วงจรอุบาทว์ เกิดการปฏิวัติในอนาคตขึ้นอีก เช่น การคง มาตรา 181-182 เลี่ยงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล หรือนายกฯ หรือการให้อำนาจ ส.ว. ลากตั้ง มีสิทธิ์ถอดถอน ส่วนการที่รัฐบาลจะอยู่ยาวหรือไม่ ขึ้นอยู่กับประชาชน ถ้ารัฐบาลอยู่นาน และมีผลงาน แก้ไขปัญหาชาติ จับต้องได้ ประชาชนก็อยากให้อยู่ แต่ถ้าอยู่นานแล้วการทุจริตยังเต็มบ้านเต็มเมืองอย่างนี้ ใครก็ไม่อยากให้อยู่
** แนะ สปช.หยุดชี้นำทำสังคมสับสน
นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) กล่าวถึงการนัดประชุม สปช. ในวันที่ 15 มิ.ย. ว่า เป็นการนัดประชุมวาระพิเศษ เพื่อหารือถึงกรอบเวลาการทำแผนแม่บทปฏิรูปประเทศให้เสร็จก่อนวันที่ 4 ก.ย. ที่ สปช. จะต้องลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ตลอดจนการหารือถึงกรณีที่ สปช. จะต้องสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ภายหลังการลงมติในร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นจะเปิดโอกาสให้สมาชิก สปช.ได้หารือ และซักถามในประเด็นต่างๆ แต่จะไม่มีการหารือเรื่องการตั้งคำถามการทำประชามติ เพราะจะรอขั้นตอนให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ลงมติผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว เสร็จในวันที่ 18 มิ.ย. ก่อน
นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า สปช. บางส่วนไม่ควรออกมาแสดงความเห็นในเชิงชี้นำให้รับ และไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะจะทำให้เกิดความสับสนในสังคม ควรรอให้เห็นร่างสุดท้ายของรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขเสียก่อน คาดว่าร่างสุดท้าย จะออกมาช่วงวันที่ 21 ส.ค.นี้ จึงจะประเมินทิศทางของร่างรัฐธรรมนูญได้
"การระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญมีโอกาสถูกคว่ำเป็นเพียงการวิเคราะห์ที่อาจจคลาดเคลื่อน มองเพียงแค่ด้านเดียว ผมว่าการที่สปช.มีความเป็นอิสระในการลงมติมากขึ้น ไม่ต้องห่วงเรื่องการฮาราคีรีตัวเอง ทำให้ กมธ.ยกร่างฯ มีแนวโน้มต้องทบทวน และแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามคำท้วงติงตามที่หลายฝ่ายเสนอไปมากขึ้นกว่าตอนที่ยังไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว เชื่อว่า กมธ.ยกร่างฯ จะแก้รัฐธรรมนูญหลายประเด็น ตามที่มีการห่วงใย หากเป็นเช่นนี้ก็มีโอกาสมากขึ้นที่ สปช. จะเห็นชอบผ่านร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น สปช.ไม่ควรทำตัวเป็นหมอดู หรือหมอเดา เพื่อให้เกิดความสับสนต่อสาธารณชน" นายอลงกรณ์ กล่าว และว่า เท่าที่ดูเสียงของ สปช. ที่จะรับ หรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญ ขณะนี้ยังก้ำกึ่งสูสี กันอยู่
** "ไก่อู" อัดนักการเมืองห่วงแต่เลือกตั้ง
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนักการเมืองบางคน ออกมาให้ความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ว่า หากสภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติไม่ผ่านร่าง จะเท่ากับเป็นการเขียนเอง ล้มเองว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยกร่างโดยกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีสภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนของประเทศประกอบกันเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็น และลงมติว่าจะให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 กำหนดไว้ จึงไม่ใช่การร่างเอง ล้มเอง เพื่อหวังผลทางการเมือง แบบที่นักการเมืองบางกลุ่มบางคนพยายามจินตนาการ
" ภาพสะท้อนที่ปรากฏชัดเจนในขณะนี้คือ นักการเมืองไม่ว่าจะขั้วใด พรรคใด มักจะให้ความสนใจเฉพาะประเด็น ช่วงเวลาการเลือกตั้ง โดยแทบจะไม่เคยได้ยินนักการเมืองพูดเรื่องการปฏิรูปประเทศ เพื่อแก้ปัญหาที่หมกหมมของชาติที่วิธีการทางการเมืองแบบเดิมๆ ไม่สามารถจัดการได้เลย ช่วงเวลานี้ควรเป็นช่วงหยุดเล่นการเมือง หยุดแสวงหาประโยชน์ หรือโจมตีกันไปมา เพื่อหวังผลทางการเมือง แต่ควรเป็นช่วงเวลาของการทำงานจริงจังเพื่อประเทศชาติ เพราะประเทศไม่ใช่ของเล่น รวมทั้งนักการเมืองที่ต้องการการเลือกตั้ง ก็ควรใช้เวลาช่วงนี้ กลับไปทบทวนบทบาทตัวเองว่า หากได้กลับเข้าสู่ตำแหน่งอีกครั้ง จะมีแนวทางปฏิรูปอะไร เพื่อการพัฒนาประเทศชาติบ้างเพื่อกอบกู้และสร้างศรัทธาให้แก่สถาบันการเมือง"
พล.ต.สรรเสริญ ยังกล่าวต่อว่า อยากขอให้เลิกใช้วาทกรรม สืบทอดอำนาจ เพราะท่านนายกรัฐมนตรี กล่าวหลายครั้งแล้วว่า ท่านไม่ต้องการอำนาจ หากจะมีใคร หรือระบบใด ที่กฎหมายจะกำหนดให้มาทำงานรับภาระเพื่อประเทศชาติต่อจากรัฐบาลนี้ และรับมอบงานปฏิรูปประเทศ ปราบปรามทุจริต คอร์รัปชันต่อไป รัฐบาลก็จะยินดีมาก แต่ขอให้ทำด้วยความตั้งใจ และไม่นำประเทศกลับไปสู่จุดขัดแย้งเดิมๆ อีก
** ติงสปช. เลิกเล่นเกมสาวไส้กันเอง
นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ประเด็น ที่กำหนดชัดเจนว่าภารกิจของ สปช. สิ้นสุดแค่ วันที่ 4 ก.ย. ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะถูกคว่ำหรือไม่ก็ตามนั้น ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ สปช. ทั้ง 250 คน และ. กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 36 คน ต้องหารือกันให้ได้ร่างรัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่การปฏิรูป แม้จะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ควรเลือกเอาประเด็นหลักๆ สำคัญไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้ช่วงเวลากว่า 9 เดือนที่ผ่านมาของ สปช. เสียของ และถูกตำหนิจากสังคมว่า เปลืองงบประมาณ เปลืองเวลาเปล่าๆ ที่สำคัญถ้าสุดท้ายร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำโดย มติ ของสปช. ก็ถึอเป็นความล้มเหลวที่ สปช.ทั้ง 250 คน จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ที่น่าห่วงในขณะนี้คือ สปช.หลายคนพอรู้ว่าจะอยู่ถึงแค่วันที่ 4 ก.ย. ก็เริ่มเล่นเกมตีรวน เอาเรื่องการปฏิรูปการเมืองไปเป็นเกม ออกมาสาวไส้กันเองก็มีนั้นยิ่งสะท้อนวุฒิภาวะของสปช. ว่าฝากความหวังเรื่องปฏิรูปได้ยากขึ้น
ในขณะนี้ผมยอมรับว่า ความคาดหวังต่อการปฏิรูปประเทศครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ยากยิ่งขึ้น และดูเหมือนห่างไกลจากเป้าหมายมากทุกขณะ แม้มีกระแสให้รัฐบาลอยู่ต่อเพื่อปฏิรูป ก็ยังไม่เห็นหลักประกันใดๆ ว่าเราจะปฏิรูปอะไรบ้างเรื่องไหนก่อนหลัง จนวันนี้กระแสปฏิรูปเริ่มเลอะเทอะ ออกทะเล จนจะกลายเป็นปฏิเลอะไปแล้ว
ฟางเส้นสุดท้ายจึงอยู่แค่ช่วงเวลาที่เหลืออยู่ กว่า 3 เดือนของสปช. ว่าจะเอาเกมการเมือง และเกมอำนาจออกจากกระบวนการปฏิรูปได้หรือไม่ หวังว่า 3 เดือน สปช.จะร่วมกันสร้างจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของกระบวนการปฏิรูป ซึ่งสังคมต้องจับตาการทำหน้าที่ของ สปช. อย่างใกล้ชิด.