xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยังไม่ตัดทิ้ง"โอเพ่นลิสต์" ชงสภาขับเคลื่อนอยู่3ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึง การปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญ ในส่วนของการเลือกตั้งส.ส. ที่มีการปรับสัดส่วนบัญชีรายชื่อเหลือ 150 คน และให้ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้งว่า เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอขอแก้ไขจากทุกฝ่าย อีกทั้งยังไม่กระทบกับหลักการเดิมที่จะใช้วิธีนับคะแนนแบบสัดส่วนผสม ขณะที่การเลือกแบบโอเพ่นลิสต์ ก็จะยังไม่นำมาใช้ในการเลือกตั้งครั้งแรกนี้ ตลอดจนมีการตัดทิ้งในส่วนของกลุ่มการเมืองด้วย เชื่อว่าการปรับแก้เช่นนี้ จะทำให้พรรคการเมืองสบายใจมากขึ้น เพราะจำนวน ส.ส.เขต ที่จำนวน 300 คนไม่ต่างไปจากเดิมที่มี 375 คน มากนัก ซึ่งทั้งหมดนี้คือ การตกลงร่วมกันเบื้องต้นของกมธ.ยกร่างฯ ที่จะนำไปใช้เป็นหลักพิจารณาปรับแก้ไขเป็นรายมาตรา ตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย.นี้
พล.อ.เลิศรัตน์ ยังกล่าวถึงกรณี นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มนปช. เรียกร้องให้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ ออกมาขอโทษ หลังระบุว่า มวลชน นปช.รับเงินมาชุมนุมว่า คงตอบแทนไม่ได้ แต่คงไม่ถึงขั้นนั้น ข้อความอย่างสั้นที่ปรากฏออกมา อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด เพราะส่วนตัวเท่าที่ได้ฟังคลิปเสียงขนาดยาว ก็เข้าใจว่านายบวรศักดิ์ มีเจตนาบริสุทธิ์ ต้องการจะชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และสังคมอยู่มาก พร้อมทั้งยกตัวอย่างม็อบที่ออกมาชุมนุม เพื่อจะทำให้เห็นภาพว่าความเหลื่อมล้ำนี้คือหลักการสำคัญอย่างหนึ่ง ที่จะต้องมีบรรจุ ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญด้วย

**ไม่ตัดทิ้ง"โอเพ่นลิสต์"

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องระบบการเลือกตั้งแบบโอเพ่นลิสต์ ทางกมธ.ยกร่างฯ มีแนวความคิดที่จะไม่ตัดทิ้ง แต่จะนำไปบัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาล ว่า เมื่อมีการเลือกตั้งแบบลงคะแนนโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ จะนำระบบการเลือกตั้งแบบโอเพ่นลิสต์มาใช้ ทั้งนี้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะใช้ระบบการเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบเดิมโดยให้ผู้มิสิทธิ์เลือกพรรคที่ชอบ แต่ไม่มีการเลือกคน สาเหตุที่กมธ.ยกร่างฯ ยังไม่ตัดระบบโอเพ่นลิสต์ทิ้ง เพราะเราเห็นว่าเป็นระบบที่ดี ประชาชนสามารถกำหนดลำดับส.ส.บัญชีรายชื่อเองได้ แตกต่างจากแบบเก่า ที่พรรคการเมืองเป็นผู้กำหนด รวมทั้งประชาชนจำนวนมากก็ให้การสนับสนุน และเห็นด้วยกับระบบนี้
นายคำนูณ กล่าวว่า การทำงานของกมธ.ยกร่างฯ ต่อจากนี้ ในวันที่ 24 มิ.ย. จะเป็นการพิจารณาเป็นรายมาตรา จะเริ่มตั้งแต่ มาตราที่ 1 ไล่เรียงไปทีละมาตรา โดยนำคำขอแก้ไขจาก ครม. และ สปช.และความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนมาประกอบการพิจารณา ซึ่งกมธ.ยกร่างฯจะพยายามเร่งให้เสร็จภายในเดือน ก.ค. เพื่อให้มีเวลาเหลือในการทบทวนอีกครั้งเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์และถูกต้องมากที่สุดเพราะนี่คือช่วงสุดท้ายแล้วจะผิดพลาดไม่ได้ นอกจากนี้จะเชิญผู้ขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 9 กลุ่ม มาชี้แจงเหตุผลด้วยว่า เหตุใดถึงแก้ หรือไม่แก้ไขตามคำขอที่ส่งมาให้กมธ.ยกร่างฯ

** ชงสภาขับเคลื่อนฯอยู่3ปีค่อยเลือกตั้ง

นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิก สปช. และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีสมาชิกสปช. เสนอให้ไม่ต้องตั้งคำถามประชามติ ควบคู่กับร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นความเห็นส่วนตัวของสมาชิกสปช. บางราย ส่วนตนยืนยันว่า ต้องดำเนินการตามที่ประชาชนเข้าชื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าในตัวร่างรัฐรรรมนูญรายมาตรา 308 - 309 ของบทเฉพาะกาล จะเขียนไว้ว่าอย่างไร ให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งหรือไม่ ระยะเวลาเท่าไร หากมีเขียนไว้แล้ว ตนก็จะไม่เสนอคำถามประชามติ ให้มีการปฎิรูปก่อนการเลือกตั้งอีก แต่หากในตัวร่างรัฐธรรมนูญ ไม่มี เขียนไว้ แล้วถ้าสปช. ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ตนก็จะเสนอให้ทำประชามติในหัวข้อดังกล่าว
" ผมจะเสนอต่อ กมธ.ยกร่างฯ ให้กำหนดบทบัญญัติ ในบทเฉพาะกาล ว่า ให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศอยู่ทำหน้าที่ปฏิรูปต่อไปอีกไม่เกิน 3 ปี และให้ยุบสภาขับเคลื่อนปฏิรูปทิ้ง เมื่อครบกำหนดเวลา ต่างจากตัวร่างเดิม ที่กำหนดให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ มีอายุ 5 ปี แต่ผมไม่เห็นด้วย ที่จะให้สภาขับเคลื่อนฯ มีวาระทับซ้อนกับรัฐบาล และรัฐสภา ที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับ กมธ.ยกร่างฯ ส่วนใหญ่ ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ แต่หากบทเฉพาะกาลกำหนดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว เมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติ ผมก็จะเสนอหัวข้อประชามติให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ตามข้อเรียกร้องของประชาชน" นายไพบูลย์ กล่าว

**นายกฯคนนอกถอยหลังไปสู่รธน.2511

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมืองของสปช. กล่าวถึง การปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญของกมธ.ยกร่างฯ ว่า ความจริงไม่อยากวิจารณ์ ต้องรอให้เห็นภาพรวมการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อยเสียก่อนจะบอกว่า รับได้หรือไม่ได้ กับการปรับแก้ แต่ล่าสุดที่ กมธ.ยกร่างฯ ให้แขวนประเด็น ระบบเลือกตั้งแบบโอเพ่นลิสต์ไว้ โดยยังไม่ตัดออกไป แสดงว่า กมธ.ยกร่างฯ ยังมีแนวคิดอยากให้มีรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ ไร้อำนาจมาบริหารประเทศ ถ้ายังคงไว้แบบนี้ จะไม่ช่วยการเดินหน้าปฏิรูปประเทศในอนาคต การแก้ปัญหาให้ประชาชนเป็นไปได้ยาก
ส่วนประเด็นที่มานายกฯ ที่ยังคงเดิม ให้คนนอกมาเป็นนายกฯ รัฐมนตรีได้นั้น จะกลายเป็นการย้อนถอยหลังกลับไปยังรัฐธรรมนูญปี 2511 ที่ไม่ยึดหลักประชาธิปไตย มีที่มาผู้นำฝ่ายบริหารที่ไม่ยึดโยงประชาชนอย่างแท้จริง เกิดปัญหาความไม่สมบูรณ์ขึ้นระหว่างสามเสาหลักประชาธิปไตย ส่วนกรณีมีกระแสโหวตคว่ำรัฐธรรมนูญจากสปช. นั้น ก็เป็นความเห็นส่วนบุคคล ไม่ขอก้าวล่วง ต้องรอให้รัฐธรรมนูญแก้เรียบร้อยก่อน

**ชี้แนวโน้มร่างรธน. อาการร่อแร่

ด้านนายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ขณะนี้สภาปฏิรูปฯ ซึ่งมีเวลาเหลืออีกประมาณ 2 เดือนเศษ กำลังทำภารกิจหลักๆ คือ เรื่องการปฏิรูปตามที่กำหนดไว้ และกรอบระยะเวลาของการปฏิรูปจะต้องรีบทำให้เสร็จสิ้น เรื่องใดของคณะใด ที่ยังไม่เสร็จจะต้องรีบทำให้เสร็จและเสนอต่อสภาปฏิรูปให้ความเห็นชอบ จากนั้นเตรียมส่งมอบให้กับนายกรัฐมนตรีต่อไป และแถลงผลงานทั้งหมดว่าได้ทำการเสนอแนะปฏิรูปเรื่องอะไร อย่างไร ให้สาธารณชนได้รับทราบ โดยจะต้องเสนอหัวข้อประเด็นหลักๆ สัก 5 เรื่องใหญ่ให้สาธารณะชนรับรู้ รับทราบร่วมกันเป็นพลังขับเคลื่อนปฏิรูปต่อไปในอนาคต และขณะนี้อยู่ระหว่างติดตามการปรับแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อนำมาพิจารณาให้ความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบในการลงมติ ซึ่งสมาชิกมีความเห็นต่อสิ่งที่กรรมาธิการยกร่างฯได้แถลงมาแล้ว ทั้งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย เช่น ประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรี ที่กรรมาธิการยกร่างฯ บอกว่าจะคงไว้ตามเดิม คืออาจจะมาจากคนนอกก็ได้ ถ้า ส.ส.มี มติ 2 ใน 3 ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ที่บอกว่าจะต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น ก็จะเริ่มคัดค้าน ชูธงว่าไม่ยอมเช่นกัน จึงเริ่มที่จะชักชวนทั้งใน สปช. และนอกสปช. ทั้งพรรคการเมืองออกมาคัดค้านประเด็นนี้ ด้วยท่าทีแข็งขัน
สำหรับประเด็น ส.ส.ว่าจะให้มาจากเขต 300 คนสัดส่วน 150 คน ก็กลับไปเป็นแบบเก่า กลุ่มที่ไม่เอาแบบนี้ ก็เริ่มจะออกตัวกันมาหลากหลายว่าไปๆ มาๆ สัดส่วน 150 คน ก็อยู่ในมือของหัวหน้าพรรค ไม่ใช่ตัวแทนของประชาชน บ้างก็ว่าควรจะมีแค่ 300 คน 300 เขต เท่านั้นไม่ควรมีสัดส่วน บ้างก็ว่าควรเป็นไปตามแบบร่างเดิม คือ สัดส่วนผสม และโอเพ่นลิสต์ จะได้ทำให้พรรคการเมืองไม่แข็งกร้าว ไม่ผูกขาด ร่างเดิมดีอยู่แล้ว แก้ทำไม กลุ่มเหล่านี้ก็เริ่มมีเสียงกระจัดกระจาย ขยายความไม่เห็นด้วยออกไปคนละทิศคนละทาง
ส่วนประเด็นเรื่องที่มาส.ว. เห็นว่าจะให้มีสรรหาอย่างเดียว ลดอำนาจ ส.ว. ลง พวกที่เสนอให้เอาตามนี้ก็พอใจ แต่พวกเสนอให้เอาเลือกตั้งทั้งหมด ก็ไม่พอใจและพวก สปช. ต่างจังหวัดที่เสนอให้เอาแบบผสม ทั้งเลือกตั้ง และสรรหาตามร่างเดิม ก็ชักจะไม่พอใจเช่นกัน มีการแลกเปลี่ยนประชุมปรึกษาหารือ วางแผนที่จะคัดค้านและจะไม่เอาด้วยต่อประเด็นที่แก้มา รวมทั้งเรื่องของกรรมการ กต. ก็มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ที่จะปรับแก้ เฉพาะ 3-4 ประเด็นนี้ ก็เริ่มเห็นปัญหาของคนที่แสดงท่าทีไม่เอาด้วย และยิ่งใกล้ๆวันลงมติ ก็จะมีหลายเรื่อง หลายประเด็นมากขึ้น ก็จะมีคนแสดงความคิดเห็นแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็พุ่งเป้าไปว่า จะไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะมีรอยตำหนิ มีข้อไม่ดี แม้แต่เรื่องเดียวมาตราเดียว ก็จะไม่ยอมให้ผ่านไป
"ผมเชื่อว่าประเด็นปัญหาของรัฐธรรมนูญแต่ละเรื่องแต่ละมาตรา จะมีคนชูจุดอ่อน จุดไม่ดีของรัฐธรรมนูญออกมามาก ทำให้สิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญก็ถูกกลบไป ในที่สุดร่างรัฐธรรมนูญนี้ ก็จะถูกบดบังไปด้วยรอยตำหนิ และสิ่งไม่ดีต่างๆ ก็ดูเอาเถอะว่า อนาคตของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คงอาการสาหัสเป็นแน่" นายวันชัย กล่าว

**เลื่อนประชุมสปช.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีหนังสือด่วนมาก แจ้งถึงสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กรณีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ มีคำสั่งให้งดการประชุมในวันจันทร์ที่ 22 มิ.ย. 58 และนัดประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติครั้งต่อไป ในวันอังคารที่ 23 มิ.ย. เวลา10.00 น.
นายวันชัย สอนศิริ เลขาวิปสปช. กล่าวถึงเหตุผลที่เลื่อนประชุมว่า อาจเป็นเพราะไม่มีวาระ และประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ จะรอให้มีการประชุมภายในที่โรงแรมรามาการ์เด้น วันที่ 24 มิ.ย. เพื่อประมวลเรื่องสำคัญ 5-6 เรื่อง ชูขึ้นมานำเสนอต่อรัฐบาล และสาธารณะ เพราะ สปช.เหลือเวลาอยู่สองเดือนในการทำภารกิจหลักสองเรื่อง คือ เตรียมสรุปเนื้อหาการปฏิรูปทั้ง 18 คณะ เมื่อเสร็จเรียบร้อย ก็จะบรรจุหีบห่อเตรียมเสนอให้รัฐบาลต่อไป
จากนั้น สปช. จะชูประเด็นสำคัญ 5-6 เรื่อง จาก 37 ประเด็น ซึ่งจะสรุปกันในวันที่ 24 มิ.ย. ที่โรงแรมรามาการ์เด้น และนำ 5-6 เรื่องดังกล่าว แถลงต่อสาธารณชนให้รับทราบว่า วาระการปฏิรูป 5 หรือ 6 เรื่องนี้ รัฐบาลต้องปฏิรูปให้ได้ และให้ประชาชนช่วยกันเป็นพลังในการขับเคลื่อนให้การปฏิรูปสำเร็จให้ได้
ทั้งนี้ นายเทียนฉาย ได้ตั้งคณะทำงานชุดเล็กเพื่อเสนอเรื่องเหล่านี้ให้ที่ประชุมร่วมกันพิจารณา เช่น การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน การเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรม การปกครองบริหารท้องถิ่น การบริหารราชการแผ่นดิน จะเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น การปฏิรูปตำรวจ และอาจจะมีเรื่องการศึกษา ซึ่งน่าจะตกผลึกได้ในวันที่ 24 มิ.ย. เสนอต่อรัฐบาลให้ทำให้แล้วเสร็จก่อนเลือกตั้ง แต่ถ้าทำไม่สำเร็จ สังคมก็ต้องเป็นผู้ตัดสินใจ เพราะเป็นโอกาสที่จะทำได้ ถ้าเลยจากรัฐบาลนี้ไปแล้ว คิดว่ายากจะเกิดขึ้นเพราะการปฏิรูปบางเรื่องต้องใช้อำนาจพิเศษ

** เผย"เทียนฉาย"ห่วงสปช.ออฟไซด์

นายอลงกรณ์ พลบุตร วิป สปช. กล่าวถึงกรณี สปช.บางส่วนออกมาระบุจะโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่า ยังเร็วไปที่จะบอกว่า รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ การออกมาให้ข่าวผ่านสื่อ จะทำให้สังคมสับสน สร้างความกดดันให้ กมธ.ยกร่างฯ การเคลื่อนไหวใดๆ อาจถูกตีความว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่ง สปช.ไม่ใช่สภาการเมือง แต่เป็นสภาวิชาการที่ทำงานโปร่งใส ขอร้องให้บรรดาสมาชิกยับยั้งชั่งใจ โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบ ต้องให้โอกาสกมธ.ยกร่างฯ ทำงานจนถึงวันส่งร่างสุดท้าย 22 ส.ค.เวลานี้ ขอความร่วมมือให้สมาชิก สปช. โฟกัสไปที่แผนแม่บทการปฏิรูปให้เสร็จ ตามโรดแมปก่อน
"เท่าที่พูดคุยกับบรรดาสมาชิก สปช. ในประเด็นนี้ มีความกังวล เเละเท่าที่ได้พูดคุยกับ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.เอง ก็กังวลต่อการเคลื่อนไหวของสมาชิก สปช.บางท่าน ที่ออกจะออฟไซด์ สปช. มีหลักการทำงานชัดเจน คือตามโรดแมป ไม่ว่าเรื่องใดๆ สปช.จะให้อิสระแต่ละคน ไม่มีการกำหนดแนวทางให้สมาชิกทำตามว่าจะเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ ส่วนจะมีการพูดคุย หารือนอกรอบหรือไม่นั้น ไม่ทราบ เป็นสิทธิเเต่ละคน" นายอลงกรณ์ กล่าว

** การปฏิรูปถูกจับเป็นตัวประกัน

นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า ขณะนี้มีความเป็นไปได้ ที่กรรมาธิการยกร่างฯ อาจถูกบีบให้ถอย หรือตัดประเด็นหลายประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญทิ้ง เพราะเริ่มมีการปล่อยกระแสคว่ำร่างรัฐธรรมนูญจาก สปช. หลายส่วน หรือบางคนออกอาการถึงขั้นยกมาข่มขู่กรรมาธิการยกร่างฯ ก็มี
ในขณะที่กรรมาธิการยกร่างฯ ก็อยากเข็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านสปช.ให้ได้ เพื่อจะได้ไม่ถูกครหาจากประชาชนว่า เสียของ เสียเวลาจนสังคมอาจตำหนิได้ในภายหลัง จึงมีความจำเป็นที่กรรมาธิการยกร่างฯ จะต้องรักษาและยึดมั่นหลักการสำคัญ หรือหัวใจของการปฏิรูปในร่างรัฐธรรมนูญไว้ให้มากที่สุด แม้ในที่สุดจะถูกคว่ำโดยสปช. ก็จะไม่มีใครตำหนิกรรมาธิการยกร่างฯได้ เพราะถือว่าได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่แล้ว
แต่ถ้ากรรมาธิการยกร่างฯ ยอมถอย หรือยอมตัดประเด็นสำคัญทิ้ง เพียงเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน ก็จะเกิดความเสียหายตามมา เราอาจได้รัฐธรรมนูญ แต่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปจริงๆ ที่สำคัญกรรมาธิการ อาจถูกครหาได้ว่า ยอมถอยเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน แล้วตัวเองก็จะได้อยู่ในตำแหน่งต่อเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หากกระบวนการปฏิรูป กลายเป็นเกมการเมือง หรือถูกจับเป็นตัวประกันแบบนี้ ก็อาจส่งผลให้การปฏิรูปเป็นแค่เกมซื้อเวลาของกลุ่มอำนาจบางกลุ่ม หรือใช้เป็นเพียงเครื่องมือในการบริหารอำนาจ อาจทำให้ประชาชนไม่พอใจ และถึงตอนนั้นอาจจะสายเกินแก้ตัว ได้เช่นกัน

**กกต.บอกรอ10 ปีเลือกโอเพ่นลิสต์

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึง กรณีที่จะเลือกตั้งแบบโอเพ่นลิสต์ กับการลงคะแนนเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์ ว่า อย่างน้อยคงต้องใช้เวลาอีก 10 ปีข้างหน้า เนื่องจากเครื่องลงคะแนนแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่กกต.มีอยู่ในขณะนี้ ไม่สอดรับกับการเลือกตั้งแบบโอเพ่นลิสต์ เนื่องจากมีเพียงการให้เลือกตั้งแบบเขต และระบบบัญชีรายชื่อปกติ ยังไม่มีการเชื่อมโยงว่า หากเลือกพรรคการเมืองแล้วจะเลือกตัวบุคคลในบัญชีรายชื่อได้อย่างไร ดังนั้นคงต้องใช้เวลาพอสมควร อีกทั้งต้องใช้งบประมาณถึง 4,000-5,000 ล้านบาท ในการจัดซื้อเครื่องลงคะแนนแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่รองรับการลงคะแนนแบบโอเพ่นลิสต์ โดยคำนวณจากหน่วยเลือกตั้งในประเทศที่มีประมาณ 100,000 หน่วย และแต่ละหน่วยต้องใช้ 4 เครื่อง และเครื่องมีราคาประมาณ 10,000 บาท
อย่างไรก็ตาม อีก10 ปีข้างหน้า ก็ไม่แน่ใจว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังยกร่างฯอยู่นี้ จะปรับแก้อะไรหรือไม่ ส่วนกรณีที่ นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. ระบุว่า อาจต้องมีการประชามติในเดือน ก.พ.นั้น กกต.ยังยืนยันว่า สามารถจัดการลงประชามติได้ภายในวัน 10 ม.ค.59 เช่นเดิม เพราะได้เตรียมการสำรวจโรงพิมพ์ต่างๆ ไว้หมดแล้ว

** ชี้ประชามติถามเยอะ งบฯบาน

นายสมชัย ยังกล่าวถึงกรณีการตั้งคำถามประชามติ ว่า ที่มีการเสนอว่าควรมีเพียงคำถามเดียว คือ รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น กกต.ไม่มีความเห็น ขึ้นอยู่กับสปช. และสนช. จะมีมติตั้งคำถามหรือไม่ ในเชิงเทคนิคไม่ว่าจะมีกี่คำถาม กกต.สามารถจัดการได้ เพียงแต่ถ้ามีคำถามเพิ่มขึ้น ก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามมา เช่น 1 คำถาม อาจเสียค่าพิมพ์บัตร 50 ล้านบาท 2 คำถาม ก็ 100 ล้านบาท หาก 3 คำถาม ก็จะใช้เงิน 150 ล้านบาท เป็นต้น ซึ่งยังไม่รวมค่าหีบบัตร และค่าอื่นๆ ที่จะขึ้นตามมาด้วย
ด้านนายประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านกิจการการมีส่วนร่วม กล่าวว่า รูปแบบการทำประชามติ มีทั้งคำถามเดียว และหลายคำถาม แต่ไม่ว่าจะมีกี่คำถาม ประเด็นต้องชัดเจน และประชาชนต้องมีความเข้าใจในสิ่งที่จะต้องนำมาตอบ เช่น การทำประชามติรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็มีการสรุปสาระสำคัญให้ เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจ นอกเหนือจากการพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญแจก เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม คำถามที่จะเพิ่มมานอกเหนือจากการรับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญขณะนี้ก็ยังไม่ชัดว่าจะมี หรือไม่มี
นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง การตั้งคำถาม 1 คำถาม ควบคู่ไปกับการทำประชามติรับ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ของ สปช.และ สนช.ว่า ถ้าจะตั้งคำถาม ผู้ตั้งควรคำนึงถึงความเหมาะสม แม้กฎหมายจะไม่กำหนดกรอบชัดเจน แต่กรณีการจะถาม เช่น จะถามให้อยู่ต่ออีก 2 ปี เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่ใช่คำถามของกลไกประชาธิปไตย แม้วันนี้จะอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติก็ตาม ต้องถามสิ่งที่มีผลผูกพันประเทศ เป็นประโยชน์ประเทศ ไม่ใช่ถามเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

**เสี้ยมแก๊งแดงถล่มบวรศักดิ์

นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯ กล่าวเปรียบเทียบการชุมนุมของกลุ่มกปปส. กับ นปช. หรือกลุ่มคนเสื้อแดง นั้นเป็นการเปรียบเทียบทำให้ความแตกแยกเพิ่มขึ้น ยิ่งนายบวรศักดิ์ อยู่ในฐานะประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องสร้างกติกาให้ทุกกลุ่มอย่างเป็นธรรม ยิ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง หน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นธรรม เป็นประชาธิปไตย ยังมะงุมมะงาหราอยู่เลย อย่าวิจารณ์ยกย่องอีกฝ่าย แล้วเหยียบย่ำอีกฝ่าย มีแต่สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจ
"วันนี้คนรากหญ้า เกษตรกรทั้งหลายทุกข์ยากจากราคาพืชผลเกษตรตกต่ำทุกตัว แถมเจอกับธรรมชาติที่ไม่เป็นใจอีก ลำบากมากพอแล้ว หรือจะให้เขาลุกขึ้นสู้กับนายบวรศักดิ์อีก ขอเตือนสติระดับดอกเตอร์ อย่าเหิมเกริม การพูดจาหัดถนอมน้ำใจคนอื่น ไม่อยากให้บรรยากาศที่หลายฝ่ายพูดในแนวสันติ ปรองดองมีปัญหา คนระดับนายบวรศักดิ์ รู้เรื่องประชาธิปไตยดี แต่เขียนรัฐธรรมนูญหน้ามือเป็นหลังมือนั้น ปราชญ์เขาไม่ทำกัน" นายสมคิดกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น