ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สปช. ชี้ กมธ.ยกร่างฯ แขวนโอเพ่นลิสต์ หวังอยากให้รัฐบาลผสมอ่อนแอ ไร้อำนาจมาบริหาร ส่วนนายกฯ คนนอกถอยหลังลงคลองสู่ปี 2511 เกิดความไม่สมบูรณ์ใน 3 เสาหลักประชาธิปไตย ไม่พูดคว่ำร่างฯ รอแก้ให้เสร็จก่อน ด้าน “สุริยะใส” แนะคนเขียนยึดมั่นหัวใจของการปฏิรูป แม้จะถูกคว่ำก็ไม่มีใครตำหนิ หากยอมถอยก็เสียหาย ทำปฏิรูปแค่เกมซื้อเวลา ขณะที่ “สาธิต” ติงถามเพิ่มต้องเพื่อคนทั้งประเทศ
วันนี้ (21 มิ.ย.) นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. กล่าวถึงการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญของ กมธ.ยกร่างฯ ว่า ความจริงไม่อยากวิจารณ์ ต้องรอให้เห็นภาพรวมการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อยเสียก่อนจะบอกว่า รับได้หรือไม่ได้กับการปรับแก้ แต่ล่าสุดที่ กมธ.ยกร่างฯ ให้แขวนประเด็นระบบเลือกตั้งแบบโอเพ่นลิสต์ไว้ โดยยังไม่ตัดออกไป แสดงว่า กมธ.ยกร่างฯ ยังมีแนวคิดอยากให้มีรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ ไร้อำนาจมาบริหารประเทศ ถ้ายังคงไว้แบบนี้ จะไม่ช่วยการเดินหน้าปฏิรูปประเทศในอนาคต การแก้ปัญหาให้ประชาชนเป็นไปได้ยาก ส่วนประเด็นที่มานายกฯ ที่ยังคงเดิม ให้คนนอกมาเป็นนายกฯรัฐมนตรีได้นั้น จะกลายเป็นการย้อนถอยหลังกลับไปยังรัฐธรรมนูญปี 2511 ที่ไม่ยึดหลักประชาธิปไตย มีที่มาผู้นำฝ่ายบริหารที่ไม่ยึดโยงประชาชนอย่างแท้จริง เกิดปัญหาความไม่สมบูรณ์ขึ้นระหว่างสามเสาหลักประชาธิปไตย ส่วนกรณีมีกระแสโหวตคว่ำรัฐธรรมนูญจากสปช. นั้น ก็เป็นความเห็นส่วนบุคคล ไม่ขอก้าวล่วง ต้องรอให้รัฐธรรมนูญแก้เรียบร้อยก่อน
ด้าน นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าวว่า ในขณะนี้มีความเป็นไปได้ที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอาจถูกบีบให้ถอย หรือตัดประเด็นหลายประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญทิ้ง เพราะเริ่มมีการปล่อยกระแสคว่ำร่างรัฐธรรมนูญจาก สปช. หลายส่วน หรือบางคนออกอาการถึงขั้นยกมาข่มขู่กรรมาธิการยกร่างฯก็มี ในขณะที่กรรมาธิการยกร่างฯก็อยากเข็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน สปช. ให้ได้ เพื่อจะได้ไม่ถูกครหาจากประชาชนว่าเสียของเสียเวลาจนสังคมอาจตำหนิได้ในภายหลัง จึงมีความจำเป็นที่กรรมาธิการยกร่างจะต้องรักษาและยึดมั่นหลักการสำคัญ หรือหัวใจของการปฏิรูปในร่างรัฐธรรมนูญไว้ให้มากที่สุด แม้ในที่สุดจะถูกคว่ำโดย สปช. ก็จะไม่มีใครตำหนิกรรมาธิการยกร่างฯได้ เพราะถือว่าได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่แล้ว
นายสุริยะใส กล่าวว่า แต่ถ้ากรรมาธิการยกร่างฯยอมถอย หรือ ยอมตัดประเด็นสำคัญทิ้งเพียงเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านก็จะเกิดความเสียหายตามมา เราอาจได้รัฐธรรมนูญแต่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปจริงๆ ที่สำคัญ กรรมาธิการอาจถูกครหาได้ว่ายอมถอยเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านแล้วตัวเองก็จะได้อยู่ในตำแหน่งต่อเท่านั้นหากกระบวนการปฏิรูปกลายเป็นเกมการเมืองหรือถูกจับเป็นตัวประกันแบบนี้ก็อาจส่งผลให้การปฏิรูปเป็นแค่เกมซื้อเวลาของกลุ่มอำนาจบางกลุ่ม หรือใช้เป็นเพียงเครื่องมือในการบริหารอำนาจอาจทำให้ประชาชนไม่พอใจและถึงตอนนั้นอาจจะสายเกินแก้ตัวได้เช่นกัน
ขณะที่ นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการตั้งคำถาม 1 คำถามควบคู่ไปกับการทำประชามติรับไม่รับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ของ สปช. และ สนช. ว่า ถ้าจะตั้งคำถาม ผู้ตั้งควรคำนึงถึงความเหมาะสม แม้กฎหมายจะไม่กำหนดกรอบชัดเจน แต่กรณีการจะถาม เช่น จะถามให้อยู่ต่ออีก 2 ปี เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่ใช่คำถามของกลไกประชาธิปไตย แม้วันนี้จะอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติก็ตาม ต้องถามสิ่งที่มีผลผูกพันประเทศ เป็นประโยชน์ประเทศ ไม่ใช่ถามเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง