xs
xsm
sm
md
lg

"เทียนฉาย"ลั่นสปช.พร้อมพลีชีพ คว่ำรธน.หากมีตำหนิ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงการเตรียมอภิปราย ร่าง รัฐธรรมนูญ ของที่ประชุมสปช.ว่า ไม่มีอะไรหนักใจ เพราะมีการเตรียมการโดยวิปสปช. เพื่อกำหนดกระบวนการพิจารณา เนื่องจากเวลามีเพียงแค่ 70 กว่าชั่วโมง ส่วนที่มีสมาชิกบางคนต้องการให้ขยายเวลาจาก 7 วัน เป็น 10 วันนั้น ทำไม่ได้ เพราะต้องปฏิบัติตามกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ทั้งนี้จะมีการถ่ายทอดสด ผ่านสถานีโทรทัศน์ ช่อง11 เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจต่อเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญมากขึ้น
ประธาน สปช. กล่าวว่า ตนเป็นห่วงว่า ถ้าเปิดอภิปรายโดยไม่มีกรอบแนวคิด ให้สิทธิทุกคนอภิปราย ก็จะมีปัญหาว่า ไม่ได้อภิปรายต่อเนื่องในประเด็นเดียวกันจนจบ ทำให้คนฟังสับสน จึงต้องจัดหมวดหมู่เป็นประเด็น และมีกรอบเวลาการอภิปรายที่ชัดเจน และได้กำชับคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ให้ดูหมวด 2 และ หมวด 4 เป็นการเฉพาะ เนื่องจากหมวด 2 เป็นภารกิจของรัฐ ส่วนหมวด 4 เป็นเรื่องปฏิรูป จึงเกี่ยวข้องกับสปช.โดยตรง ต้องมีการวางแผนอย่างมีขั้นตอน และรัฐธรรมนูญต้องเขียนให้สอดคล้องกัน
ส่วนความเห็นของ สปช. กับกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ค่อนข้างแตกต่างกันมากนั้น จะทำให้บรรยากาศในการอภิปรายเหมือนการอภิปรายไมไว้วางใจกรรมาธิการฯ หรือเป็นการงัดข้อกันหรือไม่นั้น นายเทียนฉาย กล่าวว่า ไม่คิดว่าจะเกิดปัญหานี้ และเป็นหน้าที่ของตน ที่จะต้องดูแลไม่ให้เกิดบรรยากาศเช่นนั้น เพราะความเห็นแตกต่างเป็นเรื่องธรรมดา และเชื่อว่ากรรรมาธิการฯ จะรับฟังเสียงของ สปช. ในลักษณะที่เป็นบวก แต่คนที่เสนอความเห็น ก็ต้องเสนอด้วยเหตุผล คนพิจารณาก็ต้องใช้เหตุผลเช่นเดียวกัน แม้ว่าจะเป็นสิทธิของกรรมาธิการฯ ที่จะทำตามคำแปรญัตติ หรือไม่ แก้ไขเลยก็ได้ แต่กรรมาธิการฯ ก็ไม่ได้หักด้ามพร้าด้วยเข่า มีความพยายามที่จะอธิบายด้วยเหตุ และผล หากเห็นว่าคนที่เห็นต่างมีเหตุผลมากกว่ากรรมาธิการฯ ก็มีท่าทีโอนอ่อนผ่อนตามในหลายประเด็น จึงเชื่อว่า ร่างที่กำลังปรุงแต่งอยู่นี้ ยังไม่สุดท้าย แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงอีกก่อนถึง วันที่ 17 เม.ย.58
ผู้สื่อข่าวถามว่า ท่าทีของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ดูค่อนข้างแข็งกร้าว ในประเด็นเรื่องระบบเลือกตั้งแบบเยอรมนี จะรอมชอมกันได้หรือไม่ นายเทียนฉาย กล่าวว่า นายบวรศักดิ์ แข็ง แต่ไม่ได้กร้าว ตนคิดว่าเมื่อกรรมาธิการฯไปคุยด้วยเหตุผลแล้ว ก็จะมีคำตอบที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ จึงยังไม่คิดถึงจุดที่มีการประเมินว่า ร่างรัฐธรรมนูญ ดังกล่าวอาจถูก สปช.คว่ำ ด้วยการลงมติไม่เห็นด้วย แต่ห่วงเรื่องเวลามากกว่า ที่จะทำให้ไม่สามารถแลกเปลี่ยนความเห็นกันได้ อย่างครบถ้วน
เมื่อถามว่า ที่เคยบอกพร้อมยอมตาย ไม่ปล่อยให้รัฐธรรมนูญมีตำหนิ ขยายความได้หรือไม่ นายเทียนฉาย กล่าวว่า มีการตั้งคำถามว่ารัฐธรรมนูญมีตำหนิถึงขั้นอาจเกิดปัญหา จึงตอบว่า เรื่องนี้มีหลายแง่มุม เช่น มีประชามติไหม จะทำก่อน หรือหลังจากสปช. ลงมติ แต่ถ้าไม่ทำประชามติก็ไม่ได้หมายความว่า ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีตำหนิ เพราะยังมีเวลาในการคิด เนื่องจากหากทำประชามติ ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวก่อน อีกทั้งยังมีเวลาที่จะเห็นได้ว่า สังคมส่วนใหญ่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญได้ หรือไม่ ถ้าได้อาจไม่จำเป็นต้องทำประชามติ ซึ่งประเด็นที่จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญมีตำหนิคือ ประชาชนแสดงออกว่า ไม่ยอมรับชัดเจน สปช.ก็ต้องจบหน้าที่ตัวเอง คือ พร้อมที่จะคว่ำรัฐธรรมนูญ แม้จะต้องพ้นตำแหน่งสปช. เพราะเป็นหน้าที่เบื้องต้น เราไม่อยู่ในฐานะที่จะปล่อยรัฐธรรมนูญ ที่มีตำหนิออกไปได้

**เชื่อรธน.ภาค 4 ไม่มีซ่อนอำนาจ

นายเทียนฉาย ยังกล่าวถึงการตั้งข้อสังเกตว่า ภาค 4 ซ่อนอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ไว้ให้กับคณะกรรมการปรองดอง อยู่เหนืออำนาจอธิปไตย 3 ฝ่าย ว่า ตนยังงงว่า ทำไมเรียกว่าซ่อน เพราะมันเปิดเผย แต่ส่วนที่วิจารณ์กันว่า “สืบทอดอำนาจ”เพราะจะมี สปช. 60 คน และ สนช. 30 คน ไปเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปฯนั้น หากดูจากโครงสร้างปัจจุบันของสปช. และ สนช. ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ แต่การปฏิรูปไม่สามารถจบได้ในปีนี้ จึงต้องทำแผนปฏิรูปให้มีผลในทางปฏิบัติ รวมทั้งกระตุ้นเตือนรัฐบาล หรือผู้รับผิดชอบว่าต้องปฏิรูป
ทั้งนี้ ในเรื่องการปฏิรูป เนื้อหาก็เขียนไว้อย่างสมดุล ไม่ใช่คณะกรรมการยุทธศสาตร์ฯ และสภาขับเคลื่อนปฏิรูป จะมีอำนาจเหนือฝ่ายบริหาร เพราะเปิดช่องให้ครม. แถลงต่อสภา ในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตาม และให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย ด้วยการทำประชามติ แต่ในส่วนของคณะกรรมการปรองดอง ที่ไม่มีการกำหนดสมดุลในส่วนนี้นั้น คงเป็นเพราะมองขั้นตอนเรื่องปรองดอง จึงอยากให้ปล่อยให้มีความคืบหน้าอีกหน่อย ก็จะเห็นความชัดเจน
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในที่สุด น่าจะมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาไม่ให้อำนาจของคณะกรรมการปรองดอง กว้างขวางเกินไป โดยคิดว่า กำลังมีการทบทวน และขัดเกลาถ้อยคำในบททั่วไปที่ระบุว่า ก่อให้เกิดหน้าที่ต่อ คณะรัฐมนตรี นิติบัญญัติ และศาล จึงอยากให้รอดูร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 17 เมษายนนี้
นายเทียนฉาย กล่าวด้วยว่า ได้มอบหมายให้ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กรรมาธิการยกร่างฯ สปช. เป็นผู้ดูแลเกี่ยวกับเรื่องการปรองดอง ซึ่งไม่ได้มีธงว่าจะต้องจบที่นิรโทษกรรม โดยอำนาจหน้าที่ได้เขียนชัดเจนในการมอบหมายหน้าที่ให้ นายเอนกไปแล้ว ว่ามีกรอบอำนาจหน้าที่อย่างไร ตามคำสั่งที่ออกไป

** ไม่ต้องรีบร้อนเลือกตั้ง

นายวันชัย สอนศิริ สปช. ในฐานะ กมธ.ปฏิรูปการเมือง กล่าวถึงข้อเสนอในการประชุมของ กมธ.ปฏิรูปการเมือง ที่ เมืองพัทยา ว่า ตนจะไปอธิปรายเรื่องที่มาของ ส.ว. โดยส่วนตัวเห็นชอบให้เป็นรูปแบบเลือกตั้งทางอ้อม ที่กมธ.ยกร่างฯ ออกแบบมานั้น ดีอยู่แล้ว โดยจะเสนอให้มีการแก้ไขในประเด็นที่มาของส.ว. จำนวน 10 คน ที่มาจาก อดีตนายกฯ อดีตประธานศาลฎีกา และ ประธานสภาฯ เพราะเชื่อว่าจะไม่มีใครลงมาสมัครเป็นส.ว.อย่างแน่นอน โดยจะเสนอให้เกลี่ยไปให้การเลือกตั้งทางอ้อม อาทิ กลุ่มวิชาชีพ อดีตข้าราชการระดับสูง หรือกลุ่มอื่นๆ ที่เหลือแทน
นอกจากนี้ ตนยังไม่เห็นด้วยกลับข้อเสนอที่ต้องการให้มีรูปแบบ ส.ว.เลือกตั้ง เพราะจะทำให้วุฒิสภา มีลักษณะที่เหมือนกับสภาผู้แทนราษฎร เพราะเป็นพวกเดียวกัน หากเป็นเช่นนั้นก็ขอให้ไม่ต้องมีวุฒิสภา ทั้งหมดเลย โดยให้เหลือสภาฯ เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เพียงหน่วยงานเดียว
นายวันชัย ยังกล่าวว่า ยังต้องการเสนอให้จัดทำรัฐธรรมนูญให้เป็นลำดับขั้นตอน โดยประเมินผลไปเป็นช่วงๆ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งที่เรียบร้อย เพราะเมื่อดูสถานการณ์บ้านเมือง ที่ยังเกิดปัญหาความวุ่นวายอยู่ หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปและปล่อยให้มีเลือกตั้งในต้นปีหน้า ตามโรดแมปของคสช. มั่นใจได้ว่า ก็จะกลับมาทะเลาะกัน และเข้าไปสู่วงจรอุบาทว์เช่นเดิม ดังนั้นควรตั้งหลักกันให้ดี แก้ปัญหาให้ได้ ทำการเมืองให้นิ่ง แล้วค่อยเดินต่อไปอย่างมั่นคง เข้มแข็ง
" ผมเห็นว่ายังไม่ควรให้มีเลือกตั้ง เพราะเมื่อลงทุนด้วยการปฏิวัติ และเดินหน้าปฏิรูปประเทศไปแล้ว บ้านเมืองย่อยยับไปแล้ว ก็ควรต้องทำให้บ้านเมืองเกิดความเรียบร้อยก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง จะได้ไม่ให้เสียของ และเมื่อคนไทยตื่นตัว รู้สิทธิ์ รู้หน้าที่ กันเต็มที่แล้ว จะปล่อยให้เล่นการเมืองกันอย่างไร ก็เอาเลย " นายวันชัย กล่าว และว่า ร่างรธน. ต้องร่างเพื่อคนไทยทั้งประเทศ 60 กว่าล้านคน เพื่อความสงบร่มเย็น ความมั่งมี ศรีสุข ของประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ ไม่ใช่เพื่อนักการเมืองที่เล่นๆ กันอยู่นี้ เล่นการเมืองกันจนเลอะเทอะ เละเทะ จนคนดีๆ ไม่อยากเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง เรา ต้องร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อกีดกันให้คนเลวๆ ออกไป จากการเมืองให้จงได้ ตัวการเมือง นักการเมืองจะเอะอะโวยวายก็ช่าง แต่ทำให้การเมืองดีก็แล้วกันใครจะไม่พอใจก็ช่างหัวมัน
กำลังโหลดความคิดเห็น