xs
xsm
sm
md
lg

“เทียนฉาย” ยันถ้า ปชช.ไม่ยอมรับร่าง รธน.อย่างชัดเจน สปช.ต้องคว่ำ เชื่อที่สุดจะปรับให้ดีขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เทียนฉาย กีระนันทน์ (แฟ้มภาพ)
“เทียนฉาย” เฉลยร่าง รธน.มีตำหนิหมายถึงร่างฯ ที่ประชาชนไม่ยอมรับชัดเจน เป็นหน้าที่ของ สปช.ที่ต้องคว่ำ เชื่อที่สุดจะมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นเพื่อประโยชน์ของประเทศ หลัง สปช.-กมธ.ยกร่างฯ ใช้เหตุผลอภิปรายฯ ปัดหมวด 4 ซ่อนอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ชี้สภาขับเคลื่อนปฏิรูป มีหน้าที่ทำแผนปฏิรูปให้เป็นผลในทางปฏิบัติ พร้อมยอมรับจะมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาคณะกรรมการปรองดองไม่ให้มีอำนาจกว้างขวางเกินไป

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงการเตรียมการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญของ สปช. ว่าไม่มีอะไรหนักใจเพราะมีการเตรียมการโดยวิป สปช.เพื่อกำหนดกระบวนการพิจารณา เนื่องจากเวลามีเพียงแค่ 70 กว่าชั่วโมงเท่านั้น ส่วนที่มีสมาชิกบางคนต้องการให้ขยายเวลาจาก 7 วัน เป็น 10 วันนั้น ทำไม่ได้เพราะต้องปฏิบัติตามกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ทั้งนี้จะมีการถ่ายทอดสดผ่านช่อง 11 เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจต่อเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญมากขึ้น

ส่วนที่เป็นห่วงกันว่าถ้าเปิดอภิปรายโดยไม่มีกรอบแนวคิดให้สิทธิทุกคนอภิปรายก็จะมีปัญหานั้น ประธาน สปช.กล่าวว่า ต้องจัดหมวดหมู่เป็นประเด็นและมีกรอบเวลาการอภิปรายที่ชัดเจน ทั้งนี้ตนได้กำชับคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองว่าให้ดูหมวด 2 และหมวด 4 เป็นการเฉพาะ เนื่องจากหมวด 2 เป็นภารกิจของรัฐ ส่วนหมวด 4 เป็นเรื่องปฏิรูป จึงเกี่ยวข้องกับ สปช.โดยตรง ต้องมีการวางแผนอย่างมีขั้นตอนและรัฐธรรมนูญต้องเขียนให้สอดคล้องกัน

สำหรับความเห็นของ สปช.กับกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ค่อนข้างแตกต่างกันมาก จะทำให้บรรยากาศในการอภิปรายเหมือนการอภิปรายไมไว้วางใจกรรมาธิการฯหรือเป็นการงัดข้อกันหรือไม่นั้น นายเทียนฉายกล่าวว่า ไม่คิดว่าจะเกิดปัญหาดังกล่าว และเป็นหน้าที่ของตนที่จะต้องดูแลไม่ให้เกิดบรรยากาศเช่นนั้น เพราะความเห็นแตกต่างเป็นเรื่องธรรมดาและเชื่อว่ากรรรมาธิการฯจะรับฟังเสียงของ สปช.ในลักษณะที่เป็นบวก แต่คนที่เสนอความเห็นก็ต้องเสนอด้วยเหตุผล คนพิจารณาก็ต้องใช้เหตุผลเช่นเดียวกัน แม้ว่าจะเป็นสิทธิของกรรมาธิการฯ ที่จะทำตามคำแปรญัตติหรือไม่แก้ไขเลยก็ได้ แต่กรรมาธิการฯ ก็ไม่ได้หักด้ามพร้าด้วยเข่า มีความพยายามที่จะอธิบายด้วยเหตุและผล หากเห็นว่าคนที่เห็นต่างมีเหตุผลมากกว่ากรรมาธิการฯ ก็มีท่าทีโอนอ่อนผ่อนตามในหลายประเด็น จึงเชื่อว่าร่างที่กำลังปรุงแต่งอยู่นี้ยังไม่สุดท้ายแต่จะมีการเปลี่ยนแปลงอีกก่อนถึงวันที่ 17 เมษายน 2558

ผู้สื่อข่าวถามว่า ท่าทีของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ดูค่อนข้างแข็งกร้าวในประเด็นเรื่องระบบเลือกตั้งแบบเยอรมนีจะรอมชอมกันได้หรือไม่ นายเทียนฉายกล่าวว่า นายบวรศักดิ์แข็งแต่ไม่ได้กร้าว ตนคิดว่าเมื่อกรรมาธิการฯ ไปคุยด้วยเหตุผลแล้วก็จะมีคำตอบที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ จึงยังไม่คิดถึงจุดที่มีการประเมินว่าร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวอาจถูก สปช.คว่ำด้วยการลงมติไม่เห็นด้วย แต่ห่วงเรื่องเวลามากกว่าที่จะทำให้ไม่สามารถแลกเปลี่ยนความเห็นกันได้อย่างครบถ้วน

ส่วนที่เคยบอกพร้อมยอมตายไม่ปล่อยให้รัฐธรรมนูญมีตำหนิ ขยายความได้หรือไม่ นายเทียนฉายกล่าวว่า มีการตั้งคำถามว่ารัฐธรรมนูญมีตำหนิถึงขั้นอาจเกิดปัญหาจึงตอบว่าเรื่องนี้มีหลายแง่มุม เช่น มีประชามติหรือไม่ จะทำก่อนหรือหลังจาก สปช.ลงมติ แต่ถ้าไม่ทำประชามติก็ไม่ได้หมายความว่าร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีตำหนิ เพราะยังมีเวลาในการคิดเนื่องจากหากทำประชามติต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังมีเวลาที่จะเห็นได้ว่าสังคมส่วนใหญ่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ถ้าได้อาจไม่จำเป็นต้องทำประชามติเลยก็ได้ ประเด็นที่จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญมีตำหนิคือประชาชนแสดงออกว่าไม่ยอมรับชัดเจน สปช.ก็ต้องจบหน้าที่ตัวเอง คือ พร้อมที่จะคว่ำรัฐธรรมนูญแม้จะต้องพ้นตำแหน่ง สปช.เพราะเป็นหน้าที่เบื้องต้น เราไม่อยู่ในฐานะที่จะปล่อยรัฐธรรมนูญที่มีตำหนิออกไปได้

นายเทียนฉายยังกล่าวถึงการตั้งข้อสังเกตในภาค 4 ว่าซ่อนอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ไว้ให้กับคณะกรรมการปรองดองอยู่เหนืออำนาจอธิปไตย 3 ฝ่ายว่า ตนยังงงว่าทำไมเรียกว่าซ่อน เพราะมันเปิดเผย แต่ส่วนที่วิจารณ์กันว่า “สืบทอดอำนาจ” เพราะจะมี สปช.60 คน และ สนช.30 คนไปเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ นั้น หากดูจากโครงสร้างปัจจุบันของ สปช.และ สนช.ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ แต่การปฏิรูปไม่สามารถจบได้ในปีนี้ จึงต้องทำแผนปฏิรูปให้มีผลในทางปฏิบัติ รวมทั้งกระตุ้นเตือนรัฐบาลหรือผู้รับผิดชอบว่าต้องปฏิรูป

ประธาน สปช.กล่าวด้วยว่า ในเรื่องการปฏิรูปเนื้อหาก็เขียนไว้อย่างสมดุล ไม่ใช้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ และสภาขับเคลื่อนปฏิรูปจะมีอำนาจเหนือฝ่ายบริหาร เพราะเปิดช่องให้ ครม.แถลงต่อสภาในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามและให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายด้วยการทำประชามติ แต่ในส่วนของคณะกรรมการปรองดองที่ไม่มีการกำหนดสมดุลในส่วนนี้นั้น คงเป็นเพราะมองขั้นตอนเรื่องปรองดองจึงอยากปล่อยให้มีความคืบหน้าอีกหน่อยก็จะเห็นความชัดเจน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในที่สุดน่าจะมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาไม่ให้อำนาจของคณะกรรมการปรองดอง กว้างขวางเกินไป โดยคิดว่ากำลังมีการทบทวนและขัดเกลาถ้อยคำในบททั่วไปที่ระบุว่า ก่อให้เกิดหน้าที่ต่อคณะรัฐมนตรี นิติบัญญัติ และศาล จึงอยากให้รอดูร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 17 เมษายนนี้

นายเทียนฉายกล่าวด้วยว่า ได้มอบหมายให้นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กรรมาธิการยกร่างฯ สปช.เป็นผู้ดูแลเกี่ยวกับเรื่องการปรองดองซึ่งไม่ได้มีธงว่าจะต้องจบที่นิรโทษกรรม โดยอำนาจหน้าที่ได้เขียนชัดเจนในการมอบหมายหน้าที่ให้นายเอนกไปแล้วว่ามีกรอบอำนาจหน้าที่อย่างไรตามคำสั่งที่ออกไป


กำลังโหลดความคิดเห็น